ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558
นายกฯ พร้อมคณะบินมาเล ประขุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 26 ฉุนถูกปรามาสแก้อะไรไม่ได้ บ่นน้อยใจกินนอนไม่ได้ก็โทษประยุทธ์ ซัด รัฐบาลเดิมบริหารประเทศสร้างนิสัยคนไทยเห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง
เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 26 เมษายน ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์และลังกาวี ระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน
โดยนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางว่า อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทยการหารือประสานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเหมือนกัน และการไปร่วมประชุมครั้งนี้จะมีการหารือว่าทำอย่างไรจะต่อเนื่องเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจในลักษณะการช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ใช่การแข่งขันกันแต่จะเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรทางยุทธศาสตร์โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรที่มีปัญหาต่อเกษรตกรทั้งนี้ตนได้พูดเรื่องเหล่านี้ทุกเวทีทั้งยุโรปและตะวันตก ถ้าทุกคนในโลกนี้มองไม่เห็นความสำคัญเรื่องของอาหารก็จะเป็นปัญหาต่อไปเพราะกลุ่มประเทศอาเซียนมีเกษตรกรด้านการเกษตรจำนวนมากหากราคาด้านการเกษตรตกอย่างนี้และไม่ให้ความสำคัญต่อไปคนก็จะออกจากวงจรการเกษตรจะทำให้ไม่มีเกษตรกรไม่มีชาวนามาทำอาหารเหล่านี้ แล้วเราจะเป็นแหล่งอาหารโลกได้อย่างไรจึงขอให้ช่วยกันผยุงราคาให้สูงขึ้นมาหน่อย ขณะเดียวกันเราไม่ได้ขอคนอื่นอย่างเดียว อยากบอกให้คนไทยต้องพึ่งตัวเองให้ได้ด้วย โดยรัฐบาลจะทำทุกอย่างในการช่วยเหลือ แต่เกษตรกรและประชาชนต้องรู้จักเรียนรู้เราจะพึ่งกันอย่างไรและจะให้รัฐทำอะไรให้ ไม่ใช่ทุกพวกทุกฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือทุกเรื่อง และท้ายที่สุดมาขอเงินในการช่วยเหลือซึ่งมันไม่ได้ เพราะวันนี้ต้องรู้ว่าเศรษฐกิจตก รายได้ค่อนข้างมีปัญหาและมีมานานแล้ว ดังนั้นเราต้องช่วยกันทำให้หยุดอย่างน้อยไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้ เพราะถ้าปล่อยความเสียหายจะมากกว่านี้ แต่วันนี้เราสามารถทำให้ปัญหาเหล่านี้หยุดชะงักและเดินหน้าต่อไปได้โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนและจัดทำงบประมาณซึ่งทุกอย่างไม่ได้แก้ได้ภายในวันนี้ทันที
