ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2558
สัมภาษณ์พิเศษ
สุรชาติ วิเคราะห์ "บิ๊กตู่" ในกับดักอำนาจ "หนีรูรั่วลำหนึ่งไปสู่รูรั่วอีกลำหนึ่ง" กับ14วิกฤต
ในที่สุด "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ตัดสินใจยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อปลดชนวนแรงกดดันทั้งใน-นอกประเทศ ทว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ที่ให้อำนาจแบบครอบจักรวาลแก่ "พล.อ.ประยุทธ์" ในฐานะหัวหน้า คสช.
ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ "สุรชาติ บำรุงสุข" นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงกองทัพมาช้านาน ให้อ่านใจนายกฯ และทำนายอนาคตหลังจากตัดสินใจใช้มาตรา 44 พล.อ.ประยุทธ์จะต้องแบกรับอะไรต่อจากนี้
- ปัจจัยอะไรที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วหันมาใช้ มาตรา 44
เนื่องจากแรงกดดันจากต่างประเทศมีมาก ต้องยอมรับว่าในโลกปัจจุบันประเทศที่มีรัฐประหารและใช้กฎอัยการศึกแทบจะไม่มีเหลือในโลก เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกย่อมเป็นที่ถูกจับตามองว่า ระบบการเมืองของประเทศนั้นไม่สามารถเดินอยู่ในสภาวะปกติได้ แล้วมันโยงกับปัญหาเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ เป็นผลจากบริษัทประกันชีวิตไม่รับประกันในประเทศที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ในบริบทอย่างนี้แรงกดดันจากต่างประเทศมันมาจากหลายส่วน ไม่ใช่เพียงเรื่องของแรงกดดันทางการเมืองเท่านั้น
อีกส่วนหนึ่งการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในเวทีระหว่างประเทศกดดัน เนื่องจากมองว่ากฎหมายฉบับนี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะมันผูกโยงกับการใช้ศาลทหาร ไม่ว่ารัฐบาลไทยจะแก้ตัวว่ารัฐไม่มีความประสงค์ใช้กฎอัยการศึกกลั่นแกล้งบุคคล หรือลิดรอนเสรีภาพ แต่คิดว่าพูดอย่างนี้ขายไม่ได้ในเวทีระหว่างประเทศ เพราะโดยตัวของกฎหมายย่อมเป็นคำตอบอยู่ในตัวเองว่า กฎอัยการศึกมีความจำกัดในเรื่องเสรีภาพของบุคคล และยิ่งถูกใช้กับการนำพลเรือนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างถูกฟ้องร้องในศาลทหาร คิดว่าแรงต่อต้านกฎอัยการศึกและศาลทหาร ไม่ได้มาจากฝ่ายที่ยืนตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้น แต่กลุ่มการเมืองและกลุ่มสังคมหลายกลุ่มมองไม่ต่างจากทรรศนะที่ต่างประเทศมองเรา
เมื่อตัดสินใจจะปรับจากกฎอัยการศึกไปเป็นมาตรา 44 คงจะเป็นความเข้าใจผิดที่เชื่อว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วใช้ มาตรา 44 จะทำให้ต่างประเทศลดแรงกดดันกับประเทศไทย หรือรัฐบาลไทยลง เอาเข้าจริง ๆ เราไม่สามารถอธิบายได้เลยว่า มาตรา 44 เบากว่ากฎอัยการศึก เนื่องจากในสังคมไทยมีข้อวิจารณ์อยู่พอสมควรว่า มาตรา 44 อาจเป็นยาแรงมากกว่ากฎอัยการศึกเสียอีก คิดว่าต่างประเทศจะยิ่งจับตามอง เพราะมาตรา 44 ให้อำนาจกับรัฐบาลค่อนข้างเบ็ดเสร็จ เท่ากับว่านายกรัฐมนตรี ผู้ใช้อำนาจมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจทุกฝ่าย ตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร ที่เป็นโครงสร้างของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียอีก ถ้าเป็นอย่างนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้ภาพของรัฐบาลทหารไทยมีความเป็นรัฐบาลทหารแบบเบ็ดเสร็จมากขึ้น
