https://www.youtube.com/watch?v=xKXV_3Ej-ZA&feature=youtu.be
Streamed live on Apr 27, 2015
การเสวนา
ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย
ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ
ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน:
รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม
ของประจักษ์ ก้องกีรติ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ
- ปิยบุตร แสงกนกกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ประจักษ์ ก้องกีรติ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดำเนินรายการโดย
ธร ปีติดล
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2558
เวลา 13.00 น. ถึง 16.30 น.
ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จัดโดย
คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
ooo
นิธิ-ชัยวัฒน์-ปิยบุตร เปิดตัวหนังสือประจักษ์ “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่านฯ”
ที่มาเรื่อง ประชาไท
ภาพจาก ฟ้าเดียวกัน
Tue, 2015-04-28ภาพจาก ฟ้าเดียวกัน
เปิดตัวหนังสือผลงานของประจักษ์ ก้องกีรติ “ประชาธิปไตยยุคเปลี่ยนผ่าน: รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม” เสวนาโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ - ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ - ปิยบุตร แสงกนกกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย” ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน: รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม” เขียนโดย อาจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำเนินรายการโดย อาจารย์ดร.ธร ปีติดล จากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในฐานะผู้เขียนคำนิยมในหนังสือเล่มนี้ นิธิกล่าวถึงสิ่งที่ประจักษ์เขียนในหนังสือเล่มใหม่นี้จาก 2 เรื่อง คือหนึ่งเรื่องจากข้างในปกหนังสือ และสองเรื่องจากข้างนอกปกหนังสือ โดยในส่วนข้างในปกหนังสือได้สะท้อนช่วงเวลาที่อาจารย์ประจักษ์เขียนก่อนการรัฐประหาร พ.ค.2557 อันเป็นงานที่ถูกเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งมีความคิดอะไรบางอย่างที่ตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลานั้นด้วย อย่างแรกบทความเป็นการตอบโต้ต่อข้อถกเถียง ข้อสงสัย ข้อโจมตีในลักษณะต่างๆที่มีมาก่อนการรัฐประหารถึงความเป็นไปได้ของระบอบประชาธิปไตย โดยอาจารย์ประจักษ์เขียนขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากงานวิจัยของอาจารย์เอง เช่น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ว่าการเลือกตั้งซื้อสิทธิ์มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทยมีมากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆทั้งโลก อีกส่วนหนึ่งคืออาจารย์ประจักษ์ได้เสนอข้อเท็จจริงในมิติทางประวัติศาสตร์ของสิ่งที่กำลังเถียงกันอยู่ เช่น การสืบทอดอำนาจทางการเมืองมีปัญหาในตัวมันเองมากมายขนาดไหน และประชาธิปไตยตอบปัญหาที่เผชิญอยู่นี้ได้แค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่น และสำหรับการต่อต้านประชาธิปไตยในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน หรือกำลังเปลี่ยนแปลงในทางลึก ประชาธิปไตยจะถูกต่อต้านไปอย่างไร โดยงานชิ้นนี้เข้าไปศึกษาการเคลื่อนไหวของฝ่ายขวา ตัวอย่างกรณีฝ่ายขวาไทยในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19
อีกลักษณะหนึ่งที่ในหนังสือได้สะท้อนคือการมองประวัติศาสตร์ในเชิงเปรียบเทียบ ที่เกิดขึ้นในไทยและต่างประเทศ เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดอะไรขึ้นและจะเกิดอะไรตามมา เช่น ในเรื่องประชาสังคมกับความรุนแรง ซึ่งอาจารย์ประจักษ์อธิบายว่าในหลายสังคมประชาสังคมที่ไม่อารยะได้ไปทำร้ายประชาธิปไตยได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้อาจารย์ประจักษ์อธิบายถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในสังคมหนึ่งๆความยุติธรรมเป็นแนวหน้าตัวหนึ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน และมันจะรักษาตัวเองไว้อย่างไร ประโยชน์ของการอธิบายแนวนี้คือช่วยทำให้เราเถียงกันรู้เรื่อง ยิ่งในเวลาช่วงเวลาก่อน 22 พ.ค. 2557 ดังจะพบว่า ส่วนนี้ของหนังสือได้ให้ข้อเท็จจริง เพื่อให้เราเถียงกันด้วยข้อมูลที่มาจากการศึกษาเปรียบเทียบอย่างกว้างขวาง และสามารถมองเห็นภูมิหลังของสังคมไทย ซึ่งช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลึกกว่าตัวบุคคลได้ ที่มักจะมุ่งไปที่ นาย ก. นาย ข. หรือ ผบ.ชื่อนายนั้น หรือนายนี้ แต่ทว่าคือความเคลื่อนไหวของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ซับซ้อนกว่าเรื่องของบุคคล
ในทัศนะของนิธิเห็นว่า หนังสือได้แสดงความวิตกและห่วงใยของผู้เขียนหนังสือเอง และความห่วงใยของคนจำนวนมากในสังคมไทย ตั้งแต่ก่อนและหลัง 22 พ.ค. 2557 นั่นคือเรื่องความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายอย่างมาก ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงม็อบตีกันหรือทหารยิงประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นในหลายรูปแบบมากยิ่งในสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนในระดับโครงสร้าง เพราะฉะนั้นอาจารย์ประจักษ์จึงเสนอการศึกษาความรุนแรงในหลายรูปแบบ จากรัฐประเภทเหล่านี้ เช่น รัฐเองเป็นคนทำ หรือบางส่วนของรัฐเป็นคนทำ เป็นต้น และสิ่งนี้ได้เคลื่อนไปสู่วิธีคิดคือเรื่องประชาสังคมที่อนารยะกระทำต่อกัน ว่าเราจะสามารถยับยั้งความรุนแรงเหล่านี้ได้อย่างไร รวมไปถึงเครื่องมืออย่างหนึ่งคือความยุติธรรมข้ามชาติ เช่นการเข่นฆ่าประชาชน ในบางลักษณะ บางเงื่อนไข ในประเทศทำไมจึงไม่ทำงานแต่ไปทำงานในประเทศอื่นแทน เช่น กรณีอาร์เจนติน่า และจะสามารถทำให้ความขัดแย้งดำเนินไปภายใต้กติกาโดยไม่ผ่านความรุนแรงไปอย่างไร
