ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่ทางการลาวให้สัมปทานนักธุรกิจจีนเพื่อสร้างเป็นบ่อนและสถานเริมรมย์
ลาวออกกฎหมายใหม่ลดอายุสัมปทานต่างชาติ เหลือ 50 ปี ชี้ 99 ปีนานเกินแก้ไข-ทำให้ประเทศเสียประโยชน์
BY ADMIN ON 18 เมษายน, 2017
Transborder News
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์ของลาวได้ลงข่าวว่า ขณะนี้กฏหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับปรับปรุงล่าสุดของลาวได้ลดระยะเวลาสัมปทานในโครงการลงทุนเหลือ 50 ปี จากเดิมสูงสุด 99 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดในการลงทุนให้แก่เศรษฐกิจลาว
ข้อมูลนี้เปิดเผยโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงแผนและการลงทุนรายหนึ่งของลาวโดยระบุว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ผ่านสภาแห่งชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาและประธานประเทศลาวได้ประกาศใช้ โดยระยะเวลาก่อนหน้านี้ (99 ปี) นานเกินไปกว่าเงื่อนไขของการสัมปทานจะสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่ต้องการต่ออายุสัมปทานสามารถเสนอเรื่องเพื่อพิจารณาได้
“เชื่อกันว่าเงื่อนไขสัมปทาน 99 ปี ทำให้ลาวเสียประโยชน์เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ในเวลาอันสมควร การตัดระยะเวลาลงจะทำให้เราสามารถปรับเงื่อนไขได้อย่างเหมาะสมและในเวลาที่สมควร ซึ่งระยะเท่านี้ (50 ปี) ก็ใช้กันทั่วไปในประเทศทั่วภูมิภาค” เจ้าหน้าที่รายนี้กล่าว
ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่ทางการลาวให้สัมปทานนักธุรกิจจีนเพื่อสร้างเป็นบ่อนและสถานเริมรมย์
ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่ทางการลาวให้สัมปทานนักธุรกิจจีนเพื่อสร้างเป็นบ่อนและสถานเริมรมย์
เขาระบุว่าแม้จะตัดระยะเวลาลงก็เชื่อว่าไม่กระทบต่อการส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใด โดยมาตรา 42 ของกฎหมายฉบับนี้ระบุถึงช่วงเวลาในการสัมปทาน สำหรับโครงการประเภทต่าง ๆ รวมถึงขนาดและมูลค่าการลงทุนโครงการซึ่งมีกำหนดระยะเวลาสูงสุดที่ 50 ปี อย่างไรก็ตามระยะเวลาสัมปทานสามารถขยายได้โดยต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลหรือสภาแห่งชาติ หรือสภาประชาชนระดับแขวง โดยจะมีข้อกำหนดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่นี้ส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่างๆและมุ่งที่จะดึงดูดเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อนึ่ง ที่ผ่านมาทางการลาวได้ให้สัมปทานในโครงการขนาดใหญ่แก่นักลงทุนต่างชาติโดยโดยเฉพาะนักธุรกิจจีน ที่เข้ามาเช่าที่ดิน 99 ปี เช่น โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวงในนครเวียงจันทน์ ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีการกดดันให้ชาวบ้านในท้องถิ่นย้ายออกจากพื้นที่ ที่สำคัญคือมีการสนับสนุนให้ชาวจีนจำนวนมากอพยพเข้ามาอยู่แทนและมีการสร้างกฏกติกาต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์กับคนของตัวเองจนชาวลาวแทบไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