ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558
หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
มุกดา สุวรรณชาติ
มติชนสุดสัปดาห์ 17-23 เมษายน 2558
จากรัฐประหารปี 2549
ถึงรัฐประหารปี 2557
สถานการณ์เปลี่ยนเร็วยิ่งทุกปี
ถ้าใช้นายกฯ เฉลี่ยปีละคน วิเคราะห์ตามหลักรัฐศาสตร์ นี่เป็นความไร้เสถียรภาพของประเทศไทยในช่วง 10 ปีหลัง
ซึ่งมีผลต่อความมั่นใจทั้งของคนในประเทศและคนต่างประเทศ การลงทุน การค้าขายย่อมหดหายไปเป็นธรรมดา
เรื่องนี้หลายคนหลายพวกมีส่วนร่วมทำให้เกิดการไร้เสถียรภาพทางการเมืองภาพที่ปรากฏต่อสายตาคนทั้งโลกมีหลายช่วงเวลาเมืองหลวงของเรามีลักษณะเป็นอนาธิปไตย
ปี2549ล้มทักษิณเดือนพฤษภาคมศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ชะตากรรมของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกกำหนดเช่นกัน
นายกฯ ทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง ครั้งที่ 2 ปี 2548 ด้วยเสียงท่วมท้น แต่เมื่อเจอแรงกดดันจากอำนาจนอกระบบ ก็ต้องยุบสภาดำรงฐานะรักษาการ
การเลือกตั้งใหม่แม้ชนะ แต่ก็เป็นโมฆะ กำหนดการเลือกตั้งทดแทน ในเดือนตุลาคม ยังไม่ทันถึงก็ถูกรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ในขณะเป็นนายกฯ รักษาการ ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา
สถานการณ์เปลี่ยนเร็วยิ่งทุกเดือน
ปี2550เรามีนายกฯพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งลาออกจากองคมนตรี มาเป็นนายกรัฐมนตรี จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อ 1 ตุลาคม 2549
มีผลงานการสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 และดำเนินการเลือกตั้ง โดยไม่สืบทอดอำนาจด้วยตนเอง จึงจบหน้าที่นายกฯ หลังเลือกตั้งปลายปี 2550 และกลับดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกครั้ง
ปี 2551 ปีนี้มีนายกฯ 2 คน คนแรก นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งตั้งขึ้นแทนพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไป แม้จะถูกยุบพรรคและมี ส.ส. ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 111 คน แต่ประชาชนก็เลือกให้มาเป็นนายกฯ จนได้
รับตำแหน่งเดือนมกราคม 2551 เดือนพฤษภาคม ม็อบพันธมิตรเสื้อเหลือง ก็มาล้อมทำเนียบ
เดือนสิงหาคม ก็ยึดทำเนียบ ศาลแพ่งสั่งให้ม็อบถอนออกจากทำเนียบ แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมต่อไป
จนกระทั่งมีการพิจารณาอย่างสุกเอาเผากินใช้ตุลาการภิวัฒน์ปลดนายสมัครจากนายกฯในข้อหาสอนทำกับข้าวออกโทรทัศน์
นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สภาผู้แทนฯ เลือกมาเป็นนายกฯ เมื่อเดือนกันยายน 2551 แต่ไม่ได้เข้าทำเนียบเพราะถูกกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองยึดต่อเนื่อง และลุกลามไปถึงขั้นปิดสนามบิน สุดท้ายก็ถูกตุลาการภิวัฒน์ ยุบพรรคพลังประชาชน สั่งปลดนายกฯ อีกเช่นกัน ในวันที่ 2 ธันวาคม 2551
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกฯ แทน 2 สัปดาห์
การยึดอำนาจจากนายกฯ ทักษิณ ว่าเร็วแล้ว สถานการณ์ในปี 2551 เปลี่ยนเร็วยิ่งกว่า และซับซ้อนกว่า ภายใต้จุดหมายเดียวกัน
ปี 2552 เป็นการพลิกกลับขั้ว เมื่อมีการดึง ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งโดย นายเนวิน ชิดชอบ เป็นแกนนำเข้าไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เริ่มแต่ปลายปี 2551 การเจรจาในค่ายทหารตกลงที่มีการตั้งรัฐบาลเทพประทานได้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ
ปี2553นายกฯยังเป็นอภิสิทธิ์คนเดิม แต่สถานการณ์กลับข้าง เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็เกิดการชุมนุม นปช. อภิสิทธิ์จึงเพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคงอย่างมาก รวมทั้งเข้มงวดกับการตรวจพิจารณาสื่อมวลชนและอินเตอร์เน็ต ตลอดจนสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุที่ดำเนินงานโดยกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่สามารถยับยั้งกลุ่มผู้ชุมนุมมิให้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครได้
จากการชุมนุมที่ราชดำเนินจากกลางเดือนมีนาคมเข้าสู่เดือนเมษายนกลุ่มผู้ชุมนุมปิดการจราจรที่แยกราชประสงค์วันที่ 8 เมษายน อภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
10 เมษายน กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 คน มีช่างภาพชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตรวมอยู่ด้วย 1 คน และทหารเสียชีวิต 5 นาย ตลอดจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 800 คน วันที่ 14 เมษายน แกนนำประกาศรวมที่ชุมนุมไปยังแยกราชประสงค์เพียงแห่งเดียว วันที่ 22 เมษายน เหตุปาระเบิดมือทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 86 คน
ต่อมา รัฐบาลสั่งการให้กำลังทหารเข้าล้อมพื้นที่แยกราชประสงค์ ด้วยกำลังรถหุ้มเกราะและพลซุ่มยิงในระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 41 คน และบาดเจ็บกว่า 250 คน
วันที่ 19 พฤษภาคม กำลังทหารเข้ายึดพื้นที่เป็นครั้งสุดท้าย จนถึงแยกราชประสงค์ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม และยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
การชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ยุบสภาของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคนบาดเจ็บเป็นพันทำให้สถานการณ์นี้ตึงเครียดจนผู้คนกลัวว่าจะเกิดสงครามเหมือนหลัง 6 ตุลาคม 2519
แต่ดูเหมือนฝ่ายนำของเสื้อแดงยึดมั่นแนวทางรัฐสภาอย่างจริงจัง
ปี2554ได้นายกฯหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สถานการณ์บังคับให้นายอภิสิทธิ์ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ตอนนั้นคิดว่า ปชป. รวมกับภูมิใจไทย แล้วจะชนะเพื่อไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่จะคาดถึง
ก่อนการเลือกตั้ง 2554 คนที่รู้จัก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงอยู่ในแวดวงธุรกิจ ประชาชนทั่วไปนึกหน้าตาไม่ออกว่าเป็นอย่างไร มาเห็นอีกครั้งก็ตอนหาเสียงเลือกตั้ง และในเวลาประมาณสองเดือนก็ได้เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย
การชนะของพรรคเพื่อไทยแยกไม่ออกจากการทุ่มเทของคนเสื้อแดง และชาวบ้านซึ่งศรัทธาอดีตนายกฯ ทักษิณ เมื่อได้นายกฯ มือใหม่หัดขับก็มีคนปรามาสว่าอยู่รอดไม่เกินหกเดือนในสถานการณ์ที่เกมการเมืองแรงและเปลี่ยนเร็วแบบนี้
ที่จริงยังไม่ทันรับตำแหน่งดีน้ำก็เริ่มท่วมแล้วถือว่าเป็นน้ำท่วมใหญ่ในรอบร้อยปีแต่ก็น่าแปลกที่ไม่ถูกทั้งน้ำและการเมืองพัดไปออกทะเลในช่วงสามเดือนหกเดือนแรก
หลังจากนั้นนายกฯหญิงคนนี้ก็ตั้งตัวใช้สุดยอดวิชาคือขยันทำงานอดทนต่อเสียงวิจารณ์รับฟังความคิดเห็นและหาคนช่วยงานมากๆแต่การโจมตีและเกมการเมืองก็ยังเดินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด สารพัดม็อบเข้าจู่โจม
ปี 2555-2556 สถานการณ์ทำท่าเหมือนจะนิ่ง หลายคนเข้าใจว่า วิกฤติจากความขัดแย้งคลี่คลายลงไปแล้วประชาชนจะจำม็อบแช่แข็งได้ พอนึกถึงม็อบดาวแดงออกบ้าง และคลื่นใหญ่ก็มาซัดเข้าใส่เมื่อเจอม็อบของนักการเมืองตัวจริงเสียงจริง ที่มีขาใหญ่และสารพัดองค์กรหนุนหลัง ม็อบ กปปส. ในปลายปี 2556
ปี 2557 มีนายกฯ 3 คน เกมหนัก เกมเร็ว แรง โหด แม้นายกฯ ยุบสภา แต่ผลก็เป็นเช่นเดียวกับรัฐบาลทักษิณคือยุบแล้วก็มีคนล้มเลือกตั้ง ศาลตัดสินให้เป็นโมฆะ เท่านั้นยังไม่พอ ความที่คนนิยมนายกฯ คนนี้มาก กลัวว่ารักษาการนายกฯ จะไปลงเลือกตั้งใหม่ จึงต้องมีการฟ้องร้องและปลดจากตำแหน่งนายกฯ
สถานการณ์เปลี่ยนเร็วจริงๆ ใครจะคิดบ้างว่าเมื่อสงกรานต์ปี 2556 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังไปทำบุญที่วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ปี 2557 เล่นสงกรานต์อยู่ที่เชียงใหม่เหมือนเดิมแต่อยู่ในฐานะนายกฯ รักษาการเพราะยุบสภาไปแล้ว และการเลือกตั้งก็ยังไม่สำเร็จ
พอถึงเดือนพฤษภาคม ก็ยังถูกปลดจากนายกฯ รักษาการ ข้อหาไปย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี
หลังจากนั้นก็มีการรัฐประหาร มีคนหวังจะมีนายกฯ สุญญากาศ แต่ ครม. สามารถตั้งรักษาการนายกฯ ได้ คือ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
เมื่อเป้าหมายการทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองไม่เป็นไปตามแผน คนที่อยากเป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็แห้วไปตามกัน เพราะพรรคเพื่อไทยได้ตั้งนายกฯ ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน
ถึงตอนนี้เกมการเมืองที่วางแผนมานานนับปีก็ไม่สามารถจะเดินต่อในเกมตุลาการภิวัฒน์ได้อีกสุดท้ายการล้มรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็ต้องเกิดขึ้นโดยการรัฐประหารในวันที่22พฤษภาคม2557 เหตุผลก็คล้ายๆ กับปี 2549 โดยอ้างว่าอาจมีมวลชนมาปะทะกัน
หลังรัฐประหาร 2549 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้นานที่สุด แต่ก็ไม่สามารถฝ่าด่านที่มองไม่เห็นไปได้
นายกฯ คนล่าสุด คือ พลเอกประยุทธ์ เนื่องจากเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร มีอำนาจสูงสุด ได้รับการผลักดันจนมาเป็นนายกฯ โดยหวังว่าจะสามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามความมุ่งหวังของหลายฝ่าย
ขอรอดูผลงานครบรอบ1ปีว่าจะทำตามสัญญาได้แค่ไหน
แต่วันนี้พายุเศรษฐกิจกำลังพัดกระหน่ำเข้าใส่จะเอาปืนไปยิงสู้ก็ไม่มีผล มาตรา 44 จะไปใช้กับเรื่องใด กับใครในเรื่องเศรษฐกิจ
พยากรณ์การเมืองแบบวิทยาศาสตร์
ไม่ว่าการพยากรณ์ทางโหราศาสตร์จะอ้างดาวมากี่ดวงก็ตามแต่จากข้อมูลจริงย้อนหลังตามสถานการณ์10ปีหลังนี้เห็นได้ว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอีกไม่นาน และก็หาทิศทางที่แน่นอนไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
ถ้าเสถียรภาพทางการเมืองของเรายังไม่มีความแน่นอน
หมายความว่าไม่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นมาตรฐาน
ไม่สามารมั่นใจได้ว่าคนที่เป็นรัฐบาลจะอยู่ได้สักกี่เดือน
ไม่สามารถเชื่อใจนโยบายที่ประกาศออกมาได้ว่าจะถูกผิดถ้ามีคนล้มล้างนโยบายนั้นถือว่าเป็นความผิดคนที่ร่วมลงทุนจะมีความผิดถูกลงโทษด้วยหรือไม่ บางรัฐบาลประกาศนโยบายจะได้รับคำกล่าวโทษว่าไม่ดี สร้างหนี้ให้ประเทศ แต่ในนโยบายเดียวกันเมื่อรัฐบาลอื่นประกาศกลับได้รับการสนับสนุน และโครงการต่างๆ ก็ต้องผ่านองค์กรที่คนต่างชาติอาจจะไม่เคยรู้จักแต่มีอำนาจที่มาควบคุมและตัดสินว่าจะให้ทำได้หรือไม่ เช่น สมัชชาคุณธรรม
สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยลบที่ร้ายแรงที่สุด จะเป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนถอยห่างจากโครงการที่รัฐบาลเสนอและแม้มีการตอบสนองก็จะต้องรอเวลาหรือตั้งเงื่อนไขทำให้เราต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเป็นพิเศษหรือสิ่งตอบแทนที่สูงเกินความจำเป็น
แต่เสถียรภาพทางการเมืองไม่ได้เกิดง่ายๆ บางทีอาจต้องใช้เวลาอีกนาน