วันพุธ, เมษายน 01, 2558

ถึงกับผงะ! ผลงาน "ปราบค้ามนุษย์" ปปง.ยุครัฐบาล คสช.ตลอดปีงบประมาณ'58 ที่ผ่านมา มีแล้ว..“คดีเดียว”??




ที่มา เวปที่นี่และที่นั่นวันนี้
April 1, 2015

“ปัญหาการค้ามนุษย์”ซึ่ง “ไทย” ถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปีให้อยู่ที่โหล่ คือ “ระดับ 3 (Tier 3)”ในกลุ่มประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันช่วยเหลือเหยื่อหรือจับกุมผู้ค้ามนุษย์

ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของ “รัฐบาล คสช.” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะไม่เพียงแค่ถูกสายต่างชาติจับตา มองในเรื่อง “สิทธิมนุษย์ชน” ของคนไทยเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงเรื่อง “เศรษฐกิจปากท้อง” เนื่องจากการถูกขึ้น “บัญชีดำ” ของประเทศ รวมไปถึงการถูกตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีต่างๆ จากประเทศคู่ค้า ทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ

ซึ่งคำถามสำคัญก็คือ แท้ที่จริงแล้ว “ไทย” โดยรัฐบาล คสช.นั้น “ไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันช่วยเหลือเหยื่อหรือจับกุมผู้ค้ามนุษย์” ตามที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Tier 3 จริงหรือไม่ ?

ล่าสุดพบว่า “รายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประจำเดือนมกราคม 2558 เสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม/รองนายกรัฐมนตรี”ซึ่งเป็นการจัดทำรายงานเสนอผลงานของ ปปง.ในช่วงเดือนมกราคม 2558 และบางส่วนได้รวบรวมผลงานของ ปปง.เอาไว้ในช่วงปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของยุครัฐบาล คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาไว้ด้วย

โดยรายงานฉบับดังกล่าว ได้ระบุเอาไว้ในข้อ “1.3 ผลการตรวจสอบ วิเคราะห์ สืบสวน รวบรวมหลักฐาน ระหว่างวันที่ 1 – 31 มกราคม 2558” ถึง “รายงาน/โครงการ/กิจกรรม” ข้อที่ “2.การตรวจสอบ วิเคราะห์ สืบสวน รวมรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มาตรา 3 (2),(23)โดย “ผลการดำเนินงาน วันที่ 1-31 มกราคม 2558”คือ

กองคดีที่ 1 … –

กองคดีที่ 2 … –

กองคดีที่ 3 … 1 เรื่อง

รวมผลงานเดือนนี้ … 1 เรื่อง

รวมตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 … 1 เรื่อง

ทั้งหมดทั้งสิ้นรวมแล้วได้ 1 เรื่องพอดิบพอดี ???

สำหรับ “ปีงบประมาณ” โดยปกติจะนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีหนึ่ง ถึง วันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป และใช้ปี พ.ศ.ที่ถัดไปเป็นชื่อสำหรับปีงบประมาณนั้น โดยในส่วนของ “ปีงบประมาณ 2558” นั้นเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 จนถึง 30 กันยายน 2558




ooo


รายงานจากสหรัฐ ฯ สถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2557

ประเทศไทย บัญชีกลุ่มที่ 3 (ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา)



ข้อความส่วนหนึ่งจากรายงาน... อ่านฉบับเต็มได้ที่...


ประเทศไทย (บัญชีกลุ่มที่ 3 - ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา) เป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี เหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งได้แก่ จีน เวียดนาม รัสเซีย อุซเบกิสถาน อินเดียและฟิจิ อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างเต็มใจเพื่อหางานทำโดยมักได้รับความช่วยเหลือจากญาติ เพื่อนจากชุมชนเดียวกันหรือผ่านเครือข่ายจัดหาแรงงานอย่างไม่เป็นทางการและเครือข่ายลักลอบนำคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีแรงงานอพยพประมาณสองถึงสามล้านคนในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า เหยื่อค้ามนุษย์ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกบังคับ ขู่เข็ญหรือล่อลวงมาเพื่อการแสวงประโยชน์บังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ ซึ่งมีการประมาณการอย่างต่ำว่า จำนวนประชากรกลุ่มนี้น่าจะมีหลายหมื่นคน เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานในไทยจำนวนมากมักถูกแสวงประโยชน์ในอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการประมง อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าราคาถูก โรงงานต่างๆ และงานรับใช้ตามบ้าน และบางคนถูกบังคับให้ขอทานตามถนน

