วันจันทร์, กันยายน 03, 2561

วันนี้ ถ้า”บิ๊กจ๊อด” รับรู้ได้ คงดีใจ ที่ ลูกชายคนนี้ ได้เป็น ผบ.ทบ. - และหวังยังไม่ลืมคดีความที่มีการฟ้องร้องแย่งชิงมรดกกองโต ระหว่าง"บ้านเล็ก-บ้านใหญ่"



ปริศนามรดก"บิ๊กจ๊อด"


เผยแพร่: 20 พ.ย. 2548  
โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม
MGR Online


หากพูดถึง....พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือ"บิ๊กจ๊อด"อดีตประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.)เจ้าของคำกล่าว "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน "ที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว...ถือว่าทุกคนคงจดจำได้เป็นอย่างดี หรือบางคนแทบไม่อยากจะระลึกถึง ในเหตุการณ์เลวร้ายของการเมืองไทย ในยุคนั้น


แต่เพื่อย้ำเตือนความทรงจำ....ของผู้คน ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เริ่มสับสน ในตัวผู้นำ...

วันนี้ กองมรดก ของ"บิ๊กจ๊อด"แท้จริง ได้มาจากไหน คดีความที่มีการฟ้องร้องแย่งชิงมรดกกองโต ระหว่าง"บ้านเล็ก-บ้านใหญ่"จบลงอย่างไร และมีการพิสูจน์ทราบ การได้มาซึ่งทรัพย์สินของ ประธาน รสช.ในยุคนั้นหรือไม่

ครั้งหนึ่ง ได้เกิดคดีฟ้องร้องระหว่าง คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ ภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้อง ของ"บิ๊กจ๊อด" พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ประธานคณะนายทหาร รสช.ที่เสียชีวิตไปแล้ว กับภรรยาอีกคนที่ชื่อ"อัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร" เพื่อขอจัดการกองมรดก ที่มีทรัพย์สิน และเงินสดรวมกันประมาณ 4 พันล้านบาท

โดยที่ศึกแย่งชิงมรดกปริศนา ครั้งนั้น ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า พล.อ.สุนทร สะสมทรัพย์สมบัติมหาศาลนี้ได้อย่างไร และได้มาโดยสุจริตหรือไม่ และควรจะเชื่อใครระหว่างภรรยาคนแรก กับ ภรรยาน้อย

เนื่องจาก พล.อ.สุนทร มีบทบาทมากที่สุด ในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ท่ามกลางเสียงครหาถึงเพื่อนนายทหารร่วมรุ่นและเพื่อนรุ่นน้อง ที่ผนึกกำลังกัน ยึดอำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าหวังดีต่อประเทศชาติ

พล.อ.สุนทร เสียชีวิต ท่ามกลางเสียงสรรเสริญจากนายทหารรุ่นพี่ และรุ่นน้อง รวมทั้งสังคมไทยที่ไม่ต้องการย้อนหลังประณามความไม่ดีงามของคนตาย จึงไม่ค่อยมีใครสนใจจะรู้ถึงทรัพย์สมบัติของนายทหารแห่งคณะ รสช.ว่าแต่ละคนมีมากขนาดไหน

แต่จากคดีความที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมฉุกคิดขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังจาก รสช.ยึดอำนาจสำเร็จยังมีปริศนาหลายเรื่องที่ควรจะถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ ซึ่งถ้าหากไม่มีกรณีการฟ้องร้อง เพื่อช่วงชิงเป็นผู้จัดการมรดกระหว่างคุณหญิงอรชร กับ อัมพาพันธ์ ที่มีมูลค่ามหาศาลตามคำฟ้อง ของคุณหญิงอรชร สังคมไทยก็คงจะค่อยๆ ลืมเรื่องราวของ พล.อ.สุนทร และถ้าหากทรัพย์สมบัติของ พล.อ.สุนทร มีจำนวนไม่มากนักก็จะถูกแบ่งสรรกันไปอย่างสงบเงียบโดยไม่มีใครตั้งคำถามถึงที่มาของทรัพย์สมบัติ

