.jpg)
เนชั่นสุดสัปดาห์ NationWeekend
17 hours ago
·
แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเอกฉันท์ รับไว้วินิจฉัยสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ “แพทองธาร ชินวัตร” พร้อมกับมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ กรณี “คลิปเสียงฉาว” กับ “ฮุน เซน” เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม แต่การขับเคลื่อนงานของรัฐบาลก็ดูจะไม่สะดุดลงไปด้วย เมื่อวางหมากแก้เกมไว้เสร็จสรรพ
ตั้ง “แพทองธาร” ควบเก้าอี้ รมว.วัฒนธรรม ยังเข้าไปนั่งประชุม ครม.ได้ แถม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ขึ้นรักษาการนายกฯ ก็ยังมี “สถานะเต็ม” บริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติ จนกว่า “ครม.ใหม่” จะเข้า “ถวายสัตย์ฯ”
ทำเอาบรรดา “ม็อบรวมพลังแผ่นดิน” เซ็งไปตาม ๆ กัน แต่ก็ยังนัดรวมพลใหญ่ในเดือน ส.ค.นี้ หวังแตกหักโค่นรัฐบาลสีแดงลงให้ได้ พร้อมกับชี้ช่องให้ “สว.” ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลชุดนี้ เดินเกมยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้อีกรอบ เพื่อหวังสอย “แพทองธาร” พ้นเก้าอี้ รมว.วัฒนธรรม ไม่ให้มีตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาลชุดนี้
แต่มองจากนอกเวทีแล้ว การยื่นเรื่องดังกล่าวคงไม่ง่ายเหมือนสอยนายกฯ เพราะตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยแตกต่างกับสถานะนายกฯ
ประเด็นที่น่าสนใจ พรรคร่วมฝ่ายค้าน No.1 อย่าง “พรรคประชาชน” ที่ดูเหมือนจะชิงเหลี่ยมชูธง “ยุบสภาฯ” เพียงอย่างเดียว ไม่สนจับมือกับพรรคการเมืองอื่นเป็นพันธมิตรมากนัก แม้ว่า “ก๊กน้ำเงิน” จะทอดไมตรี ขอให้ร่วมลงชื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่ด้วยสถานะ “นายกฯตัวจริง” ไม่มีอยู่แล้ว ทำให้โปรเจ็กต์นี้ต้องพับลงไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
แม้ตามคำให้สัมภาษณ์ของ “วิษณุ เครืองาม” มือกฎหมายเจ้าของฉายา “เนติบริกรครุฑ” จะเคยเอ่ยปากยืนยันว่า “รักษาการนายกฯ” มีอำนาจในการ “ยุบสภาฯ” ได้ก็ตาม แต่พลพรรคสีแดงคงไม่เดินตามทางนี้ง่าย ๆ แม้สุดท้ายหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ “แพทองธาร” ขึ้นจริง ก็คงหาทางเชิด “แคนดิเดตนายกฯ” คนอื่นขึ้นมาบริหารแทน เพื่อเก็บแต้มทางการเมือง ปูทางสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า
“ก๊กส้ม” อ่านเกมนี้ออก จึงพยายามปลุกกระแสสังคมผ่านทุกแพลตฟอร์มทั้ง โซเชียลมีเดีย-ในสภาฯ-นอกสภาฯ เรียกร้องให้รัฐบาลรีบยุบสภาฯโดยด่วน อ้างเพื่อรับผิดชอบกับกรณี “คลิปเสียงฉาว” ข้างต้น เนื่องจากสบช่องเล็งเห็นแล้วว่า กระแสพรรคตอนนี้กำลังสูง อย่างน้อยที่สุดสะท้อนได้จาก “นิด้าโพล” ที่ชี้ให้เห็นว่า ความนิยมของ “เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) จากเดิมต่ำเตี้ย กระโดดเข้าวินสู่อันดับ 1 สวนทางกับ “แพทองธาร” ที่ตกไปอยู่อันดับ 4 แพ้แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอนุทิน ชาญวีรกูล
ล่าสุด “เท้ง ณัฐพงษ์” หัวหน้า ปชน.แถลงย้ำจุดยืนให้เกิดการยุบสภาฯอีกครั้งว่า ภายใต้สมการทางการเมืองในสภาแบบที่เป็นอยู่ การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะมาจากกระบวนการใดก็ตาม ทั้งการลาออกของนายกฯ เอง หรือจากนิติสงครามที่ไม่ชอบธรรม ล้วนไม่สามารถสร้างทางออกให้กับประเทศได้ เพราะประเทศไทยต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีความชอบธรรม มีประสิทธิภาพ และมีสมาธิในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน หากขาดข้อใดข้อหนึ่งไป การเมืองและเศรษฐกิจไทยก็จะมีแต่ความปั่นป่วน
