ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558
วันที่ 27 เม.ย. นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชูวิทย์ I′m No.5 ถึงกรณีความคืบหน้า "โครงการรถไฟความเร็วสูง" ซึ่งมีทั้งในส่วนที่รัฐบาลเพิ่งจะลงนามความร่วมมือการศึกษาพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ไทย-ญี่ปุ่น และในส่วนของการร่วมลงทุนของเอกชนในกิจการรัฐ (พีพีพี) ซึ่งทางกลุ่มซีพี และบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ก็ได้ให้ความสนใจอยู่ โดยนายชูวิทย์ นั้นระบุว่า
คนดีหายไปไหน? รถไฟความเร็วสูงมาแล้ว
สมัยผมเป็น ส.ส. อยู่ในสภา รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอโครงการ “รถไฟความเร็วสูง”วงเงินกู้ 2 ล้านล้าน ผ่านเข้าสภา
ฝ่ายค้านลุกฮือ ดิ้นเป็นเจ้าเข้า รุมอภิปรายคัดค้านอยู่สามวันสามคืน บอกว่าสิ้นเปลืองบ้าง เป็นหนี้นานห้าสิบปีบ้าง ใช้หนี้ยันลูกยันหลานบ้าง กู้มาโกงบ้าง ทุนนิยมสามานย์บ้าง
เรียกว่าค้านหัวชนฝา ไม่มีเห็นด้วยสักประโยค ส่วนผมเป็นฝ่ายค้านพรรคเล็กๆ ที่ได้รับความกรุณา เจียดเวลาอันน้อยนิดให้ขึ้นอภิปราย
ผมบอกกับรัฐบาลว่า เห็นด้วยกับโครงการรถไฟความเร็วสูง เพราะเป็นประโยชน์กับอนาคตของประเทศ แต่ไอ้จะกู้ทีเดียว 2 ล้านล้าน มันจะไม่มากไปหน่อยหรือ? เอาไปแค่ห้าแสนล้านก่อนแล้วกัน ทำผลงานให้ดูหน่อยว่าเป็นยังไง ถ้าพอไปวัดไปวาได้ค่อยว่ากันอีกที เงิน 2 ล้านล้าน มันไม่ใช่น้อยๆ เอาไปถือไว้ทั้งก้อนใครเขาจะตรวจสอบได้?
แต่อย่างว่าล่ะครับ พูดอยู่คนเดียวเสียงมันเลยค่อย ท้ายสุดผมก็ต้องโหวต “ไม่เห็นด้วย” ตามมติของฝ่ายค้าน
ที่ไหนได้ รัฐบาลปัจจุบันกลับรื้อโครงการรถไฟความเร็วสูงมาสานต่อ คราวนี้ล่ะคุณเอ๋ย ฝ่ายค้านก็ไม่มี ตรวจสอบก็ลำบาก แถมลากบรรดานายทุนอย่าง เบียร์ช้าง ซีพี มาแบ่งสรรปันส่วนกันเรียบร้อย
อดีตฝ่ายค้านที่น่ารักของผมหายไปไหนแล้วล่ะครับ? เมื่อก่อนยอมไม่ได้ เป็นตายยังไงก็ไม่ให้มีรถไฟความเร็วสูงเด็ดขาด! แต่ตอนนี้ดันหายเงียบ ทำตัวเจี๋ยมเจี้ยมไม่มีร้องสักแอะ
คราวนี้ไม่ใช่แค่ “ทุนสามานย์” แล้วนะครับ แต่เป็น “ทุนผูกขาด”
พวก "คนดี" ทั้งหลาย จะไม่ออกมาค้านกันหน่อยหรือ?
ooo
ซีพีตุน3พันไร่รอไฮสปีดเทรนระยอง ควงพันธมิตรจีนร่วมลงทุน"นิคมอุตฯ-ระบบราง"
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
26 เม.ย 25583 เจ้าสัวแห่ชิงเค้กรถไฟ "บีทีเอส" สนทั้งรถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน และพัฒนาอสังหาฯแนวรถไฟฟ้า "ซีพี" ผนึกรับเหมาจีน-ฮ่องกง ตีตราจองรถไฟความเร็วสูง "กทม.-พัทยา-ระยอง" ตุนที่กว่า 3 พันไร่ ผุดนิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง "ไทยเบฟ" ลุยสายใต้ "กทม.-หัวหิน" ปลาย พ.ค.นี้ "บิ๊กจิน" ชง ครม.ตู่เคาะ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเอกชนทยอยนำเสนอแผนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟ ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือบีทีเอส ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์ มาหารือจะขอลงทุนรถไฟทางคู่ราง 1 เมตร เส้นทางขอนแก่น-แก่งคอย-แหลมฉบัง ระยะทาง 510 กม. จะขอสัมปทานก่อสร้างงานโยธา ติดตั้งระบบและเดินรถ เป็นระยะเวลา 30 ปี จะเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก
ส่วนการเดินรถเสนอเป็นระบบไฟฟ้าที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มความเร็วในการเดินทาง ประหยัดพลังงานและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลมีแผนจะสร้างรถไฟทางคู่อยู่แล้วปีนี้ คงให้บีทีเอสเข้าร่วมได้เฉพาะการเดินรถ จะให้บีทีเอสทำรายละเอียดข้อมูลเสนอใหม่กลางเดือน พ.ค.นี้ เช่น ผลตอบแทน เงื่อนไขแหล่งเงินลงทุน
พร้อมกับโครงการพัฒนาอสังหาฯที่บริษัทสนใจจะพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้ารองรับผู้มีรายได้น้อย ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เช่น สีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมถึงที่ดินบางปะอินแนวสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