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทุจริตทั้งสองฝั่งชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอำนวยความสะดวกให้แก่การลักลอบนำแรงงานที่ไม่มีเอกสารเข้าประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ ลาว พม่าและกัมพูชา โดยแรงงานเหล่านี้ต่อมากลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ในจำนวนแรงงานที่ไม่มีเอกสารจำนวนมากที่ถูกส่งกลับประเทศลาว พม่าและกัมพูชาแต่ละปีมีเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ไม่สามารถระบุอัตลักษณ์รวมอยู่ด้วย ชายชาวพม่า กัมพูชาและไทยตกเป็นเหยื่อบังคับใช้แรงงานตามเรือประมงของไทยที่แล่นทั่วน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนอกน่านน้ำนี้ โดยคนเหล่านี้ต้องอยู่บนเรือกลางทะเลนานหลายปีโดยได้รับค่าแรงเพียงเล็กน้อย ถูกบังคับให้ทำงานวันละ 18-20 ชั่วโมงเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ หรือถูกข่มขู่และถูกทุบตี รายงานปีพ.ศ. 2553 ฉบับหนึ่งพบว่า ประมาณร้อยละ 17 ของแรงงานบนเรือประมงที่ทำการสำรวจและที่ได้ทำงานบนเรือประมงระยะใกล้โดยทำงานบนเรือน้อยกว่าหนึ่งเดือนผ่านประสบการณ์ถูกบังคับใช้แรงงาน โดยมักมีสาเหตุจากถูกข่มขู่ทางการเงิน เช่น จะไม่ได้รับเงินค่าจ้างเต็มจำนวนจากงานที่ได้ทำไปแล้ว

จากงานสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ประเมินความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานในกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่จังหวัดสมุทรสาครพบว่า ร้อยละ 57 ของคนงานจำนวน 430 คนที่ทำการสำรวจผ่านประสบการณ์ถูกบังคับใช้แรงงาน เนื่องจากการประมงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีการวางระเบียบกำกับ โดยทั่วไป แรงงานบนเรือประมงจึงไม่ได้มีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายจ้าง รายงานต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ยังมีการบังคับใช้แรงงานลักษณะนี้อยู่อย่างแพร่หลาย และการที่ประชาคมโลกจับตามองอยู่ทำให้นักค้ามนุษย์หันไปใช้วิธีการใหม่ๆ ที่ทำให้ตรวจจับอาชญากรรมเหล่านี้ได้ยากขึ้น แรงงานชายชาวไทย พม่าและกัมพูชาที่ถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมงที่ชักธงไทยทั้งในน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากลได้รับการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามและติมอร์-เลสเต ในช่วงปีที่ผ่านมา จำนวนเหยื่อชาวกัมพูชาที่ทำงานในเรือประมงไทยที่ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า แรงงานชาวกัมพูชาและพม่ารู้สึกไม่เต็มใจมากขึ้นที่จะทำงานในอุตสาหกรรมประมงของไทยเนื่องจากสภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตรายและสภาพการทำงานที่แสวงประโยชน์ผู้ใช้แรงงานทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้ง่ายขึ้น

ยังคงมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐของไทยทั้งพลเรือนและทหารได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบนำเข้าผู้แสวงที่พักพิงชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังคลาเทศ (ที่เข้าประเทศไทยเพื่อผ่านไปมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย) รวมทั้งสมรู้ร่วมคิดกันในการขายผู้แสวงที่พักพิงชาวโรฮิงญาเหล่านี้เพื่อการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง เจ้าหน้าที่กองทัพเรือและถูกกล่าวหาว่า ผลักดันเรือบรรทุกผู้แสวงที่พักพิงชาวโรฮิงญาซึ่งมุ่งหน้าไปมาเลเซียให้เข้าเขตไทยแทนและให้ความสะดวกในการส่งตัวผู้แสวงที่พักพิงบางคนไปให้นักค้ามนุษย์หรือนายหน้าเพื่อขายไปเป็นแรงงานบังคับใช้บนเรือประมง นอกจากนี้ สื่อยังรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยบางคนทำการอย่างเป็นระบบในการโยกย้ายชายชาวโรฮิงญาจากศูนย์กักกันในไทยและนำไปขายให้นักค้ามนุษย์หรือนายหน้าซึ่งจะส่งชายเหล่านี้ไปภาคใต้ของไทยและถูกบังคับใช้แรงงานเป็นคนทำอาหารและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในค่ายต่างๆ หรือถูกขายไปเป็นแรงงานบังคับใช้ในไร่นาหรือบริษัทขนส่งทางเรือ นักค้ามนุษย์ (รวมทั้งนายหน้าจัดหาแรงงาน) ซึ่งนำคนต่างด้าวเข้ามาในไทยโดยทั่วๆ ไปทำงานตามลำพังหรือทำงานแบบกลุ่มที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นทางการ ในขณะที่นักค้ามนุษย์ที่หลอกคนไทยไปค้าในต่างประเทศจะทำงานเป็นกลุ่มที่จัดตั้งเป็นทางการมากกว่า นายหน้าจัดหาแรงงานซึ่งโดยมากทำงานแบบไม่มีกฎหมายหรือระเบียบกำกับและทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างแรงงานที่หางานกับนายจ้าง บางคนช่วยอำนวยความสะดวกหรือมีส่วนในการค้ามนุษย์โดยร่วมมือกับนายจ้างและบางครั้งก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย

แรงงานต่างด้าว ชนกลุ่มน้อยและบุคคลไร้สัญชาติในไทยมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากที่สุด และคนกลุ่มนี้เผชิญการกระทำมิชอบหลายอย่างที่อาจบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เช่น ถูกนายจ้างยึดเอกสารเดินทาง บัตรขึ้นทะเบียนผู้ย้ายถิ่นและใบอนุญาตทำงาน ตลอดจนหน่วงเหนี่ยวการจ่ายค่าจ้าง นอกจากนี้ พวกเขาอาจถูกนายจ้างหักเงินเดือนอย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนการทารุณทางกายและวาจา รวมถึงการขู่ส่งกลับประเทศด้วย แรงงานอพยพที่ขาดเอกสารมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากเป็นพิเศษเนื่องจากไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมักทำให้พวกเขาไม่กล้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงปัญหาที่ตนเผชิญอยู่นี้ แรงงานอพยพหลายคนต้องกู้หนี้จำนวนมากทั้งในประเทศไทยและประเทศบ้านเกิดตนเองเพื่อให้ได้งานทำและดังนั้นอาจเสี่ยงที่จะอยู่ในสภาพพันธนาการหนี้ ชนกลุ่มน้อยและบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยมีอัตราเสี่ยงสูงขึ้นต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ชาวเขาทั้งชาย หญิงและเด็กในภาคเหนือของไทยมีอัตราเสี่ยงสูงเป็นพิเศษต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ รายงานของสหประชาชาติระบุว่า การขาดสถานภาพทางกฎหมายที่ถูกต้องเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ เด็กชาวไทย กัมพูชาและพม่าถูกบิดามารดาหรือนายหน้าจัดหาแรงงานบังคับให้ขายดอกไม้ ขอทานหรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง เหยื่อชาวไทยถูกหลอกว่าจะพาไปทำงานในต่างประเทศและถูกหลอกให้ต้องกู้หนี้จำนวนมากเพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้าและค่าดำเนินการหางาน บางครั้ง ก็ใช้ที่ดินที่ครอบครัวถือสิทธิ์มาเป็นหลักทรัพย์ประกัน ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงถูกแสวงประโยชน์เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง เหยื่อชาวไทยถูกบังคับใช้แรงงานหรือทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และในประเทศในตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย แรงงานชายไทยบางรายที่เดินทางไปในต่างประเทศเพื่อทำงานที่ใช้ทักษะต่ำและงานในภาคเกษตรต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงานและมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้