"วันนี้ผมได้สั่งการไปยังการเงินการธนาคารให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐพูดคุยกันผมเป็นห่วงคนมีรายได้น้อยซึ่งมีหลายระดับซึ่งต้องการเงินตั้งแต่แสนบาทโดยไม่มีการค้ำประกันอะไรทำนองนี้ซึ่งทางรัฐอาจจะพอช่วยได้ แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเข้ามาร่วมด้วยแต่เข้าใจทางธนาคารพาณิชย์มีหลักเกณฑ์ หลักการหลายอย่างในเรื่องให้เงินลงทุนทำมห้เขาเสี่ยงที่จะเป็นเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียมากๆไม่ได้ แต่ผมจะหาทางคุยกับเขาว่าจะทำอย่างไรทั้งเรื่องดอกเบี้ย การผ่อนชำระ วงเงินให้กู้ สิ่งค้ำประกันในการให้กู้เงิน ซึ่งวันนี้หลายคนต้องการเงินตั้งแต่วงเงิน 1 แสนบาท โดยเฉพาะแม่ค้าข้าวแกง แม่ค้าขนม เพื่อที่จะนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ขายไปเรื่อยๆคิดว่าวันหน้าจะดีขึ้น แต่ในส่วนของพ่อค้าแม่ค้าระดับกลางที่พอจะมีทุนหมุนเวียนมากหน่อยต้องการเงินกู้ในวงเงินประมาณ 5 แสนบาท 1 ล้าน 5 ล้านและ 10 ล้านบาท ตรงนี้ก็ต้องหาแหล่งเงินให้เขา แต่ทำอย่างไรจะทั่วถึง ผมได้สั่งการกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปดูก่อนที่ตนจะเดินทางกลับมาจากต่างประเทศว่าจะทำอย่างไรและจะมีมาตรการอะไรเสริมเข้ามาซึ่งทุกคนต้องช่วยกันต้องบอกความจริงกันแต่ถ้าทุกคนจะเอาทั้งหมดโดยไม่มีอะไรเป็นหลักเกณฑ์และถ้าเป็นหนี้ศูนย์ ทางแบงค์ก็จะลำบาก ตรงนี้ต้องเห็นใจกัน มีทรัพย์สินอะไรก็เอามา ผมดูถึงขนาดหากจะเอารถ เอาบ้านมาจำนองหรือค้ำประกันจะสามารถให้เงินกู้ได้เท่าไหร่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการเงินการคลังบางครั้งมันสั่งมากไม่ได้ จะเอามาตรา44 สั่งนู้นสั่งนี่คงไม่ถูก เพราะระบบการเงินมันยึดโยงกันทั้งประเทศและทั้งโลกแต่ทำอย่างไรเราจะช่วยกัน จึงต้องขอร้องทางเจ้าของธนาคารอาจจะมีการผ่อนผันได้หรือไม่สำหรับคนที่มีหนี้สินเยอะ แต่ถ้าผู้ที่จะกู้เงินมีทรัพย์สินมาค้ำประกันก็ให้เงินกู้เขามากหน่อยไม่ใช่กดต้ำลงเหมือนปกติไม่ได้ ข้อสำคัญต้องให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันมากหรือน้อยก็ต้องให้ทุกพื้นที่ ทุกกลุ่ม ไม่ใช่ให้แต่กลุ่มตัวเองตรงนี้สำคัญ วันนี้บ้านเมืองมันไปไม่ได้แล้วความขัดแย้งก็มี โรคภัยไข้เจ็บก็เยอะ สาธารณะสุขพื้นฐานก็แย่ การศึกษาก็มีปัญหา การเมืองก็มีปัญหา แต่เรื่องการเมืองตนไม่อยากลงไปยุ่งมากนัก แต่ตนถือว่าปากท้องสำคัญที่สุด หากใครคิดว่าเรื่องการเมืองสำคัญกว่าก็เอาไปขอร้องกับพวกการเมือง
"วันนี้ผมพยายามทำให้อยู่ได้แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยเร็ว หลายเรื่องหลายคนตำหนิผมทุกวัน แถมยังปรามาสอีกจะเสร็จหรือจะทำได้หรือเปล่า ผมคิดว่าคนไทยแบบนี้ไม่ถูก ต้องเปลี่ยนทัศนะคติวิธีคิดกันใหม่ ถ้าคิดแบบนี้ตนบอกได้เลยไม่มีทางเจริญเพราะไม่เข้าใจ ไม่เคยเข้าใจ และไม่คิดจะเข้าใจ ผมไม่ได้พูดถึงคนดี คนดีเยอะกว่าคนไม่ดีแน่นอน แต่คนไม่ดีพยายามที่จะปลุกปั่นยุยงให้คนเหล่านี้เข้าใจผิดๆต่อไป สื่อบางคอลัมถ์ก็เขียนในเชิงไม่สร้างสรรค์ ไม่รู้ว่าวันนี้สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ตรงไหน และผมเข้ามาทำอะไร ผมเข้ามาทำให้เกิดปัญหาขึ้นหรืออย่างไร แม้กระทั่งเรื่องIUU เรื่องค้ามนุษย์มันเกิดขนเมื่อไหร่ 6 เดือนผมเข้ามาแก้ทุกอย่างและยังแก้ไม่ได้เลย ขอถามว่าเรื่องพวกนี้เกิดมากี่ปีแล้ว