วันพุธ, เมษายน 22, 2558

จำคุก ๒๕ ปี ศาลลงโทษสถานเบาแล้ว จึงไม่รอลงอาญา



“เมื่อเช้านี้ นักธุรกิจไทยคนหนึ่งถูกตัดสินลงโทษจำคุก ๒๕ ปีด้วยความผิดฐานนำลงข้อความบนหน้าเฟชบุ๊ค อันถูกกล่าวหาอ้างว่าวิพากษ์หนักหน่วงต่อพระมหากษัตริย์ จัดเป็นการตัดสินโทษที่เหลวไหลไร้สาระ และแสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยที่จะแก้ไขกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ล้าหลังเสียที”

ข้อความข้างต้นเป็นรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ ซึ่งระบุด้วยว่าเป็นวันเดียวกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาติยกเลิกกฏอัยการศึก ที่นายรูเปิร์ต แอ็บบ็อตรองผู้อำนวยการสำหรับภาคพื้นเอเซียแปซิฟิคของแอมเนสตี้กล่าวว่า

“การยกเลิกกฏอัยการศึกจะไม่ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยดีขึ้น ถ้าหากมันถูกทดแทนด้วยกฏหมายอื่นที่กดขี่แบบเดียวกัน”

“การลงโทษนายเธียรสุธรรม สุทธิจิตต์เศรณี มีความร้ายแรงเป็นที่สุดอันหนึ่งที่เราเคยเห็นมา...มันทำให้รู้สึกสยองขวัญเมื่อในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ยังมีคนถูกจำคุกนับเป็นสิบๆ ปีเพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

การแสดงความคิดเห็นโดยสันติมิใช่อาชญากรรม นายเธียรสุธรรมควรต้องได้รับการปล่อยตัวทันที และกฏหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ควรที่จะถูกยกเลิก หรือได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับพันธะหน้าที่ต่อสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย”


คำเรียกร้องของรองผู้อำนวยการแอมเนสตี้มิเพียงได้รับการเพิกเฉยจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ซึ่งมีประชาชนนับเป็นร้อยๆ คนถูกควบคุมตัวโดยพลการ และจำนวนหลายสิบถูกลากเข้าสู่การดำเนินคดีโดยศาลทหารเพียงเพราะพวกเขาแสดงออกซึ่งสิทธิในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น

การพิพากษาคดีนายเธียรสุธรรมโดยลับ พร้อมทั้งการปกปิดรายละเอียดการกระทำที่ถูกตัดสินว่าเป็นความผิดของเขา แม้ว่าเขาได้ยินยอมรับสารภาพไปแล้วทุกข้อกล่าวหาก็ตาม ไม่ต้องตามกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นสากล สังคมควรที่จะได้รับทราบว่าการตัดสินบุคคลให้ต้องถูกจองจำเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี มีความสมเหตุสมผลเพียงใด อีกทั้งเขาควรที่จะสามารถร้องขออุทธรณ์ฎีกาต่อการลงโทษอันหนักหน่วงเกินกว่าเหตุที่ว่านำลงข้อความก้าวก่ายสถาบันกษัตริย์ได้

คดีของนายเธียรสุธรรม หรือผู้ใช้นาม ใหญ่ แดงเดือดเริ่มเมื่อตอนเช้า ๙ นาฬิกา วันที่ ๑๘ ธันวาคม ปีที่แล้วที่บ้านพักของเขาย่านลาดพร้าว เมื่อ “ตำรวจหญิงนอกเครื่องแบบ ทำทีมาถามหาบ้านของคนในละแวกนั้น โดยภรรยาเป็นผู้มาเปิดประตู เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบผู้มาเยือนดูจะไม่เข้าใจเส้นทางที่ภรรยาของเธียรสุธรรมอธิบาย เธียรสุธรรมจึงเดินออกมาเพื่อช่วยอธิบาย เมื่อเขาเดินมาถึงบริเวณรั้วบ้านเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบก็เข้าจู่โจมโดยที่เธียรสุธรรมไม่ทันตั้งตัว เธียรสุธรรมถูกควบคุมตัวไปที่กองบังคับการทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 พร้อมตัวภรรยา

๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ เจ้าหน้าที่นำตัวเธียรสุธรรมมาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังในผลัดที่ ๑ ภรรยาของเขาวางเงินสด ๔๐๐,๐๐๐ บาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และแจ้งต่อศาลว่าเธียรสุธรรมเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เขามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้และโรคกระเพาะ ต้องรับประทานยาเพื่อรักษาโรคดังกล่าวและพบแพทย์เป็นประจำ นอกจากนี้เธียรสุธรรมก็มีความรับผิดชอบต้องประกอบธุรกิจหารายได้อย่างเร่งด่วน เพราะเป็นเสาหลักของครอบครัวมีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาและบุตรอีกจำนวน ๓ คน

อย่างไรก็ตาม ศาลก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีร้ายแรง เกรงว่าปล่อยตัวไปแล้วจะหลบหนีคดี

ระหว่างฝากขังรวม ๘๔ วัน ภรรยาพยายามยื่นขอประกันตัวเธียรสุธรรมอย่างน้อย ๔ ครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล

วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ ศาลนัดสอบคำให้การ รถของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาส่งเธียรสุธรรมที่ศาลในเวลา ๑๐.๐๐ น. ศาลทหารสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ทำให้ภรรยาและญาติของเธียรสุธรรมรวมทั้งผู้สังเกตการณ์คดีไม่สามารถเข้าฟังได้ ภรรยาของเธียรสุธรรมทำได้เพียงแนบแผ่นกระดาษที่ลูกๆเขียนบรรยายถึงพ่อให้ทนายความนำไปยื่นในคำร้องประกอบคำรับสารภาพเพื่อให้ศาลลงโทษสถานเบา
เมื่อศาลสั่งพิจารณาลับในห้องพิจารณาคดีจึงมีเพียงผู้พิพากษา อัยการทหาร จำเลย ทนายจำเลย และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เท่านั้น ภายหลังการพิจารณาคดี ทนายความเปิดเผยว่าเธียรสุธรรมให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ศาลจึงอ่านคำพิพากษาทันที

เธียรสุธรรมรับสารภาพว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ใหญ่ แดงเดือดโพสต์ข้อความรูปภาพวิจารณ์คสช. และพาดพิงสถาบันกษัตริย์ฯ จำนวน ๕ ข้อความ ถือเป็นความผิด ๕ กรรม ศาลทหารกรุงเทพลงโทษจำคุกเธียรสุธรรมในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา ๑๔ (๓) จากการโพสต์ข้อความ ข้อความละ ๑๐ ปี ๕ ข้อความรวม ๕๐ ปี

เนื่องจากเธียรสุธรรมให้การรับสารภาพจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงโทษจำคุก ๒๕ ปี นอกจากนี้ ศาลสั่งด้วยว่า เวลา ๗ วันที่จำเลยถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกไม่สามารถนำมาหักลบจากเวลาที่จำเลยจะต้องรับโทษได้”

ข้างต้นเป็นรายงานคดี ใหญ่ แดงเดือดในชุดซีรี่ส์คดี ๑๑๒ โดยสำนักข่าวกฏหมาย ไอลอว์ ที่เขียนโดย ซาราวัก ศักดาวิสูตร (http://freedom.ilaw.or.th/112theseriesyaii) ที่ได้ไปสัมภาษณ์ความรู้สึกของภรรยานายเธียรสุธรรมต่อเคราะห์กรรมที่เขาได้รับครั้งนี้

“ภรรยาของเธียรสุธรรมยอมรับว่า การขาดหายไปของเธียรสุธรรมทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบมาก ทั้งด้านจิตใจ และรายได้ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่มาจากร้านขายเครื่องเขียนที่เพิ่งกลับมาทำอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้เคยทำเเล้วให้ผู้อื่นเช่ากิจการต่อ อย่างไรก็ตามกำลังใจจากลูกๆ ก็ยังพอเยียวยาให้ชีวิตมีความหวังบ้าง และยังรอคอยวันได้พบกันพร้อมหน้าอีกครั้ง