ในประเด็นเรื่องนอกปก คือเรื่องประชาธิปไตยในยุคที่ไม่เปลี่ยนผ่าน นิธิยอมรับว่า “เป็นคนหนึ่งที่มีอคติว่าอยากให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่พอหลัง 22 พ.ค.2557 ผมก็เริ่มยอมรับว่ามันมีประชาธิปไตยในยุคที่มันไม่เป็นเปลี่ยนผ่านก็มีเหมือนกัน” นิธิเสนอว่า คสช.อาจจะเป็นจุดเล็กๆแค่เพียงจุดเดียว หากเรามองแค่ คสช. แต่ถ้ามองไปทั่วทั้งโลกจะพบว่ามีประเทศที่เผชิญชะตาที่กรรมไม่เปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยอยู่จำนวนมาก รวมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วที่รู้จักกันดี เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน อีตาลี (กรณีอีตาลีเป็นประชาธิปไตยช่วงหนึ่งหลังจากรวมประเทศแล้ว เมื่อประชาธิปไตยไม่ตอบสนองก็นำไปสู่การปกครองในระบอบอื่น) โดยส่วนหนึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาทั้งหลายที่เปลี่ยนไม่ผ่านจากประชาธิปไตยไปสู่ประชาธิปไตยยิ่งขึ้น อีกส่วนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนไม่ผ่านทางการเมืองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเอกราชเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย เป็นต้น
คำถามคือ ทำไมบางสังคมสามารถเปลี่ยนผ่านได้ และทำไมบางสังคมจึงไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปได้ ซึ่งมีเงื่อนไข ปัจจัยที่ต้องอธิบายมากพอสมควร ไปตามแต่ละสังคม “ผมอยากจะเห็นการศึกษาประชาธิปไตยเปรียบเทียบในยุคที่เปลี่ยนไม่ผ่านบ้าง เพื่อที่เราจะสามารถทำความเข้าใจสิ่งทีเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ อย่างน้อยที่สุดจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า คสช.จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ หรือตัวแสดงใหม่ที่อาจจะแนบเนียนกว่า และบทบาทของการลิดรอนประชาธิปไตยจะลึกซึ้งกว่านี้ หวังว่าจะมีงานใหม่ๆที่ศึกษาเรื่องพวกนี้มาอธิบายบ้าง” นิธิกล่าวทิ้งท้ายในช่วงแรกของการเสวนา
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปิยบุตรอธิบายการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย โดยเป็นการอธิบายการเปลี่ยนผ่านของรัฐธรรมนูญจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย เขาเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วการศึกษาประเด็นดังกล่าวจะเป็นที่นิยมในหมู่การศึกษาทางวิชารัฐศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ ในกลุ่มการเมืองเปรียบเทียบ ที่เรียกว่า “กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย” (democratization) หรือ “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน” (transitional democracy) แต่ในระยะหลังนักนิติศาสตร์มีความพยายามเข้ามาขอแบ่งพื้นที่การศึกษาด้วย และเปลี่ยนหน่วยในการศึกษาโดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้งว่าจะสามารถเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ซึ่งโดยทั่วไปเวลาจะศึกษาว่ารัฐธรรมนูญก็มักให้ความสนใจว่า รัฐธรรมนูญ A กลายเป็นรัฐธรรมนูญ B ได้อย่างไร ซึ่งในการที่จะมีรัฐธรรมนูญตัวใหม่นั้นต้องเกิดในช่วงรอยต่อที่เปลี่ยนผ่านจากเก่ามาสู่ใหม่ และจะมีกระบวนการที่เปลี่ยนจาก A ไป B เช่น ปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐธรรมนูญเปลี่ยน จะมีพลังการเมืองฝ่ายไหนบ้างที่ทำให้เปลี่ยน เป็นต้น ในแง่มุมนิติศาสตร์ ก็มักจะถามว่า แล้วอะไรที่เป็นตัวชี้วัดว่าระบบแบบ A มันพังแล้ว แล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบแบบ B นักวิชาการต่างประเทศที่คิดเรื่องนี้เสนอว่า การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญจากเผด็จการไปประชาธิปไตยสามารถแบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ซึ่งนักรัฐศาสตร์ไทย อาจจะอธิบายว่าเป็น “วงจรอุบาทว์” ในความเห็นของเขาแล้วถือว่าการบรรยายเพียงเช่นนั้นไม่เพียงพอ ทำหน้าที่เป็นเพียงอรรถาธิบายเท่านั้นที่เมื่อฟังซ้ำๆจะทำให้เรามองไม่เห็นพลังขอการต่อต้านซึ่งมักจะถูกว่าเป็นเพียงจุดหนึ่งของวงจรอุบาทว์เท่านั้น และหมุนวงจรให้เดินไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ทว่าวงจรดังกล่าวไม่ได้เดินอย่างเรียบๆ ในบางประเทศ เส้นทางประชาธิปไตยก็สามารถหมุนจากขั้นตอนที่ 3 กลับไปขั้นตอนที่ 1 ใหม่ได้ หรือบางประเทศสำเร็จและบางประเทศล้มเหลว สำหรับขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 “วิกฤติในรัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการ” ต้องทำความเข้าใจล่วงหน้าว่า รัฐธรรมนูญของเผด็จการอาจจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญเพียงหนึ่งฉบับ แต่อาจจะรวมถึงกฎหมายในรูปแบบอื่น เช่น คำสั่งคณะคณะรัฐประหาร คำสั่งคณะปฏิวัติ ซึ่งเมื่อดำเนินการผ่านไประยะหนึ่งก็จะต้องเผชิญวิกฤตในตัวมันเอง และอาจจะมาช้าหรือเร็ว เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤติในขั้นตอนนี้อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น แพ้สงคราม ดังที่เกิดขึ้นในประเทศอย่าง เยอรมนีหรือญี่ปุ่น, วิกฤติเศรษฐกิจ ในกรณีของโปรตุเกสในปี 1974, เกิดจากขบวนการปลดปล่อยชาตินิยมของเหล่าประเทศอาณานิคม, เกิดจากกรณีมีความขัดแย้งในประเทศตัวเอง เช่น แอฟริกาใต้, หรือสงครามกลางเมืองในประเทศสเปน, หรือกรณีผู้นำสูงสุดในระบอบเผด็จการเสียชีวิต ขณะที่ประชาธิปไตยซึ่งซ่อนตัวอยู่ก็สามารถโผล่ขึ้นมาได้, หรือกรณีต่างประเทศกดดัน เช่น กัมพูชา