แล้วมาอ้างว่าผมเข้ามาควบคุมอำนาจ ทำให้เกิดIUU กับการค้ามนุษย์มันใช่หรือไม่ เรื่องพวกนี้ไม่ว่าผมจะทำหรือไม่ทำ มันมีการทุจริตอยู่แล้วหรือเปล่า โดยเฉพาะการไม่ขึ้นทะเบียนเรือ ซึ่งมันก็มีอยู่แล้วแทนที่จะช่วยกันหารือร่วมกันและให้กำลังใจ ขอให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไป ผู้ประกอบการเข้ามาให้ความร่วมมือ ผู้ใช้แรงงานปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ตอนนี้ข้างล่างมั่วเละไปหมด รัฐบาลก็ต้องไปกวดขันเจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกเหล่า ทุกหน่วยงานให้ทำงานได้ และวันนี้ก็เห็นขมีขมันทำงานกันทุกคน ความบกพร่องอยู่ที่ใคร มันควรจะเป็นความบกพร่องใคร และใครที่ทำให้เกิดความเสียหายจนถึงทุกวันนี้ ไปหาให้เจอ อะไรก็มาโยนคสช. อะไรก็ประยุทธ์ๆ ทุกอย่าง นอนไม่หลับกินไม่ได้ก็ประยุทธ์ ต้องใช้มาตรา 44 อีกรึเปล่าก็ไม่รู้ เรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤติไม่ใช่มันดี มันไม่ดีมาตลอดเพียงแต่มันไม่ออกมา แต่พอผมเข้ามามันก็ออกมา แล้วก็มาซ้ำเติมผม มันไม่ใข่ ใครจะมามีกำลังใจทำแต่ผมก็ยังอดทนอยู่ไม่ว่ากัน"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มาตรการหรือแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอเรื่องการปรับโครงสร้างการสนับสนุนเอสเอ็มอีซึ่งตนก็สั่งการลงไปแต่คนทำล้านคนข้างล่างจะทำสักกี่คนจะสำเร็จหรือไม่แต่ถ้าทำอย่างที่ตนบอกไปสำเร็จแน่ แต่ถ้าทำ 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ไม่ทำจะสำเร็จหรือไม่ โครงสร้างเหล่านี้มันจะเกิดหรือไม่ เพราะงานด้านเศรษฐกิจเป็นโครงสร้างที่เหมือนร่างกายคน ถ้าจะมีแรงต้องมาจากปอด ตับ ไส้ พุง ไม่ใช่ข้าราชการคนเดียว หรือรัฐบาลอย่างเดียว ประชาชนต้องร่วมด้วย พ่อค้าคนกลางทั้งหมดต้องช่วยกัน แต่ถ้าวันนี้ทุกคนยังแสวงแต่ผลกำไรเหมือนเดิมทุกอย่าง พอลดกว่าเดิมก็โวยวาย แต่ถ้าได้ประโยชน์ก็เฉยตรงนี้ต้องปรับใหม่ ต้องดูว่าระเบียบวินัยอยู่ตรงไหน ยังมีการจ่ายใต้โต๊ะอยู่หรือเปล่าจ่ายที่ไหน เพราะตนไม่ได้สั่งให้มีเรื่องใต้โต๊ะทุกอย่างประมูลโปร่งใส แต่ถ้าตนสั่งแล้วไม่ทำให้รายงานมาที่ตนจะลงโทษ ขจัดคนเลวไปเรื่อยๆ ตนมีเวลาทำให้ได้แค่นี้ หลังจากนี้เอาเถอะจะไปเรียกร้องกับใครก็ไปเถอะ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจนอกประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์ และรายได้รัฐมาจากการส่งออก วันนี้การส่งออกก็ตก เพราะเขาไม่ซื้อเราการซื้อน้อยลง เขามีความขัดแย้งเศรษฐกิจตกเขาก็ซื้อน้อย ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของไทย ทำแบบขายอย่างเดียวขายวัตถุดิบเอกชนทำกันเอง รัฐบาลอำนวยความสะดวกตามกฎหมาย ไม่ได้มาบี้มาตามจี้กระทรวงพาณิชย์แบบตน และว่ากระทรวงพาณิชย์ทุกวัน เขาทำมากกว่ารัฐบาลอื่นๆทำมาด้วยซ้ำ ทั้งเดินสายต่างประเทศ เปิดตลาดรองในประเทศต่างๆ แต่ทุกอย่างมันต้องมีการแข่งขันบริษัมเอสเอ็มอี