เราพบกันช่วงเทศกาลเมื่อหน้าร้อนของปีหนึ่ง..(เธอกล่าวถึงความสัมพันธ์กับผู้เป็นสามี) พี่เลี้ยงน้องมาก่อนเจอพี่ใหญ่ พี่ใหญ่ทราบดีว่าพี่ชอบช่วยเหลือคน ยิ่งน้องน่าสงสารที่พ่อแม่เลิกกัน เด็กๆ เหล่านี้เป็นเด็กที่ขาดพ่อ..พี่พยายามเติมเต็มคำว่าพ่อที่ดีให้กับลูกพี่และน้องหนึ่งลูกบุญธรรม พอมาเจอกับพี่ใหญ่ดีใจเด็กๆชื่นชมว่าพ่อเก่ง เก่งมาก เด็กก็พยายามถามถึงการเรียน ว่าต้องทำอย่างไรจะเก่งแบบพ่อ ด้วยความรู้ที่พี่ใหญ่มีมักจะเอาออกมาสอนเด็กๆในช่วงวันหยุด เช่น สอนการออกเสียงการพูดภาษาอังกฤษ การวางแผนการเรียนว่าต้องไปทางไหนอย่างไร

ขณะถูกจับกุม เธียรสุธรรมอายุ ๕๘ ปี ก่อนถูกจับกุมเขาประกอบอาชีพผู้รับเหมาก่อสร้าง (จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์) เป็นกำลังหลักหาเลี้ยงครอบครัวที่ประกอบด้วยภรรยา ลูกที่ติดจากภรรยาที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมปลาย และลูกบุญธรรมที่กำลังศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร”

"จากเสาหลักของครอบครัว เป็นบุคคลบันดาลใจของลูกๆ ให้ขยันตั้งใจเรียน และสิ่งที่เด็กน้อยตามหามาทั้งชีวิตคือความรักความอบอุ่น มาวันนี้สิ่งนั้นกลับถูกพลัดพรากไปแบบโหดร้ายเหลือเกินสำหรับเขา พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมโทษมันหนักขนาดนี้" ภรรยาของเธียรสุธรรมซึ่งเรียกตัวเองว่า ไก่เล่า

"สุดท้ายพี่คือหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลทุกๆคน เพราะสถานการณ์มันบีบให้เราต้องเป็น และการจะทิ้งคนๆหนึ่งไว้ที่คุกเพียงแค่คำว่าลำบากนั่นไม่ใช่จากชีวิตของผู้หญิงอย่างพี่ ยามดีๆ เขาก็ดูแลเราและลูกเราดีถึงจะเป็นเวลาสั้นๆ พี่จึงทิ้งพี่ใหญ่ไม่ลง และจะสู้ต่อไปจนสุดแรง เท่าที่จะทำได้นะ" เหล่านี้คือคำตัดพ้อของภรรยาหลังคำพิพากษาออกมา

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึงเป็นทนายจำเลยกล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า การอ่านคำพิพากษาเป็นไปอย่างปิดลับ ญาติจำเลยและผู้สังเกตการณ์เข้าฟังไม่ได้ ในการอ่านคำพิพากษาศาลไม่อ่านข้อความที่กระทำผิด ระบุเพียงว่าเป็นการกระทำผิดตามฟ้อง นอกจากนี้ศาลยังให้เหตุผลที่ไม่รอลงอาญาว่าเนื่องจากเป็นการกระทำผิดต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักเทิดทูนของปวงชนชาวไทย

ประกอบกับศาลลงโทษสถานเบาแล้วจึงไม่รอลงอาญา 

โทษจำคุกให้นับรวมการคุมขังในเรือนจำที่ผ่านมาด้วย แต่ไม่นับวันที่ถูกคุมตัวตามกฎอัยการศึก ๗ วัน”


ทั้งนี้ “ศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุกนายเธียรสุธรรม 50 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพผิด เขาไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดีนี้” แถลงการณ์แอมเนสตี้ระบุด้วยว่า นายเธียรสุธรรมได้ถูกทหารควบคุมตัวเป็นเวลาห้าวันโดยไม่มีการตั้งข้อหา แต่เป็นการอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวโดยพลการและสอบปากคำจนกระทั่งเขายอมรับ สารภาพต่อความผิดตามข้อกล่าวหา ในระหว่างนั้นเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับทนายความหรือครอบครัว”