วันจันทร์, เมษายน 10, 2560

ค้น “ความจริง” ก่อนฝันปรองดอง ทบทวน 7 ปี 10 เมษา 53





ค้น “ความจริง” ก่อนฝันปรองดอง ทบทวน 7 ปี 10 เมษา 53

By ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
10 เมษายน 2560
Voice TV

สัมภาษณ์ 1 ในผู้เขียน "วีรชน 10 เมษา : คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ขณะที่ฝ่ายรัฐต้องการให้เกิดความปรองดอง แต่ความจริงจากสถานการณ์ขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย ความหวังจึงยังมืดมน

ในโอกาสครบรอบ 7 ปี 10 เม.ย.2553 เหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย* บริเวณแยกคอกวัวและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจากการปะทะกันระหว่างทหารและประชาชนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ซึ่งตั้งเวทีปราศรัยบริเวณสะพานผ่านฟ้า ขณะที่เวทีหลักอยู่ที่แยกราชประสงค์ก่อนจะเกิดเหตุสลายการชุมนุมอีกครั้ง 19 พ.ค.2553





มาทบทวนความคืบหน้าการเมืองไทยไปถึงไหนในสายตา “มุทิตา เชื้อชั่ง”** ผู้สื่อข่าวประชาไท หนึ่งในคณะทำงานรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเขียนหนังสือ "วีรชน 10 เมษา : คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต"

-ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ต้องเผชิญอะไรบ้าง


ตอนเริ่มลงมือเขียนคือหลังสลายการชุมนุมหลายเดือน ตอนนั้นยังคุกรุ่นอยู่มาก ได้ไปเริ่มติดต่อพูดคุยสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม 10 เม.ย. 53 ก็มีแต่ความเศร้า จมน้ำตา หลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ถือว่าเป็นสภาพที่หนักอยู่เหมือนกัน

-เน้นเก็บข้อมูลอย่างไร

ตอนนั้นเน้นเก็บแบล็คกราวน์ชีวิตว่าแต่ละคนพื้นฐานเป็นยังไง ทำงานอะไร ชีวิตลำบากไหม ที่สำคัญคือมีความคิดทางการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่เพราะอะไร ถ้าญาติเขารู้ก็พอจะให้ข้อมูลได้

ที่จัดลำดับความสำคัญอีกเรื่องคือวันเกิดเหตุ ถ้าเจอคนในเหตุการณ์หรือญาติผู้เสียชีวิตที่สามารถเล่าเหตุการณ์ก่อนหรือหลังไปร่วมชุมนุมก็พยายามนำมาประติดประต่อให้ได้มากที่สุด แต่ก็ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถระบุอะไรได้ชัดๆ เพราะไม่มีพยานที่ชัดเจน ฉะนั้น จึงเน้นเรื่องเล่าของชีวิตมากกว่า

-ฐานะเศรษฐกิจของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นอย่างไร


ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง เป็นคนขับแท็กซี่ คนขับตุ๊กๆ รปภ. ช่างเย็บผ้า เป็นลูกจ้างบริษัท หรือขายของเล็กๆ น้อยๆ ไม่ค่อยเจอชนชั้นกลางเท่าไหร่ แต่ก็มีบ้าง

สภาพที่อยู่อาศัย เวลาไปตามสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตคือ ไปห้องเช่า มีที่นอนหมอนมุ้งในห้องเช่าบ้านเช่า ไม่งั้นก็เป็นพื้นที่ไกลๆ ต่างจังหวัด ต้องไปคุยกันในเถียงนาก็มี เพราะเขาไม่ว่างก็ต้องรอหว่านไถเสร็จก่อนค่อยคุยกันก็มี

-ความคิดทางการเมืองของผู้เสียชีวิตกับญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนกันหรือไม่


มีทั้งเหมือนและต่างกัน ส่วนใหญ่ที่เจอญาติจะเข้าใจ เช่น รู้ว่าสามีของเขาเป็นคนจริงจังกับการเมืองขนาดไหน เพราะหลายๆ เหตุการณ์ไม่ใช่จู่ๆ เกิดขึ้นในวันนั้น แต่มีการไต่ระดับมาตลอด มีการชุมนุมมาก่อนหน้านั้น ไม่ใช่เฉพาะปีนั้น ฉะนั้น เราจะเห็นเส้นทางการเข้าร่วมของเขา และญาติก็เล่าว่าเขาอินมากขึ้น

