วันเสาร์, เมษายน 18, 2558

ประจานผลงานรัฐบาล คสช. ธุรกิจ SMEs ทรุดต่อเนื่อง! ก.พ.58 ส่งออกร่วงเฉียด “หมื่นล้าน” บริโภคไร้สัญญาณฟื้น



ที่มา เวปที่นี่และที่นั่นวันนี้
April 17, 2015

เศรษฐกิจไทย หลังพ้นไตรมาสแรกของปี 2558 จนก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่สอง ดูเหมือนยังไม่มีสัญญาณว่าจะกระเตื้องขึ้นแม้แต่น้อย โดยเฉพาะตัวเลขดัชนีชี้วัดต่างๆ ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน “ติดลบ” มาตลอดตั้งแต่ คสช.กระทำการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขผู้ว่างงาน ตัวเลขการปิดกิจการ ตัวเลขส่งออก เม็ดเงินลงทุน หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่จะเป็นตัวชี้วัดการหมุนเวียนเศรษฐกิจของประเทศ ก็ “ตกต่ำ” ต่อเนื่องมานานนับปี

ซึ่งตัวเลขต่างๆ ที่ตกต่ำลงเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันกลายเป็นลูกโซ่ ที่สร้างปัญหาให้กับระบบเศรษฐกิจไทยทุกด้านอย่างน่าใจหาย แม้ว่า “รัฐบาล คสช.” ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพยายามทุกวิถีทางที่จะกระตุ้นด้านต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าจะยังเป็นเพียงยุทธการ “ปิดตาตีหม้อ” แก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด จนสามารถทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้ กลับกันนโยบายและจำนวนเงินงบประมาณ ที่รัฐบาลพยายาม “ทุ่มเท” ลงไป กลับกลายเป็นการ “ทุ่มทิ้ง” ซะยังงั้น!!

ล่าสุด “รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำเดือน มีนาคม 2558” ที่จัดทำและเผยแพร่โดย “ส่วนวิจัยและวิเคราะห์เตือนภัย สำนักข้อมูลและวิจัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านธุรกิจภาคการค้าและบริการ โดย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการค้าและบริการ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีค่าดัชนี 40.3 ปรับตัวลดลงจาก 48.9 ในเดือนก่อน โดยองค์ประกอบปรับตัวลดลง ได้แก่ กำไร การลงทุน การจ้างงานและยอดจำหน่าย เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งด้านการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงปรับตัวลดลง อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

เมื่อเปรียบเทียบดัชนีความเชื่อมั่น 4 ภาคธุรกิจ ระหว่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) และ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) พบว่า ดัชนี TSSI TISI CCI ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ยกเว้น CCI เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ระดับภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร ตลอดจนการส่งออกและการ ท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ภายใต้ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้กำลังซื้อโดยรวมทั่วประเทศยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

ส่วนภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่าดัชนี (มูลค่าเพิ่ม) เดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 79.6 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.5 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตมีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.1 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีดัชนีอยู่ที่ 41.6

การจัดตั้งและสิ้นสภาพกิจการเดือนกุมภาพันธ์ 2558 พบว่า ในส่วนการจัดตั้งกิจการใหม่ จำนวน 5,631 ราย ขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.0 ส่วนการยกเลิกกิจการมีจำนวน 1,113 ราย ขยายตัวสูงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 72.8

เมื่อพิจารณาด้านการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2558 พบว่า SMEs มีมูลค่าการส่งออก 144,055.38 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

มีรายงานว่า สำหรับธุรกิจ SMEs ของไทยนั้น จากการตรวจสอบพบว่า มูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 152,794.15 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่ามูลค่าการส่งออกของ SMEs ในเดือนเดียวลดลงถึง 8,738.77 ล้านบาท