ขั้นตอนที่ 2 “การทำลายรัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการ” พบว่ามีการเปลี่ยนไป 2 แบบ แบบแรกคือเปลี่ยนทันเวลา ซึ่งก็จะเป็นการเปลี่ยนแบบค่อยๆเปลี่ยน มีลักษณะละมุนละม่อม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้จากการที่หัวหน้าใหญ่ในระบอบเผด็จการมีวิสัยทัศน์ว่าจะต้องเปลี่ยน อาจจะเปลี่ยนจากการตระหนักด้วยตัวเองหรือถูกกดดันจากคนรอบข้างก็ได้ แต่ท้ายที่สุดต้องอยู่ที่การตัดสินใจของหัวหน้าเผด็จการ เพราะถ้าผู้ถืออำนาจคนที่ 1 ไม่เปลี่ยนแล้ว ก็จะไม่มีผู้ทรงอำนาจ เช่น กรณีนายพลปีโนเชต์ ในชิลี ที่ช่วงแรกของการขึ้นสู่อำนาจมีความเป็นเผด็จการทหาร แต่ทว่าในช่วงท้ายของปีโนเชต์ได้เปิดทางให้มีการทำประชามติเพื่อปูทางให้ประเทศเปลี่ยนไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย ส่วนการทำลายรัฐธรรมนูญเผด็จการในแบบที่สอง มักเกิดจากการเปลี่ยนไม่ทันหรือเปลี่ยนช้าเกินไป หรือเปลี่ยนแล้วไม่ตอบสนองต่อฝ่ายประชาธิปไตย สิ่งที่ตามมาคือ จะเป็นกวาดล้มโต๊ะ หรือ “Tabula Rasa” ในที่นี้อาจจะหมายถึงการปฏิวัติ การลุกฮือของประชาชน หรือการรัฐประหารโดยกองทัพ เช่น กรณีนายทหารรุ่นหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์ว่าระบอบเก่าไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังที่เกิดขึ้นในประเทศโปรตุเกส หรือกรณีการปฏิวัติในปี 2475 ของไทย ก็เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
สำหรับในแบบแรกคือการเปลี่ยนอย่างทันเวลา ยังเคยเกิดในบราซิล อาร์เจนติน่า อีกประเทศที่เป็นตัวอย่างได้ชัด คือสเปน เมื่อนายพลฟรังโก (Francisco Franco) ขึ้นสู่อำนาจในปี 1939 และเสียชีวิตในปี 1975 ในระหว่างที่ครองอำนาจด้วยแนวทางฟาสซิสต์ และครองมาอยู่เรื่อยมา ฟรังโก้ตัดสินใจว่าจะมอบอำนาจให้ทายาททางการเมืองคือให้เจ้าชายฮวน คาลอส เพื่อกลับไปสู่ระบอบที่มีกษัตริย์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งนักวิชาการสเปนเรียกช่วงเวลานี้ว่า “double royalty” หรือ “การจงรักภักดีต่อสองสิ่งพร้อมๆกัน” คือต้องรักษาทั้งระบอบฟรังโก้ เพราะฟรังโก้ให้อำนาจในการครองราชย์สำหรับฮวน คาลอสที่ 1 ขึ้นมา ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และรักษาสถาบันกษัตริย์ไปให้อยู่รอดได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อฝ่ายประชาธิปไตยออกมาเรียกร้องให้เอาผิดกับระบอบฟรังโก้จนเกิดกระแสสูงขึ้นมา ระบอบทั้งสองจึงจำเป็นต้องคานอำนาจกัน หากไม่เช่นนั้นแล้วสถาบันกษัตริย์ก็ต้องหลุดจากอำนาจไปด้วย ดังนั้นกษัตริย์ฮวน คาลอส จึงเลือกตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนระบอบฟรังโก้ เพื่อคงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์แทน วิธีการคือใช้กลไกในระบอบฟรังโก้มาเปลี่ยนตัวระบอบฟรังโก้เอง กษัตริย์ฮวน คาลอสใช้วิธีเปิดโอกาสให้มีการทำรัฐธรรมนูญแบบใหม่ จัดให้มีเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เปิดให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย และทำประชามติ เพื่อเปิดโอกาสให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา
ปิยบุตรได้ชี้ว่า “หากพิจารณาจากกรณีสเปนจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นอย่างราบรื่น โดยไม่ต้องล้มโต๊ะ คือ เผด็จการหมายเลขหนึ่งต้องเดินหน้าปฏิรูปด้วยตัวเอง ข้อดีคือร่วมมือไปด้วยกัน ขณะที่ข้อเสียคือ ไม่สามารถเอาผิดระบอบเก่าได้ เช่น ในการครองอำนาจของพนายพลปีโนเชต์ ของประเทศชิลี เมื่อมีข้อตกลงห้ามเอาผิดหลังจากเขาลงจากตำแหน่ง ทั้งที่สมัยเขาครองอำนาจ มีการลอบฆ่า สังหารประชาชนจำนวนมาก หรือในระบอบฟรังโก้ ของสเปน ซึ่งพระเจ้าฮวน คาลอสได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 1977 และปัจจุบันคนสเปนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้มีการกลับไปเอาผิดเพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ระบอบเผด็จการ แต่พบว่ายังติดกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ ขณะที่ฝ่ายกษัตริย์ฮวน คาลอสก็อ้างว่าหากไม่ทำเช่นนี้แล้วการเปลี่ยนผ่านก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ นี่เป็นข้อเสียแบบการเปลี่ยนแปลงได้ละมุนละม่อมของแบบแรก
ขั้นตอนที่ 3 “รัฐธรรมนูญในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน” ช่วงนี้เกิดขึ้นขณะที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านไปแล้ว รัฐธรรมนูญ A หายไป และรัฐธรรมนูญ B ยังมาไม่ถึง จึงจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป้าหมายคือ กำหนดกรอบรัฐธรรมนูญทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต โดยมี 2 หน้าที่ที่สำคัญ อย่างแรกกำหนดว่าอะไรในรัฐธรรมนูญเก่าที่ต้องยกเลิก และสองกำหนดว่าอะไรในของเก่าที่ยังต้องอยู่ต่อ ดังจะพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ยังอยู่ต่อหรือเลือกรับตัวบทอะไรของระบอบเก่าให้คงอยู่ ในระยะเวลาที่กำลังเปลี่ยนผ่าน หน้าที่ต่อมาคือ กำหนดกฎเกณฑ์การใช้อำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน และสุดท้ายกำหนดไปยังอนาคตเพื่อวางกรอบรัฐธรรมฉบับถาวร รวมไปถึงการประกาศให้ลบล้างการกระทำของระบอบเผด็จการเป็นโมฆะหรือให้เสียเปล่า กรณีนี้เกิดขึ้นในฮังการี กรีซ ฝรั่งเศส ฯลฯ หรือการเปิดกระบวนการยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งในหนังสืออาจารย์ประจักษ์เล่มนี้ก็ได้เขียนถึง เช่น ในแอฟริกาใต้ ที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ไว้เช่นกันว่าเป็นการใช้การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด เพื่อแลกกับการให้ผู้กระทำผิดออกมาพูดความจริง อีกมาตรการคือ“ล้างคราบไคลของระบอบเผด็จการ” (purification) เช่น ตอนนาซีแพ้สงคราม
ขั้นตอนที่ 4“รัฐธรรมนูญของประชาธิปไตย” อยู่ในช่วงที่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นแล้ว อาจจะมาด้วยการทำประชามติเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น มีการเลือกตั้ง พร้อมกับการตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาปกครองประเทศ
ขั้นตอนที่ 5 “รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยถูกทดสอบท้าทาย” รัฐธรรมนูญในช่วงนี้จะเริ่มถูกทดสอบและท้าทาย และที่มักเกิดขึ้นบ่อย คือพลังของระบอบเก่ายังมีชีวิตอยู่และยังไม่ตาย จึงพยายามที่จะตอบโต้ หรือทำการก่อการร้าย ซึ่งหากเปลี่ยนในรูปแบบ กวาดล้มโต๊ะ หรือ “Tabula Rasa” เช่น การปฏิวัติในโปรตุเกสเมื่อปี 1974 (carnation revolution) ที่ทหารเข้ามาเปลี่ยนแปลงและกุมอำนาจชั่วคราวและต้องการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ จำเป็นต้องเปลี่ยนให้ทหารออกไปจากการเมือง จะเห็นได้ว่าระบอบเก่าไม่สามารถท้าทายได้ แต่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทหารซึ่งร่วมเปลี่ยนแปลงมาด้วยต้องการพารัฐไปถึงความเป็นสังคมนิยม ขณะที่กลุ่มพรรคการเมืองพลเรือนต้องการเดินไปในแนวทางเสรีประชาธิปไตยมากกว่า ในลักษณะเช่นนี้จึงเกิดความขัดแย้ง พรรคการเมืองจึงร่วมมือกันเปลี่ยนอีกครั้ง โดยในช่วงแรกตัวบทรัฐธรรมนูญได้ตราให้มีสภาปฏิวัติทำหน้าที่เหมือนศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองก็ยอมลงนามเพื่อยอมกลุ่มกองทัพที่ร่วมมือกันไปก่อน เพราะถ้าหากไม่มีการเลือกตั้งแล้วพิมพ์เขียวที่วางไว้ก็พัง แต่เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาในภายหลัง พรรคการเมืองจึงสามารถเข้าไปแก้ตัวบทเดิมเพื่อวางแนวทางให้ทหารออกไปจากการเมือง กรณีของไทยก็เคยเผชิญกับสถานการณ์ที่กล่าวมา เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ในปี 2475 ในปี 2476 มีความจำเป็นต้องใช้ทหารป้องกันการโต้ปฏิวัติของกบฏบวรเดช อีกปัญหาหนึ่งที่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านนี้ต้องเผชิญคือความขัดแย้งภายในระบอบประชาธิปไตยเอง เช่น ความกังวลใจว่าระบอบใหม่มีลักษณะที่ถอนรากถอนโคนมากเกินไป เช่น อียิปต์ ในกรณีล้มกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (The Muslim Brotherhood) แล้วประเทศก็กลับไปที่ระบอบเผด็จการเช่นเดิม
ขั้นตอนที่ 6 “รัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง” ในช่วงนี้รัฐธรรมนูญมีการตกผลึก มีเสถียรภาพ สามารถเอาชนะฝ่ายเผด็จการได้อย่างเด็ดขาด สามารถแก้ไขความขัดแย้งด้วยระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ และมีการตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างเต็มที่ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญแบบใหม่เกิดจากการประนีประนอมกันเองระหว่างทหารและพลเรือนเพื่อโค่นล้มระบอบเก่า เช่น โปรตุเกส มีการรัฐประหารซ้อนแต่ไม่สำเร็จเมื่อทหารต้องการเป็นคอมมิวนิสต์ ในรัฐธรรมนูญปี 1986 จึงได้แก้ไขให้รัฐธรรมนูญเข้ารูปแบบเสรีประชาธิปไตยมากกว่าเดิม หลังจากที่ช่วงแรกเป็นรัฐธรรมนูญที่ประนีประนอม หรือกรณีสเปน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบไม่ล้มโต๊ะ แต่กษัตริย์ฮวน คาลอส ก็ยังช่วยนำการเปลี่ยนผ่านนั้นมาได้ ทว่าในปัจจุบันถูกท้าทายอีกครั้งด้วยการที่สถาบันกษัตริย์ถูกกล่าวหาเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินฟุ่มเฟือย ตามมาด้วยการที่คะแนนนิยมตกต่ำ จึงมีการสละราชสมบัติให้กับเจ้าชายฟลิปเป้แทน ประกอบกับกษัตริย์องค์ใหม่ก็ทรงมีวิสัยทัศน์มากกว่าเดิม โดยให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายของสำนักพระราชวังได้เพื่อความโปร่งใส ทำให้ยังรักษารูปแบบรัฐธรรมนูญเช่นเดิมได้ ขณะที่กรีซ ใช้การเปลี่ยนแบบกวาดล้มโต๊ะ (Tabula Rasa) ด้วยการประกาศโมฆะการกระทำของทหารทิ้งหมด
ในแอฟริกาใต้เป็นตัวแบบของการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อประธานาธิบดี เดอ เคลิก กับ เนลสัน แมนดาล่าตกลงประนีประนอมกันว่าจะไม่เอาผิดรัฐบาลคนขาว ขณะที่ลาตินอเมริกา ในอาร์เจนติน่า กรณีแม่ของเหยื่อที่เสียชีวิตในช่วงเผด็จการปีโนเชต์ ได้เรียกร้องให้มีการเอาผิดกับทหารต่อศาลรัฐธรรมนูญอาร์เจนติน่า และมีการฟ้องคดีกันใหม่แต่ต้องใช้เวลาหลายปี แม้ว่าเผด็จการอายุมากแล้วแต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่ได้คือการพิสูจน์ความจริง ในกรณีตูนีเซีย หนึ่งในประเทศกลุ่มอาหรับสปริง เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี พวกเขาได้รัฐบาลที่เป็นกลุ่มสายกลาง ต่างจากประเทศอาหรับสปริงอื่นๆ แต่ก็ถูกท้าทายด้วยวิธีอื่นเช่นกันคือ การก่อการร้าย ตูนีเซียจึงอยู่ขั้นตอนที่ 5 ที่กำลังจะเข้าสู่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ขณะที่กัมพูชา ซึ่งเปลี่ยนผ่านกโดยการถูกกดดันจากภายนอก โดยประเทศไทยได้เข้าไปช่วยจัดการ ก็พบว่าในปัจจุบันได้ถูกท้าทายจากปัญหาทางการเมืองภายใน และถ้าหากมีการปรับปรุงให้เปลี่ยนรัฐบาลได้ด้วยการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ก็จะสามารถเข้าสู่ขั้นที่ 6 ได้
ปิยบุตรเสนอว่า หากพิจารณา 6 ขั้นตอนที่กล่าวมา ก็สามารถคิดกลับไปได้เช่นกันว่า รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยก็สามารถเปลี่ยนรัฐธรรมนูญไปเป็นเผด็จการได้ ดังจะพบได้จากกรณีของไทย เมื่อมีความพยายามเปลี่ยนในรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งในทัศนะของปิยบุตรมองว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้มือของปรีดี พนมยงค์ เพื่อที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 6 ให้ได้ หลังจากประนีประนอมกับฝ่ายเจ้าในรัฐธรรมนูญเมื่อ 10 ธันวาคม 2475 แต่หนทางดังกล่าวต้องหยุดลงเมื่อการรัฐประหารในปี 2490 ได้มาถึง ทำให้ไทยต้องย้อนกลับไปใหม่ ตามขั้นตอน มาจนถึง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ท้าทายเผด็จการใหม่อีกครั้ง และมาเปลี่ยนไม่ผ่านในปี 2519 ซึ่งมีลักษณะหมุนกลับไปกลับมา และตามมาด้วยรัฐประหารอีกหลายครั้ง ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆอยู่ในขั้นตอนใด ในความเห็นปิยบุตรแล้วเขาเสนอว่า วิธีดูว่าลักษณะรัฐธรรมนูญสะท้อนขั้นตอนอะไร สามารถพิจารณาจากตัวบทในรัฐธรรมนูญ ว่าหน้าตาเป็นแบบใด ซึ่งหากพิจารณาในปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และ ร่างฯรัฐธรรมนูญปัจจุบัน) ก็ถือว่ายังเปลี่ยนไม่ผ่าน และที่กำลังเกิดขึ้นอาจจะเปลี่ยนจากประชาธิปไตยน้อยไปเป็นน้อยมาก หรือเป็นระบอบผสมกับเผด็จการ (hybrid regimes) ซึ่งอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤตอะไรบางอย่างถึงจะเปลี่ยนผ่านไปอีก
