ทหารกับความตายของผู้ชุมนุม เม.ย.-พ.ค.2553
ที่มา ประชาไท
Sun, 2015-03-22
ทหารกับความตายของผู้ชุมนุม เม.ย.-พ.ค.2553
โดย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.)
------------
แม้ว่าในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้มีความคืบหน้าในกระบวนการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมช่วง เม.ย.-พ.ค. 2553 จนอัยการได้สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่กลับไม่ปรากฏความพยายามใดๆ ที่จะโยงใยไปถึงบทบาทของผู้นำทหารที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการสลายการชุมนุม
อีกทั้งเพียงสามเดือนหลังรัฐประหาร ในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ด้วยเหตุผลว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดี แต่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ และอำนาจในการพิจารณาคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง[1]
กระนั้นก็ตาม เรามักได้เห็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงความวิตกกังวลของกองทัพต่อบทบาทของตนเองในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ไม่น้อย กล่าวคือ แม้ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนว่าในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มีการระดมกำลังทหารถึง 67,000 นาย ใช้กระสุนจริงไปกว่า 110,000 นัด และกระสุนสไนเปอร์อีกกว่า 2,000 นัด และผู้นำกองทัพก็ไม่เคยปฏิเสธว่าตัวเลขดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด[2] แต่เราก็มักได้ยินการปฏิเสธแบบขอไปทีว่า ทหารไม่เคยใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม[3]
ในเดือนธันวาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า
"คนที่ยิงคนในวัดปทุมวนาราม เรามีหลักฐานโยงถึงคนยิงทุกคน และตอนนั้นตำรวจก็อยู่ในวัดปทุมฯ ทำไมถึงไม่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ ป้องกันเหตุร้าย และที่มีการถ่ายรูปทหารได้ ก็เป็นเพราะทหารคนนั้นไปยืนแอ๊คให้เขาถ่ายรูปเอง ผมทราบดีว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง กลุ่มใด หนังสือพิมพ์รับเงินจากใคร ให้มาเขียนด่าผม"[4]
ก่อนหน้ารัฐประหาร ในระหว่างการไต่สวนการตายโดยศาล เมื่อมีรายงานข่าวว่าพยานให้การที่ชี้ว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คนเป็นผลจากการยิงของทหาร พลเอกประยุทธ์ แสดงความหงุดหงิด และกล่าวว่าต้องการให้การพิจารณาคดีกระทำเป็นการลับ และยืนยันว่าจะปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง[5]
ล่าสุด เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ทหารปฏิรูปประเทศไทย” ระบุว่า “คนที่ฆ่าอาสาสมัครพยาบาล ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นชายชุดดำ ที่ยิงสู้กับทหาร และยิงอาสาสมัครพยาบาล เพื่อใส่ความทหาร” พร้อมรูปประกอบวิถีกระสุนของทหารและชายชุดดำที่แสดงว่าวิถีกระสุนที่เข้าสู่ร่างกายของผู้ตายจากล่างสู่บน ชี้ว่าเป็นฝีมือของชายชุดดำ
ฉะนั้น ศปช.จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอข้อมูลบางคดีจากผลการไต่สวนการตาย 12 คดี (17 ศพ) โดยศาลอาญา (หากไม่มีรัฐประหาร ตัวเลขการไต่สวนการตายจะไม่หยุดเพียงเท่านั้น) เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
##6 ศพวัดปทุมวนาราม##
- กรณีที่สะเทือนใจผู้ชุมนุมและประชาชนที่ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนมากที่สุด และดูจะสร้างความกังวลให้กับกองทัพมากที่สุดด้วยคือ การเสียชีวิตของประชาชน 6 คนในเขต “อภัยทาน” ของวัดปทุมวนารามในช่วงบ่ายแก่ๆของวันที่ 19 พ.ค. ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นพยาบาลอาสา 1 คนเป็นอาสากู้ชีพ
- ทันทีหลังเหตุการณ์นี้ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ศอฉ. และกองทัพ อ้างว่ามีชายชุดดำซุ่มโจมตีทหารอยู่ในภายในวัด พบอาวุธและกระสุนมากมายในวัด อย่างไรก็ดี กรณี 6 ศพวัดปทุมเป็นคดีที่มีพยานหลักฐานที่แน่นหนามากที่สุดก็ว่าได้ ทั้งจากคำให้การของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จำนวนมาก ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ฉะนั้น ผลการไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ศาลจึงได้วินิจฉัยว่า[6]
- กระสุนปืนยิงมาจากทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำสั่งของ ศอฉ.
- หลักฐานชี้ว่าผู้ตายทั้ง 6 คนไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อนการเสียชีวิต
- ในขณะที่ฝ่ายทหารอ้างว่ามีชายชุดดำ 4 คนยิงใส่ทหารในบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ศาลได้พิเคราะห์ว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ด้วยเหตุผลว่าขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน และบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ปรากฏภาพถ่ายของชายชุดดำมาแสดงแม้แต่ภาพเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายจากการยิงต่อสู้
- จากการให้ปากคำของนายทหารอีกสองนายหนึ่งที่ประจำอยู่ชั้นล่างของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมฯ ก็กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกว่าตกอยู่ในอันตราย จึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงใส่ผู้ชุมนุมในวัด
- ศาลเห็นว่าการยึดอาวุธในวัดปทุมวนารามหลังเกิดเหตุ ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดอาวุธจริง เพราะหลังจากการตรวจยึดอาวุธของกล่าว กลับไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจหารอยนิ้วมือหรือดีเอ็นเอต่อไป อีกทั้งการตรวจยึดอาวุธก็ไม่ได้กระทำทันทีหลังเกิดเหตุวันที่ 19 พ.ค.
