วันอาทิตย์, เมษายน 19, 2558

แม่นแล้วแหละ รธน. ร่างใหม่ ฉบับเอาใจ คสช. เย็บเล่มเสร็จ ส่งให้ สปช. ประทับรับ (หรือถ้าเถียงว่าไม่ใช่ ลองให้ประธานปื๊ดเอามาตรา ๓๑๕ ออกไปดูสิ คณะยึดอำนาจเขาจะว่ายังไง)




แม่นแล้วแหละ รธน. ร่างใหม่ ฉบับเอาใจ คสช. เย็บเล่มเสร็จ ส่งให้ สปช. ประทับรับ

(หรือถ้าเถียงว่าไม่ใช่ ลองให้ประธานปื๊ดเอามาตรา ๓๑๕ ออกไปดูสิ คณะยึดอำนาจเขาจะว่ายังไง)

ท่านที่ยังไม่ได้อ่านร่าง ๕ หมื่นคำ แนะนำให้อ่านสรุปสั้นๆ ของ Harit Mahaton ดูก่อน ให้รู้ทั้งกรอบและกึ๋นคร่าวๆ

“สรุปร่างรัฐธรรมนูญ 58
- หมวดกษัตริย์เหมือนเดิม
- นายกฯไม่ต้องเป็น ส.ส. มาจากไหนก็ได้ ที่สภาอยากตั้ง
- ส.ส. เลือกตั้ง 470 มาจากแบ่งเขต 250 บัญชีรายชื่อ 220 โดยใช้ระบบเยอรมัน
- ส.ว. ประชาชนเลือกจากคนที่เขาคัดมาให้ 77 คน แต่งตั้ง 123 คน รวม 200
แบบเลือกตั้ง โดยแต่ละจังหวัดจะมีกรรมการคัดมาให้สิบคน แล้วให้ประชาชนเลือกหนึ่งจากสิบคนนั้น จังหวัดละหนึ่งคน รวม 77 คน
แต่งตั้ง มาจากอดีตปลัด, อดีตผบ.เหล่าทัพ เลือกกันเอง 10 คน ; ผู้แทนสภาวิชาชีพ 15 คน ; ผู้แทนเกษตร แรงงาน วิชาการ ชุมชน ท้องถิ่น 30 คน ; ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม 58 คน จากการสรรหา (โดยมีคณะกรรมการสรรหาชุดเดียวกันจะสรรหาคนที่ไปให้เลือกตั้งด้วย)
- มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป จากแม่น้ำ 5 สาย (คสช.แอนเดอะแกงค์) เสนอกฎหมายให้สภาเห็นชอบได้ ; ถ้า ส.ส. ไม่เห็นด้วยให้ ส.ว. เห็นด้วยแล้วออกเป็นกฎหมายได้เลย
- ยุบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
- กกต. ไม่มีอำนาจใบแดง
- ม.315 นิรโทษ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ให้ คสช. (เหมือน ม.48 เดิม)
โหลดก่อนโดนลบ : https://drive.google.com/file/d/0B5VIfRORgOEhZGdiYlAySFBENjA/view?pli=1

ที่เขาเร่งให้โหลดเพราะร่างฯ ฉบับนี้ยังไม่ให้แจกสื่อมวลชน นัยว่าประเคนกันภายในเฉพาะพวกที่ลากๆ กันเข้าไปเป็น สปช. ครม. คสช. (ซึ่งโฆษกกรรมาฯ คำนูณ สิทธิสมาน บอกให้รอวันที่ ๒๗ เมษาเปิดสาธารณะ พวกสื่อสามารถขวนขวายไปถามผู้เกี่ยวข้องกันเอาเองได้)



แต่ร่างฯ ใหม่ถอดด้ามก็มีคนดาวโหลดกันได้เกลื่อน แม้นว่าจะมีบางรายไม่อยากโหลด อย่างหม่อมเต่านา เธอบอกว่า “ไม่สนใจ เราไม่ชอบซื้อของโจร” น่ะ