“ขอยืนยันว่าการเมืองไทยยังไม่ถึงทางตัน การเดินเข้าสู่ทางตันจะเกิดขึ้นได้กรณีเดียวคือ มีการสร้างเงื่อนไขและสถานการณ์เพื่อสร้างทางตันขึ้นมา เพื่อเปิดทางให้อำนาจนอกระบบไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร หรือการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ณัฐพงษ์ กล่าว
จึงไม่แปลกที่ “ก๊กส้ม” จึงพยายามผลักดันเร่งเกม สุมไฟทางการเมืองให้เกิดการยุบสภาฯ นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะเดิมทีหลังจากพรรคก้าวไกล ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทำให้ “คีย์แมนแถว 1” อย่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-ชัยธวัช ตุลาธน” ต้องกระเด็นออกจากวงโคจรทางการเมืองไป หลายคนประเมินกันว่า “แกนนำแถว 2-3” อาจยังไม่ดีพอที่จะเรียกเรตติ้งให้กลับมาดีเหมือนเดิม
เห็นได้จากกระแสของ “เท้ง ณัฐพงษ์” ในช่วงแรก ๆ ที่ขึ้นมานำทัพ ประชาชนบางส่วนแทบไม่รู้จักหน้าค่าตา ทั้งที่เขาคือหนึ่งในสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ยุคแรก ๆ และเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้าน IT หลักของพรรค มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกระแสพรรคผ่านโซเชียลมีเดีย แถมช่วงหลังเลือกตั้งปี 2566 ในการฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ชื่อของ “เท้ง ณัฐพงษ์” คือแคนดิเดตนั่งเก้าอี้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ด้วยซ้ำ
แม้ว่า “แกนนำพรรค” จะพยายามผลักดัน “เท้ง ณัฐพงษ์” ให้ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ด้วยบุคลิก-ท่าที เป็นคนละสไตล์กับหัวหน้าพรรครุ่นก่อน ๆ อย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ค่อนข้างมีวาทกรรมเชือดเฉือน เป็นไอคอนของ “ด้อมส้ม” ขณะที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” ก็ถูกเปรียบเป็นมันสมอง “ขงเบ้งสีส้ม” ทำให้ “ณัฐพงษ์” ต้องดรอปลงไป และต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน กว่ากระแสจะฟื้นตัว
แต่ทันทีที่ “คลิปเสียงฉาว” ปรากฏขึ้น “ก๊กส้ม” อาศัยจังหวะนี้ เดินเกมปลุกยุบสภาฯ ผ่าน “ศาสดาทางความคิด” ทั้ง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ออกมาโพสต์ผ่านโซเชียลฯย้ำ ๆ หลายครั้ง อธิบายผ่านหลักการต่าง ๆ นานา เรียกร้องให้เกิดการยุบสภาฯ
ด้านกระแสทางสังคมส่วนใหญ่ก็เห็นดีเห็นงาม มาหนุนพรรค ปชน.โดยทันที เรียกเรตติ้งกลับคืนสู่ “เท้ง ณัฐพงษ์” จนพุ่งแซงแคนดิเดตนายกฯหลายคนขึ้นไป
อย่างไรก็ดี “จุดอ่อน” สำคัญของ “ก๊กส้ม” คือ ความมั่นใจในตัวเอง บวกกับความเชื่อมั่นระบบทางการเมืองแบบรัฐสภามากไป ทั้งที่กลเกมการเมืองไทย ใช้สารพัดกลยุทธ-วิธีการทั้ง “ขาว-ดำ” เพื่อขึ้นสู่อำนาจ สุดท้ายเสนอแคนดิเดตนายกฯแค่คนเดียวคือ “พิธา” และต้องพ่ายแพ้ไปตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ
ตัดภาพมาปัจจุบัน ขณะนี้ “ก๊กส้ม” พร้อมลงสู่สนามเลือกตั้ง เพราะหลาย ๆ ปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่อง “คัดตัวผู้สมัคร” ที่เห็นได้ชัดว่าในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดคือ เลือกตั้งนายก อบจ.-นายกเทศบาล-นายก อบต.นั้น แทบไม่มีวี่แวว “งูเห่า”