- กรณีน.ส.กมนเกด อัคฮาด และนายอัครเดช ขันแก้ว สองอาสาพยาบาลที่เสียชีวิต แม้แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ได้ลงความเห็นว่า บาดแผลในร่าง น.ส.กมนเกด มาจากทิศทางล่างขึ้นบน หลังไปหน้า และบาดแผลในร่างนายอัครเดช ไม่สามารถระบุถึงทิศทางกระสุนปืนได้ เนื่องจากทางเข้าของกระสุนรวมถึงตำแหน่งพบตะกั่วในร่างกายสั้นมากก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในขณะที่ทั้งสองคนถูกยิงนั้น กำลังคุกเข่าก้มลงกับพื้นโดยหันหน้าเข้าไปในวัด จึงเป็นเหตุให้ดูเสมือนหนึ่งว่าทิศทางวิถีกระสุนที่ยิงมายังผู้ตายทั้งสองนั้น ยิงมาจากล่างขึ้นบน และหลังไปหน้า
ฉะนั้น หลักฐานนี้จึงหักล้างข้อมูลของเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ทหารปฏิรูปประเทศไทย” ได้เป็นอย่างดี ว่าวิถีกระสุนในร่างของอาสาพยาบาลนั้น ไม่ได้มาจากชายชุดดำที่แอบซ่อนอยู่ภายในวัด แต่มาจากทหารบนรางรถไฟฟ้า
พยานและหลักฐานที่หนักแน่นของกรณี 6 ศพวัดปทุม จึงทำให้ประชาชนกังขาต่อการจับกุม น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา "แหวน" พยาบาลอาสา ผู้เป็นพยานปากสำคัญในกรณีนี้ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับความพยายามของกองทัพที่จะ “ชำระล้าง” บันทึกเลือดนี้หรือไม่
สำหรับผลการไต่สวนการตายในกรณีอื่นๆ ดูตารางได้ที่
http://www.prachatai.org/journal/2015/03/58519
-------------
[1] “ศาลยกฟ้องคดีอภิสิทธิ์-สุเทพ สั่งสลายม็อบ ชี้อำนาจศาลฎีกาฯนักการเมือง”, ASTVผู้จัดการ, 28 สิงหาคม 2557, http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9570000098460
[2] “'ตัวเลขเป๊ะๆ หลุดมาได้อย่างไร’ เสียงบ่นจากพล.อ.ดาว์พงษ์ กรณียอดเบิกจ่ายกระสุนพฤษภามหาโหด”, มติชน, 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1301039135&grpid=no&catid&subcatid
[3] “ทหารยืนยันไม่ใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมปี 53.” Voice TV, 4 July 2012http://news.voicetv.co.th/thailand/43692.html
[4] “บิ๊กตู่แฉรู้ดีสื่อไหนรับเงินมาเขียนด่า”, เดลินิวส์, 4 ธันวาคม 2557, http://www.dailynews.co.th/Content/politics/285169/_บิ๊กตู่_แฉรู้ดี+_สื่อไหน_+รับเงินมาเขียนด่า
[5]“Prayuth wants temple testimony kept secret”, Bangkok Post, 23 June 2012,www.bangkokpost.com/news/local/299303/prayuth-wants-temple-testimony-kept-secret
[6] “เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม 6 ศพวัดปทุม เสียชีวิตจากทหาร”, ประชาไท, 7 สิงหาคม 2556,http://www.prachatai.com/journal/2013/08/48057
ooo
ที่มา ที่นี่และที่นั่นวันนี้
March 23, 2015
กรณี “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” ได้มีการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการกลางเพื่อการสอบสวนคดีพิเศษกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบ พ.ศ.2553” ขึ้น และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับดำเนินการสอบสวนกรณีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของประชาชนในปี 2553 อีกครั้ง โดยนางสุวนา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอได้มีคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 242/2558 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า จะเป็นผลทำให้เกิดผลกระทบกับกระบวนการสอบสวนและการสรุปสำนวนการสอบสวน ที่ “ดีเอสไอ” เคยได้มีการสอบสวนและสรุปสำนวนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการชี้มูลความผิดไปยัง “ผู้มีอำนาจ” ในขณะนั้นหรือไม่?
และรวมไปถึงหลายกรณีที่ “ศาล” ได้เคยมีคำสั่งไปแล้วว่า การเสียชีวิตของประชาชน เกิดการวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของประชาชน ในเหตุการณ์เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 อาทิ กรณีการเสียชีวิต 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม
ซึ่งเมื่อย้อนดู “คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้” เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่ชี้ว่าผู้เสียชีวิต 6 ศพ ที่วัดปทุมวนาราม เสียชีวิตจากกระสุนความเร็วสูงของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำแต่อย่างใด ทำให้น่าสนใจและควรที่จะบันทึกเอาไว้ เพื่อเป็น “หลักฐาน” ในขณะที่หลายฝ่ายเริ่มมองว่า “ความยุติธรรม” อ่อนแสงลงอย่างมากในขณะนี้
โดยเว็บไซด์ http://www.prachatai.com/journal/2013/08/48057ได้รายงานเอาไว้ว่า “เวลา 9.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ช.5/2555 ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนการตายของ นายสุวัน ศรีรักษาผู้ตายที่ 1 นายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดชขันแก้ว ผู้ตายที่ 6 ศาลได้ประกาศไต่สวนตามระเบียบแล้วนับแต่ญาติของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขออนุญาตซักถามและขอนำพยานนำสืบโดยประชาไทสรุปคำสั่งที่ศาลได้อ่านในวันนี้เพื่อหาเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม.ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.
รวมไปถึงข้อสรุปของศาลที่ว่า ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้างแสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อนการเสียชีวิตการตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และกรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว ดังนี้
กว่าจะถึง 19 พ.ค. 53 ที่วัดปทุมฯ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติของผู้ร้องโดยตลอดแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ใช้ชื่อว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ได้มีการจัดชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและได้มีการขยายบริเวณการชุมนุมตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปถึงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนเพลินจิตถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยวันที่ 7 เมษายน 2553 นายกฯ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครจังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางพลีอำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธงจังหวัดปทุมธานี อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกาอำเภอคลองหลวง จังหวัดนครปฐม อำเภอพุทธมณฑล และ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวงทั้งยังออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการและมีข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นผู้ช่วย และยังแต่งตั้งนายสุเทพเป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการ และหัวหน้าผู้รับผิดชอบ