- แม้การใช้มาตรา 44 แล้วใครทำผิดก็ให้ขึ้นศาลทหาร 3 ชั้น เหมือนขึ้นศาลปกติ ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
ไม่แน่ใจว่าจะช่วยแก้ภาพลักษณ์ได้ เพราะประเด็นอยู่ที่พื้นฐานของอำนาจ เนื่องจากพื้นฐานอำนาจมาตรา 44 ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ต้นกำเนิดของมาตรา 44 มาจากมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจพิเศษแก่นายกฯในขณะนั้น แต่วันนี้เงื่อนไขการเมืองและสังคมแตกต่างจากยุค 2501 อย่างมาก เพราะขณะนั้นเป็นยุคที่รัฐบาลทหารสามารถมีอำนาจได้มาก เนื่องจากเงื่อนไขของสงครามเย็น หรือสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์ มหาอำนาจหรือรัฐบาลต่างประเทศอาจไม่จับตามอง ส่วนปัจจุบันที่รัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรา 44 ที่คล้ายกับมาตรา 17 ต่างประเทศไม่ได้อยู่ในสถานะแบบเดิมที่มองว่าภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์เป็นปัญหาหลักแล้วยอมหลับตาให้เรา มาตรา 44 จะยิ่งถูกจับตามองมากกว่าการใช้กฎอัยการศึก
- พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่า ปัจจุบันก็มีภัยความมั่นคงกับรัฐบาลและ คสช.อยู่ เป็นเหตุผลที่ฟังได้ไหม
ปัญหาความมั่นคงที่พูดกันอาจแบ่งเป็น 2 ระดับ คือปัญหาความมั่นคงในยุคจอมพลสฤษดิ์ที่สู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ หลายฝ่ายยอมรับว่านั่นคือภัยความมั่นคงในระดับที่เป็นตัวรัฐ แต่ปัจจุบันปัญหาความมั่นคงเป็นปัญหาของตัวรัฐบาลมากกว่าเป็นปัญหาตัวรัฐ ซึ่งเกิดจากเสียงคัดค้าน ถ้ายิ่งใช้มาตรา 44 ก็ยิ่งถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจพิเศษเพื่อลิดรอนเสรีภาพทางการเมือง มากยิ่งกว่ากฎอัยการศึก เป็นเสมือนหนีเสือปะจระเข้ อาจหนีเสือตัวใหญ่ไปปะกับจระเข้ตัวใหญ่กว่าเดิมเสียด้วย
- สถานการณ์ภัยความมั่นคงที่เกิดกับตัวรัฐบาล มีความสมเหตุสมผลพอที่จะใช้มาตรา 44 หรือไม่
ฝั่งรัฐบาลก็คงเข้าใจดีว่าเมื่อมีแรงกดดันให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ทางทหารก็ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องนั้น โดยเชื่อว่าเอากฎอัยการศึกออกไปแล้วใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ แต่การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ มันก็มีมาตรา 44 ให้นายกฯใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในสภาพอย่างนี้สุดท้ายเป็นเหมือน (นิ่งคิด) กับดักใหญ่ เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลทหาร หรือตัวนายกฯใช้อำนาจนี้ มันก็เหมือนกับดักทางการเมืองที่ผูกโยงตัวนายกฯ เข้ากับการถูกจับตามอง หรือผูกโยงนายกฯ กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- เมื่อกฎอัยการศึกใช้ไม่ได้ มาตรา 44 ยังถูกคัดค้านว่าไม่ควรใช้ ในสถานการณ์การเมืองที่แหลมคมแบบนี้ อาจารย์พอมีทางออกให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่
รัฐประหารในปี 2557 เมื่อเทียบกับปี 2549 คนที่มีอำนาจหลังปี 2557 ลำบากกว่า ส่วนหนึ่งในช่วงหลังสังคมไทยเปลี่ยนแปลงเยอะมาก รัฐประหารในยุคเก่า ๆ อาจจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบังคับคน ควบคุมระบบการเมือง คนรุ่นผมผ่านรัฐประหารมาตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ อาจมีความรู้สึกต่อการรัฐประหารในแบบหนึ่ง แต่คนรุ่นใหม่ที่เติบโตหลังจากปี 2535 โดยเฉพาะที่เป็นนักศึกษา วัยรุ่น ไม่เคยมีชีวิตที่ผ่านเงื่อนไขการรัฐประหารจริง ๆ ไม่เคยเห็นสภาพที่รัฐบาลทหารมีอำนาจควบคุมอย่างเข้มแข็ง ดังนั้นคนในยุคใหม่เชื่อว่ามีทรรศนะต่อการรัฐประหารที่ไม่รู้สึกกลัว ในทางกลับกันอาจรู้สึกว่าการรัฐประหารไม่จำเป็นเสียด้วย โดยสภาพแบบนี้ การรัฐประหารในปี 2557 เกิดขึ้นในบริบทของสังคมไทยที่ใหม่ จะเห็นอย่างหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมของฝ่ายอนุรักษนิยม ทหารนิยมทั้งหลาย ถ้าเชื่อว่ารัฐประหารเป็นเครื่องมือในการควบคุมระบบการเมืองได้ ผมคิดว่ารัฐประหารในปี 2549 ให้คำตอบชัดว่า โลกการเมืองไทยปัจจุบันนั้นรัฐประหารควบคุมการเมืองไม่ได้
ขณะเดียวกันเรายังเริ่มเห็นแรงต่อต้านวันนี้ก็ต่างจากสมัยก่อน ๆ การต่อต้านรัฐประหารของคนรุ่นผมอาจอยู่ในรูปของการแจกใบปลิว ชักชวนคนให้เข้ามาร่วมชุมนุม แต่ในรูปปัจจุบันมันผ่านการสื่อสารสมัยใหม่ เช่น โซเชียลมีเดียทั้งหลาย กลายเป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าไปดูอาหรับสปริง เราเห็นค่อนข้างชัดกรณีอียิปต์ เครื่องมือในการโค่นล้มประธานาธิบดีมูบารัก คือ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นั่นเป็นตัวอย่างคิดว่าวันนี้ทหารเผชิญกับการต่อต้านในรูปแบบที่ทหารไม่คุ้นเคย โลกออนไลน์ทำให้รัฐบาลทหารกลายเป็นตัวตลก เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลทหารกลายเป็นตัวตลก มันจึงโยงกับเรื่องคนไม่กลัว คนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สมควรได้รับการยอมรับ ในช่วงหลังจะเห็นว่ารัฐบาลทหารกลายเป็นตัวตลก ผู้นำทหารกลายเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อการล้อเลียน สิ่งที่เราเห็นชัดในโลกออนไลน์มันไม่ใช่การต่อสู้ หรือเรียกร้องประชาธิปไตยในแบบเดิม แต่อย่างน้อยบทเรียนจากอียิปต์อาจมองเห็นสังคมไทยในปัจจุบันที่ใกล้เคียงในอีกมุมหนึ่ง
- รัฐบาลทหารจะรับมือกับแรงกดดันของเครื่องมือใหม่ ๆ ได้หรือไม่
คิดว่าสังคมไทยวันนี้เป็นอะไรที่จับตาดู เรายังเดินไปไม่ถึงจุดเริ่มต้นของอาหรับสปริงแบบในอาหรับ หรือตูนิเซีย แต่อย่างน้อยวันนี้หลายปัจจัยที่เกิดกลายเป็นแรงกดดันสำหรับทหารอย่างมาก การยึดอำนาจครั้งนี้เกิดขึ้นในยุคโลกสมัยใหม่ แรงกดดันที่รัฐบาลทหารเผชิญกำลังกลายเป็นแรงกดดันในรูปแบบใหม่ ๆ ที่รัฐบาลทหารในอดีตไม่เคยเผชิญ คิดว่ารัฐประหาร 2549 อยู่ในรูปแบบการกดดันแบบเก่า ๆ
- ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ใช้ มาตรา 44 มาแก้ปัญหาจะกลายเป็นการติดกับดักหรือไม่