นอกจากนี้ สส.หลังการเลือกตั้งปี 2566 เป็นต้นมา ก็แทบจะไม่มี “งูเห่า” ปรากฏให้เห็น มีบางคนเท่านั้นที่ย้ายไปสังฆกรรมกับพรรคร่วมรัฐบาล แต่เรื่องก็เกิดขึ้นหลังจากเขาถูกขับออกจากพรรคในข้อหาอื่นไปแล้ว
แถมการทำงานในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านในปัจจุบัน “ก๊กส้ม” เอง ก็ดูไม่จะไม่ค่อยยี่หระกับ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน”ที่เหลือมากนัก นอกจาก “พรรคเป็นธรรม” ที่เป็นพันธมิตรแนบแน่นทางอุดมการณ์ แต่ที่เหลือเช่น พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ที่กลายเป็นงูเห่าแทบจะยกพรรค พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และฝ่ายค้านน้องใหม่อย่าง “พรรคภูมิใจไทย” ล้วนเป็นพรรคที่ถูกขับพ้นรัฐบาลออกมาแทบทั้งสิ้น มิได้มีจุดยืนเดียวกัน
ดังนั้นการทำงานในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ย่อมขาดเสถียรภาพ หากปล่อยให้ดึงดันไปอีก 2 ปีกว่าจะครบเทอม คงทำงานอย่างยากลำบาก สู้ไปเลือกตั้งใหม่ดีกว่า
ในเกมการเลือกตั้งใหม่ของ “พรรคส้ม” นั้น ว่ากันว่า บรรดาแกนนำเคยประเมินฉากทัศน์เอาไว้ โดยเชื่อว่าจะได้จำนวน สส.ไม่ต่ำกว่า 200 เสียง หากได้ตามเป้าหมาย จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น และมีแรงต่อรองทางการเมืองค่อนข้างสูง
ขณะเดียวกันในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ อาจมีความจำเป็นต้องเสนอให้ครบถ้วน 3 ชื่อ เพื่อป้องกันเล่ห์กลการเมืองแบบ 2 ครั้งที่ผ่านมาอีก
อย่างไรก็ดี เรื่องการจับมือกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อร่วมรัฐบาลนั้น คาดการณ์กันว่า พรรค ปชน.จะยังเปิดทางให้ “พรรคเพื่อไทย” เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ต้องไม่ให้ “สทร.” เข้ามาเกี่ยวข้อง
ส่วนพรรคอื่น ๆ เช่น พรรคประชาชาติ ก็อาจเข้ามาร่วมงานกันได้เช่นเดียวกัน แต่พรรคต้องห้ามที่ชัดเจนว่า “ก๊กส้ม” จะไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วยอย่างเด็ดขาด คือบรรดาพรรคที่สืบทอดจากคณะรัฐประหาร รวมถึงพรรคนั่งร้านให้คณะรัฐประหาร
ส่วนตัวแปรอย่าง “ก๊กน้ำเงิน” ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะ “ณัฐพงษ์” ให้สัมภาษณ์ว่า “คุยกันตลอด” กับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หลังมาร่วมชายคาพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยกล่าวว่า ต้องเรียนตามข้อเท็จจริงว่า มีการพูดคุยกันอยู่ตลอด แต่ในรายละเอียดขอยังไม่สื่อสารในตอนนี้ เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
โดยท่าทีล่าสุดของพรรคส้ม หลังประชุม สส.พรรคอย่างเข้มข้นวานนี้ (2 ก.ค.) เคาะจุดยืนว่า รักษาการนายกฯสามารถยุบสภาฯได้ หรือถ้าต้องมีการเลือกนายกฯ กันใหม่ พรรคประชาชนสามารถช่วยโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ได้ โดยไม่ต้องไปร่วมรัฐบาล แต่ต้องมีเงื่อนไขเบื้องต้นคือ รัฐบาลใหม่ต้องเป็นรัฐบาลชั่วคราวเพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่พร้อมกับจัดทำประชามติถามประชาชนเรื่อง สสร. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุด
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของ “ก๊กส้ม” ผสมเหลี่ยมเกมเขี้ยวลากดินของ “ก๊กน้ำเงิน” ปลุกกระแส “ยุบสภาฯ” เพื่อเลือกตั้งใหม่ ปูทางก้าวขึ้นสู่อำนาจในภายภาคหน้า จะสำเร็จเป็นรูปธรรมหรือไม่ ต้องรอลุ้นกัน
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1168413531982782&set=a.649316933892447