(ภาพจากหนังสือพิมพ์เสรีชัย) |
คราวนี้ขอเอาเรื่องการบ้านมาเล่าบ้างสักครั้ง ไม่ทราบมี ‘เพื่อนไทย’
ที่นี่กี่ท่านอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ว่าถึงจะไม่มากก็ไม่เป็นไร
หากใส่ใจเกี่ยวกับพุทธศาสนจักรฝ่ายเถรวาท ก็รับฟัง และแสดงข้อคิดเห็นกันได้
หลายท่านคงทราบดีว่ามีวัดพุทธแบบไทยกระจัดกระจายอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก
เฉพาะในพื้นที่มณฑลลอส แองเจลีสแห่งเดียวก็มีอยู่ราว ๔๐ วัดเข้าไปแล้ว
จนถึงกับมีสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาเป็นปึกแผ่น และจะมีการประชุมสมัชชาฯ
ครั้งที่ ๓๙ ขึ้นที่วัดไทยนครลอส แองเจลีส ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๔ มิถุนายน ศกนี้
ที่ผู้เขียนได้ข่าวว่าจะมีการจัดกิจกรรมเสริมกันเป็นงานใหญ่ให้ครึกโครม
ผิดกับการประชุมเช่นนี้ที่เคยมีมา
ซ้ำแอบไปทราบเป็นเลาๆ
ว่ากลุ่มผู้ปาวารณาตัวเข้าร่วมลงแรงช่วยส่งเสริมงานนี้
มีเจตนาจะกอบกู้-ชูเชิดชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของวัดไทยลอส
แองเจลีสให้กลับมารุ่งโรจน์ดั่งเคยพุ่งกระฉูดเมื่อช่วงยี่สิบปีก่อนหน้านี้
วัดไทยลอส แองเจลีส
จัดเป็นวัดที่ก่อร่างสร้างตัวด้วยลำแข้งตนเองจนมั่นคง และกลายเป็นวัด ‘พี่ใหญ่’ ของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา นอกเหนือจากที่เป็นศาสนสถานโดดเด่น
ศูนย์รวมสำหรับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทใน The Greater Los Angeles แล้ว ยังมีบทบาทเข้มแข็งในการเผยแพร่ภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย ทั้งในทางเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาและมรดกทางเชื้อชาติทั่วไป
ทั้งต่อคนไทย คนเอเซียนจากอุษาคเนย์ พร้อมกับคนอเมริกันโดยรวม ด้วยการดำเนินการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์และโรงเรียนวัดไทยภาคฤดูร้อนอย่างได้ผลดียิ่ง
ผลิตเด็กไทยอเมริกันที่ช่ำชองศิลปวัฒนธรรมไทยมาแล้วหลายรุ่น
กิจกรรมอย่างหนึ่งที่กล่าวได้ว่าทำให้วัดไทยลอส
แองเจลีสเติบโตเป็นเด่นก็คือ การเปิดตลาดนัดให้มีการออกร้านค้าขายสินค้าและอาหารในวันเสาร์-อาทิตย์
เป็นที่นิยมของผู้คนหลากหลาย ก่อให้เกิดรายได้ส่วนสำคัญแก่วัด
นอกเหนือจากทางการบริจาค (ทำบุญ) จากพุทธศาสนิกชน
เมื่อมีคนจำนวนมากถือเป็นกิจวัตรไปเที่ยววัดไทยแอล.เอ.
ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่น้อร์ธฮอลลีหวูดต่อกับซัน แวลลี่ย์ ทางตอนเหนือของมณฑลลอส
แองเจลีส กันทุกสุดสัปดาห์
อันการติดตลาดนัดหย่อมประจำเสาร์-อาทิตย์เช่นนี้เป็นความนิยมของคนอเมริกันอยู่แล้ว
ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (ทั้งเหนือและใต้) ชุมชนต่างๆ มักมีตลาดนัดของตนเอง
(ส่วนมากเรียกว่า Farmers’ Market) กันทุกสุดสัปดาห์
หากแต่ร้านค้าที่ไปตั้งเต๊นท์เช่าบู๊ธ
โดยเฉพาะผู้จัดย่อมต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบในการปกปักรักษาเรื่องสาธารณสุข
การจราจร และความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับขยะมูลฝอย
เมื่อราว ๘ ปีที่แล้ว
ตลาดนัดวัดไทยแอล.เอ.วันเสาร์-อาทิตย์ต้องปิดตัวลง หลังจากถูกผู้อยู่อาศัยรายรอบวัดร้องเรียนต่อทางการท้องที่
ว่าก่อให้เกิดขยะมูลฝอยเกลื่อนอยู่ตามสนามหญ้าหน้าบ้านของผู้อยู่อาศัยแถบนั้น
บ่อยครั้งผู้คนที่ไปเที่ยวตลาดนัดจะนำอาหารออกไปนั่งรับประทานกันบนสนามหน้าบ้านแล้วปล่อยขยะทิ้งไว้
บางครั้งบางคนถือวิสาสะเหมือนงานวัดในประเทศไทย เอาง่ายเข้าว่าปลดเปลื้องปัสสาวะใส่พุ่มไม้หน้าบ้านเขา
ได้มีการจัดประชุมทำความเข้าใจ (Hearings) กับเจ้าหน้าที่ทางการบริหารท้องถิ่น ผู้อยู่อาศัยในท้องที่
และตัวแทนวัดไทยหลายครั้ง จนเป็นที่กระจ่างว่าการจัดตลาดนัดวัดไทยจักต้องควบคุมมิให้เกิดการละเมิดรบกวนดังกล่าวขึ้นได้เป็นอันขาด
นอกเหนือจากนั้นยังต้องเข้มงวดกวดขันด้านการขยายเสียง ไม่ดังเกินไป ให้อยู่แต่ขอบข่ายภายในบริเวณ
และตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด ประการสำคัญปัญหาที่จอดรถ ซึ่งทางวัดจัดการแก้ไขทุกครั้งที่มีกิจกรรมในลักษณะเฟสติวัล
ด้วยการไปเช่าที่อาคารจอดรถขนาดใหญ่ของโรงพยาบาลใกล้เคียง ห่างเพียงไม่กี่ไมล์
แล้วให้มีรถตู้ ‘ชัตเติ้ล’ รับส่งคนระหว่างวัดกับสถานที่จอดรถ
หลังจากหยุดยั้งการจัดตลาดนัดเสาร์-อาทิตย์ไปพักใหญ่
ก็มีความคิดที่จะรื้อฟื้นตลาดนัดกันขึ้นมาอีก
เพื่อที่พุทธศาสนิกชนและคนทั่วไปนิยมไปวัดในวันสุดสัปดาห์กันเหมือนดั่งเคย
และทางวัดก็จะมีรายได้เสริมเข้ามาช่วยสนับสนับสนุนการดำเนินงานอย่างมั่นคงเช่นก่อน
หลังจากที่ผ่านมาหลายปีคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าทางการนครมีคำสั่งห้ามวัดไทยติดตลาดนัดอย่างถาวร
ทำให้ตลอดมาคณะกรรมการอำนวยการของวัดมักปฏิเสธอย่างแข็งขันต่อเสียงเรียกร้องนั้น
จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้วคณะกรรมการอำนวยการได้จัดซื้ออสังหาริมทรัพย์บริเวณหัวมุมถนนร้อสโก้ตัดกับโคลด์วอเตอร์แคนเนี่ยน
ซึ่งเคยเป็นปั๊มน้ำมันติดกับบริเวณวัด เปิดให้ภูมิทัศน์ของวัดดูกว้างขวางเป็นเด่น และมีเนื้อที่สำหรับจอดรถมากพอสำหรับการมีกิจกรรมสำคัญ
(Events)
ตามระเบียบของทางการ
หากแต่การซื้อทรัพย์สินชิ้นนี้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของวัดเพิ่มเข้าไป
จากหนี้ค้างจ่ายอีกประมาณ ๑ ล้านดอลลาร์ ที่ทางวัดเขียนเป็นเอกสารสัญญาชำระหนี้ (Promissory
Note) ให้ไว้กับเจ้าของที่ โดยมีค่าดอกเบี้ยผูกพันต้องจ่ายเพิ่มให้แก่เจ้าของที่เป็นรายเดือนละ
๕ พันเหรียญสหรัฐ
การนี้ทำให้พระราชธรรมวิเทศ (‘หลวงพ่อใหญ่’ ปัจจุบันสมณศักดิ์ พระเทพมงคลวิเทศ) ดำเนินการติดต่อกับวัดพระเชตุพน
(วัดโพธิ์) เพื่อขอความช่วยเหลือหมายใจจะนำปัจจัยมาจ่ายคืนหนี้ให้หมด
ไม่ต้องจ่ายเพิ่มดอกเบี้ยรายเดือนอีกต่อไป “โดยเห็นว่าการที่ได้เข้าไปเป็นสาขาวัดพระเชตุพนจะมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน
ในขณะที่วัดไทยกำลังมีหนี้สิน”
(นายชวพจน์ ถุงสุวรรณ เลขานุการคณะกรรมการอำนวยการ
เขียนเล่าไว้ในหนังสือพิมพ์เสรีชัยฉบับวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๘ http://www.sereechai.com/index.php/2013-05-10-02-33-15/3290-2015-04-10-09-46-39)
หลวงพ่อใหญ่ เจ้าอาวาสวัดไทยแอล.เอ.
ได้ทำการติดต่ออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจนกระทั่งวัดโพธิ์ตอบตกลงเมื่อวันที่ ๖
กรกฎาคม ๒๕๕๗
คณะกรรมการอำนวยการจึงได้กำหนดพิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมประจำปีของคณะกรรมการอำนวยการซึ่งมีขึ้นที่อาคารหลวงเตี่ย
วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ โดยมีกรรมการอำนวยการ หรือบอร์ด ๘ คน (จากทั้งหมด ๑๐ คน)
เข้าร่วมประชุม
ผลการประชุมปรากฏว่ากรรมการบอร์ดส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการให้วัดไทยแอล.เอ.เข้าไปเป็นสาขาของวัดโพธิ์
กรรมการท่านหนึ่งอภิปรายว่า “คำว่า ‘สาขา’ เป็นคำแรง หากเราเป็นสาขาเราต้องทำทุกอย่างตามที่สำนักงานใหญ่บอกมา วัดไทยเราสร้างมากว่า
๔๐ ปี
มีเอกลักษณ์ของตัวเอง
น่าที่จะเปลี่ยนคำพูดให้เหมาะสมดีกว่า เช่นเปลี่ยนจากคำว่า ‘สาขา’ เป็น ‘วัดพี่วัดน้อง’ หรือ ‘อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดพระเชตุพน’เป็นต้น”
“ที่ประชุมได้ลงมติ ๗ ต่อ ๐ ให้ ‘ชลอ’ เรื่องนี้จนกว่าจะได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพิจารณาในโอกาสต่อไป”
นายชวพจน์เขียนเล่า
หากแต่ข่าวที่ถูกส่งไปยังหนังสือพิมพ์ไทยในท้องที่อ้างนายไพสันต์
พรหมน้อย อดีตบรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ เอเชี่ยนแปซิฟิค
ซึ่งเพิ่งย้ายกลับไปอยู่ประเทศไทย กลายเป็นความว่า “วัดไทยแอลเอ ‘ร้าวหนัก’ ถึงขั้น ‘ยกวัด’ ให้คนนอก” (หนังสือพิมพ์สยามทาวน์ยูเอส
http://www.siamtownus.com/New-1503000032-1.aspx ) บ้าง “สาธุชนแอลเอช็อค!-หลวงพ่อใหญ่ยกวัดไทยให้วัดโพธิ์” (หนังสือพิมพ์สยามมีเดีย http://siammedia.org/news/losangeles/20150313_01.php ) บ้าง
หนังสือพิมพ์สยามมีเดียนั้นอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายเกริกชัย
ซอโสตถิกุล รองประธานกรรมการอำนวยการฝ่ายประเทศไทย ว่า “พี่ชายผมบริจาคที่ดินแห่งนี้ (เพื่อสร้างวัดไทย)
ให้เป็นสาธารณกุศลให้ประชาชนไทยในสหรัฐฯเป็นเจ้าของ ไม่ได้มอบให้ผู้หนึ่งผู้ใด หลวงพ่อเจ้าอาวาสเข้าใจผิดคิดว่านำวัดไทยไปยกให้วัดโพธิ์โดยพลการ หลวงพ่อเจ้าอาวาสต้องไปแก้ไขเอาเอง เพราะไม่มีผลตามกฏหมายแต่อย่างใด”
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังได้เพิ่มเติมเนื้อข่าวด้วยว่า “ฝั่งผู้นำชุมชนไทยหลายองค์กรในแอลเอและคณะกรรมการอำนวยการวัดไทยแอลเอ เตรียมทำหนังสือลงชื่อคัดค้านหลวงพ่อใหญ่
พระเทพมงคลวิเทศ...เนื่องจากหลวงพ่อใหญ่ในฐานะเจ้าอาวาสไม่ได้เป็นเจ้าของวัดแต่เพียงผู้เดียว วัดเป็นของชุมชนไทยที่ต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการอำนวยการ"
ส่วนหนังสือพิมพ์สยามทาวน์ก็ได้ทำการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่ขอสงวนนามสองท่าน
ซึ่ง “แสดงความเห็น... คล้ายกันว่า การยกวัดไทย แอลเอ ให้อยู่ในความดูแลของวัดพระเชตุพนฯ ดังกล่าว
มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจของ ‘หลวงพ่อใหญ่’ เจ้าอาวาส ต่อคณะกรรมการบริหารวัดฯ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่หลายครั้ง”
แหล่งข่าวหนึ่งในสองที่ดูเหมือนจะเป็นชายกล่าวว่า
“แล้วก็เรื่องที่ท่านจะเปิดตลาดอาหารใหม่ บอร์ดเขาก็บอกว่ามันไม่ง่ายแบบนั้น ท่านตั้งทีม มอบหน้าหน้าที่เสร็จหมดแล้ว จะเปิดให้ได้ บอกว่าถ้ามีปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไป อะไรแบบนั้น
พอทำไม่ได้อย่างใจ ท่านก็เลยบอกให้วัดโพธิ์ส่งบอร์ดชุดใหม่มาบริหารวัดไทยซะเลย... คงคิดว่าทำได้ง่ายๆ”
แหล่งข่าวสงวนนามของสยามทาวน์อีกท่าน
เชื่อว่าเพศหญิง เพราะให้ความเห็นว่า “ยอมรับนะคะว่าทุกวันนี้ วัดไทยไม่คึกคักเหมือนตะก่อนแล้ว
จัดงานอะไรคนก็น้อย คนที่เคยมาวัดไทยบางคนเขาไปโน้น...วัดป่าฯ
วัดสุทธาวาส ถ้ามีงานพร้อมกันนี้ เสร็จวัดป่าหมด ขับรถไกลเขาก็ยอม แล้วนี่วัดไทยฯ
กำลังจะมีงานใหญ่ (เป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา)
ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไง” เธอไม่ทับถม แต่อย่างนี้น่าจะไม่ใช่ชม
ปูพื้นมายาว แท้จริงแล้วต้องการบอกว่า การเคลื่อนไหวคัดค้าน
‘หลวงพ่อใหญ่’ ดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายต้องการรณรงค์ ‘ปลด’ เจ้าอาวาสออกจากประธานบอร์ด และ/หรือ ผลพลอยได้ทำให้ท่าน
‘หลุด’ จากตำแหน่งเจ้าอาวาสไปด้วย
ความเช่นนี้ได้แพร่ขยายออกไปโดยไวในหมู่คนไทยที่ใกล้ชิดและผูกพันกับ
‘วัด’ เกิดสงคราม ‘ใบปลิว’
โจมตีกันระลอกใหญ่ ส่วนหนึ่งรุดหน้ากว่าที่หนังสือพิมพ์แนะ
ถึงขั้นเรียกร้องให้บอร์ดปลดเจ้าอาวาส แต่ส่วนใหญ่ออกมาปกป้องพระ
กลับเห็นว่าฆราวาสในกรรมการบอร์ด ‘ก้าวล้ำ’ เจ้าอาวาสมากไป
อีกทั้งมีนัยยะมากไปกว่านั้นว่า ไฉน
กรรมการอำนวยการที่อยู่ในประเทศไทย
อันเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นญาติและเคยร่วมมือใกล้ชิดกับนายพูนศักดิ์ ซอโสตถิกุล ผู้ซึ่งยกที่ดินให้ก่อตั้งวัดไทยฯ
เมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้ว จึงต้องเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดในทางปฏิบัติ ตัดสินกิจกรรม
นิติการ และทิศทางของวัดอยู่ร่ำไป ทั้งที่ในเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาวัดไทยดำเนินงานอย่างชนิดที่เรียกได้ว่า
ยืนอยู่บนลำแข้งตนเอง หรือมี sustainability โดยตลอด
จะมีบางครั้งที่เกิดความคิดบรรเจิด ต้องการให้วัดไทยฯ อยู่ภายใต้อุปถัมป์ของทางประเทศไทยให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วัด
แต่ความคิดนั้นต้องยกเลิกไปเนื่องจากมีการเรียกร้องตอบแทนกลับจากวัดสูงมากเสียจนไม่อาจสู้ราคาได้
แต่การดำเนินงานโดยพลการของหลวงพ่อใหญ่คราวนี้กลับตรงข้าม การขอรับฉายา ‘สาขา’
หมายถึงว่าทางวัดจะได้รับ ‘ปัจจัย’ ช่วยเหลือตามมาด้วย แต่ว่าการขอรับความอุปถัมป์ครั้งก่อน
วัดจะต้องจ่ายปัจจัยไปแลก