ยิ่งหันกลับไปใช้มาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ใช้เมื่อไหร่ก็จะเป็นปัญหาเมื่อนั้น และอาจนำไปสู่การใช้มากขึ้น ยิ่งใช้มากขึ้นก็จะเป็นจุดที่เฝ้าจับตาว่า ทหารไทยกำลังเพิ่มความเบ็ดเสร็จมากขึ้น เมื่อนั้นจะกลายเป็นการขยายวงการต่อต้านที่มากขึ้น
- มาตรา 44 เป็นหลุมพรางอำนาจ
หลังยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ มาตราแบบนี้มีโอกาสใช้น้อย รัฐบาลหลังปี 2519 อาจมีมาตราพิเศษคือมาตราภัยสังคม แต่ยิ่งนานวันรัฐบาลหลัง ๆ จะไม่แตะ เพราะรู้ว่าข้อจำกัดมี รัฐบาลหลังปี 2549 ก็ไม่ได้ใช้ ในรอบนี้ผู้นำทหารอาจมีความรู้สึกว่าอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารวันนี้อยู่ในมือทหารและพยายามผลักดันให้ได้ แต่ในการผลักดันปฏิเสธไม่ได้ว่าจะเผชิญกับแรงต่อต้าน แล้วเมื่อไหร่ที่ใช้อำนาจนี้ไปจัดการกับแรงต่อต้าน มันจะพาไปสู่สภาพกับดักในตัวมันเอง
- พล.อ.ประยุทธ์ประเมินสถานการณ์แบบนี้ออกหรือไม่
ทหารเองไม่ใช่ไม่รู้ว่าสถานการณ์เกิดอะไรทั้งในประเทศไทยและรอบประเทศไทย แต่ปัญหาคือการหนีเสือปะจระเข้ของทหาร เพราะเมื่อรัฐบาลถูกกดดันให้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่เป็นหลักประกันอำนาจในทางกฎหมาย รัฐบาลอาจคิดว่าสละเรือลำเก่าแล้วไปขึ้นเรือลำใหม่ที่เป็นมาตรา 44 แต่ผมคิดว่าสภาพเรือลำใหม่เป็นเรือที่มีรูรั่วไม่ต่างกับกฎอัยการศึก หนีรูรั่วลำหนึ่งไปสู่รูรั่วอีกลำหนึ่ง จะสร้างปัญหาในอนาคตไม่ต่างกัน
- เป็นเพราะรัฐบาลหลังพิงฝาหรือไม่
ถ้าไม่อธิบายในบริบทหลังพิงฝา รัฐบาลชุดนี้เปรียบเทียบกับรัฐบาลหลังปี 2549 แรงกดดันสำหรับรัฐบาลครั้งนั้นน้อยกว่า โดยกรอบระยะเวลาอยู่ไม่นาน แต่หลังปี 2557 น่าเห็นใจที่ผู้นำทหารเผชิญกับแรงกดดัน และแรงกดดันมากขึ้น วันนี้การเมืองรอบ ๆ ประเทศไทยที่มองเราไม่บวกเท่าไหร่ เมื่อไม่บวกเท่าไหร่ รัฐบาลคงประคับประคองตัวด้วยการยกเลิกเครื่องมือที่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการ แล้วหันไปใช้เครื่องมือในรัฐธรรมนูญ แต่หลายคนมองว่าเครื่องมือในรัฐธรรมนูญเบ็ดเสร็จยิ่งกว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ คิดว่ารัฐบาลทำอย่างไรจะพูดให้ต่างประเทศเชื่อได้ว่าเป็นยาแรงน้อยกว่ากฎอัยการศึก เพราะทุกฝ่ายมองด้วยความเห็นที่เชื่อว่าไม่ต่างกันว่าเป็นยาแรงมากกว่ากฎอัยการศึก...
14 วิกฤตการเมืองไทย
ดร.สุรชาติได้สังเคราะห์ 14 วิกฤตที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เผชิญในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วย
1.วิกฤตรัฐธรรมนูญ
2.วิกฤตพระ
3.วิกฤตผู้นำ-วิกฤตการนำ
4.วิกฤตสิทธิมนุษยชน
5.วิกฤตความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร
6.วิกฤตกองทัพ กรณีการโยกย้ายภายในกองทัพ
7.วิกฤตศรัทธา ปัญหาคุณธรรมภายใน สนช.
8.วิกฤตเศรษฐกิจ
9.วิกฤตการต่างประเทศ
10.วิกฤตตุลาการ กรณี 2 มาตรฐานในคำตัดสิน
11.วิกฤตการปฏิรูปที่ไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน
12.วิกฤตการจัดการภาครัฐ
13.วิกฤตความแห้งแล้งในชนบท และ
14.วิกฤตภาษี