บางครอบครัวก็ไปชุมนุมด้วยกัน พ่อแม่ลูก พ่อแม่อยู่ราชประสงค์ ส่วนลูกอยู่คอกวัว ส่วนญาติที่ไม่เข้าใจว่าผู้เสียชีวิตมีความคิดทางการเมืองแบบไหนก็มี แต่มีจำนวนน้อยกว่า

-คิดอย่างไรกับคำถามที่ว่า ผู้ชุมนุมรับเงินมาชุมนุมหรือไม่

ข้อหาเรื่องคนจนมาชุมนุมโดยรับเงินมา มันมีมานาน แต่เราคิดว่าเหตุการณ์ปี 53 เป็นจุดพีคทางการเมืองที่คนตื่นตัวสูงมากและอยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มข้นมากที่สุด ไต่ระดับมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 การชุมนุมตั้งแต่ปี2551 ปี 2552 และ ปี 2553
1`
จริงๆ คำถามนี้สำหรับตัวเองหมดไปนานแล้ว เวลาไปสังเกตการณ์การชุมนุมเราจะรู้ หลายๆ การชุมนุมไม่ใช่ไม่มีเรื่องเงินเลย แต่เรามองมันในฐานะที่เป็นส่วนช่วยให้เขามาแสดงเจตจำนงในการมาแสดงออกทางการเมือง

ยิ่งตอนมาสัมภาษณ์เขียนหนังสือเล่มนี้จะเห็นมิติเยอะมาก เขาคงไม่ได้อยากไปตาย แต่ก็ไม่ใช่อุบัติเหตุที่เขาไปอยู่จุดนั้น หรือไปชุมนุมที่นั่น

สรุปคือ ไม่ได้คิดว่าเขาจะถูกจ้างมา คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่างก็จริง แต่เป็นคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นคนละแวกเมือง เพราะคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่อยู่ในเต็นท์ที่ชุมนุม

เหตุการณ์ 10 เม.ย.53 มีความเฉพาะ เพราะมวลชนส่วนใหญ่ไปอยู่เวทีใหญ่ที่ราชประสงค์ แต่ที่ผ่านฟ้าเป็นจุดย่อย เมื่อทหารเข้ามา จะมีมวลชนที่เคลื่อนไหวเร็ว คือตุ๊กๆ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง แท็กซี่ จะเคลื่อนเข้ามาเร็ว เพื่อมากันเป็นด่านหน้าโดยไม่รู้สถานการณ์ในพื้นที่ คนเหล่านี้จะเสียชีวิตเยอะ

-7 ปี ที่ผ่านมา การเมืองดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

ในแง่ความสูญเสีย เหตุการณ์ปี 2553 พีคมากสุดแล้ว คือคนเจ็บคนตายเยอะมาก ถ้าไม่นับรวมเหตุการณ์ก่อนนั้น เช่น พฤษภา 2535 ซึ่งเราไม่ใช่คนรุ่นนั้น

ในแง่ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง ก็ถดถอยลง เพดานในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ในสังคมก็เตี้ยลงมากเสรีภาพในการชุมนุมไม่มี

คนที่จะจ่ายราคาที่จะมาชุมนุม ต่อให้มีจิตใจจะสู้ ก็รวมกลุ่มกันยาก อ่อนแอทุกส่วน สภาพการณ์โดยรวมถอยหลังมากทีเดียว

-คุยกับญาติตอนนั้น มีใครคิดเรื่องเงินเยียวยาไหม

ไม่พูดเรื่องนี้ เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้ทั้งในความรู้สึกของญาติและความรู้สึกของสังคม ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องที่มาทีหลังมากๆ หลังจากเปลี่ยนรัฐบาล หลังจากมีการเลือกตั้งใหม่

ช่วงนั้นมีแต่ความเศร้าโศก ความโกรธแค้น และเรื่องความอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนในครอบครัวของตัวเอง และเรื่องปากท้อง ไม่รู้จะอยู่ยังไง วันพรุ่งนี้จะกินอะไรยังไม่รู้ จะเป็นปัญหาแนวๆ นั้น ไม่มีใครหวังว่าจะได้เงินเยียวยา

ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาอยากรู้ความจริงมากกว่า ความจริงคืออะไร ไม่มีใครพูดเรื่องเงินเยียวยาในช่วงนั้น

-เห็นแหล่งข่าวที่เป็นประชาชนคนธรรมดามีความเติบโตอย่างไรบ้าง


บางส่วนออกมาเรียกร้องสิทธิตัวเอง จนกระทั่งเป็นคนที่สามารถสะท้อนปัญหาของคนอื่นๆ ที่เจอปัญหาลักษณะเดียวกันได้ เช่น คุณพะเยาว์ อัคฮาด และใครอีกหลายคน พอสปอร์ตไลท์ส่องมา เขาก็มีความเสี่ยงหรืออาจจะต้องประนีประนอมกับอะไรต่างๆ ก็มีการพัฒนาจากผู้สูญเสียกลายเป็นผู้นำในการเรียกร้อง

