‘เสร็จ’ ไปแล้วรายการชวนคุยเรื่องปรองดองของ ศปป. ในคณะยึดอำนาจ ๒๒ พฤษภา ๕๗
แม้นว่ามันจะเบลอๆ (ดังภาพ) และอาจ ‘สมอารมณ์หมาย’ ของใครบ้าง หรือไม่ แค่ไหน ต้องรอดูกันไม่ช้า เดี๋ยวก็รู้
เบื้องต้น คนแรกที่ออกมาบอกเล่า คืออาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คัดมาให้อ่านกันเต็มๆ จากหน้าเฟชบุ๊คของท่าน
“วันนี้คุยกันกับ ‘ศูนย์ปรองดองฯ’ เดิมคิดว่าคงแค่สักบ่ายโมงก็เสร็จ แต่กลายเป็นเลิกเอาบ่ายสามครึ่ง เพราะผู้เข้าร่วมอยากเสนอความคิดกันเยอะ พูดได้ไม่ทั่วถึง
รูปแบบเป็นการ ‘รับฟังความเห็น’ คือ ศปป. เสนอแนวคิดเบื้องต้น แล้วผู้รับเชิญก็อภิปรายเสนอแนวคิด ศปป. รับฟังและสอบถาม พูดกันเต็มที่ มีทั้งเสริมและแย้งกัน บรรยากาศจริงจังมากจนผู้รับเชิญไม่ยอมเลิก แต่ศปป. ต้องขอหยุดพักก่อน เพราะมีผู้จองใช้สถานที่ตอนเย็น
ผมไม่ได้พูดอะไร แค่เสนอสั้นๆ ว่านักวิชาการชอบคิด พูด เขียน จัดเสวนา เป็นทั้งอาชีพและความชอบของเขา ขอให้คสช. เข้าใจนักวิชาการ และนักวิชาการก็พูดสร้างสรรค์อยู่แล้ว เพราะการพูดสร้างสรรค์คือการพูดความจริง
ศปป. ไม่ได้ขอ ‘ห้ามพูดข้างนอก’ แต่เป็นมารยาท คือเราบอกได้ว่าเราพูดอะไร แต่คนอื่นพูดอะไรบ้างนั้น ต้องให้เจ้าตัวเขาเปิดเผยเอง เพราะอาจมีประเด็นที่เขาไม่อยากพูดในที่สาธารณะ
แล้วที่ ‘ลือ’ กันว่าผู้รับเชิญ ‘โดนคุมตัว’ ก็ไม่มี เขาก็ให้เดินออกมาพักผ่อน จับกลุ่มคุยข้างนอก เข้าห้องน้ำ สูบบุหรี่ บางคนไม่มีเวลา พอพูดเสร็จก็ขอตัวกลับก่อนหลายคน
มีเพื่อนๆ หลังไมค์ถามด้วยความเป็นห่วง ก็ขอขอบคุณทุกท่าน ผมก็ยังอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหน!”