ร่าง รธน. ฉบับนี้ ตั้งชื่อเล่นเรียกง่ายได้ว่าเป็นฉบับ ‘ดี’ (คือไม่ A ไม่ B อะ) เพราะอะไรๆ เนื้อในปนเปื้อนไปด้วย ‘ที่Dๆ’ (โดยเฉพาะภาค ๒ บอกว่าต้อง ‘ผู้แทนที่ดี การเมืองที่ดี’ ตามมาตรฐาน ‘สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ’)

แต่ว่านักเลือกตั้งร้องยี้ เพราะมาตรา ๑๗๒ ให้คนนอกเป็นนายกฯ ได้ ใจความว่า

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๑ ใน ๕ รับรองการเสนอชื่อบุคคลให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ก็ดีไป มติรับรองอยู่ที่กึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาที่มีอยู่ หากไม่ใช่สมาชิกสภาฯ คะแนนรับรองต้องถึงสองในสาม

แล้วผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ กับรัฐมนตรี จะมีตำแหน่งการงานประจำ ตุลาการ องค์กรอิสระ และสมาชิกรัฐสภา พร้อมกันไม่ได้ (แค่ต้องลาออก หรือไม่รับการเสนอชื่อ) นี่ก็แสดงถึงเจตนาอิงคนนอกเป็นนายกฯ มากขึ้น

ท่ามกลางสำนวนโวหารเกลื่อนร่างฯ ที่พูดถึงความดี คุณธรรม และสิทธิพลเมือง แก่นของตัวบทล้วนแต่กีดกัน และปฏิเสธวิถีการเมืองในระบบเลือกตั้งเป็นหลักสำคัญ กระทั่งสื่อต่างประเทศก็ยังมองเห็น



ดังรายงานข่าวบลูมเบิร์กวิจารณ์ไว้ http://www.bloomberg.com/…/new-thai-charter-to-curb-party-p…
หรือพากษ์ไทยที่ http://news.voicetv.co.th/thailand/193935.html

“ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสนอวิธีการเลือกตั้งที่ซับซ้อน เพื่อกีดกันไม่ให้พรรคการเมืองหนึ่งใดสามารถได้เสียงข้างมากท่วมท้น” ซึ่งคริส เบลค ผู้เขียนมิวายพาดพิงถึงตัวอย่าง รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ข่าวบลูมเบิร์กเตือนไว้ด้วยว่า “การขีดกั้นอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รังแต่จะทำให้ความแตกแยกทางการเมืองที่มีมานาน กลับยิ่งหนักหน่วงลงไปอีก”

และหนักหนาอยู่แล้วเวลานี้ ที่องค์กรอิสระทำทุกอย่างเอียงข้างช่วยพรรคพวกตน

ดังคณะกรรมการปราบปรามทุจริตแห่งชาติประพฤติย้อนแย้งข้อกำหนดในร่างฯ ภาค ๔ เรื่องหนทางปฏิรูปและสร้างความปรองดอง

จะกลายเป็นว่าคณะยึดอำนาจอุตส่าห์เอากูรูอย่างนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาร่าง รธน. สำนวนหรู แต่ไร้ซึ่งมาดเกรงขามทางกฏหมาย



ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช. กำหนดมาตรฐานคุณธรรมต่ำกว่าพาร์น่าเกลียด วินิจฉัยการร้องเรียนเรื่องจัดซื้ออุปกรณ์ขยายเสียงภายในทำเนียบรัฐบาลราคาสูงลิ่วผิดปกติ

ว่า “ผู้อนุมัติจัดซื้อไม่มีความผิด”

เป็นผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ พล.ต.อ.อดุลย์ และ ม.ล.ปนัดดา ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงตามสายการบังคับบัญชา หลุดข้อหาไปได้อย่าง scot free ทีเดียว