เหยื่อค้ามนุษย์ชาวไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับการระบุอัตลักษณ์ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณี สตรีและเด็กจากไทย ลาว เวียดนามและพม่ารวมถึงบางรายที่เดิมมีความตั้งใจหางานในธุรกิจทางเพศในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ การค้าเด็กเพื่อธุรกิจทางเพศซึ่งเดิมพบแต่ในสถานธุรกิจที่โจ่งแจ้งเริ่มมีลักษณะซ่อนเร้นมากขึ้น โดยจะพบเด็กที่ถูกแสวงประโยชน์ในธุรกิจทางเพศในสถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านส่วนบุคคล เด็กที่ใช้บัตรประจำตัวปลอมถูกแสวงประโยชน์ในธุรกิจทางเพศในร้านคาราโอเกะและสถานอาบอบนวด องค์การนอกภาครัฐภายในประเทศรายงานว่า มีการใช้สื่อสังคมในการแสวงหาสตรีและเด็กเพื่อการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ เหยื่อถูกขายเพื่อทำงานธุรกิจทางเพศในสถานที่ที่สนองต่ออุปสงค์ในพื้นที่และในสถานประกอบธุรกิจในกรุงเทพและเชียงใหม่ที่สนองอุปสงค์ด้านการค้าประเวณีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถาน บังคลาเทศและพม่าซึ่งจะถูกส่งไปค้าเพื่อทำงานธุรกิจทางเพศหรือเป็นแรงงานบังคับใช้ในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยเกณฑ์เด็กวัยรุ่นมาร่วมปฏิบัติการลอบวางเพลิงหรือทำหน้าที่สอดแนม

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ รายงานการค้ามนุษย์ปี พ.ศ. 2555 และ 2556 ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3 ต่ออีกหนึ่งปีเนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ กฎหมาย Trafficking Victims Protection Act (TVPA) กำหนดให้ประเทศได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับสูงสุดไม่เกินสองปีติดต่อกัน ซึ่งประเทศไทยไม่มีสิทธิดังกล่าวแล้ว ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงถูกพิจารณาว่าไม่ได้มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ และจึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 3

รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยรายงานว่า มีการพิพากษาผู้กระทำผิด 225 คนภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ความพยายามการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้กฎหมายโดยรวมยังคงไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาในประเทศไทยและการทุจริตในทุกระดับก็เป็นอุปสรรคต่อความพยายามดังกล่าว แม้สื่อและองค์การนอกภาครัฐจะมีรายงานอยู่เนืองๆ ถึงการบังคับใช้แรงงานและพันธการหนี้ของแรงงานอพยพต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมธุรกิจของไทย ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการประมง แต่รัฐบาลก็แสดงความพยายามน้อยมากในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ดังกล่าว รัฐบาลทำงานล้มเหลวอย่างเป็นระบบทั้งในการสืบสวน ดำเนินคดีและพิพากษาเจ้าของเรือประมงและไต้ก๋งที่บังคับใช้แรงงานจากแรงงานอพยพ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมเหล่านี้ รัฐบาลได้พิพากษานายหน้าจัดหาแรงงานเพียง 2 รายว่ากระทำผิดฐานอำนวยความสะดวกในการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง รัฐบาลแสดงความพยายามไม่เพียงพอในการหาเหยื่อการค้ามนุษย์จากบรรดาแรงงานอพยพที่ยังคงมีความเสี่ยงถูกลงโทษฐานละเมิดกฎหมายเข้าเมือง การขาดแคลนบริการล่ามอย่างมีนัยสำคัญในทุกหน่วยราชการทำให้รัฐบาลมีความสามารถจำกัดในการระบุตัวและคุ้มครองเหยื่อต่างชาติ และช่วงปีที่ผ่านมา จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติที่ทางการสามารถระบุตัวได้ก็น้อยกว่าปีก่อนหน้า ในปี 2556 สื่อรายงานว่า เจ้าหน้าที่พลเรือนและเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมแสวงประโยชน์จากผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังคลาเทศ กองทัพเรือไทยอ้างว่า รายงานเหล่านั้นเป็นเท็จและโต้ตอบด้วยการแจ้งความฐานหมิ่นประมาทกับผู้สื่อข่าวสองคนในไทยที่รายงานข่าวดังกล่าว การยกเว้นการรับโทษจากการกระทำผิดที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่มีอย่างแพร่หลายนั้นยังคงเป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์