ซึ่งก็น่าจะสรุปได้ว่า ‘ไม่เลว’ ไม่ร้ายอย่างที่ห่วงใยและใจแป้วกันไว้แต่แรก
ถึงกระนั้นมันก็มีดราม่าปะปนอยู่ด้วยพอประมาณ ควรแก่การนำมาเล่าและบันทึกไว้รำลึกในภายหลัง
ชนิดที่ผู้ตัดสินใจไปร่วมท่านหนึ่ง ถึงกับจัดกระเป๋าเดินทางขนาดย่อมติดตัวไปด้วย เผื่อว่าเขาจะให้อยู่นาน จะได้ไม่รำคาญปัญหา hygiene
และผู้ไปร่วมอีกท่าน หนึ่งในสองนักศึกษาที่ได้รับเชิญ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัตน์ นศ. มธ. จัดหนักให้แล้วก่อนเข้าไปภายในสโมสรกองทัพบก
“ตอนนี้กองทัพไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาการเมืองไทยได้ กองทัพอย่าสำคัญตัวผิดไป กองทัพนั่นแหละคือตัวปัญหาที่สร้างปัญหาทางการเมืองขณะนี้ และตอนนี้กังวลเพราะมีการห้ามไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปภายในสโมสรฯด้วย จึงไม่รู้ว่าเขาจะทำการอะไรต่อไป”
แต่นักศึกษาอีกคน นายนัชชชา กองอุดม จาก ม. กรุงเทพฯ กลับออกมาเล่ากับมติชนว่า
“ทั้งนี้ ศปป.ก็มีการขอร้องไม่ให้นำเรื่องที่มาพูดคุยกันในวันนี้ออกมาพูดกับสื่อ เพราะเกรงว่าจะเกิดประเด็นมากมาย ซึ่งไม่อยากนำประเด็นเหล่านี้ไปสู่ความขัดแย้ง”
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1429774160)
ส่วนผู้ได้รับเชิญอีกท่าน ทนายอานนท์ นำภา นั้นไม่สามารถไปร่วมงานนี้ได้เพราะ “มีนัดต้องว่าความที่เชียงใหม่” จึงโพสต์เฟชบุ๊คแจ้งให้ คสช. ทราบความขัดข้องเนื่องจาก “ผมพยายามติดต่อกลับไปตามเบอร์โทรในหนังสือแล้ว แต่ท่านให้เบอร์โทรเกินมา ๑ ตัว ผมจนปัญญาไม่รู้จะตัดเบอร์ใดออก”
ข้อที่น่าจดจารอยู่ตรงว่า ท่าน anticipate ยิ่งนักกับการนี้ ถึงได้ลงท้ายข้อความว่า “ได้โปรดพิมพ์เบอร์โทรกลับให้ครบถ้วนถูกต้องด้วยในโอกาสต่อไป” ฮ่า ฮ่า
อย่างไรก็ดี มีคนเก็บเอามาเล่าเรื่องการไม่พยายาม ‘เสียงาน’ ว่าความ ไปร่วมสนทนาปรองดองกับ คสช. ของทนายอานนท์
เพราะแก “มองว่านี่คือการปราม >'กูรู้นะว่าบ้านมึงอยู่ไหน'” (โคว้ตเก็บมาจากทวี้ตของ Pravit Rojanaphruk @PravitR)
สำหรับอีกท่านที่สรรพยอกว่า ‘ไม่ได้รับเชิญ’ แต่บังเอิญใส่ใจกับงานนี้มากเสียจนต้องวิจารณ์ไว้ว่า
“โดยสรุปนะ เรื่องการ ‘เชิญ’ ไปประชุมพรุ่งนี้ ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อ ‘ส่งซิ้ก’ ทำนองว่า
กูรู้นะว่าพวกมรึงเป็นใคร คราวก่อนที่ไม่ได้เรียกอย่านึกว่ากูไม่รู้จักพวกมรึง และไม่รู้ว่าเกือบปีที่ผ่านมา พวกมรึงทำอะไรกันบ้าง"
(อันนี้คัดมาจากโพสต์ของ Somsak Jeamteerasakul)
จะให้ดีต้องฟังคนที่เป็น (น้องรักของคนที่เป็น) เจ้าภาพของงานนี้
( กรณีการเชิญตัวนางพะเยาว์ อัคฮาด ที่ว่าลูกชายของพะเยาว์โพสต์ในเฟซบุ๊ก
“มีทหารทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบเดินทางมามอบหนังสือถึงบ้าน เพื่อเชิญให้คุณแม่ไปร่วมประชุมให้ความคิดเห็นเรื่องความปรองดองที่สโมสรของกองทัพบกในวันพรุ่งนี้ นายทหารที่ส่งหนังสือบอกว่าเป็นคำสั่งของ พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ ย้ำ!! คำสั่งจาก พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ”)