"บีทีเอสเสนอตัวจะช่วยพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับผู้บุกรุกที่รัฐบาลมีนโยบายจะแก้ปัญหา เช่น รุกล้ำลำคลอง บริษัทจะช่วยลงทุนให้ เพราะมีธุรกิจอสังหาฯด้วย เราจะดูที่ดินการรถไฟฯในแนวเส้นทางหรือจุดปลายทางให้ จะหารือครั้งต่อไป" พล.อ.อ.ประจินกล่าวและว่าบีทีเอสยังมีข้อเสนอแนะรูปแบบการพัฒนาเมืองใหม่ในเส้นทางรถไฟ นำโครงการที่เคยมีประสบการณ์พัฒนามานำเสนอว่าการพัฒนาเมืองใหม่ควรจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ดีและตรงกับแนวคิดของรัฐบาลจะพัฒนาเมืองตามเส้นทางรถไฟเหมือนกับต่างประเทศ เพื่อกระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาคอยู่แล้ว
นอกจากนี้ วันที่ 23 เม.ย. คณะผู้บริหารของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี มาหารือสนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง (มาบตาพุด) จะร่วมกับ บจ.ซิติก คอนสตรัคชั่น จากฮ่องกง มีธุรกิจครบวงจรทั้งออกแบบ ที่ปรึกษา ก่อสร้าง สถาบันการเงินของตัวเอง และ บจ.ไห่หนานกรุ๊ป จากประเทศจีน มีความเชี่ยวชาญสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ จะลงทุนร่วมกับรัฐแบบ PPP ซึ่งซีพีมีความเชี่ยวชาญรูปแบบ BOT (Build Operate Transfer) คือ จ้างก่อสร้าง รับสัมปทานเดินรถ 30 ปี หลังครบอายุสัมปทานโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ โดยซีพี
ตั้งคณะทำงานศึกษาการลงทุนรถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะ
"ให้บริษัทศึกษาข้อมูลเพิ่มจากการสำรวจพื้นที่ ตั้งแต่ลาดกระบัง บางปะกง ชลบุรี พัทยา และระยอง เราพร้อมให้คำแนะนำ เพราะโครงการนี้ศึกษาเสร็จแล้ว รออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ให้บริษัทนำข้อมูลกลับมาเสนอวันที่ 9 พ.ค.นี้" พล.อ.อ.ประจินกล่าวและว่า จากนั้นการรถไฟฯและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะนำข้อมูลของซีพีไปพิจารณารูปแบบการเข้าร่วมโครงการที่เหมาะสมต่อไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปวันที่ 16 พ.ค. หากไม่มีเอกชนมานำเสนอแผนลงทุนเพิ่ม จะเจรจากับซีพีตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ต่อไป
"ปลาย พ.ค.จะนำรายละเอียดเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการรอไว้ก่อน ให้เอกชนมั่นใจว่ารัฐบาลลงทุนแน่ ช่วงรออนุมัติอีไอเอจะเร่งให้เสร็จเร็วที่สุด เพราะกระทบพื้นที่แค่ 4 จุด เมื่ออีไอเอผ่านแล้วจะเสนอ ครม.อีกครั้ง ก่อนเดินหน้าโครงการต่อไป"
สำหรับโครงการนี้มีระยะทาง 193.5 กม. เงินลงทุน 152,712 ล้านบาท เริ่มต้นจากสถานีลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ศรีราชา-พัทยา-ระยอง จะเน้นผู้โดยสารเป็นหลัก เป็นเส้นทางเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการเดินทาง เพิ่มศักยภาพในการขนส่ง ทำให้การท่องเที่ยวไปภาคตะวันออกสะดวกขึ้น
ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ทางกลุ่มไทยเบฟเวอเรจสนใจจะมาลงทุน จะหารือร่วมกันในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อเร่งสรุปโครงการเสนอ ครม.อนุมัติโครงการพร้อมกัน ซึ่งเส้นทางนี้มีระยะทาง 221 กม. เงินลงทุน 98,399 ล้านบาท อยู่ระหว่างรออนุมัติอีไอเอ
แหล่งข่าวจาก บมจ.ซี.พี.แลนด์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทมีที่ดินใน จ.ระยอง 3,140 ไร่ เตรียมไว้ลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมในชื่อ "ซีพี อินดัสเทรียล พาร์ค" ขณะนี้เดินหน้าตามแผนงาน ได้ยื่นเรื่องไปที่โยธาธิการและผังเมือง จ.ระยอง ขอแก้ไขสีผังและออกแบบ ถ้าได้รับอนุมัติจะยื่นเรื่องต่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อนุมัติการลงทุน
อีกทั้งมีที่ดินพัทยาใต้กว่า 20-30 ไร่ ใกล้ ถ.เทพประสิทธิ์ เดิมจะพัฒนาคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรในปีที่ผ่านมา แต่มีภาวะโอเวอร์ซัพพลายจึงชะลอไว้ก่อน ไม่แน่ใจว่าอยู่ใกล้แนวไฮสปีดเทรนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จังหวะการลงทุนคงจะพิจารณาภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก และพัฒนาให้สอดรับกับรถไฟความเร็วสูง