ดังนี้ ที่มีการเปิดประเด็นเรื่องการเป็นสาขาวัดโพธิ์ ไว้ในหนังสือพิมพ์ว่า
“อย่างนี้ย่ำยี่หัวใจคนไทยในแอล.เอ.มากเกินไป” กลายเป็นย่ำยีเพราะมี conspiracy มุ่งหมายโค่นหัวหน้าสงฆ์ที่พวกเขารักต่างหาก
จึงได้เกิดการประชุมแบบเปิดกว้าง ‘Town hall
meeting’ ขึ้นหลายครั้ง
ศาสนิกชนไทยจำนวนมากแห่กันไปแสดงความคิดเห็นกันขนานใหญ่
กลับกลายเป็นการวิพากษ์บอร์ดเสียมากกว่าตำหนิสงฆ์ จนกระทั่งมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อสนับสนุนให้นายบุญเลิศ
บุญศุขะ ได้รับการแต่งตั้งกลับเข้าไปเป็นกรรมการบอร์ดที่ขาดอยู่
จากการลาออกของนายสุรพล เมฆพงษ์สาทร เมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้
การเลือกให้นายบุญเลิศผู้ซึ่งอยู่อาศัยในแอล.เอ. อย่างถาวร
ทั้งยังเป็นที่ยอมรับนับถือว่า เคยอาสาสมัครปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือวัดประดุจดังมรรคนายกเป็นเวลานับสิบๆ
ปี ตั้งแต่ยังไม่มีการสร้างพระอุโบสถ เข้าไปเป็นบอร์ดครั้งนี้ด้วยความมุ่งหมายให้เกิดสมดุลทัดทาน
‘พวกเมืองไทย’ ในคณะกรรมการบอร์ด ๑๐ คน ที่มักจะลงคะแนนเสียงเป็นบล็อคไปในทางเดียวกันแทบทุกครั้งไป
อันประกอบด้วย นายเกริกชัย ซอโสตถิกุล นายสุรพล เมฆพงษ์สาทร (ที่การลาออกเป็นผลที่สุดแล้ว)
นายเกียรติ ประชาศรัยสรเดช นายพัลลภ บัวสุวรรณ และนายสง่า งาดี
(หมายเหตุ
เนื่องจากระเบียบกำกับการดำเนินงานองค์กรไม่ค้ากำไร (By Law) ของวัดไทยกำหนดให้อำนาจ
คณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการคนใหม่แทนที่กรรมการที่พ้นสภาพ
ซึ่งพ้นได้ด้วยการลาออกสถานเดียว แม้ผ่านอายุขัยก็ไม่พ้น ขณะนี้จึงมีการรณรงค์ให้สนับสนุนนายบุญเลิศได้รับการแต่งตั้ง
โดยส่งอีเมล ให้ชื่อ ที่อยู่ แสดงความจำนงไปยัง changewatthai@hotmail.com ด้วย)
พร้อมทั้งมีการผนึกกำลังกันที่จะจัดให้มีกิจกรรมเสริม
เพื่อชักชวนสาธุชนเข้าไปมีส่วนร่วมอนุโมทนาและเฉลิมฉลอง
ในระหว่างการประชุมสมัชชาสงฆ์ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน
ให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจของเหล่าชนที่ผูกพันต่อวัดเป็นจำนวนมาก
อย่างพร้อมเพรียงอีกครั้ง “ให้คึกคักเหมือนตะก่อน” ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
ไม่ต้องแยกวัดนั้นวัดนี้ ไม่ต้องมีพวกฉันพวกเธอ
(ภาพจากหนังสือพิมพ์สยามทาวน์ยูเอส) |
พัฒนาการล่าสุดเท่าที่สัมผัสได้ในอาทิตย์นี้
เห็นมีข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางฉบับแล้วว่า คณะกรรมการบริหารของวัดลงมติเปิดตลาดนัดอาหารอีกครั้ง
หลังจากที่หยุดไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๐
“และได้รับไฟเขียวจากทางซิตี้เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะเปิดบริการอาหารไทยในราคาและคุณภาพมาตรฐาน โดยจะเริ่มเปิดตั้งแต่วันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๙-๑๐ พฤษภาคม ศกนี้ เป็นต้นไป”
อนุโมทนา สาธุ