มี 90 เปอร์เซ็นต์จดทะเบียนกับรัฐยังไม่ครบ ขึ้นทะเบียน 6 แสนราย อีก 2.6 แสนรายหายไปไหนเพราะกลัวภาษี ทางเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยปละละเลย ต้องรื้อทั้งระบบ แต่ถามว่าจะรื้อทันไหม วันนี้เร่งทุกวัน บ่นทุกวัน ว่าทุกอาทิตย์ก็ได้มาระดับหนึ่ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สินค้าด้านการเกษตรวันนี้ที่ขายไม่ดีราคาตก เป็นเพราะอะไร ข้าวค้างอยู่ในคลังเพราะอะไร ข้าวฤดูการใหม่ที่จะออกมาจะทำกันอย่างไร ต้องหาเงินไปให้เขาอีกหรือเปล่า ชาวนาจะเดือดร้อนอีกหรือไม่และยังมีเรื่องราคายางอีก เรื่องราคายางในต่างประเทศยังมีปัญหาแล้วเราจะมาเอาราคา 70-80 บาทได้อย่างไร เก็บภาษีก็ไม่ได้ขายของสู้ต่างประเทศก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้สักอย่างแต่จะเอาหมดทุกอย่าง สาธารณะสุขก็ไม่พอ การศึกษาก็ไม่ดี ฟรีทั้งหมด มันเหมือนกับเห็นช้างขี้ ขี้ตามช้างประเทศไทยอะที่ผ่านมา แต่ตนก็แก้ไม่ได้เพราะมันทำไปแล้ว วันนี้คนรวยเสียสละด้วยหรือไม่ เอาส่วนที่ตนมีไปให้คนที่มีรายได้ปานกลาง รายได้น้อยใช้ประโยชน์ วันนี้ตนพร้อมบริจาค ซึ่งตนไม่เคยไปรบกวน ไม่อยากให้ใช้มากนัดกแต่เป็นสิทธิ์ของเขา ถ้าไม่มีสิทธิ์เรื่องการรักษาพยาบาลก็ไม่มีใครเป็นข้าราชการหรอก มันเสี่ยง เว้นแต่คนทุจริตอยากเป็น ไม่มีใครรวยหรอก
ooo
แบงก์อ่วมหนี้เน่าโตไม่หยุด2หมื่นล. สะดุดศก.ฝืดไตรมาสแรกกัดฟันตั้งสำรองเพิ่ม20%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
26 เม.ย 2558แบงก์กระอักหนี้เน่าค้ำคอ บางแห่งโตไม่หยุด ไตรมาสแรกเอ็นพีแอลพุ่งเฉียด 2 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 6.67% ค่าย "กรุงไทย" เอ็นพีแอลทะลุ 1 หมื่นล้าน แบกภาระตั้งสำรองหนี้สูง 22% "แบงก์ชาติ" ลั่นหนี้เสียตามเศรษฐกิจฝืด กสิกรฯจ่อลดเป้าสินเชื่อ "เคเค" คาดหนี้เน่าสิ้นปี 7%
"ประชาชาติธุรกิจ" รวบรวมข้อมูลของยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และการสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) 11 แห่ง ในไตรมาส 1/2558 พบว่า เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 6.67% หรือ 19,220 ล้านบาท มาอยู่ที่ 307,383 ล้านบาท จากระดับ 288,163 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2557 ขณะที่การตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (สำรองหนี้ฯ) เพิ่มขึ้น 22.5% มาอยู่ที่ 26,783 ล้านบาท จากระดับ 21,863 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2557
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เอ็นพีแอลในช่วงไตรมาสแรกของแบงก์ ทั้งระบบ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว และแต่ละแห่งไม่ได้มีเอ็นพีแอลที่สูงมาก
"แต่ละแบงก์มีระบบการบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว และดำเนินการอย่างระมัดระวัง เห็นได้จากที่ผ่านมามีการนำกำไรกลับมาตั้งสำรองไว้ค่อนข้างเยอะ ดูจากเงินกองทุนเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญก็อยู่ในระดับสูง น่าจะเพียงพอสำหรับการดูแลปัญหาได้ จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อความแข็งแกร่งของแบงก์พาณิชย์" นายประสารกล่าว
ขณะที่นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารเตรียมปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อรวมของปีนี้ จากปัจจุบันตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโตที่ประมาณ 7-8% รวมถึงทบทวนแผนบริหารจัดการด้านอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนเอ็นพีแอลของธนาคารถือว่าไม่ได้เพิ่มมากนัก โดยส่วนใหญ่เกิดจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น กลุ่มธุรกิจการเกษตร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และรายย่อย เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ตั้งสำรองไว้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน (เคเค) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรก ตัวเลขสินเชื่อของธนาคารลดลง 1.9% จากสิ้นปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากสินเชื่อเช่าซื้อทั้งรถใหม่และรถเก่า รวมทั้งสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลง จึงคาดการณ์ว่าปีนี้สินเชื่อจะเติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 6% ดังนั้น ธนาคารจึงปรับกลยุทธ์ด้วยการเน้นเติบโตจากรายได้ค่าธรรมเนียม
"เราจะเน้นเติบโตจากการบริหารจัดการลูกค้า Wealth มากกว่า ไม่เน้นการเติบโตด้านสินเชื่อ ขณะที่เอ็นพีแอลจะเร่งเคลียร์ให้เร็ว ดูแลหนี้ใหม่ที่มีหลักประกันคุ้มค่า ซึ่งตอนนี้เอ็นพีแอลเราอยู่ที่ 6.5% ถ้าปีนี้ยังเพิ่มอีกก็คงไม่เกิน 7%" นายอภินันท์กล่าว
ด้านนางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเห็นได้จากปริมาณหนี้โดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว แต่เนื่องจากสินเชื่อปล่อยใหม่ไม่ได้เติบโต จึงทำให้ยังเห็นสัดส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ขณะที่ในปีนี้ธนาคารจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อและหันไปเติบโตด้านรายได้ค่าธรรมเนียมมากกว่า
"สถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่ได้มีอะไรที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนขนาดนั้น ซึ่งรายย่อยก็ยังเจอปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่วนรายใหญ่ก็รอการลงทุนภาครัฐ ดังนั้นการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมจึงไม่น่าจะโดดเด่น ขณะที่สินเชื่อของเราในปีนี้ก็คงไม่เติบโตและอาจยังติดลบเล็กน้อย แต่โชคดีที่เราสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ดีขึ้น ราคารถมือสองก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว ก็น่าจะหาช่องทางในการเติบโตได้มากขึ้น" นางอรนุชกล่าว