การฟ้องร้องชิงมรดกของ"บิ๊กจ๊อด"ครั้งนั้น หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อสังคมไทยว่า...ไม่ควรปล่อยให้การฟ้องร้องที่เกิดขึ้น เป็นเพียงคดีแย่งชิงมรดกปกติ แต่ควรจะติดตามทวงถามให้อดีตภรรยาของ พล.อ.สุนทร ได้ชี้แจงถึงที่มาของทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลของ พล.อ.สุนทร ถ้าหากมั่นใจว่า เป็นการได้มาโดยสุจริต ในขณะเดียวกัน หน่วยงานของรัฐ และองค์กรอิสระ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันควรจะใช้กลไกที่มีอยู่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่นการเสียภาษีจากทรัพย์สมบัติที่อยู่ในบัญชีธนาคาร การตรวจสอบการโอนเงิน และถอนเงินจากบัญชีเงินฝากในแต่

ละครั้ง ว่า ใครเป็นผู้โอนเงินเข้า และโอนเงินออก ไปสู่บัญชีไหน สังคมไทยไม่ควรจะนิ่งเฉยอโหสิกรรมให้กับผู้มีอำนาจคนใดก็ตามเมื่อเสียชีวิตไปแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำในช่วงที่มีอำนาจได้ใช้อำนาจโดยมิชอบ....

ซึ่งจากคำถามแห่งปมปริศนาในกองมรดก"บิ๊กจ๊อด"ครั้งนั้น วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการฯขึ้นมาตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร โดยใช้เวลานานกว่า 3 ปี เมื่อวันที่ 4 พ.ค.48 มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ติดตามการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธาน รสช. ที่มีนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายทองใบ ทองเปาด์ ส.ว.มหาสารคาม ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ได้แบ่งการพิจารณาเป็น 3 ประเด็นคือ 1.ทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทรและบุคคลใกล้ชิดตามที่ตกเป็นข่าวจากการฟ้องร้องแบ่งมรดกนั้น มีอยู่จริงหรือไม่ 2.ทรัพย์สินเหล่านั้นได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือ ไม่ และ 3. ทรัพย์สินเหล่านั้นเสียภาษีเงินได้หรือไม่

นายทองใบ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ารายการทรัพย์สินที่เป็นรูปธรรมของ พล.อ.สุนทร มีจำนวนไม่มาก และไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินเกินฐานะความเป็นอยู่ หรือเกินกว่าตำแหน่งหน้าที่ในราชการ คณะกรรมาธิการฯจึงมีข้อสันนิษฐานพอเชื่อได้ว่า พล.อ.สุนทร มิได้มีทรัพย์สินร่ำรวยเกินฐานะหรือผิดปกติแต่อย่างใด ในส่วนของนางอัมพาพันธุ์ ธเนศเดชสุนทร ที่ใช้ชีวิตร่วมกับ พล.อ.สุนทร นานกว่า 20 ปี มีประวัติเคยเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่ได้ประกอบธุรกิจและกิจการค้าเป็นรูปธรรม ไม่ได้ ประกอบการงานใดเป็นหลักแหล่ง คณะกรรมาธิการฯได้ ขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบการได้มาซึ่งทรัพย์สิน รวมถึงการฝาก-ถอนเงินแต่ไม่พบว่าเข้าข่ายมูลฐานความผิดกฎหมายฟอกเงิน จึงไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ ปปง. จึงประสาน ไปยังกรมสรรพากรให้ตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป

ประธานคณะกรรมาธิการฯกล่าวว่า จากการตรวจ สอบการเสียภาษีย้อนหลังของนางอัมพาพันธุ์ ระหว่างปี 2534-2543 ของกรมสรรพากร โดยนำยอดเงินฝากทั้งหมด 29 บัญชี มาพิจารณามีข้อสรุปว่า นางอัมพาพันธุ์ สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของเงินได้ประมาณ 400 ล้านบาท แต่ไม่สามารถชี้แจงและพิสูจน์แหล่งที่มาของเงินสด 100 ล้านบาทได้กรมสรรพากรจึงถือว่าเงินได้ 100 ล้านบาท ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีพร้อมค่าปรับเป็นยอดเงิน 75 ล้านบาท

ด้าน พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว. กทม. รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับนางอัมพาพันธุ์ จำนวน 15 บัญชี พบว่ามีเงินไหลเข้าออกรวม 2,750 ล้านบาท แต่ละครั้งมียอดเงินเข้าออกคราวละ 70-80 ล้านบาท ซึ่ง ปปง. ไม่สามารถตรวจสอบยอดเงินดังกล่าวได้ว่านำไปทำอะไร เมื่อ ปปง. ขอเอกสารไปก็มีการบ่ายเบี่ยงตลอด นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบบัญชีของ พล.อ.สุนทร ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีเงินฝาก 60 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า พล.อ.สุนทร ไปเปิดบัญชีไว้จริงหรือไม่ หรือมีคนอื่นแอบอ้างชื่อทำให้ท่านต้องเสียหาย นางอัมพาพันธุ์ อยู่กับ พล.อ.สุนทร มานาน ถ้าไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินได้สังคมย่อมตั้งข้อครหา และที่ตนติดใจมากคือ เมื่อ พล.อ.สุนทร เสียชีวิต ทำไมผู้จัดการมรดก ถึงนำบัญชีมาจัดสรรปันส่วนไม่ได้

