วันพฤหัสบดี, เมษายน 09, 2558

อิทธิฤทธิ์ 'แดงนอก' ของจริงหรือมายา คสช.



ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 07 เมษายน 2558

คำว่า “ไอโอ” ย่อมาจาก Information Operations หรือ “ปฏิบัติการข่าวสาร” ซึ่งมีการนำมาใช้ในการเขียนข่าวของนักข่าวสายความมั่นคงมากขึ้นในระยะหลัง เนื่องจาก “กองทัพ” ยังเป็น “ยาสามัญ” ประจำสังคมไทย

วันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า

“วันนี้หลายๆ คนไปโผล่อยู่ต่างประเทศ อะไรที่หนีกฎหมาย ไปทั้งหมด ไปนั่งเข้าแถวกัน กินอาหารกันสนุกสนาน ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและในต่างประเทศ การที่พวกท่านไปพูดจาให้ต่างประเทศเข้าใจเราผิดๆ ทำให้ประเทศเสียหาย ท่านไม่สงสารประเทศบ้างหรือ”

อันเป็นที่มาของข่าวพาดหัวตัวไม้ของหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ ทำนองว่า นายกฯ ส่งสัญญาณถึง “กลุ่มป่วนนอกประเทศ” โดยเฉพาะการใช้ล็อบบี้ยิสต์ให้ข่าวสารเชิงลบ นี่คือสิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่ามีการเคลื่อนไหวจริง ไม่ได้อุปาทานไปแน่นอน และผู้เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง ยังคงติดตามกลุ่มเหล่านี้อยู่

ข้อมูลข่าวสารข้างต้น จึงมีผู้สังเกตว่า มันเป็นเรื่องจริงหรืองานไอโอของฝ่ายความมั่นคง เพราะการต่อสู้กันในเชิงข้อมูลข่าวสาร ย่อมมี 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งเพื่อปลุกขวัญกำลังใจ ตีแผ่ความสำเร็จของฝ่ายตน อีกด้านหนึ่งได้ตอกย้ำความเลวร้ายหรือความไม่ถูกต้องของฝ่ายตรงข้าม

หากตรวจสอบข่าวสารการเคลื่อนไหวผ่านสื่อออนไลน์ ก็สามารถจำแนก “กลุ่มต้านรัฐประหาร” ในต่างประเทศได้เป็น 4 กลุ่ม

1.กลุ่มอดีต ส.ส.เพื่อไทย

เป็นที่ทราบกันแน่ชัด จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศ และได้จัดตั้ง “องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” (Free Thai Organisation for Human Rights and Democracy) ยังมุ่งมั่นในเข็มมุ่งยุทธศาสตร์ 3 ขั้นคือ ขั้นรับ ขั้นยัน และขั้นรุก
“จารุพงศ์” บอกตอนนี้ทำได้เพียงการตั้งรับเท่านั้นคือ “ซุ่มซ่อน และรอคอยโอกาส” โดยองค์กรเสรีไทย จะทำงานร่วมกับ “เครือข่ายต้านเผด็จการทหาร” ในลักษณะเสรีชน “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”
แกนหลักขององค์เสรีไทย นอกจากจารุพงศ์ ก็ยังมี จักรภพ เพ็ญแข, สุนัย จุลพงศธร และจรัล ดิษฐาอภิชัย

2.กลุ่มแนวร่วมเสื้อแดง

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 ตัวแทนแดงเดนมาร์ก,แดงนอร์เวย์,แดงเยอรมนี,แดงสวีเดน,แดงอียู,แดงฝรั่งเศส และขบวนการแนวร่วมเสรีไทยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นสช.) ได้จัดการประชุมที่ประเทศเดนมาร์ก แลกเปลี่ยนบทเรียน และได้ร่วมกันประกาศจัดตั้งองค์กรใหม่ “สมัชชาประชาชนไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” (สสป.)

3.กลุ่มฮาร์ดคอร์

ในบรรดา “แดงนอก” ที่มีแนวทางการเคลื่อนไหวลักษณะ “ใต้ดิน” ก็จะเป็นกลุ่มแดงฮาร์ดคอร์ ที่หลบหนีคดีหรือคำสั่งเรียกของ คสช. ไปอยู่ใน “ประเทศเพื่อนบ้าน”

ที่เปิดหน้าชกผ่านยูทู้ป คือ สุรชัย แซ่ด่าน ประธานกลุ่มแดงสยาม ยังฝันถึงการปฏิวัติประเทศไทย ด้วยการเสนอยุทธศาสตร์ของแดงสยาม ประกอบด้วย 1.มีองค์กรนำการปฏิวัติ 2.มีผู้นำการปฏิวัติ 3.มีข้อสรุปจากการต่อสู้ที่ผ่านมา 4.มีมวลชนตาสว่างทั่วประเทศอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และ 5.มีกระแสโลกสนับสนุน

4.กลุ่มประชาธิปไตย

มีคนไทยเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศมานานแล้ว และหนึ่งในนั้นคือ จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน ที่มีเครือข่ายอยู่ในยุโรป โดยจรรยาเป็นแกนหลักในการต่อต้านกฎอัยการศึก และเรียกร้องให้นานาชาติสนใจปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ คสช.

ที่น่าสนใจ กลุ่มต้านเผด็จการทหารได้เปิดเวบไซต์ Thaivoicemedia.com โดยมี จอม เพชรประดับ เข้ามาดูแล “กระบอกเสียง” ให้กับฝ่ายประชาธิปไตยในต่างแดน และสื่อออนไลน์ของจอม ได้ทำให้การเคลื่อนไหวขององค์การเสรีไทยฯ และแนวร่วม มีความคึกคักขึ้นมาทันที

กลุ่มเหล่านี้แหละที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้เป้าว่า คนพวกนี้ได้ไปพูดจาให้ต่างประเทศเข้าใจรัฐบาลไทยผิดๆ ทำให้ประเทศเสียหาย

ฝ่ายความมั่นคงยังได้วาดภาพ “โลกล้อมไทย” ให้ดูน่าเกรงขาม เหมือนกับว่า “แดงนอก” กำลังสร้างเครือข่ายทำลายชาติบ้านเมือง

ขณะที่ จักรภพ เพ็ญแข ที่เข้าใจสถานการณ์เสื้อแดงในประเทศ เคยให้สัมภาษณ์สื่อนอกว่า “เวลานี้ ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ระหว่างผู้ที่มุ่งมั่นเดินหน้าต่อสู้ต่อไป และกลุ่มที่ทดท้อเสียกำลังใจ”
อย่างไรก็ตาม องค์กรเสรีไทยฯ ซึ่งจารุพงศ์ และจักรภพ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อมิถุนายน 2557 ก็ไม่ใช่องค์กรนำของ “แดงนอก” เพราะแกนนำแดงอิสระ ที่กระจายอยู่ในกัมพูชา, ลาว, สวีเดน, ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นพวกที่มีความคิด “วีรชนเอกชน” ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในแนวคิดตัวเอง

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการอิสระ ได้เขียนเฟซบุ๊ค โต้ตอบกลุ่ม คสช. ที่มองว่า กลุ่มคนในต่างประเทศ ได้เคลื่อนไหวล็อบบี้ต่างชาติให้มองรัฐบาลทหารในเชิงลบ

“ผมไม่เกี่ยวอะไรเลยกับ ”เสรีไทย“ แต่ถ้าโดยความเห็นส่วนตัวนะ ผมก็ว่า เขาทำ ”ล็อบบี้“ น้อยไปด้วยซ้ำ คือเรียกได้ว่าไม่มีเลยก็ได้ โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งที่ใหญ่มากๆ ที่ไปอยู่กันหลายคนน่ะ ความจริง ถ้าเขาจะทำ ทั้งล็อบบี้และยิ่งกว่าล็อบบี้ (เช่นเคลื่อนไหวรณรงค์อะไรต่างๆ เป็นต้นในต่างประเทศ) ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วยซ้ำนะ แต่เท่าที่ผมรู้มา ก็ไม่ได้มีการทำอะไร”

“สมศักดิ์” สรุปว่า ภาพลักษณ์ฉาวโฉ่ในต่างประเทศของ คสช เป็นผลอันเกิดมาจากการปกครองประเทศของ คสช. มิได้เกิดจากการล็อบบี้จากฝ่ายองค์กรเสรีไทย

ข้อมูลจาก “สมศักดิ์” น่าสนใจมาก เนื่องจากมีรายงานข่าวว่า สัปดาห์ที่แล้ว ที่ฝรั่งเศสได้มีเวทีศึกษาสถานการณ์ของกลุ่มคนไทยที่หนีภัย คสช.ไปอยู่ต่างประเทศ และในนั้นก็มี “จารุพงศ์-จักรภพ-สุนัย-จรัล” รวมถึง “สมศักดิ์” ด้วย

ดังนั้น อิทธิ์ฤทธิ์ของแดงนอกจะเป็นแค่ไอโอของทหาร หรือการเฝ้าดูสถานการณ์แบบที่สมศักดิ์แจง ก็ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของแดงเฉดสีต่างๆ ทั้งในและนอกกันต่อไป

.........................................

ทำไม “แดงนอก” ซบเซา? มุมมองของ “จรัล ดิษฐาอภิชัย”

ปลายปีที่แล้ว จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ประสานงานองค์การเสรีไทยประจำภาคพื้นยุโรป ได้ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย พอจับใจความได้ว่า “แดงนอก” อยู่ในภาวะซบเซา ด้วยเหตุผล ดังนี้

1.สถานะการอยู่ในต่างประเทศของคนไทยบางส่วนที่จำนวนไม่น้อย ไม่มีสิทธิพักอาศัยตามกฎหมาย การออกมาเคลื่อนไหวจึงมีข้อจำกัด

2.พวกเขายังหวาดกลัวไม่กล้าแสดงออกอย่างเปิดเผย เกรงครอบครัวทางบ้านจะได้รับผลกระทบ หรือจะได้รับคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัว และหากไม่ไปก็จะถูกออกหมายจับจนในที่สุดก็เดินทางกลับไทยไม่ได้

3.ความเคลื่อนไหวของคนไทยในต่างประเทศไม่ค่อยได้รับความสนใจ หรือการมีส่วนร่วม หรือกลุ่มสนับสนุนจากคนในประเทศนั้นๆ ซึ่งจุดนี้ทำให้การเคลื่อนไหวไม่ค่อยมีน้ำหนัก

“การชุมนุมประท้วงในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เสรีไทยเองก็ไม่สามารถฟื้นพลังเสื้อแดงได้” 

จรัลยอมรับว่า คนเสื้อแดงเองยังแบ่งเป็นกลุ่มเป็นฝ่าย ไม่สามารถผนึกกำลังกันเองได้ การเคลื่อนไหวขององค์การเสรีไทยฯเอง ก็มีข้อจำกัดอยู่ที่เพียงการออกแถลงการณ์ 

บทสัมภาษณ์ของจรัลชิ้นนี้ ปรากฏว่าคนเสื้อแดงในประเทศไทย ไม่ได้นำมาเผยแพร่ต่อ เนื่องจาก “ข้อเท็จจริง” เป็นยาขมหม้อใหญ่ของคนเสื้อแดง

ถัดมาในเดือนธันวาคม 2557 จรัล ดิษฐาอภิชัย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย เกี่ยวกับการที่รัฐบาลไทยจะโน้มน้าวให้ต่างชาติโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดในคดีอาญา

“จรัล” มองว่า เรื่องนี้อาจทำได้ลำบาก เพราะยุโรปและสหรัฐมองเรื่องนี้ว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น แม้จะผิดกฎหมายไทยก็ตาม 

อย่างไรก็ดี จรัลยอมรับว่า สำหรับผู้ที่เห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลทหารและอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเช่น ลาวและกัมพูชา นั้น อาจอยู่ในฐานะที่น่าเป็นห่วง เพราะทางการไทยเคยขอตัวบุคคลเหล่านี้ไปแล้ว และเป็นไปได้ที่อาจได้รับความร่วมมือ โดยเฉพาะลาวที่เป็นประเทศที่ยังต้องพึ่งพาไทย

กล่าวสำหรับ จรัลได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองในฝรั่งเศสแล้ว และได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นสากล แม้จะเดินทางไปในประเทศอื่น ก็จะได้รับการคุ้มครองเช่นกัน