ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558
ที่มา
รายงานจาก Stars and Stripes
ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง
เว็บไซต์ VOA Thai (The Voice of America) รายงานเมื่อวันที่ 16 เมษายน ถึงบทความใน นสพ. Stars and Stripes ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ตีพิมพ์รายงานทัศนะของอดีตเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันสองนาย ผู้เคยร่วมทำงานกับกองทัพไทย ซึ่งทั้งคู่ระบุว่าความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ ขณะที่จีนกำลังจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และพยายามแทรกตัวเข้ามาแทน
Kerry Gershaneck อดีตนายทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ยศพันเอก ซึ่งปัจจุบันทำงานร่วมกับศูนย์ East-West Center ในฮาวาย ชี้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ หลังการยึดอำนาจในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว กำลังก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีต่อความสัมพันธ์ทางทหารของสองประเทศ และเป็นเรื่องยากที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมหากละเลยการพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะจีน
ปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นเรื่องนี้คือ การฝึก Cobra Gold ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเล็กลงในปีนี้ และอาจจะยิ่งมีอุปสรรคมากขึ้นในปีหน้า
Gershaneck ระบุว่าหากอเมริกาต้องการจะให้ความสัมพันธ์นี้กลับมาดีดังเดิม อเมริกาจำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อให้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสถานการณ์ด้านจิตใจของคนไทย
อดีตนายทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ผู้นี้ชี้ว่า ปัจจุบันทหารและชนชั้นผู้นำของไทยต่างมองสหรัฐฯ ว่าเสแสร้ง เลือกปฏิบัติ และใช้มาตรฐานที่ต่างกันสำหรับแต่ละประเทศ เช่นในกรณีการปฏิวัติในอียิปต์เมื่อ 2 ปีก่อนซึ่งสหรัฐฯ มีท่าทีนิ่งเฉยไม่เหมือนกับกรณีของไทย รวมทั้งล่าสุดที่ ปธน.โอบาม่าพยายามจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับคิวบาที่ร้าวฉานมานานหลายสิบปี
Thai US Relation
Gershaneck บอกว่าคนไทยจำนวนมากรู้สึกว่าไทยคือพันธมิตรที่ร่วมต่อสู้กับสหรัฐฯ ทั้งในช่วงสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามกับคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น คิวบาคือศัตรูที่พยายามบ่อนทำลายอเมริกา แต่เวลานี้รัฐบาลอเมริกันกลับพยายามยอมรับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบา แต่กลับกดดันให้ไทยกลับสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งโดยเร็ว
นักวิเคราะห์แห่งศูนย์ East-West Center ผู้นี้เชื่อว่า ท่าทีและแรงกดดันดังกล่าวของสหรัฐฯ ยิ่งทำให้เกิดลัทธิชาตินิยมแบบต่อต้านอเมริกาขึ้นในประเทศไทย
ทางด้านคุณ John M. Cole อดีตทหารกองทัพบกสหรัฐฯ ผู้เคยทำงานร่วมกับกองทัพไทยเช่นกัน ชี้ว่าขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กำลังร้าวฉาน จีนก็กำลังค่อยๆ สานสัมพันธ์ทางทหารกับไทยไปทีละน้อย และกำลังจับตามองว่าเมื่อไรที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ สิ้นสุดลง จีนก็พร้อมกระโจนเข้าแทนทันที
เมื่อเดือน ก.พ จีนและไทยได้ร่วมประกาศข้อตกลง 5 ปีเพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านการทหาร และรมต.กระทรวงกลาโหมจีนยังได้ยืนยันชัดเจนว่า จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของไทย
Kerry Gershaneck บอกว่าจีนได้เสนอความช่วยเหลือทางทหารให้กับไทย เพื่อชดเชยส่วนที่สหรัฐฯ ตัดออกไป รวมถึงความช่วยเหลือในด้านการศึกษา และการฝึกฝน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผสานความสัมพันธ์ทางทหารในระยะยาว เพราะจะมีอิทธิพลต่อแนวคิดอุดมการณ์ของทหารในรุ่นต่อๆไป เหมือนที่สหรัฐฯเคยใช้อำนาจนุ่มลักษณะนี้มาแล้วในอดีต เพื่อขยายแนวคิดประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนยังไม่เห็นด้วยกับทัศนะของอดีตนายทหารอเมริกันสองท่านนี้
หนึ่งในนั้นคือคุณ Gregory Poling ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ในกรุงวอชิงตัน ที่บอกว่าการสานสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับจีนนั้น ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย และยังถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับขนาดความสัมพันธ์ทางทหารของไทยกับสหรัฐฯ นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่าจีนจะยังไม่ก้าวขึ้นมาเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงอันดับหนึ่งของไทยในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน
ถึงกระนั้นอดีตนายทหารกองทัพสหรัฐฯKerryGershaneckและJohnM.Cole ยืนยันว่ารอยร้าวระหว่างไทย-สหรัฐฯ นั้นมีอยู่จริง และอาจนำไปสู่การปรับสมดุลใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นสมดุลที่แตกต่างจากนโยบายของปธน.โอบาม่า
เพราะอาจหมายความว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้พยายามกีดกันอเมริกาออกไป