สุดท้าย ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติให้ความเห็นชอบส่งรายงานฉบับนั้น พร้อมข้อ สังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปให้คณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป

จุดจบ มรดกบิ๊กจ๊อด ชื่นมื่น 

ด้านคดีความ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดย นายเจียม เสาวภา ผู้พิพากษาอาวุโสพร้อมองค์คณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งในคดีที่ นางอัมพาพันธ์ หรือยุ้ย ธเนศเดชสุนทร และ พล.อ.สมโภชน์ สุนทรมณี ผู้ร้องที่ 1 และ 2 ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็น ผู้จัดการมรดกของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมี พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ ภรรยากับบุตรชาย 2 คน คือ พ.ท.อภิรัชต์ และ พ.ต.ณัฐพร คงสมพงษ์ เป็นผู้คัดค้านที่ 1-3

ซึ่งถึงเวลานัด ทั้งนางอัมพาพันธ์ และ พ.อ.หญิงคุณหญิง อรชร เดินทาง ไปศาล พร้อม คณะฝ่ายละหลายสิบคน แต่ปรากฏว่าคู่ความ ทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มจะตกลงกันได้ นายเจียม เสาวภา จึงให้ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ยอมความกันที่ห้องไกล่เกลี่ย มีนายตั้งใจ ศาสตร์ศศิ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายสมภพพิสิษฐ สุขพิสิษฐ รองอธิบดี ร่วมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย จนคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย สามารถตกลงกันได้

จากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ออกนั่งบัลลังก์อีกครั้ง โดยทนายความทั้ง 2 ฝ่าย ทำสัญญาประนีประนอมความกันต่อหน้าศาล ก่อนที่ศาลจะอ่านคำสั่งในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกว่า

"นางอัมพาพันธ์ อยู่กินเป็นสามีภรรยากับเจ้ามรดกจนกระทั่งเสียชีวิต ผู้ตายทำพินัยกรรม 2 ฉบับ มอบให้นางอัมพาพันธ์ และ พล.อ.สมโภชน์ เป็นผู้จัดการมรดกและดำเนินการจัดพิธีศพ เมื่อศาลวินิจฉัยพินัยกรรม 2 ฉบับ แล้วเห็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้ง ผู้คัดค้านทั้ง 3 ไม่ติดใจในกรณีพินัยกรรมปลอม เห็นว่าคดีตกลงกันได้ด้วยดีตามที่ศาลไกล่เกลี่ย ส่วน พล.อ.สมโภชน์ ผู้ร้องที่ 2 ขอถอนตัวจากผู้จัดการมรดก พิเคราะห์แล้วพิพากษาตั้งนางอัมพาพันธ์ ผู้ร้องคนที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว"หลังยุติคดีได้ นางอัมพาพันธ์ ได้เซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 21 ล้านบาท ให้ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะลงนามรับทราบสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น มีการจับไม้จับมือกัน และนั่งใกล้ชิดกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะที่ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร กล่าวสั้นๆ ว่าเรื่องนี้จบเรียบร้อยแล้ว ถือว่าไม่มีใครแพ้ใครชนะ

คดีความศึกแย่งชิงมรดก ของผู้ยิ่งใหญ่ ในยุค รสช.ที่ได้บังเกิดขึ้นในขณะนั้น ถือเป็นคดีความที่ต้องบันทึกไว้ ในหน้าหนึ่งของคดีดัง แต่เมื่อคดีได้ยุติลง โดยการประนีประนอม ของ"บ้านใหญ่-บ้านเล็ก"เพื่อยุติการสืบพยานค้นหาความจริง โดยที่สังคมไม่มีสิทธิที่จะรับรู้ หนทางแห่งการได้มา ซึ่งมรดกกองโตของ"บิ๊กจ๊อด"จึงทำให้ ยังคงเป็นปริศนาคาใจของผู้คน มาถึงทุกวันนี้...