ปิยบุตรทิ้งท้ายว่า “วงจรอุบาทว์” (Vicious circle) มันก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ และไม่ได้เป็นตามรูปแบบเดิมเสมอไป ตัวอย่างที่ยกมาพิจารณาได้คือ การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารภายหลังการยึดอำนาจ ซึ่งตามมาพร้อมๆกับการรับรองการกระทำของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมายในรัฐธรรมนูญ ในความเป็นจริงลักษณะเช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นและมีพัฒนาการ ซึ่งในอดีตใช้เนติบริกรมักใช้ในรูปของพระราชบัญญัติ บางคนบอกว่าเกิดตั้งแต่สมัยใหม่คณะราษฎร ขณะที่การตราตัวบทนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2549 และรับรองคำสั่งของ คปค. (ชื่อคณะรัฐประหารเวลานั้น) และในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ตามไปรับรองรัฐธรรมชั่วคราวนั้นเช่นกัน รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ทำเช่นนั้นรวมถึงร่างฯรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดนี้ด้วย สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองหากแต่เกิดมาจากการท้าทายบางอย่าง ในปี 2515 มีนวัตกรรมใหม่ พัฒนาจากที่ตราเป็นพระราชบัญญัติมาเป็นเขียนในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย วิษณุ เครืองาม ท่านเขียนว่าคณะรัฐประหารในปี 2514 ถูกคุณอุทัย พิมพ์ใจชนและพวกได้ฟ้องศาลผู้ทำรัฐประหาร แต่ศาลยังไม่ได้ดำเนินคดี จอมพลถนอมจึงนำมาตรา 17 ไปจับ 3 คน คณะรัฐประหารจึงกังวลใจ ในยุคหลังเลยใส่การนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยเพื่อรับรองว่าที่ทำมาชอบด้วยกฎหมาย (2519,2520,2534,2549,2557) ต่อมาแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็ตามไปรับด้วย (2550,2558) ไม่เพียงเท่านั้น นักยกร่างฯยังเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะที่รับรองการกระทำของคณะรัฐประหารไว้ในทุกมิติ ดังที่เห็นได้ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2557 รวมไปถึงรัฐธรรมนูญถาวรฉบับซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรับรองการกระทำของคสช.ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตว่าชอบด้วยกฎหมาย เราจึงพบว่าเผด็จการมีพัฒนาการด้วยเช่นเดียวกันในบ้านเมืองอื่นไม่ได้ป้องกันตัวเองขนาดนี้ หากเขียนมากที่สุดก็แค่ “ห้ามฟ้องคดี” มีเฉพาะในไทยที่กล้าเขียน และรับรองการกระทำในอนาคตด้วย
“ถ้าของที่ชอบอยู่แล้ว เราจะมาเขียนให้ชอบได้อย่างไร รัฐธรรมนูญเผด็จการไทยไปไกลกว่าประเทศอื่น สำหรับผู้ที่สนใจลองเอามาศึกษากันดู หากเราพิจาณานักกฎหมายจะเห็นว่าเวลาศึกษาเขาไม่แยกรัฐประหาร การปฏิวัติ คือมองว่าอะไรก็ตามทำลายรัฐธรรมนูญถือเป็นปฏิวัติหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สนใจศึกษาจากแนวทาง “ปฏิฐานนิยม” (positivism) มักจะไม่แยกรูปแบบการยึดอำนาจและความเป็นประชาธิปไตยว่าคืออะไร แต่หากอะไรทำลายรัฐธรรมนูญได้ถือว่าเป็นการปฏิวัติทั้ง ถ้าปฏิวัติในทางรัฐศาสตร์คือการเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่านักกฎหมายมักจะบอกว่านี่คือ ‘อัตวิสัย’”
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ชัยวัฒน์เริ่มต้นด้วยการชวนให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาตั้งคำถาม ในเวลาที่คิดถึงประชาธิปไตยและการเปลี่ยนผ่านว่า “รูปร่าง (shape) ของการเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างไร ?” ไม่ใช่คำถามว่า “เปลี่ยนผ่านแล้วเป็นอะไร ?” “หากพิจารณาจากที่อาจารย์ปิยบุตรไล่ขั้นตอนให้เห็นรูปร่างของการเปลี่ยนผ่านจากแบบหนึ่งสู่แบบหนึ่ง จะพบว่าลักษณะดังกล่าวอาจจะอธิบายบางที่ได้ อธิบายในบางที่อาจจะไม่ได้ เพราะมันมีหลายรูปร่าง อาจจะเป็นเส้นตรง เส้นตกลงก็ได้ วงกลมก็ได้ ของเราอาจจะเป็นวงกลม สำหรับหลายท่านที่ไม่แน่ใจในปรัชญากรีก วงกลมเป็นภาพที่สมบูรณ์”
ประเด็นที่สอง ความเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยมันมีหลากหลายมาก ประมาณกลางศตวรรษที่แล้ว มีนักวิชาการชาวสวีเดนคนหนึ่งนั่งนับนิยามประชาธิปไตยได้ 311 นิยาม เพราะฉะนั้นเวลาพูดเรื่องประชาธิปไตยว่าคืออะไร ไม่นับที่อาจารย์ประจักษ์ใช้คำว่า “ประชาธิปไตยที่มีคุณศัพท์” รวมทั้ง ฟารีด ซักคาเรีย (Fareed Zakaria) ที่ใช้คำว่า “ประชาธิปไตยที่ไม่เป็นเสรี” (illiberal democracy) หรือที่ชัยวัฒน์เองเคยใช้ว่า “ประชาธิปไตยอำนาจนิยม”
ประเด็นที่สาม ประชาธิปไตยกับความรุนแรงเกิดขึ้นได้ไหม มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าประชาธิปไตยก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของความรุนแรงเหมือนกัน โดยเกี่ยวพันกับรายได้ของประเทศ และมักเกิดขึ้นในประเทศรายได้ประชาชาติ (gross national income) ต่ำกว่า 2,700 ดอลล่าร์ ซึ่งรายได้ประชาชาติต่ำอาจจะเปลี่ยนเป็นระบอบอำนาจนิยมได้ ยกตัวอย่างเช่น พม่า ประเด็นถัดมาคือมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาความขัดแย้งและความรุนแรงเปรียบเทียบประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยแบ่งความขัดแย้งออกเป็น 3 กลุ่มปัญหา ได้แก่ ปัญหาว่าใครจะครองอำนาจรัฐ ปัญหาเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ ปัญหาเรื่องชายแดน และพบว่าทุกประเทศมีสถานการณ์ดีขึ้น เช่น ปัญหาในหมู่เกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น บางประเทศมีปัญหาทางทะเลก็สามารถตกลงกันได้บ้าง พบว่ามีเพียงประเทศเดียวที่ไม่เคยมีปัญหาเลยแต่แล้วกลับมีปัญหาครบสามแบบอยู่ด้วยกัน (ชัยวัฒน์ให้ผู้ฟังทายว่าคือประเทศอะไร ผู้ฟังตอบว่าประเทศไทย) คำถามถัดมาคือเปลี่ยนได้อย่างไร พบว่าไทยที่เคยเป็นปึกแผ่นแต่กลับแย่ลง เวลาเอามาวางไว้ในบริบทที่พบคือ ประเทศจำนวนหนึ่งเป็นประชาธิปไตยไม่แข็งแรง มีความขัดแย้งและความรุนแรง เหตุผลที่ค้นพบคือ หนึ่งขาดระบอบการปกครองที่อยู่ตัว และสองกองกำลังทหารและตำรวจที่มีวินัย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสถาบันทางการเมืองต้องเข้มแข็งและสถาบันที่ใช้กำลังต้องถูกควบคุม เงื่อนไข 2 ประการนี้จะทำให้หลายประเทศประชาธิปไตยค่อนข้างจะมั่นคง เช่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และประเทศลาตินอเมริกาจำนวนมากอย่างอาร์เจนติน่า
นอกจากนี้ชัยวัฒน์ได้เพิ่มเติมข้อมูลเรื่อง กลุ่มแม่ที่เรียกร้องเอาผิดรัฐบาลเผด็จการในอาร์เจนติน่าว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มแม่ที่มาเดินร่วมตัวจุดเทียนที่ จัตุรัสมาโย (Plaza De Mayo) พวกเธอทำแบบนี้อยู่เป็นปีๆ ไม่มีใครสนใจ จนเมื่อวันหนึ่งสถานการณ์เปลี่ยน หนังสือพิมพ์ไปทำข่าว ตอนอาร์เจนติน่าไปเตะบอลโลก ซึ่งการเคลื่อนไหวนั้นสัมพันธ์กับการเปลี่ยนระบอบ อาร์เจนติน่าได้กลายเป็นตัวแบบที่น่าสนใจคือมันมีการเปลี่ยนผ่านระบอบ และน่าจะเป็นตัวอย่างในเรื่องกระบวนการปรองดองอีกด้วย
ประเด็นถัดมา ชัยวัฒน์เสนอว่า “ปัญหาในสังคมไทยตอนนี้เป็นอาการของความขัดแย้งยืดเยื้อ ตัวความขัดแย้ง เมื่อเวลายืดเยื้อยาวนานมันจะยืดความสามารถในการจัดการความขัดแย้งให้เหนื่อยอ่อนลงไปด้วย” ผลก็คือ ทำให้ความสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆในสังคมเสื่อมทรามลง และหนีไม่ออกต้องอยู่กับอะไรที่เราไม่ชอบ สิ่งนี้เป็นอันตรายและน่าเป็นห่วงกับสังคมไทยปัจจุบัน คำถามที่ตามมาคือ ทำไมประชาธิปไตยถึงสำคัญ ข้อสังเกตของเขาคือ ประชาธิปไตยมีอุดมคติ 4 เรื่อง (จากหนังสือเรื่อง เสรีนิยมกับประชาธิปไตย เขียนโดย นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ แปลโดยเกษียร เตชะพีระ สำนักพิมพ์คบไฟ, 2558) ประกอบไปด้วย 1.ความทนกันได้ (toleration) มีความสำคัญเพื่อเอาไว้ต่อสู้กับการใช้ครอบงำความจริงจากระบอบ 2. การเห็นความสำคัญของสันติวิธี การแก้ไขปัญหาการครองอำนาจรัฐซึ่งระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาดังกล่าว พอแก้ปัญหาได้ผ่านการเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการของประชาธิปไตยเรื่องก็จบ ซึ่งต้องทำให้ฝ่ายตรงข้ามบนเวทีทางการเมืองไม่ใช่ศัตรู แล้วเปลี่ยนมามองการต่อสู้ในพรรคการเมืองในฐานะคู่แข่ง เช่น เราจะมองฝ่ายที่เราจะสู้ด้วยในฐานะใด ซึ่งการเมืองไม่ใช่การจบเกมส์แต่เป็นการเล่นเกมส์ในกฎกติกาลักษณะหนึ่ง ในแง่นี้วิธีการของการใช้ความรุนแรงของทหารมันจึงสัมพันธ์กับการมีชีวิต ต้องทำให้ชีวิตของผมในเกมส์มีความหมาย ถ้าไม่มีเขาก็ไม่มีผมในฐานะผู้เล่นเช่นกัน
ประเด็นที่ 3 ระบอบประชาธิปไตยมีข้อดีอีกข้อ คือทำให้สังคมเปลี่ยนแล้วฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ ความรู้สึกมันอาจจะอ่อนแอ อ่อนใจ แต่มันก็สามารถกลับมาเปลี่ยนแปลงได้ และทำให้สังคมเปลี่ยนไปในความหมายนี้
ประเด็นที่ 4 มีความเห็นว่าคนที่อยู่ในสังคมเป็นพี่เป็นน้องกัน ในอุดมการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสจะมีคำว่า “ภราดรภาพ” การสร้างภราดรภาพมีคำถามสำคัญอยู่ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ? และเราจะสร้างสังคมการเมืองที่ดีได้อย่างไร และอะไรดีหรือไม่ดี ในบทสนทนาของเพลโต เรื่องพีทาโกรัส จะพบประเด็นการถกเถียงที่ไม่ได้มุ่งไปสู่สังคมการเมืองที่ดีคือการไปสู่ประชาธิปไตย ชัยวัฒน์อธิบายว่าดีเบตนี้มีนาน เมื่อโสเครติสสนทนากับพีทากอรัส (ซึ่งเป็นโซฟิสต์หมายถึงคนที่ขายความรู้ เชื่อว่าความรู้นั้นขายได้) โสเครตีสถามเขาว่า “เป็นไปได้ยังไงที่การปกครองจะเป็นเรื่องของช่างฝีมือ เรื่องของชาวประมง ฯลฯ นี่เป็นเรื่องของการปกครอง” พีทาโกรัสใช้เทพเจ้าตอบโสคราตีส ว่า “สิ่งที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์คือความสามารถในการรู้ว่าอะไรเป็นความยุติธรรม” ในแง่นี้แปลว่ามนุษย์รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี มนุษย์จึงสามารถใช้ความสามารถในการตัดสินชะตาชีวิตของตัวเองได้ ตั้งคำถามได้ว่าเราจะปกครองชีวิตของเราได้หรือไม่ ชัยวัฒน์สรุปว่า “ผมสงสัยว่าปัญหาในอนาคตคนอาจจะตอบปัญหานี้ไม่ได้ อาจจะมากขึ้นไม่ได้ลดลง ปัญหาในเชิงเทคนิคอาจจะมากขึ้นจนคนทั่วไปตอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยคืออะไร มันคือการเคลื่อนไหวของจินตนาการ หาทางออกว่าชีวิตจะเดินไปทางไหน ไม่ว่าจะเคลื่อนหรือเปลี่ยนไปอย่างใด เส้นทางที่เราไปข้างหน้าอาจจะไม่ทรมานอีกต่อไป เพราะผมคิดว่าเราทรมานมานานพอแล้ว”
ประจักษ์ ก้องกีรติ
เริ่มต้นด้วยการขอบคุณสำนักพิมพ์ และขอบคุณคณะเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เรามีห้องในงานเสวนา เพราะปัจจุบันการมีห้องเสวนามีความหมายมาก วันนี้จะพูดหลักๆ 2-3 อย่าง
เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเป็นบทความที่เขียนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา บางชิ้นเขียนมาก่อน 2549ส่วนสองบทความล่าสุดคือที่พูดไว้ในงานปาฐกถาปรีดี พนมยงค์เมื่อวันที่24เดือนมิถุนายน2557และบทวิเคราะห์การเลือกตั้งที่มันล้มเหลวไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์2557 ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่รุนแรงมาก เพราะเป็นการสะท้อนถึง การที่คนที่มีฐานะการศึกษาสูงแสดงจุดยืนถึงขั้นที่ปฏิเสธประชาธิปไตย น่าสนใจว่า บทความชิ้นแรกได้เขียนขึ้นก่อนที่จะเกิดขึ้นรัฐประหาร ผมมักจะบอกกับนักศึกษาว่า ไม่รู้ว่าคุณโชคดีหรือโชคร้าย เพราะนักศึกษารุ่นปัจจุบันต้องเห็นรัฐประหารถึง 2 ครั้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา และเมื่อถามนักศึกษาว่าคาดหวังจะเห็นรัฐประหารอีกหรือไม่ในอนาคต ทุกคนในห้องเรียนตอบว่า ต้องได้เห็นรัฐประหารอีก ประชาธิปไตยไทยจึงเหมือนชิงช้าสวรรค์ ไม่ต่างอะไรกับกระเช้าที่ขึ้นสูงไปเรื่อยๆ พอถึงจุดที่สูงสุดก็ย้อนกลับลงมาใหม่
