วันพุธ, เมษายน 29, 2558

จาก ICAO ถึง IUU ไทยวิ่งวุ่นแก้ปัญหาการบินยันประมงผิดกฎหมาย



ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
28 เม.ย 2558

ในห้วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาของประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวพันกับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการภาคเอกชน ตั้งแต่สายการบินไปจนกระทั่งถึงบริษัทผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยข้อกล่าวหาที่ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่เป็นปัญหาที่หมักหมมมาจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ บางปัญหาอาจจะมากกว่า 10 ปี ที่ปราศจากความสนใจและใส่ใจในการแก้ปัญหา จนสุดท้ายมากระจุกตัวในรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องเร่ง "ปฏิบัติการ" แก้ปัญหาโดยด่วน

ICAO การบินไม่ปลอดภัย

กรณีแรกเป็นกรณีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) แจ้งผลการตรวจสอบมาตรฐานการควบคุมสายการบินของประเทศไทย ตามมาตรฐาน ICAO Universal Safety Oversight Audit Program หรือ USOAP ของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตการบินให้กับสายการบินต่าง ๆ ในเรื่องของการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล

ปรากฏกรมการบินพลเรือน สอบผ่านไปได้แค่ 21 รายการ ขณะที่ข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ "ยังสอบไม่ผ่าน" มีผลทำให้หลายประเทศที่เป็นสมาชิกของ ICAO มีคำสั่งห้ามสายการบินที่บินตรงจากประเทศไทย (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เข้าประเทศ สร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการและการท่องเที่ยวของประเทศ

รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้มาตรา44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ภายใต้ความเชื่อว่าจะสามารถย่นระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วขึ้น หรือภายในเวลา 90 วัน ตามกำหนดเส้นตายของ ICAO ก่อนที่จะประกาศผลให้ภาคีสมาชิกทราบ โดยสั่งการให้กรมการบินพลเรือนส่งแผนการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยด้านต่าง ๆ ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมายอมรับว่า ระยะเวลา 90 วันนั้น "ไม่น่าจะทันแน่" หลังจากที่ ICAO "ตีกลับ" แผนแก้ไขข้อบกพร่องเร่งด่วน (Corrective Action Plan) ที่ฝ่ายไทยทำไป

พร้อมกับสั่งปรับแผนแก้ไขข้อบกพร่องฉบับใหม่ ทั้งแผนระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อทำให้ชัดเจนขึ้น ครอบคลุมทุกประเด็น 8 เรื่องหลัก อาทิ กฎหมายล้าสมัย, กระบวนการตรวจสอบมาตรฐานและความปลอดภัยที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ICAO แต่เนื่องจากขั้นตอนการแก้ปัญหาด้านการบินตามที่ ICAO ตั้งข้อสังเกตและให้ดำเนินการตรวจสอบสายการบินต่าง ๆ จะใช้เวลามากกว่าที่คาดไว้ และเวลาอาจล่วงเลยไปถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2558

ผลกระทบทันทีที่ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันภายในเวลา 90 วัน ความเป็นไปได้ก็คือ การลดเกรดสายการบินสัญชาติไทยจาก Category 1 มาเป็น Category 2 ทำให้สายการบินสัญชาติไทยไม่สามารถทำการบินไปยังจุดบินใหม่ในสหรัฐ-ยุโรป หรือทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน (Code-share) กับสายการบินต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะกระทบกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่มีเส้นทางบินสู่ทวีปยุโรปทันที

Tier 3 ประเทศผู้ค้ามนุษย์

กรณีที่สองที่เกิดขึ้นก็คือ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้เผยแพร่รายงานสกานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons หรือ TIP Report) ประจำปี 2557 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏประเทศไทยถูกลดอันดับลงมาอยู่ในบัญชีต่ำที่สุด คือ Tier 3 หรือประเทศที่มีการดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐ และรัฐบาลไทยไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