แต่บางคนบาดเจ็บล้มตายหายไปเพราะต้นทุนไม่พอหรือระยะเวลาทำให้เขาไม่ไหว ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินก็เยอะ ส่วนใหญ่เป็นอย่างหลังเพราะปัญหาปากท้องมันสำคัญมาก ไม่ใช่ทุกคนมีเจตจำนงแล้วทำมันได้ เพราะต้องทำมาหากิน ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่าง

-ความเป็นไปได้ที่จะปรองดอง

ถ้าบังคับให้ปรองดองก็อาจจะได้ แต่ถ้าจะให้ปรองดองจริงๆ ก็ยังมองไม่ออก เพราะหลายๆ คำถามจากความรุนแรงทางการเมืองที่มันเกิดขึ้นก็ยังไม่คลี่คลาย กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรกระจ่างชัดมากนัก เช่น คดีต่างๆ ปี 2553 ไม่คืบหน้า แทบจะไม่มีช่องทางที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่าใครผิด เพื่อจะให้มาขอโทษ เพื่อมาหาทางออกอื่น ไม่มีทาง เพราะเริ่มต้นต่างฝ่ายก็ว่าฝ่ายตรงข้าม ทำให้ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราคิดว่ายากและนี่เป็นเงื่อนปมสำคัญ

เหตุการณ์ปี 2553 เป็นเงื่อนปมสำคัญที่นำมาสู่การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นำมาสู่การต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นำมาสู่อะไรต่างๆ นำมาสู่การขับไล่ของ กปปส. นำมาสู่การรัฐประหารครั้งนี้ เพราะฉะนั้นเราก็มองไม่ออกว่าจะเกิดการปรองดองขึ้นได้อย่างไรถ้าไม่หาความจริงก่อน

-ได้รับรางวัลเอเอฟพี สำหรับการทำข่าวในสถานการณ์ที่ยากลำบากในภูมิภาคเอเชียเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คิดว่าสะท้อนการทำข่าวในสังคมไทยอย่างไร

ที่จริงเราก็ไม่ใช่นักข่าวสงคราม ไม่ได้ทำข่าวยากลำบากขนาดนั้น ไม่รู้สึกว่าคู่ควรด้วยซ้ำ แต่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับการทำข่าวที่คนอื่นไม่ทำ บางทีอาจสะท้อนภาวะขาดบางสิ่งที่เขาเห็นว่ามันสำคัญ เขามองเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก เช่น มาตรา 112 ซึ่งถ้าผู้สื่อข่าวสำนักอื่นทำข่าวนี้ด้วยก็อาจจะทำได้ดีกว่าเรา แต่ทุกคนหลีกเลี่ยงหมด ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง เรื่องความอยู่รอด เรื่องต้องห้าม เรื่องอะไรก็แล้วแต่ คือทุกคนเลี่ยงหมด และความจริงก็มีปัญหาประเด็นอื่นอีกเยอะ แต่นี่เป็นแก่นแกน เงื่อนปมทางการเมืองสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครเผชิญกับมันตรงๆ

-สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยใน 7 ปีที่ผ่านมา

นับจากปี 2553 มันก็น่าเศร้านะ เป็นความรุนแรงทางการเมืองที่เราไม่รู้ว่าเกิดความผิดพลาดที่จุดไหน แต่มันทำให้ เป็นจุดตั้งต้นของความรุนแรงทางการเมืองต่อๆ มา

อาวุธสงครามที่เข้ามาในการเมือง เกิดคดีทางการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปี 2553 ไม่ว่าจะคดีเผาศาลากลาง คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีคนเข้าคุกกันเป็นว่าเล่น สังคมไม่รู้จะไปต่อยังไง เพราะเจ็บเยอะ

ต้นทุนของคนที่ออกมาสู้ฝั่งหนึ่งมันเยอะมาก และมีคดีต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 ยังมีคนอยู่ในคุกเพียบเลย ยาวนานตั้งแต่ตอนนั้น ก็สู้คดีไป ไม่รู้ไปซ้ายไปขวายังไงกันบ้าง แล้วก็เป็นคนจนทั้งนั้น ก็น่าสะท้อนใจ เป็นคนที่ ไม่มีใครจะให้ความสนใจอยู่แล้ว