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ตายทั้ง 6 คือใครได้ความจากญาติของผู้ตายทั้ง 6 ได้มีการนำสืบจากเอกสารใบมรณบัตรประกอบกับการไต่สวน คดีจึงฟังได้ว่า ผู้ตายที่ 6 ชื่อนายสุวัน ศรีรักษาผู้ตายที่2 ชื่อนายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 ชื่อนายมงคล เข็มทองผู้ตายที่ 4 ชื่อนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 ชื่อนางสาวกมนเกด อัคฮาดผู้ตายที่ 6 อ นายอัครเดช ขันแก้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ผู้ตายทั้ง 6 ตายที่ไหน เมื่อไรอย่างไร เหตุการณ์ที่ตายเป็นอย่างไรใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตายเท่าที่จะทราบได้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรค 5
ร่องรอย บาดแผล คราบเลือด วิถีกระสุน
สำหรับผู้ตายที่ 1, 3 ,4 ,5 ,6 ได้ความจากพยานหลายปากรวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญหลายปากเห็นว่า แม้ผู้ร้องและญาติของผู้ตายที่ 1,3 ถึงที่ 6 จะไม่ประจักษ์พยานในขณะที่ผู้ตายที่ 1,3 ที่ 6 ถูกกระสุนจากอาวุธจากผู้ใด แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันและผู้ร้องมีพยานทุกปากซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการตายของผู้ตายที่ 1,3 ถึงผู้ตายที่ 6 อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ได้อย่างสอดคล้องต้องกันเริ่มตั้งแต่จุดตำแหน่งของพยานแต่ละคนที่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมาบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯกระทั่งจุดตำแหน่งของผู้ตายที่ 1 และผู้ตายที่ 3 ถูกยิงโดยเฉพาะพยานปากสำคัญ นายธวัช แสงทน และนายศักดิ์ชาย แซ่ลี้ที่เข้าไปช่วยนำพผู้ตายที่ 1 และ 2 ตามลำดับเข้ามาปฐมพยาบาลในเต็นท์ตามแผนที่เกิดเหตุในเอกสารส่วนพยานปากนางสาวนัฏธิดาและผู้ตายที่ 3 ได้ช่วยกันปฐมพยาบาลผู้ตายที่ 2 ก่อนถึงแก่ความตายภายในเต็นท์พยาบาล โดยจุดตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 1, 3 ถึงผู้ตายที่ 6 ถูกยิงตามที่พยานทุกปากยืนยันสอดคล้องกับรายงานผลการตรวจที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.พบคราบเลือดบนพื้นปูนซีเมนต์ด้านหลังสหกรณ์และบนพื้นใกล้ประตูทางออก จากการตรวจพิสูจน์พบว่า คราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 4 กับคราบโลหิตบนฟูกนอนสีชมพูและคราบโลหิตติดอยู่ที่โทรโข่งบนโต๊ะสีขาวภายในเต็นท์ผ้าใบสีขาวจากการตรวจพิสูจน์พบว่า คราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 6 กับคราบโลหิตบนพื้นใกล้โต๊ะสีขาว ภายในเต็นท์จากการตรวจพิสูจน์พบว่าคราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 3
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกไปตรวจที่เกิดเหตุคือวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 พบคราบโลหิตมนุษย์บริเวณถนนทางออกด้านหน้าวัด จำนวน 2 จุดแต่ละจุดห่างจากกำแพงแนววัด 5.3 และ 6.7 เมตรตามลำดับและห่างจากแนวอาคารสหกรณ์ประมาณ 5.2 และ 3.2 เมตรตามลำดับ กับพื้นที่เกิดเหตุด้านหลังสหกรณ์ใกล้ประตูทางออกด้านหน้าวัดจำนวน 1 จุดห่างจากแนวรั้วกำแพงประมาณ 8 เมตรกับบริเวณพื้นขั้นบันไดคอนกรีตทางขึ้นสหกรณ์ใกล้ประตูทางออกหน้าวัดอีก 1 จุด ห่างจากแนวกำแพงหน้าวัดประมาณ 8 เมตรจุดตำแหน่งเหล่าตรงกับถ้อยคำของพยานผู้ร้องที่ยืนยันว่าผู้ตายถูกยิงด้วยผลการตรวจคราบโลหิตของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้วเชื่อว่าผู้ร้องพยานผู้ร้องทั้ง 6 ปากเห็นเหตุการณ์ในขณะที่ผู้ตายที่ 1,3 ถึงผู้ตายที่ 6 ถูกยิงจริง ส่วนทิศทางของวิถีกระสุนปืนที่ยิงผู้ตายที่ 1, 3 ถึงผู้ตายที่ 6 นั้น ได้ความจากพยานปาก พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เบิกความว่า พยานเป็นแพทย์ผู้ทำการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายที่ 3 ถึงที่ 6 เพื่อทำการหาสาเหตุการตาย ผลจากการตรวจพิสูจน์พบว่า
ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลฉีกขาดเป็นรูปทรงกลมบริเวณต้นแขนซ้าย 2 แห่ง ขนาด 1×2.5 ซม. และขนาด 0.8×0.5 ซม. บาดแผลทะลุผิวหนังบริเวณทรวงอกด้านซ้าย ขนาด 3.2×1 ซม. สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ และตับพบเศษทองแดงในเสื้อ เศษตะกั่วเล็กๆ ในปอดและหัวใจ ทิศทางมาทางซ้ายไปขวาหน้าไปหลัง บนลงล่าง
ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณต้นแขนขวาด้านนอก รูปลี ขนาด 0.6×5 ซม. ต่ำจากบ่า 17 ซม. บาดแผลต้นแขนขวาด้านในและบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณทรวงอกด้านขวา ขนาด 3.5×2.5 ซม. ต่ำจากบ่า 21 ซม. บาดแผลถลอกบริเวณกว้างหน้าท้องด้านขวา โหนกแก้มขวา ใต้คางขวาริมฝีปากซ้าย สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ พบเศษทองแดง 2 ชิ้นบริเวณขั้วลิ้นลำไส้ ทิศทางขวาไปซ้าย หน้าไปหลัง บนลงล่าง
ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณก้นด้านขวา 2 แห่งทะลุถึงกัน ขนาด 0.8×0.5 ซม. และ 0.9×0.7 ซม. บาดแผลทะลุบริเวณก้นด้านซ้ายขนาด 0.8×0.4 ซม. บาดแผลผิวหนังทะลุหลังด้านซ้ายส่วนล่าง 2 แห่ง 0.7x 1.2 ซม.บาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณต้นแขน ขวาด้านนอก ขนาด 1×0.5 ซม.บาดแผลฉีกขาดบริเวณไหล่ขวา 4.5×3 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณใบหน้าด้านขวาขนาด 5.3 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณโคนนิ้วชี้ซ้ายสาเหตุการตายเกิดจากเลือดออกใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นนอก เนื้อสมองช้ำ จากการถูกแรงกระแทกเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าไปในช่องปาก ถูกยิง 2 นัด
และได้ความจากพยานปากแพทย์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.ท.นพ.ปกรณ์ วะศินรัตน์ ที่พิสูจน์ศพผู้ตายที่ 1 และ 5 พบว่า
ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดรูปวงลี ขนาด .7x.5ซม.บริเวณไหล่ซ้ายด้านหน้า บาดแผลฉีกขาดรูปวงกลมขนาด .5 ซม. บริเวณสะโพกด้านซ้าย บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบใกล้กับรูทวารหนักขนาด 1.7×0.5 ซม. บาดแผลฉีกขาดขนาด 0.7×0.5 ซม. บริเวณต้นขาซ้ายด้านนอกบาดแผลฉีกขาดขนาด 0.8×0.5 ซม. บริเวณขาหนีบด้านซ้าย บาดแผลฉีกขาดรูปขนาดขนาด 4.3 ซม. บริเวณโคนอวัยวะเพศและบาดแผลฉีกขาดรูปวงรีบริเวณโคนข้อเท้าขวาด้านในและด้านนอก และหลังเท้าสาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมากพบเศษโลหะคล้ายหัวกระสุนปืนทองแดงบริเวณกล้ามเนื้อชายโครงด้านขวาทิศทางซ้ายไปขวา บนลงล่าง หลังไปหน้าเล็กน้อย
ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลฉีกขาด ขนาด 0.7×0.5 ซม. บริเวณหลังด้านขวาบาดแผลฉีกขาดรูปวงรีขนาด 0.7×0.5 ซม. บริเวณสีข้างด้านขวาสาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมองและบริเวณศีรษะตรงฐานกระดูกด้านซ้ายมีรูแตกทะลุสมองฉีกขาดเล็กน้อยและสมองใหญ่ซีกซ้ายมีเลือดออกเป็นแผลพบชิ้นส่วนโลหะคล้ายลูกกระสุนปืนลูกทองแดง ในกระโหลกศีรษะด้านขวาทิศทางจากล่างขึ้นบน หลังไปหน้า
ประเด็นเกี่ยวกับวิถีกระสุนนี้ได้ความจากพยานปาก พ.ต.ท.สุรนาทวงศ์พรหมชัย กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 21-29 พ.ค.53 พยานได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ในวัดปทุมวนารามพร้อมทั้งบริเวณด้านหน้าวัดพบรอยลักษณะคล้ายถูกยิงด้วยลูกกระสุนปืนบริเวณพื้นถนนทางออกและทางเข้าหน้าวัดจำนวนมาก
พ.ต.ท.ธีรนันท์ นคินทร์พงษ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจอาวุธและกระสุนปืนกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติเบิกความโดยสรุปว่าได้ตรวจรอยกระเทาะที่พื้นถนนดังกล่าวเชื่อว่ารอยทั้งหมดถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด จากด้านหน้าไปด้านหลังจากขวาไปซ้าย ทำมุมกดลงส่วนรอยถูกยิงที่บริเวณอาคารมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร เชื่อว่าถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด จำนวน 2 นัดโดยยิงจากภายนอกเข้าสู่ภายในวัด จากด้านหน้าไปด้านหลัง
จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุทั้งภายในวัดและบริเวณด้านนอกจนถึงบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่าภายในวัดมีร่องรอยกระสุนปืน 23 รอยร่องรอยกระสุนปืนบริเวณประตูทางออกวัดจำนวน 10 รอย ประตูทางเข้า 2 รอยบริเวณแผ่นป้ายโฆษณา 3 รอย ทั้งนี้ 15 รอยนั้นเกิดจากแนววิถีกระสุนที่ยิงมาจากบนลงล่าง พยานยืนยันว่าน่าจะยิงลงมาจากบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส ชั้นที่ 1 หรือ ชั้นที่ 2 ด้านหน้าวัด
เมื่อพิจารณาจากผลการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายของแพทย์รายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุของผู้เชี่ยวชาญประกอบกับได้ความว่าด้านหลังของรางรถไฟฟ้าบีทีเอสตรงข้ามกับวัดนั้นมีอาคารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงอาคารเดียวและอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าดังกล่าวประมาณ 100 เมตรเศษจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีบุคคลใดใช้อาวุธปืนยิงจากอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติมายังที่เกิดเหตุภายในวัดปทุมฯ เนื่องจากหากยิงมาจากอาคารดังกล่าววิถีกระสุนจะต้องผ่านรถไฟฟ้าบีทีเอส จึงเชื่อว่าทิศทางของแนววิถีกระสุนที่ยิงผู้ตายที่ 1 ผู้ตายที่ 3-6 ยิงมาจากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ ส่วนผู้ตายที่ 5-6 แม้แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์จะลงความเห็นว่า บาดแผลของผู้ตายที่ 5 มาจากทิศทางล่างขึ้นบน หลังไปหน้า บาดแผลของผู้ตายที่ 6 ไม่สามารถระบุถึงทิศทางกระสุนปืนที่ยิงได้ก็ตามเนื่องจากทางเข้าของกระสุนรวมถึงตำแหน่งพบตะกั่วในร่างกายสั้นมากก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในขณะที่ผู้ตายที่ 5 และ 6 ถูกยิงนั้น ผู้ตายที่ 5 และ 6 กำลังคุกเข่าก้มลงกับพื้นโดยหันหน้าเข้าไปในวัดจึงเป็นเหตุให้ดูเสมือนหนึ่งว่าทิศทางวิถีกระสุนที่ยิงมายังผู้ตายที่ 5 และ 6 นั้น ยิงมาจากล่างขึ้นบน และหลังไปหน้า
เสียงปืนดังตรงจุดที่เจ้าพนักงานอยู่บนรางรถไฟฟ้า และไม่มีท่าทีหลบกระสุน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า บุคคลใดที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมฯประเด็นนี้ได้ความจากพยานปาก ส.ต.ท.อดุลย์ พรหมนอกเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด.ต.สุชาติ ขอมปวนเจ้าพนักงานตำรวจสังกัดกลุ่มงานบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด.ต.อานนท์ ใจก้อนแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 31 พิษณุโลกเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 พยานได้รับคำสั่งปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยปราบจลาจล กองกำลังสนับสนุนขณะนั้นเวลา 17.30น. พยานทั้งสามอยู่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้นที่ 12 อาคาร 19 ในส่วนดาดฟ้าพยานทั้งสามเห็นเหตุเกิดเพลิงไหม้ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์พร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะบริเวณหน้าวัดปทุมฯซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพยานได้ใช้กล้องถ่ายรูปบริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้น 1 และชั้น 2 บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน้าวัดปทุมฯเห็นเจ้าพนักงานบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งต่อมาใช้อาวุธปืนเล็งไปภายในวัดในลักษณะเตรียมยิง โดยไม่มีเหตุการณ์ต่อสู้กับบุคคลใดๆ จากนั้นพยานทั้งสามได้ยินเสียงปืนดังตรงจุดที่เจ้าพนักงานอยู่บนรางรถไฟฟ้าและไม่มีท่าทีหลบกระสุน
ทหารบนราง BTS เบิกความรับยิงไปบริเวณวัดปทุมฯ
ประเด็นนี้ พยาน พ.ท.นิมิตร วีระพงษ์ จ.ส.อ.สมยศ ร่มจำปา ส.อ.เดชาธรมาขุนทด ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง ส.อ.สุนทร จันทร์งาม ส.อ.ญ.สาวตรี สีนวล ส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิทูรย์ อินทำ เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษ 3 ค่ายเอราวัณจ.ลพบุรี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 8 รายได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.ให้ไปประจำบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าสนามกีฬาแห่งชาติโดยมีหน้าที่ระวังคุ้มกันเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2 รักษาพระองค์ ประจำบริเวณพื้นถนนพระรามที่ 1 พ.ท.นิมิตรเป็นหัวหน้าชุดใช้อาวุธปืน M16A4 เป็นอาวุธประจำกาย ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาใช้อาวุธปืน M16A2 พ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาอีกหนึ่งนายประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 2 ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชา ประกอบด้วย จ.