วันจันทร์, กันยายน 03, 2561

ปมเหตุที่ครม.บิ๊กตู่สัญจรใต้ เกิดอาการ "ไม่ว่าง ขอไปสวดมนต์ก่อน?" 1. การประมงเจ๊งหมด 2. สวนยางเจ๊งเรียบ 3. ท่องเที่ยววังเวง 4 .เงินสดหายไปจากตลาด -



การเดินทางประชุม ครม.สัญจรของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม ที่จังหวัดระนองและชุมพร แตกต่างจากที่ผ่านมา ที่มีการนำอดีต ส.ส.มาพบปะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี

แต่ที่ระนองและชุมพรอันเป็นพื้นที่ของประชาธิปัตย์และพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีเสียงจากบรรดาอดีต ส.ส. ว่า ติดธุระ คงไปต้อนรับไม่ได้

ซึ่งเข้าใจได้ เพราะภาคใต้ที่เคยสนับสนุนรัฐบาล คสช.เต็มๆ ตอนนี้มีปัญหาราคาพืชผล การทำประมง ฯลฯ

อาการ “ไม่ว่าง” อาจเห็นได้จากนายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า เบื้องต้นทางจังหวัดจะมีการเชิญตนและนักการเมืองคนอื่นๆ ไปร่วมต้อนรับและพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ยังไม่มีการเชิญอย่างเป็นทางการ

หากมีการเชิญมาจริง ตนไม่ไป เพราะอยู่ในเขตเลือกตั้ง อ.หลังสวน และ อ.สวี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่ที่ประชุม ครม. ยกเว้นมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเขาจะเดินทางไปเอง

หรือนายสราวุธ อ่อนละมัย อดีต ส.ส.ชุมพร กล่าวว่า เขาไม่ได้เชิญให้ไปพบกับนายกฯ และ ครม. แม้เชิญ ตนก็ไม่ไป เพราะตนไม่อยู่ในพื้นที่ เนื่องจากติดภารกิจ

อย่างไรก็ตาม น่าจะมีชาวบ้านไปชูป้ายร้องเรียนเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร แต่ไม่ใช่การประท้วง
ส่วนนายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. กล่าวว่า เมื่อ ครม.มาสัญจรที่ จ.ชุมพร ประชาชนก็ดีใจและไปต้อนรับอยู่แล้ว

ในส่วนของตน ทางจังหวัดยังไม่มีการเชิญให้ไปร่วมต้อนรับ และตอนนี้สภาพร่างกายของตนไม่สะดวก คงไม่ไปร่วม แต่ถ้าสุขภาพของตนพร้อมสมบูรณ์ อาจเปลี่ยนใจไปต้อนรับก็ได้

อาการของอดีต ส.ส.ปชป. ยังสะท้อนให้เห็นจากการโพสต์ข้อความของนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ว่า ญาติพี่น้องขึ้นมาจากภาคใต้หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยประสบชะตากรรมลำบากอย่างวันนี้

1. การประมงเจ๊งหมด
2. สวนยางเจ๊งเรียบ และยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขอย่างไรได้
3. ท่องเที่ยว หายไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว แนวโน้มวังเวงมาก
4 .เงินสดหายไปจากตลาด ถึงขั้นที่ชาวบ้านไม่อยากออกจากบ้านไปจ่ายตลาดกันแล้ว ผมเองเป็นคนภาคใต้ อายุขนาดนี้ ยังไม่เคยได้ยินข่าวคราวพี่น้องที่บ้านเกิดและภาคใต้ตกระกำลำบากอย่างนี้เลย ก็ต้องบ่นให้ได้รู้ได้ยินกันบ้าง

และต่อมาโพสต์อีกสเตตัสว่า ซึ่งจะดูแลอาณาประชาราษฎรให้อยู่ดีกินดีนั้น จะคำนึงแต่ตัวเลขอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสามารถเล่นกลสร้างตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยที่ประชาชนไม่ได้รับผลอะไรเลย

พร้อมกับยกตัวอย่างโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่ผลไม่ได้ตกกับประชาชน

เห็นชัดว่าปมปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้บรรดานักการเมืองต้องกำหนดท่าทีของตนเองใหม่หมด

แม้แต่คนที่เคยทำงานใกล้ชิดในฐานะซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรืออดีตกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หลังปฏิวัติพฤษภาคม 2557 ใหม่ๆ และเคยมีท่าทีแข็งขันในเรื่องการปฏิรูป อย่างนายบรรยง พงษ์พานิช โพสต์เฟซบุ๊กว่า เห็นข่าวช่วงนี้แล้วเลยทำให้เข้าใจเลยว่า ทำไมในขณะที่รัฐบาล ทั้งตัวนายกฯ ทั้งคณะทีมเศรษฐกิจ ต่างตีฆ้องร้องป่าวประกาศผลงานรัฐบาล ว่าที่ทุ่มเทมาตลอดสี่ปี สามารถฉุดอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจากต่ำเตี้ยเรี่ยดินขึ้นมาได้ จนครึ่งปีแรก GDP เติบโตได้ตั้ง 4.8% แล้วทำท่าว่าจะยั่งยืนไปได้ทั้งปี