คณะยึดอำนาจคนน้องที่เป็นหัวหน้าใหญ่พูดถึงการคุยเรื่องปรองดองที่สโมสรกองทัพบกไว้ค่อนข้างชัดแจ้ง (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1429778203) ด้วยท่วงทำนองแบบดนตรีซิมโฟนี่เลยเชียวละ
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. เชิญตัวแทนสองพรรคการเมืองใหญ่ สื่อมวลชน คอลัมนิสต์ และนักวิชาการมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๗”
เริ่มด้วยน้ำเสียงระดับ Allegro ในตอนต้น “เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ไม่ใช่เป็นการเรียกมาปรับทัศนคติ ซึ่งหลายคนเคยถูกเชิญตัวมาพูดคุยก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่เข้าใจและยังวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง”
แล้วจึงตามด้วยแนว Andante “เห็นว่าคนเหล่านี้ควรจะมีหัวใจที่ปรองดองที่จะช่วยกันทำให้บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์ ไม่ใช่จะให้ใช้กฎหมายที่แรงขึ้นเพราะหากมีการบังคับก็ไม่ยอมรับ”
ก่อนจะย้อนไปที่ Moderato อีกที “ยอมรับว่ามีความหนักใจที่ไม่สามารถแก้ปัญหาตามที่ตั้งใจไว้ และยอมรับว่าทุกปัญหามีความท้าทาย มีความเสี่ยงตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาแก้ไขปัญหา”
ปิดท้ายอย่างเฉียบพลันในมาตรฐาน Vivace “ต้องรู้ตัวและปรับตัว ขณะเดียวกันจะมากดดันการทำงานของตนไม่ได้เพราะตนไม่ได้ถูกเลือกเข้ามา แต่เข้ามาด้วยวิธีพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง”
รวมความว่าพวกเขาเหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่ได้วิพากษ์วิจารณ์การเข้ามาสู่อำนาจและดำเนินงานการปกครองของคณะรัฐประหาร ที่เรียกตนเองว่ารัฐบาลในขณะนี้ ไม่เว้นแม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ (สงสัยจะไขสือ) แสดงท่าทีฮึดฮัดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังอภิปรายกันอยู่
ต่างก็ ‘ไม่ได้อย่างใจ’ คณะยึดอำนาจด้วยกันทั้งสิ้น ขณะที่วัฏหนึ่งปีแห่งการยึดอำนาจใกล้เข้ามา ไม่เป็นไปตามคาดหมายที่จะให้การยึดครองครั้งนี้ลื่นเรียบผิดจากครั้งก่อน ทั้งที่ได้ทำหลายอย่างป้องกัน ‘เสียของ’ กันแล้ว
นับแต่ไข้โป้งกวีราษฎร์ - ป็อปโคน (กรวย) ห่มเหลือง - จำคุกสถานเบา ๒๕ ปี - ปรับทัศนคตินักศึกษาวิชาการ - ขายข้าว ‘ที่ว่าเน่า’ จ่ายชาวนา - รถเร็วกลางๆ ๓.๓ ล้าน - รัฐธรรมนูญคุณธรรมห้ามเสียงท่วมท้นเผื่อคนนอกสภา ไปจนกระทั่งเลิกกฏอัยการศึกหันมาใช้ ม.๔๔
เหล่านี้ออกแบบไว้สำหรับสืบเนื่องอำนาจหลังพ้นหนึ่งปี แต่การมิได้เป็นดังหวังทั้งสิ้น
นอกจากองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติต่างตำหนิและจี้ให้หยุดก้าวก่ายเสรีภาพ ปรับกระบวนยุติธรรมให้ตรง กลับสู่รัฐบาลพลเรือน แล้วยังชาติพี่เอื้อย-คู่ค้าหลักอย่างอียู ญี่ปุ่น อเมริกา พากันกดดันให้หันหน้าสู่ประชาธิปไตย ตัดข้อยกเว้นการค้า ลดระดับช่วยเหลือทางทหาร และเริ่มย้ายการผลิต บั่นทอนการจ้างงาน