ส.อ.สมยศ ส.อ.เดชาธร ส.อ.ภัทรนนท์ ส.อ.สุนทร ส.อ.เกรียงศักดิ์ ส.อ.ชัยวิชิต ส.อ.วิทูรย์ ประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าหน้าสนามกีฬาแห่งชาติถึงหน้าวัดปทุมวนารามด้วยกระทั่งเมื่อเวลา 15.00น.พ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 บริเวณแยกปทุมวัน มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามขณะนั้นมีชาย 2 คนใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าพนักงานชุดของพยานโดยแจ้งว่าทั้งสองคนยืนตรงแยกเฉลิมเผ่าผู้ใต้บังคับบัญชาได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่รถ 6 ล้อที่จอดอยู่ที่แยกเฉลิมเผ่าและบริเวณตอม่อเสารถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า เกาะกลางถนนพระรามที่ 1 ขณะนั้นเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2 ประจำการอยู่ที่แยกปทุมวัน ถ.พระราม 1 ได้เคลื่อนกำลังพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยของพยานบนพื้นถนนพระรามที่ 1 ในลักษณะพร้อมกัน
จนกระทั่งเวลา 18.00 พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้เคลื่อนกำลังจากสถานีรถไฟฟ้าสยามเรื่อยไปจนบริเวณลานรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานจำนวน 7 นายประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 หน้าวัดปทุม จ.ส.อ.สมยศได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสตรงเกาะกลางถนนพระราม 1 จำนวน 4-5 นัด และบริเวณกำแพงด้านนอกวัดปทุม 1 นัดโดยอ้างว่าเห็นชายชุดดำบริเวณดังกล่าว ส.อ.เกรียงศักดิ์ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณที่สังเกตเห็นชายชุดดำยืนอยู่ จำนวน 14 นัด ส.อ.ชัยวิชิต ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงขึ้นฟ้าจำนวน 4 นัด ส.อ.วิทูรย์ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงที่บริเวณตอม่อเสารถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ 4-5 นัดและบริเวณท้ายรถยนต์ซึ่งจอดที่บริเวณลานจอดรถของวัด 1-2 นัดพร้อมทั้งตะโกนให้ออกมาจากใต้รถและถอดเสื้อส.อ.ภัทรนนท์ได้ใช้อาวุธปืนยิงที่บริเวณกำแพงด้านนอกของวัดส.อ.เกรียงศักดิ์ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงที่บริเวณพื้นถนนหน้าวัด 4 นัด
ส.อ.ภัทรนนท์ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่กำแพงด้านนอกของวัดส.อ.เกรียงศักดิ์ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณพื้นถนนหน้าวัดจำนวน 4 นัดนอกจากนี้เมื่อพิจารณาภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นว่าบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนารามไม่มีบุคคลใดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรีโดยมีพ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น เชื่อว่าพ.ท.นิมิตร วีระพงษ์ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าชั้นที่สอง โดยมีส.อ.สมยศ ร่มจำปา ส.อ.เดชาธร มาขุนทดส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง ส.อ.สุนทร จันทร์งาม ส.อ.เกรียงศักดิ์ สีบุส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิทูรย์ อินทำประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่หนึ่งตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ สถานีรถไฟฟ้าสยาม แยกเฉลิมเผ่าจนถึงหน้าวัดปทุมวนารามรวมทั้งสะพานลอยทางเดินสกายวอล์คด้านล่างตั้งแต่รถไฟฟ้าบีทีเอสสยามเรื่อยมาจนถึงหน้าวัดปทุมวนารามเท่านั้น
ผ่าศพพบ เศษกระสุนปืนเล็กกลขนาด.223 หรือ 5.56 มม.
และเมื่อพิจารณาประกอบกับของกลางที่ได้มาจากการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายที่1 ผู้ตายที่ 3-5 ของแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ศพโดยพนักงานสอบสวนได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติผลการตรวจพิสูจน์พบว่าวัตถุของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนโดยเป็นเศษรองกระสุนปืนเล็กกลหุ้มทองแดง ขนาด.223 หรือ 5.56 มม.เศษกระสุนปืนเล็กกลทองแดงหุ้มเหล็กและตะกั่วขนาด.223 หรือ 5.56 มม.สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตผู้อื่นและวัตถุได้
ประเด็นนี้ได้ความจากพ.ต.ท.ไพชยนต์ สุขเกษม สังกัดกองสรรพาวุธสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนได้เบิกความว่าอาวุธปืนเอ็ม16 ทุกรูปแบบอาทิเช่น เอ็ม16 เอ1-เอ4 และเอ็ม4จะต้องใช้กระสุนปืนขนาด.223 หรือ 5.6 มม.เศษรองกระสุนปืนและลูกกระสุนปืนตามภาพถ่ายนั้นเป็นเศษรองกระสุนปืนและเศษของกระสุนปืนเอ็ม16 เอ1-เอ4 เป็นอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูงและเป็นอาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ อาทิเช่น เจ้าพนักงานทหารเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าเมื่อเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันชุดจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรีประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสด้านหน้าวัดปทุมวนารามได้ใช้ประจำกายคืออาวุธปืนเอ็ม16 เอ2และเอ4 แม้หลังเกิดเหตุกรมสอบสวนคดีพิเศษจะส่งอาวุธปืนเล็กกลจำนวน 4 กระบอกและพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันจะส่งอาวุธปืนเล็กกลจำนวน 8 กระบอกให้กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช.ทำการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบเศษรองกระสุนและลูกกระสุนปืนผลจากการตรวจพิสูจน์พบว่าเศษรองกระสุนและลูกกระสุนไม่ได้ใช้ยิงมาจากอาวุธปืนเล็กกลทั้ง 12 กระบอกก็ตาม ปรากฎว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันได้จัดส่งอาวุธปืนเล็กกลดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2553 และ 14 มี.ค. 2554 ซึ่งเป็นวันหลังจากเกิดเหตุเป็นระยะเวลานาน ในประเด็นนี้ได้ความจากพ.ต.อ.พิภพและพ.ต.ท.ไพชยนต์ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืนสงครามยืนยันว่าอาวุธปืนเล็กกลนี้สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนได้อาทิเช่นลำกล้อง ลูกเลื่อน เครื่องลั่นไกหากมีการถอดชิ้นส่วนดังกล่าวก่อนส่งไปตรวจพิสูจน์ก็ไม่สามารถตรวจเปรียบเทียบกับเศษรองกระสุนและลูกกระสุนปืน ทั้งนี้ตามระเบียบการทำความสะอาดก่อนจะทำการเก็บทำความสะอาดอาวุธปืนที่ใช้ หลังจากการยิงอาวุธปืนที่ใช้หลังจากยิงทุกครั้งไม่ว่าจากการฝึกยิงหรือยิงในราชการอื่นใดจะต้องทำความสะอาดอาวุธปืนดังกล่าวทุกครั้งการทำความสะอาดแต่ละครั้งย่อมทำให้ร่องรอยพยานหลักฐานอาวุธปืนกระบอกนั้นๆเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ไม่สามารถทำการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนเล็กกลทั้ง 12 กระบอก เปรียบเทียบกับเศษรองกระสุนปืนและลูกกระสุนปืนตรงกับความเป็นจริงได้
ไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อถือได้ว่ามีชายชุดดำหรือเสื้อขาวถือ M16
และเมื่อพิจารณาจากจุดตำแหน่งเจ้าพนักงานซึ่งเป็นหน่วยทหารนี้ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่ประตูทางออกด้านในวัด บริเวณเต็นท์ด้านในวัดบริเวณกุฏิพระภายในวัดและกำแพงรั้วด้านนอกวัดบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับแนววิถีกระสุน ซึ่งผู้ตายที่ 1 ผู้ตายที่ 3-6 ถูกอาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย ส่วนจ.ส.อ.สมยศ ส.อ.เกรียงศักดิ์ ส.อ.ชัยวิชิต ส.อ.วิทูรย์ ส.อ.ภัทรนนท์เบิกความว่ามีชาย 4 คนสวมชุดดำถืออาวุธปืนยาวบริเวณเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสด้านหน้าวัดปทุมฯยิงมายังเจ้าพนักงานและมีชายสวมเสื้อสีขาวกางเกงลายพรางสวมหมวกไหมพรมถืออาวุธเอ็ม 16 หลบอยู่ข้างกุฏิวัดภายในวัด พร้อมเล็งมายังเจ้าพนักงานบนรางรถไฟฟ้าดังกล่าวจึงเห็นว่าขณะเกิดเป็นเวลากลางวันและบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาทำข่าวและบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ภาพถ่ายของชายชุดดำหรือบุคคลดังกล่าวมาแสดงแม้แต่ภาพเดียวทั้งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายจากการยิงต่อสู้
นอกจากนี้ยังได้ความจากปากส.อ.สุนทร จันทร์งามและส.อ.เดชาธร มาขุนทดเจ้าพนักงานทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณเบิกความว่าในวันที่เกิดเหตุประจำการอยู่ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่หนึ่งหน้าวัดปทุม ได้ตอบทนายญาติผู้ตายที่ 1,4 ว่าขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่ที่บริเวณดังกล่าวไม่มีภัยคุกคามเกิดขึ้นภายในวัดปทุมพยานจึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงแสดงให้เห็นว่าถอยคำของเจ้าพนักงานทหารขัดแย้งกันเองทั้งที่ประจำการอยู่ในตำแหน่งเดียวกันข้อกล่าวหานี้จึงไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อถือได้ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น
ช่างทำบั้งไฟปากคำไม่มีน้ำหนักเนื่องจากถูกจูงใจจากทหาร
แม้พยานปากนายอภิสิทธิ์แสงแก้วจะเบิกความว่าพยานได้ถูกว่าจ้างให้มาทำบั้งไฟในบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ขณะเกิดเหตุได้หลบภายในวัดปทุมวนารามเห็นปากกระบอกปืนโผล่ออกมาจากกุฏิวัดภายในวัดและยิงไปยังเจ้าพนักงานทหารซึ่งประจำการอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดโดยมีการยิงตอบโต้ซึ่งกันและกัน ปรากฎว่าพยานปากนี้คำถามญาติผู้ตายที่ 1, 3, 4 ว่า ก่อนที่เจ้าพนักงานทหารจะนำตัวไปให้พนักงานสอบสวนสน.ทุ่งมหาเมฆทำการสอบปากคำพยานถูกเจ้าพนักงานพาไปที่ค่ายทหารและรับเงินเจ้าพนักงานทหารเป็นค่าใช้จ่ายกรณีนี้ถือได้ว่าเจ้าพนักงานทหารเป็นผู้นำพยานไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำ มิใช่เป็นความสมัครใจของพยานทั้งที่เจ้าพนักงานที่ถูกกล่าวหาก่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการให้เงินพยานปากนี้ก็มีลักษณะเพื่อที่จะจูงใจดังนั้นถ้อยคำของพยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง
ผู้ตายที่ 1, 3-6 ถูกกระสุนจาก ทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ บน BTS
ข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานนำสืบว่ามีชายชุดดำถืออาวุธปืนยาวอยู่ภายในวัดปทุมฯแล้วใช้อาวุธปืนยิงมายังเจ้าพนักงานจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ด้วยพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวน ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวเชื่อว่าผู้ตายที่ 1, 3-6 ถึงแก่ความตายเพราะถูกกระสุนปืนของอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 หน้าวัดปทุมวนาราม
ส่วนผู้ตายที่ 2 ได้ความจากพยานยืนยันทำนองเดียวกันว่าพยานได้เข้าไปร่วมชุมนุมตั้งแต่มี.ค. 2553 – 19 พ.ค. 2553 เวลา 13.00 น. แกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุมได้มีการสั่งให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปสนามกีฬาแห่งชาติเพื่อขึ้นรถโดยสารประจำทางกลับภูมิลำเนา โดยให้เด็กและคนชราเข้าไปพักในวัดปทุมวนารามในขณะนั้นพยานทั้งสามได้เห็นผู้ตายที่ 2 ได้ถูกอาวุธปืนยิงโดยทิศทางกระสุนมาจากบริเวณ ถ.พระราม 1 ทางด้านห้างสรรพพสินค้าสยามพารากอน
แล้วศาลก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้นผู้ร้องและญาติผู้ตายที่ 2 จะไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากผู้ใด แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันรวมทั้งประจักษ์พยานยืนยันถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการตายของผู้ตายที่ 2 อย่างละเอียดทุกขั้นตอนได้อย่างสอดคล้องต้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่จุดที่พยานแต่ละคนเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนจากทิศทางแยกเฉลิมเผ่า บนถ.พระราม 1 หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนกระทั่งถึงตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงโดยพยานทุกปากได้เข้าไปช่วยนำผู้ตายที่ 2 เข้าปฐมพยาบาลภายในเต็นท์โดยเฉพาะพยานปากน.ส.ณัฎฐธิดา ผู้ตายที่ 3 และผู้ตายที่ 6 ช่วยกันปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจให้กับผู้ตายที่ 2 ก่อนสิ้นใจตายในเต็นท์พยาบาล
ประกอบกับได้ความจากพยานร.ท.พิษณุ ทัดแก้วเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารจากสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหาราบที่ 31 รักษาพระองค์ เบิกความว่า 19 พ.ค. 2553 เวลาประมาณ 13.00 น.เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัด กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดยพ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. ให้เคลื่อนกำลังประมาณ 500 นาย จากแยกปทุมวันเพื่อกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์โดยมาตามถ.พระราม 1 ทั้งฝั่งซ้ายและขวา พยานได้ใช้ปืนเล็กยาวทาโวร์เป็นอาวุธปืนประจำกายพร้อมด้วยกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.