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวรากหญ้า ชาวบ้านร้านตลาด และคนหากินตัวเล็กตัวน้อยจึงยังไม่รู้สึกดีขึ้นด้วยเลย แถมหลายภาคส่วนรู้สึกแย่ลงด้วยซ้ำ

ส่วนพวกชาวหุ้น พวกนายทุนต่างก็ดีใจกันทั่วหน้า ที่ครึ่งปีแรกนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรรวมกันถึง 5.5 แสนล้านบาท มีอัตราเติบโตถึง 20% เทียบกับกำไรในช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจภาคตลาดหุ้นและภาคบรรษัททั้งหลายก็น่าจะดีอย่างเขาว่าจริงๆ

นายบรรยงระบุว่า ตามสถิติเดิม กำไรในตลาดหุ้นจะมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของกำไรนิติบุคคลใน
ประเทศไทยทั้งหมด หมายความว่า ปีที่แล้วที่ทั้งประเทศมีรายได้ประชาชาติรวม 15 ล้านล้านบาทนั้น
ถ้านับด้านรายได้ สรุปได้ว่าเกือบ 30% ตกเป็นของทุน (Capital) ซึ่งหมายถึงเจ้าของกิจการทั้งไทยทั้งเทศ ซึ่งประมาณว่ามีไม่กี่แสนคน ไม่ถึง 1% ของประชากร

ส่วนคนส่วนใหญ่ประมาณสี่สิบล้านคนที่รับเป็นเงินเดือนค่าจ้าง (Wage) นั้น ตามสถิติมีส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 42% รวมกัน 6.3 ล้านล้าน ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากค่าเช่า (Property) ดอกเบี้ย (Interest) ซึ่งก็คือทุนอีกนั่นแหละ รายได้ของรัฐและจากเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่เป็นทางการ

ทีนี้พอมาครึ่งปีแรกนี้ รายได้ประชาชาติรวมโตขึ้น 4.8% ซึ่งถ้ารวมเงินเฟ้อ 1.5% ก็เท่ากับเติบโตได้ 6.3% แต่กำไรของบริษัทซึ่งมีส่วน 30% เติบโตตั้ง 20% ก็พอจะเดาได้ว่าคนส่วนใหญ่ซึ่งกินเงินเดือนกับทำงานนอกระบบจะเป็นอย่างไร ก็ติดลบน่ะสิครับ

ยิ่งแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยกำลังมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ทะยานไม่หยุด ยิ่งน่ากังวลแทนคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งไม่มีเงินออม ไม่มีทรัพย์สินสะสม ว่าจะต้องลดส่วนแบ่งอันหมายถึงลดรายได้แท้จริงไปอีกเรื่อยๆ
ถามว่าเรื่องนี้ใครผิด?

บริษัทห้างร้าน นายทุน รัฐบาล หรือประชาชนทั่วไป

จริงๆ ไม่มีใครผิดหรอกครับ บริษัทก็มีหน้าที่ที่ต้องเพิ่มกำไร นายทุนเขาก็แสวงหาผลตอบแทน รัฐบาลก็มีหน้าที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปให้ได้ มันเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่สะสมหมักหมมมานาน

แล้วถามว่าทิศทางแก้ปัญหาที่ทำอยู่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศที่มีแล้วนั้น โครงการประชารัฐต่างๆ เหล่านี้จะตอบโจทย์แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไหม? (ในความเห็นผม) คิดว่ายังไม่เพียงพอ แถมหลายเรื่องเป็นการหลงทางเสียด้วยซ้ำ

เช่น การไม่กระจายอำนาจ การเน้นความมั่นคงที่ไม่ตรงจุดโดยเพิ่มกฎระเบียบทุกวัน การเพิ่มขยายขนาดบทบาทและอำนาจรัฐ การตัดการมีส่วนร่วม ฯลฯ

แล้วถามว่าควรจะทำยังไง?

ก็คงต้องตอบว่าไม่ทราบครับ ขอไปสวดมนต์ก่อน

นั่นคือเสียงจากคนเคยสนับสนุน และเกิดอาการไม่ว่าง ติดธุระบ้าง ติดสวดมนต์บ้าง

เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของรัฐบาล คสช. ในอีกแง่มุมหนึ่ง


ที่มา
https://www.matichonweekly.com/column/article_129138

แมลงวันในไร่ส้ม / อาการ ‘ติดธุระ-ไม่ว่าง’ ครม.บิ๊กตู่สัญจรใต้ ผลจากปม ‘เศรษฐกิจ’