จากเดิมที่ประเทศไทยถูกจัดลำดับอยู่ในบัญชีTier2 Watch List หรือประเทศที่มีรายงานเหยื่อจากการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า รัฐบาลไทยได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ติดต่อกันมา 2 ปี ดังนั้นในปีที่ 3 ประเทศไทยจึงถูกปรับสถานะมาอยู่ในบัญชี Tier 3 โดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ในรายงาน TIP Report ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านของการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานภาคประมง และการบังคับค้าประเวณี มี "เหยี่อ" จากประเทศเพื่อนบ้าน

ในรายงานได้เน้นถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ในเรือประมง มีการลักลอบค้าแรงงานชาวพม่า-กัมพูชาในอุตสาหกรรมอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรสาคร การถูกบังคับใช้แรงงานในเรือประมงที่ออกไปจับปลาในน่านน้ำต่างประเทศที่ต้องทำงานติดต่อกัน 18-20 ชั่วโมง/วัน ไม่มีวันหยุดพักและถูกขู่เข็ญข่มขู่ทุบตี การไม่ได้รับค่าจ้างเต็มตามจำนวน ซึ่งมีหลักฐานยืนยันมาจากความช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ นอกจากนี้รายงานยังระบุถึงปัญหาการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่แรงงานค้ามนุษย์ถูกนำผ่านเข้า-ออก

ขณะที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามยุทธศาสตร์5P′s ซึ่งประกอบไปด้วย มาตรการด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution and Law Enforcement), มาตรการด้านการคุ้มครองและฟื้นฟูเยียวยา (Protection and Recovery), มาตรการด้านการป้องกัน (Prevention), การกำหนดนโยบายและกลไกในการผลักดันนโยบาย (Policy and Mechanisms to Drive the Policy) และมาตรการในการสร้างหุ้นส่วน (Partnership) ไปจนกระทั่งถึงคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์เป็น "วาระแห่งชาติ"

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวสุดท้ายก็ไม่สามารถช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกปรับลดระดับมาอยู่ในบัญชี Tier 3 ได้ แม้ว่ามาตรการตอบโต้ที่รัฐบาลสหรัฐสามารถดำเนินการกับประเทศไทยในกรณีนี้จะเป็นไปอย่าง "เบาบาง" เพียงแค่การพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้า (Non-humanitarian and Non-trade-related foreign Assistance) ก็ตาม

IUU ทำประมงผิดกฎหมาย

ส่วนกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นก็คือ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ตัดสินใจประกาศให้ "ใบเหลือง" หรือการแจ้งเตือนประเทศไทย ถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (Non-cooperating Country) ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing) มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้เวลาประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาภายในเวลา 6 เดือน (ตุลาคม 2558) โดยสถานะใบเหลืองที่ให้กับประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีผลในการส่งออกสินค้าประมงจากไทยเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป แต่หลังจากนั้น (6 เดือน) หากประเทศไทยได้รับ "ใบแดง" ความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะถูกตอบโต้จากสหภาพยุโรปก็คือ การ "คว่ำบาตร" สินค้าประมง

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปต้องการ "แผนปฏิบัติการ" ที่ชัดเจนในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการปฏิบัติการที่มีรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการส่งคณะเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินและติดตามสถานการณ์ หากได้รับการประเมินผ่าน สถานะของประเทศไทยก็จะถูกปลดออกจาก "ใบเหลือง" มาเป็นการได้รับ "ใบเขียว" เป็นการรับรองการทำประมงที่ถูกกฎหมาย

ข้อกล่าวหาที่ประเทศไทยได้รับทั้ง 3 กรณีข้างต้น ประเทศคู่ค้าได้ให้เวลาในการแก้ไขปัญหามาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ ICAO ที่แจ้งเตือนประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2548 กรณีของ TIP Report ผ่านมาไม่น้อยกว่า 3 ปี กระทั่งถึงกรณี IUU ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 เพียงแต่รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาไม่ให้ความสำคัญและใส่ใจในการแก้ไขปัญหา และนำมาซึ่งการถูกประเทศคู่ค้าปรับสถานะและถูกตอบโต้ในที่สุด