นักรัฐศาสตร์มักมีแนวคิดแนวหนึ่งที่ศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย democratization” หรือ “การพัฒนาประชาธิปไตย” แนวคิดดังกล่าวมองการพัฒนาประชาธิปไตยว่าเป็นเส้นตรง โดยเริ่มจากจุดที่มีคนกลุ่มน้อยเป็นผู้ปกครอง และเมื่อเวลาผ่านไป สังคมจะก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย จะเคลื่อนตัวสู่ระบอบประชาธิปไตย แนวทางการศึกษาจึงเริ่มจากการค้นหาว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เราเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย นำไปสู่การสร้างสูตรสำเร็จ และนำมาใช้กับโลกในความเป็นจริง อย่างไรก็ดี หนทางไปสู่จุดหมายนั้นมันไม่ได้เป็นเส้นตรง ในหลายประเทศทั่วโลก บางประเทศไม่เคยได้ลิ้มรสระบอบการปกครองประชาธิปไตยเลยด้วยซ้ำ บางครั้งมีการเลี้ยววกกลับมา ดังเช่นความเห็นคุณ ฮิวโก้ที่ว่า เมื่อสังคมไทยดำเนินไปเจอวิกฤต เราจะเลี้ยวขวาตลอด จนสุดท้ายวกกลับมาที่เดิม ดังนั้น ถนนประชาธิปไตยในสังคมไทยจึงไม่เป็นเส้นตรงหากแต่เป็นวงเวียน ด้วยเหตุนี้ แทนการถามว่าเราจะเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร คำถามที่ควรตั้งคือ “ทำไมสังคมเผด็จการอำนาจนิยมจึงอยู่ได้อย่างมีอำนาจยืนยง” ทำไมระบอบเผด็จการถึงปรับตัวและครองอำนาจยาวนาน (persistence of authoritarianism) ในสังคมไทยอาจจะต้องตั้งคำถามแบบนี้บ้าง ในหลักสูตรการเรียนการสอน เราอาจจะต้องมีวิชาเผด็จการศึกษา ที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับระบอบเผด็จการว่ามันทำงานอย่างไร อันที่จริง การทำรัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่าย การทำรัฐประหารต้องมีองค์ความรู้ เช่นในฟิลิปปินส์ ทหารพยายามทำรัฐประหารแต่ล้มเหลว มีครั้งหนึ่งไปยึดห้างสรรพสินค้า ซึ่งถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างง่ายดาย กรณีข้างต้นสะท้อนการไม่มีองค์ความรู้เรื่องการทำรัฐประหาร ตอนผมไปฟิลิปปินส์ปีที่แล้ว พอพูดเสร็จมีตัวแทนหรือผู้วิจัยในกองทัพเรือ อยากจะเชิญผมให้ความรู้เรื่องการทำรัฐประหาร
เวลาที่เราพูดถึงประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ผมคิดว่าเราพูดกันบนฐานข้อเท็จจริงค่อนข้างน้อย กล่าวคือ เราขาดมุมมองเชิงเปรียบเทียบ เชิงประวัติศาสตร์ เรามักจะทึกทักว่าไทยมีระบอบปกครองแบบนี้ๆขึ้นอย่างลอยๆ และพูดถึงประเทศอื่นโดยมองข้ามพลวัต ดังนั้นเราจึงนำทางออกของประเทศอื่นมาใช้แบบง่ายๆ เช่น ตอนนี้เรากำลังเอาเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ ซึ่งเป็นการมองสิ่งต่างๆแบบตัดตอน คือ มองว่าสังคมไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก หรือมองว่าปัญหาที่สังคมไทยเผชิญไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่น
วิกฤตที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มักถูกมองว่าสังคมกำลังเปลี่ยนผ่าน กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง เศรษฐกิจและ สังคมการเมือง อย่างไรก็ดีผมคิดว่าวิกฤตที่สำคัญที่สุดคือ วิกฤตทางความคิด โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีการศึกษาจำนวนมากที่มีมายาคติเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยในสังคมไทย
ประชาธิปไตยมักจะถูกทำให้เป็นเรื่องเลวร้าย ประชาธิปไตยกลายเป็นผู้ร้าย เป็นระบอบการปกครองที่ชั่วร้ายมาก แน่นอน ประชาธิปไตยมีข้อบกพร่อง ทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหาดังกล่าว ในประเทศไทย มีคนตั้งคำถามกับประชาธิปไตย มีคนสงสัยระแวดระวัง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนตั้งคำถามกับเผด็จการอำนาจนิยมน้อยมาก พูดง่ายๆก็คือ เราใจดีมากกับเผด็จการ และเราใจร้ายมากกับระบอบประชาธิปไตย หากนักปฏิรูป นักวิชาการหันมาตั้งคำถามและตรวจสอบระบอบเผด็จการให้เข้มข้นเท่ากับที่ได้ทำกับระบอบประชาธิปไตย บ้านเมืองเราคงเจริญ ไม่ต้องวนเวียนอยู่แบบนี้ ต้นเหตุของปัญหาข้างต้นอาจจะเป็นเพราะว่าสังคมไทยมีแนวคิดที่เรียกว่า “เผด็จการโดยธรรม” กล่าวคือ มองว่ามีคนกลุ่มน้อยที่มีคุณธรรมและคนกลุ่มมากที่ไม่มีการศึกษา ฉะนั้นปกครองโดยเผด็จการดีกว่า เราปล่อยให้อำนาจตกในมือคนกลุ่มนี้ที่มีสติปัญญา มีศีลธรรมดีกว่าก็พอ ความคิดข้างต้นฝังรากลึกในสังคมไทยมาก ทำให้อำนาจนิยมเผด็จการอยู่ได้ต่อเนื่องยาวนาน อาจมองได้ว่านี่เป็นรากฐานทางความคิดรองรับ มิใช่เพียงแค่โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองเท่านั้น
สุดท้ายผมอยากสรุปว่า หนังสือเล่มนี้พยายามจะเสนอมุมมองเชิงเปรียบเทียบเพื่อแสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกมีวิกฤตประชาธิปไตย และในสังคมอื่น เขาแก้ปัญหามันอย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากประเทศอื่นบ้าง แม้กระทั่งในประเทศเยอรมัน อเมริกา ฯลฯ ประชาธิปไตยก็ถูกมองว่าก่อให้เกิด ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน แต่ในประเทศอื่นเขาใช้วิธีการที่เป็นประชาธิปไตยไปแก้ปัญหาประชาธิปไตย เขาแก้ปัญหาด้วยการทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เขามองว่าประชาธิปไตยมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาตนเอง ในประวัติศาสตร์โลกก็ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยยืดหยุ่นกว่าระบอบอำนาจนิยมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และการใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยากที่นำไปสู่ประชาธิปไตยได้ ทว่า ในสังคมไทยที่ผ่านมา มีนักวิชาการจำนวนมากพยายามอภิปรายชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ดี