ฉะนั้น เราก็รู้สึกว่าเป็นความบอบช้ำ ในขณะที่บทเรียนก็ไม่เคยถอดกันจริงจังในทุกฝ่าย ฝ่ายเคลื่อนไหวก็เห็นแต่ทะเลาะกันตลอด ไม่มีการถอดบทเรียน แล้วก็แตกกัน ประชาชนก็เหนื่อยอ่อน อ่อนล้า

เรื่องกระบวนการยุติธรรมก็ยังเป็นปัญหามีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะในคดีการเมือง เราก็เลยรู้สึกว่าไม่ค่อยมีความหวังเท่าไหร่

แต่ถ้าจะพูดด้านดีบ้าง มันก็ทำให้หลายคนได้ฉุกคิดเหมือนกันว่า จากที่ไม่เคยใส่ใจความขัดแย้งทางการเมือง จากที่รู้สึกว่า เกลียดนายคนนี้ มองว่านักการเมืองเลว มองโลกว่ามีความเป็นดำ มีความเป็นขาว พอมันมีความสูญเสียมีคนตายเยอะ หลายคนก็คิด หลายคนรับไม่ได้ หลายคนเริ่มหันมาศึกษาการเมืองจริงจัง

หลายคนที่เคยอยู่หลังบ้านก็ออกมาอยู่ข้างนอกมากขึ้น คือมันกระตุ้นความสนใจ ความเศร้าโศก ความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้จำนวนมาก แต่ว่าอันที่จริง มันก็ไม่ควรจะจ่ายด้วยราคาความตายของคนเป็นร้อย มันควรจะมีทางที่ดีกว่านั้น

---

* Voice TV พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ญาตินายทหารผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์และพยายามติดต่อสัมภาษณ์นายทหารที่เคยได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 แต่ไม่ได้รับการตอบตกลงให้สัมภาษณ์

** (ข้อมูลจากประชาไท) มุทิตา เชื้อชั่ง ได้รับรางวัล Agence France-Presse Kate Webb ประจำปี 2015 จากการรายงานข่าวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รางวัลนี้มอบให้แก่ผู้สื่อข่าวที่ทำงานในสถานการณ์ที่ยากลำบากในภูมิภาคเอเชีย โดยชื่อรางวัลตั้งขึ้นตามชื่อของ เคท เวบบ ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีที่อุทิศตนทำงานข่าวสงครามและในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ เธอเสียชีวิตเมื่อปี 2550 ขณะอายุ 64 ปี เธอมีชื่อเสียงในฐานะนักข่าวที่ไม่เกรงกลัวสิ่งใดๆ และมีความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งยังเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาให้กับนักข่าวรุ่นใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชีย


.....














ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 มารำลึกกันโดยมิได้นัดหมาย

ภาพจาก Autchara Thongsawat's post.

.....

7 ปีที่แล้วเวลาเย็น

ผมติดตามเหตุการณ์ที่ผ่านฟ้าจนแน่ใจว่า นี่คือการสลายการชุมนุมของจริง ไม่มีลับ ลวง พรางจะวกเข้าราชประสงค์

ตัดสินใจกระโดดขึ้นรถรีบไปที่นั่นตอนพลบค่ำ เสียงปืนดังรอบทิศ วิกฤติถึงที่สุด

สอบถามสถานการณ์จากเพื่อนแกนนำที่ทำหน้าที่อยู่ตรงนั้น แล้วลงมติหัวใจว่าต้องหยุดความรุนแรงนี้ทันที

ผมเจรจากับคนของรัฐบาล ในที่สุดเสียงปืนก็สงบลง หลังจากนั้นเป็นเสียงกรีดร้อง ร่ำไห้ ถามหาคนที่หายไปอื้ออึงอยู่รอบตัว

จากวินาทีนั้นจนเช้ามืดผมอยู่ที่นั่น จนเดี๋ยวนี้ความทรงจำของผมก็ยังชัดเจนเหมือนยังอยู่ในคืนอำมหิตนั้น

ผมสงสัยตลอดมา ว่าคนสั่งการยังจำได้ไหม?

เราเพียงเรียกร้องเสรีภาพของประชาชน นึกไม่ถึงว่านอกจากไม่ให้เสรีภาพ พวกเขายังพรากเอาลมหายใจคนมือเปล่าได้ลง

วันหนึ่งความจริงและความยุติธรรมจะปรากฏ

ผมเชื่อมั่นเช่นนี้ตลอดมา


นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