จนกระทั่งเวลา 17.30 น.ของวันดังกล่าวขณะที่พยานประจำตำแหน่งอยู่เห็นชาย 2 คนยืนอยู่ที่บริเวณขอบปูนกั้นเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่าบุคคลดังกล่าวได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงมาที่พยานพยานจึงได้ใช้อาวุธปืนต่อสู้กับชายคนดังกล่าวจำนวน 10 นัดกระสุนปืนถูกที่ขอบปูนกั้น
หน้าวัดปทุมฯ เจ้าพนักงานควบคุมพื้นที่ไว้แล้วทั้งหมด
เมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ ร.ท.พิษณุกับ พลฯสมรักษ์ ส.อ.โสพล ธีระวัฒน์พลฯไกรสร เชื้อวัฒน์ ประจำการอยู่กับตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงและแนวกระสุนที่ร.ท.พิษณุยิงไปที่บริเวณขอบกั้นเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่าแล้วจะเห็นได้ว่าจุดที่ร.ท.พิษณุกับพวกอีกสามนายประจำการอยู่บนถ.พระราม 1 นั้น เป็นฝั่งเดียวกับผู้ตายที่ 2 ถูกยิงและแนววิถีกระสุนที่ร.ท.พิษณุยิงไปก็อยู่ในแนวระนาบกับแนววิถีกระสุนปืนซึ่งผู้ตายที่ 2 ถูกยิง ซึ่งแนววิถีกระสุนนี้จากผลการตรวจศพของผู้ตายที่ 2 ตามรายงานการตรวจศพของแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ว่ามีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณทรวงอกด้านซ้ายส่วนบนเกิดจากกระสุนปืนทิศทางหลังไปหน้า แนวตรง แนวระดับ โดยเฉพาะพื้นที่ถ.พระราม 1 นั้นทั้งด้านซ้ายและด้านขวาตั้งแต่สนามกีฬาแห่งชาติจนถึงหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนไม่ปรากฎว่ามีบุคคลใดนอกจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารหน่วยนี้ประจำการและเข้าไปควบคุมพื้นที่ถ.พระราม 1 ไว้ทั้งหมดแล้ว
ประกอบกับได้ความจาก น.ส.ผุสดี งามขำ พยานญาติผู้ตายที่ 2 ร่วมเบิกความสนับสนุนว่า ได้เข้ารวมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.- 19 พ.ค. 2553 ณ เวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงเวทีแยกราชประสงค์จนกระทั่งถึงเวลา 13.00 น. ของวันที่ 19 พ.ค.2553 กลุ่ม นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์และได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมไปขึ้นรถโดยสารประจำทางที่สนามกีฬาแห่งชาติเพื่อกลับภูมิลำเนาส่วนหนึ่งให้เข้าไปพักที่วัดปทุมวนารามซึ่งได้ประกาศเป็นเขตอภัยทานพยานยังคงนั่งอยู่ที่หน้าเวทีและเดินรอบเวทีปราศรัยรวมทั้งเส้นทางของถ.พระราม 1 ขณะนั้นเวลาประมาณ 15.00 น. เศษพยานได้เห็นเจ้าพนักงานเข้าควบคุมพื้นที่ทั้ง 4 ด้านล้อมรอบแยกราชประสงค์ไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะบริเวณถ.พระราม 1 หน้าวัดปทุมวนารามเจ้าพนักงานได้เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้แล้วทั้งหมดเช่นเดียวกัน
ผู้ตายที่ 2 ตายจากกระสุนปืนของทหาร ร.31 พัน.2 รอ.
ส่วนร.ท.พิษณุเบิกความว่าเห็นชายสองคนอยู่บริเวรขอบปูนกั้นของตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่าได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงมาจุดที่พยานประจำการนั้นเห็นว่าขณะเกิดเป็นเวลากลางวันและมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าไปทำข่าวเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแต่กลับไม่ไม่บันทึกภาพถ่ายของชายคนดังกล่าวมาแสดงซึ่งเป็นข้อพิรุธและสงสัยอีกทั้งถ้อยคำของ ร.ท.พิษณุ ยังขัดแย้งกับเจ้าพนังงานทหารในหน่วยเดียวกันและประจำจุดเดียวกันและไม่ไกลกัน ตามแผนที่ในแผนผังประกอบการพิจารณา (หมาย ร.97)โดยเฉพาะ ส.อ.สมพงษ์จินดาวัตน์ ซึ่งประจำการอยู่ใกล้กับ ร.ท.พิษณุตามปรากฏในแผนผังประกอบการพิจารณากล่าวเบิกความว่าไม่มีบุคคลใดเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณดังกล่าวแล้วไม่มีปลายกระบอกปืนพาดกับขอบตอหม้อรถไฟฟ้า BTS ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.100 พยานทั้ง 3 จึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่จบริเวณดังกล่าว หากชาย 2 คนบริเวณดังกล่าวใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับ ร.ท.พิษณุ ทัสแก้วเจ้าพนักงานนายอื่นที่บริเวณดังกล่าวคงไม่ปล่อยให้ ร.ท.พิษณุใช้อาวุธปืนเพียงลำพังเพียงคนเดียวนานถึง 40 นาที
ด้วยพยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติของผู้ตาย ประกอบกับประจักษ์พยายานพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องการตาย เชื่อว่าผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายเพราะถูกกระสุนปืนความเร็วสูงขนาด .223 ของเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประจำการอยู่ถนนพระรามที่ 1 หน้าห้างสรรพสินค้าพารากอน
ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน
สำหรับการตรวจหาคลาบเขม่าดินปืนของมือผู้ตายทั้ง 6 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กับการตรวจของกองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ความจาก พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมเบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.53 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประสานมายังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมให้มาดูสถานที่เกิดเหตุภายในวัดปทุมฯ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กับเจ้าหน้าที่สถาบันฯได้เดินทางไปยังวัดปทุมฯ ขณะไปถึงเวลา 8.00 น. เศษ พบศพทั้ง 6 ศพนอนเรียงอยู่ใกล้ศาลา แต่ละศพมีเสื่อคลุม พยานตรวจสถานที่เกิดเหตุคลาบโลหิต รวมทั้งตรวจมือของผู้ตายทั้ง 6 เพื่อหาอนุภาคที่มาจากการยิงปืนซึ่งผลการตรวจนั้นไม่พบอนุภาคที่มาจากการยิงปืนทั้ง 6 ศพตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานราชการหน่วยแรกที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุตรวจสภาพศพทั้ง 6 ศพ รวมทั้งจัดเก็บหลักฐานการตรวจเม่าดินปืนบริเวณมือทั้ง 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 ก่อนหน่วยงานอื่น โดยแสดงถึงวิธีการจัดเก็บหลักฐานคลาบเขม่าดินปืนดังกล่าวตามหลักการวิทยาศาสตร์ไว้อย่างละเอียด ดังนั้นผลของการตรวจเขม่าดินปืนที่มือของผู้ตายทั้ง 6 ศพของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือด้วยหลักฐานจึงเชื่อว่ามือทั้ง 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีเขม่าดินปืนแสดงว่าผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน
ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจค้นอาวุธของกลางภายในวัดปทุมและพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1
สำหรับอาวุธปืน กระสุนปืน และปลอกกระสุนปืน ลูกระเบิดชนิดต่างๆที่ตรวจยึด เห็นว่าหลังจากการตรวจยึดอาวุธปืนขอกางดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่นสถาบันนิติวิทยาศาสตร์หรือกองพิสูจน์หลักฐานกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อตวรจหาลายนิ้วมือแฝงและสายพันธุกรรมดีเอ็นเอในการสืบหาคนร้ายที่ครอบครองของกลางดังกล่าวแม้กระทั้งปัจจุบันก็ไม่พบว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เกี่ยวกับของกลางอีกทั้งของกลางดังกล่าวก็ไม่ได้ตรวจยึดในวันเกิดเหตุ คือวันี่ 19 พ.ค.53 ทันที ขณะนั้นเจ้าพนักงานทหารได้ควบคุมพื้นที่ด้านภายในวัดปทุมฯและถนนพระรามที่ 1 ไว้หมดแล้วก่อนที่เจ้าหน้าที่กลุ่มงานกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุอีกทั้งการตรวจยึดของกลางก็ตรวจยึดหลังจากเกิดเหตุแล้วเป็นเวลาหลายเดือนการตรวจยึดของกลางดังกล่าวนั้นจึงมีข้อพิรุธ
ประกอบกับได้ความจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. และ พ.ต.อ. ปรีชา เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.53 ศอฉ.ได้มีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด ต่อมาวันที่ 13 พ.ค.53 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดาหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ออกประกาศ ศอฉ.ห้ามใช้เส้นทางเข้าหรือออกเส้นทางที่กำหนดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.53 เป็นต้นไป ในวันดังกล่าวพล.อ.อนุพงษ์ ได้ออกคำสั่งระงับการให้บริการเส้นทางคมนาคมทางน้ำและในวันดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ได้ออกคำสั่งให้งดบริการรถไฟฟ้าสถานีราชดำริสยาม ชิดลม รวมทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินในสถานีสีลม สถานีลุมพินี ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.53 เป็นต้นไป นอกจากนี้วันที่ 13 พ.ค.53 กองบังคับการตำรวจนครบาลได้ออกคำสั่งกำหนดจุด 13 จุดโดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.53 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จภารกิจ เจ้าหน้าที่หน่วยประจำหลักพกปืนพกประจำกายการตั้งด่านดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ต้องการจัดการคนเข้าและออกในพื้นที่ดังกล่าวโดยห้ามไม่ให้บุคคลนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมแยกราชประสงค์รวมทั้งพื้นที่โดยรอบแสดงให้เห็นว่าการตั้งด่านเข้มแข็งของเจ้าพนักงานในพื้นที่ดังกล่าวย่อมเป็นการยากที่บุคคลใดจะนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่วัดปทุมฯ และพื้นที่ถนนพระราม 1 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ควบคุมได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารจากพยานหลักฐานและเหตุผลดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจค้นอาวุธของกลางภายในวัดปทุมและพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1
จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายที่ 1 คือนายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 2 คือนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 คือนายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 4 คือนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 คือ น.ส.กมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 6 คือนายอัครเดช ขันแก้ว ถึงแก่ความตายภายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหารแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม.ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก ผู้ตายที่ 2 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจตับ ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าไปในช่องปากโดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการอ่านคำสั่งศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้างแสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าวโดยศาลมีคำสั่งให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150″
ooo
′ประยุทธ์′ตั้งชุดสอบสวนคดี99ศพใหม่
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2558 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาทางคณะทำงานได้ประชุมวางแนวทางการสอบสวนและทบทวนเพื่อแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาทั้งตำรวจนครบาลและดีเอสไอในชุดพนักงานสอบสวนชุดเก่านั้นได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายและเกษียณอายุราชการ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้น โดยทางดีเอสไอได้แต่งตั้งให้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว และ พ.ต.ท.ไพศิษฐ์ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอเข้ามากำกับดูแลการสืบสวนสอบสวนในสำนวนคดีที่เหลือ โดยมีนางสุวณาเป็นหัวพนักงานสอบสวน และ พล.ต.ท.ศรีวราห์ และรองอธิบดีทั้ง 3 คนเป็นรองหัวหน้าพนักงานสอบสวน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553 ศาลมีคำสั่งไต่สวนเกี่ยวกับการตายแล้ว 28 ศพ ดีเอสไอได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการแล้ว 10 ศพ และอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนของดีเอสไอ 18 ศพ ในจำนวน 10 ศพ ประกอบด้วย 6 ศพวัดปทุมวนาราม นายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ นายชาติชาย ชาเหลา และนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ยังเหลือสำนวนที่ดีเอสไอส่งให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ไปชันสูตรพลิกศพให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามขั้นตอนกฎหมาย 56 ศพ ขณะนี้ทาง บช.น.ยังไม่ได้ส่งสำนวนกลับมาให้ทางดีเอสไอ อย่างไรก็ตามยังมีสำนวนคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนการตายของศาล 5 ศพ 1 ใน 5 ศพ คือนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ทั้ง 5 ศพนี้ศาลนัดฟังคำสั่งศาลในวันที่ 5 เมษายนนี้
ooo
Published on Apr 11, 2012