สังคมไทยวนเวียนอยู่กับการใช้วิธีการผิดๆมาแก้ปัญหา ทุกครั้งที่เรามีวิกฤติประชาธิปไตยหรือมีความบกพร่องของประชาธิปไตย เรากลับไปใช้ระบอบอำนาจนิยมไปแก้ปัญหาแทน เราบอกว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ฟังเสียงประชาชน พรรคการเมืองเป็นเผด็จการ แต่เราแก้ปัญหาโดยการเอาระบอบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลงมาแทนที่ เราอาจจะต้องถามกับตัวเองว่า สุดท้ายแล้วโจทย์ที่เราใฝ่ฝันคืออะไร จริงหรือที่เรามีประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง จริงหรือที่เราอยากทำให้การเมืองโปร่งใส ประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบค้านผู้มีอำนาจไม่ว่าเขาจะมาหรือไม่มาจากการเลือกตั้ง เพราะกลายเป็นว่า ถ้าเรามีผู้นำมาจากการเลือกตั้ง เราตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่ถ้ามีผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เรากลับไม่ได้ตรวจสอบ อาจจะถึงเวลาที่เราต้องทบทวนแล้วว่า ที่เราออกไปสู่ท้องถนนในรอบหลายปีที่ผ่านมาเราก็ต้องการสิ่งใดกันแน่
สังคมไทยถกเถียงกันเรื่อง“คำ”มากเกินไป จนไม่แน่ใจว่าเราใช้คำว่าประชาธิปไตยในความหมายเดียวกันหรือไม่ ผมเสนอว่า เราต้องไปดูที่เนื้อหาสาระ ไม่ควรถามอีกแล้วว่าตกลงรัฐบาลเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะทุกฝ่ายก็อ้างว่าการปกครองของตนเป็นประชาธิปไตย แม้กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ก็อ้างเช่นเดียวกัน แต่เราควรเจาะไปที่รายละเอียดเลยว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่กับระบอบการปกครองที่มีผู้นำคนเดียวมีอำนาจเด็ดขาด ที่สื่อไม่มีเสรีภาพในการทำงาน ในการนำเสนอข่าว ที่ประชาชนไม่สามารถรวมกลุ่มห้าคนในที่สาธารณะ ที่นักวิชาการไม่มีเสรีภาพในการพูดในมหาวิทยาลัยของตนเอง เนื้อหาแบบนี้เอาไหม จะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ แต่เผอิญทั่วโลกเขาเรียกระบอบการปกครองแบบนี้ว่า ระบอบเผด็จการ เราจะไม่เรียกก็ได้ แต่ถามว่าคุณเอาระบอบที่มีเนื้อหาสาระนี้ไหม ถ้าบอกว่าเอา เราจะได้ถกเถียงกันรู้เรื่อง มันอาจจะถึงขั้นที่ว่า มีคนทราบดีว่านี่เป็นเผด็จการ แต่ชอบแบบนี้ ชอบผู้นำที่ใช้อำนาจเด็ดขาด เพราะศรัทธาว่าเขาจะแก้ไขปัญหาได้
ถัดไปผมคิดว่า เพื่อจะออกไปจากวิกฤตประชาธิปไตยในรอบนี้ สังคมไทยต้องการการปฏิรูปอย่างรอบด้าน ทุกสถาบันต้องการปฏิรูป โดยเฉพาะสถาบันที่ใช้อำนาจในทางสาธารณะอย่างมหาศาลอย่างกองทัพ จากข้อมูลทุกประเทศ การปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมีความจำเป็นหากต้องการเข้าสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจควบคุมความรุนแรงมีโอกาสที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สูง องค์กรเหล่านี้ต้องถูกควบคุม ปฏิรูปและทำให้เป็นประชาธิปไตยด้วย ขณะนี้เรากำลังอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปหลายองค์กร แต่ไม่มีใครพูดถึงการปฏิรูปกองทัพเลย ดังนั้นกองทัพควรแสดงความจริงใจโดยการปฏิรูปองค์กรตัวเองด้วย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในชิลี บราซิล และอาเจนติน่า เป็นต้น
สุดท้าย ในสภาวะการเมืองปัจจุบัน ผมมองว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ พยายามสถาปนาระบอบที่เรียกว่า controlled democracy ขึ้นมา หรือ “ประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม” กล่าวคือ มีการสร้างผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงมีการใช้อำนาจไม่ต่างจากนักการเมืองทั่วไป แต่ว่า กลุ่มองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวถูกทำให้ไม่ต้องยึดโยงประชาชน มองได้ว่าเป็นการเมืองแบบสองชั้น ชั้นแรกเป็นส่วนที่ประชาชนเลือกกันมา เช่นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ซึ่งถูกทำให้อ่อนแอ และจะอยู่ภายใต้การกำกับขององค์กรชั้นสอง
ในอดีต มีการอ้างว่า ประชาชนยังไม่มีการศึกษา บัดนี้ ข้ออ้างเรื่องการศึกษามีน้อยลง คุณธรรม จริยธรรมกลายเป็นเกณฑ์ใหม่ในการให้องค์กรที่ไม่มีที่มาจากประชาชนขึ้นมามีอำนาจปกครอง สภาวะเช่นนี้จะเหมือนกับในหลายประเทศ ที่อนุญาตให้มีการแข่งขัน แต่ยกเว้นให้ตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง สร้างองค์กรมาควบคุม ผลที่ตามมาก็คือ ไม่ว่าพรรคไหนชนะเลือกตั้ง จะไม่มีความหมาย เพราะโดน “ควบคุม” จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ เราอาจเรียกได้อีกว่าเป็น partial democracy คือ ประชาธิปไตยแบบ “ส่วนเสี้ยว” ไม่มีประชาธิปไตยถึงครึ่งใบแบบที่ใช้เรียกรัฐธรรมนูญปี2521เสียด้วยซ้ำ
ผมอยากจะจบด้วยมุมมองในแง่ร้าย หลายคนยังเชื่อในการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเส้นตรง มองว่าถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ สังคมจะก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยได้เอง แต่จากบทเรียนในหลายประเทศ หากเราไม่ทำอะไร เราก็ไม่ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ยิ่งไปกว่านั้น การกลับสู่ประชาธิปไตยคราวนี้ยากกว่าปกติ เพราะทุกส่วนของสังคมไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้เลยว่าระบอบการเมืองที่ดีคืออะไร แม้แต่ในภาคประชาชนด้วยกันเอง วิกฤตครั้งนี้จึงแตกต่างจากเมื่อครั้ง 14 ตุลา หรือ พฤษภา 35 เพราะอย่างน้อยมีสองกรณีข้างต้นก็มีฉันทามติเรื่องการปฏิเสธระบอบแบบอำนาจนิยม ต้องการจะกลับสู่การปกครองแบบรัฐสภา ต้องการมีสิทธิเสรีภาพ ตราบใดที่เราไม่สามารถสร้างฉันทามติใหม่ขึ้นได้ เราก็เปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ และต้องทนอยู่กับระบอบที่เป็นอยู่ต่อไป อีกนัยหนึ่ง เรายอมอยู่ภายใต้ระบอบนี้ เพียงเพราะสังคมไทยยังไม่สามารถ ตกลงกันได้ว่าระบอบการปกครองแบบใหม่ที่มันเป็นประชาธิปไตยที่ดีจะเป็นอย่างไร