โดยเฉพาะอเมริกาที่ส่งนายแดเนียล รัสเซิ่ล ไปสะกิดถึงบางกอก ว่าปล่อยพวกหมาไน ตลก. ไล่ขย้ำอดีตนายกฯ เลือกตั้ง ไม่ใช่ท่าทางที่น่าดูสำหรับเพื่อนผู้น่าคบ แม้แต่การวางตัวกลิน เดวี่ส์ ว่าที่ทูตคนใหม่ ก็หาใช่สัญญานการรับรองไม่
นัยว่าความไม่น่าไว้วางใจของเผด็จการไทย ใกล้เคียงเกาหลีเหนือและอิหร่าน นั่นต่างหาก
รวมทั้งด้านการค้าประมงที่อียูกำลังจะให้ใบเหลือง และอเมริกาก็กำลังจะพิจารณาจัดให้บ้าง หลังจากปากว่าตาขยิบมานาน ครานี้ได้จังหวะลงมือกับรัฐบาลวิธีพิเศษจ้าวคุณธรรมนี่แหละ
ข่าวเอพีวันที่ ๒๒ เมษายน แจ้งว่าได้มีการยื่นกระทู้ในที่ประชุมคองเกรสวอชิงตันเรื่องการละเลยของไทย ปล่อยพฤติกรรมกดขี่ค้ามนุษย์แรงงานประมงเฟื่องฟูอยู่ ชนิดเตือนแล้วยังไม่เหลียวแล (http://hosted.ap.org/…/s…/U/US_SEAFOOD_FROM_SLAVES_IMPUNITY… )
“นายมาร์ก ลากอน ประธานฟรีดอมเฮาส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านสิทธิมนุษยชน และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่าด้วยการค้ามนุษย์ แถลงต่อคณะอนุกรรมการกิจการต่างประเทศของสภาคองเกรสว่า หลายปีที่ผ่านมามีรายงานว่าอุตสาหกรรมประมงในไทยใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทั้งกระบวนการออกทะเลหาปลา รวมถึงขั้นตอนการผลิตและแปรรูปของโรงงาน”
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1429834986)
ไหนจะรถไฟฟ้าเร่งรีบไชน่าที่คณะยึดอำนาจแก้หน้าด้วยการแจกซองผ้าป่าให้สามเจ้าสัวมาช่วยลงทุน ก็ยังแดกดันกันไปทั้งที่ท่านรองฯ ด้านเศรษฐกิจตั้งแง่สงสัย ‘จะคุ้มไหม’
ไหนจะการท่องเที่ยวที่แห้งเหี่ยวลงไปไม่เว้นวัน แต่ก็ดึงดันให้ รมว. ออกมาตอแหลตัวเลข อ้างว่า ‘เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี’ ที่ไหนได้สถิติ จากองค์กรโลกชัดจริงโทนโท่ ตัวคน tourists ลดไป ๖ เปอร์เซ็นต์ ตัวเงินรายได้ลดลง ๘ เปอร์เซ็นต์
ข้อสำคัญเรื่องการปรองดองนั่นเหลวไหลสิ้นเชิง ประเภทพูดได้ไม่ทำ ฝ่ายหนึ่งลอยชาย (ตระบัดลิ้นในผ้าเหลืองยังทำได้) อีกฝ่ายถ่อมถอยด้อยลง กระทั่งจะทำบุญให้คนตายรำลึก ๑๐ เมษา ๕๓ ยังไม่ได้
โดยเฉพาะชั้นเชิงป้ายสีฝ่ายตรงข้าม คดีบึ้มเกาะชั้นในอ่าวไทย ไฟไหม้กิจการใกล้เจ๊ง ดันแล้วดันอีกจะให้ตกที่คนไกลก็ไปไม่สำเร็จ จำนนด้วยหลักฐานจำต้องยอมรับตามจริงว่าเป็นฝีมือขบวนการภาคใต้ ที่สดๆ ล่าสุดวางระเบิดอีก ถล่มชุดคุ้มครองปัตตานี-นราธิวาส
ฉะนี้ ดูทีการเรียกคุยเรื่องปรองดองคงเป็นเพียงจิตวิทยาการศึกชักตื้นชักลึกกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
เรียกไปดูหน้าเสีย (อีก) ที ก่อนถึงเส้น ๑ ปี ให้ดูดีจากภายนอก (ประเทศ) ใครอยากพูดอะไรว่าไป เราฟังนะ แต่จะได้ยินไหม อีกเรื่อง
หรือจะเป็นอย่างที่ ‘โลกวันนี้’ เขาประมวลไว้ก็ได้ ว่าเป็นไปตามตามจิตสำนึกของเผด็จการ ‘รักชาติอย่าเห็นต่าง’