วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 17, 2560

ทหารฟ้องนักวิชาการไทยศึกษาที่เชียงใหม่ ข้อหามั่วสุมชุมนุมการเมือง

ว่าถึงเรื่องแจ้งความดำเนินคดีนักวิชาการไทยศึกษากับพวก
ชำนาญ จันทร์เรือง

อนุสนธิจากการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 (13th International Conference on Thai Studies) ที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประชุมไทยศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะมีผู้เข้าร่วมเป็นนักวิชาการด้านนี้ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกกว่า 1 พันคน มีหัวข้อการประชุมและบทความที่นำเสนอกว่า 500 บทความ

แต่น่าเสียดายที่สิ่งดีๆ เหล่านี้ได้ถูกลดทอนหรือทำให้เสียบรรยากาศจากผู้ที่ไม่เข้าใจและมีความวิตกกังวลมากเกินเหตุ

ในการประชุมฯ มีการแลกเปลี่ยนและนำเสนอบทความทางวิชาการอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นอย่างมากมาย มีการทำกิจกรรมและนิทรรศการควบคู่กันไป มีการรวมตัวและออกแถลงการณ์ (อันเป็นปกติในเกือบทุกๆ เวทีวิชาการ) ให้ คสช.ผ่อนคลายการจำกัดสิทธิเสรีภาพจากนักวิชาการที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งบรรยากาศการประชุมฯ ก็ดำเนินไปด้วยดี

โดยในระหว่างประชุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาทำหน้าที่ในการหาข่าวและถ่ายรูปตามปกติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด

แต่ในการทำหน้าที่นั้นบางครั้งก็ดูรุ่มร่าม ประเจิดประเจ้อ ลุกเข้าลุกออก ฯลฯ จนทำให้นักวิชาการไทยมีความรู้สึกว่าน่าอาย

ถึงวันสุดท้ายก็เลยมีการจัดทำแผ่นกระดาษ (flip chart) นำมาเรียงต่อกันเป็นข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งผู้พบเห็นต่างก็มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันพอสมควร

แต่การณ์กลับปรากฏว่าในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้มีการเผยแพร่การรายงานข่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ถึงหน่วยงานในส่วนกลาง โดยระบุรายชื่อผู้เข้าประชุมบางคนว่ามีพฤติกรรมที่อาศัยการประชุมฯ เพื่อดำเนินกิจกรรมและจะได้เรียกตัวมาพูดคุยต่อไป ซึ่งเรื่องก็เงียบหายไป โดยเป็นที่เข้าใจว่าเรื่องคงยุติไปแล้ว หลังจากที่ผู้จัดและจังหวัดเชียงใหม่ได้รับคำชื่นชมมากมาย

แต่ในที่สุดไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลอันใด ในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหาโดยการแจ้งความของนายทหารจากกองกำลังรักษาความสงบในพื้นที่ โดยระบุตัวผู้ต้องหาคือ นายชยันต์ วรรธนะภูติ (ประธานฝ่ายวิชาการของการประชุมฯ) กับพวกรวม 5 คน 

ในข้อหา มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จากหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย"

โดยกำหนดให้ไปพบกับพนักงานสอบสวนในวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ แต่เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่กระชั้นชิดและผู้ต้องหาบางรายยังไม่ได้รับหมายเรียกฯ อย่างเป็นทางการ

ผู้ต้องหาจึงขอเลื่อนการเข้าพบไปเป็นวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2560 เวลา 13.00 น.

การที่มีหมายเรียกผู้ต้องหาในครั้งนี้ ได้สร้างความงุนงงสงสัยและความคับข้องใจแก่นักวิชาการทั้งหลายที่ทราบข่าวนี้เป็นอันมาก เหตุผลคงมิใช่เพียงเพราะผู้ที่ถูกหมายเรียกฯ เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับโลกด้านไทยศึกษา หรือมีนักข่าวและนักแปลกับนักกิจกรรมตกเป็นผู้ต้องหาด้วย ซึ่งจะทำให้ไทยเราตกเป็นข่าวไปทั่วโลก เท่านั้น

ล่าสุด Human Right Watch ได้ออกแถลงการณ์แล้ว(https://www.hrw.org/news/2017/08/16/thailand-drop-bogus-charges-against-thai-studies-academics)

แต่ด้วยข้อที่ถูกกล่าวหานั้น เมื่อดูตามองค์ประกอบของการกระทำความผิดแล้ว ไม่ว่าจะดูอย่างไรก็ไม่เข้าข่ายในฐานความผิดนี้ไปได้

ครั้นดูเหตุผลทางด้านการดำเนินนโยบายทางการเมืองการปกครอง แล้วยิ่งไม่เข้าใจว่าเมื่อทำเช่นนี้ รัฐหรือฝ่ายบ้านเมืองจะได้อะไร นอกจากจะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ที่มักไม่ได้ผลอะไร กลับเป็นผลเสียต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเองเสียด้วย

ซ้ำร้ายตอนแรกดูเหมือนว่าจะใจกว้าง แต่กลับมาดำเนินคดีในภายหลัง และเป็นการดำเนินคดีโดยอาศัยคำสั่ง คสช. ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพนี้ไว้

จริงอยู่แม้ว่าจะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้คำสั่ง คสช.ยังคงสามารถบังคับใช้ได้ แต่ข้อยกเว้นย่อมไม่อาจที่จะไปขัดแย้งกับหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้

บางคนอาจจะโต้แย้งว่าเมื่อไม่ผิดแล้วจะกลัวอะไร (อีกแล้ว) ก็ให้การต่อสู้หักล้างสิ

ใช่ครับ มันก็คงต้องเป็นอย่างนั้น แต่อย่าลืมว่าคนเราเมื่อเป็นคดีความแล้วย่อมมีความยากลำบากตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่าย ภาระที่จะต้องแก้ต่าง กำหนดนัดหมายงาน ฯลฯ แม้ว่าในที่สุดแล้วอาจจะมีการสั่งไม่ฟ้องหรือยกฟ้องก็ตาม

ส่วนเรื่องที่จะให้ไปลงชื่อทำ MOU พร้อมกับปรับทัศนคติแล้วคดีเลิกกัน นั้นคงยากที่เป็นไปได้ เพราะมันหมายถึงเป็นการแสดงว่ายอมรับผิดในสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าไม่ได้ทำความผิด

การดำเนินคดีในลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็น “การอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือ” เข้ามาดำเนินการต่อผู้ที่เห็นต่างกับตนเอง ซึ่งเป็น Rule by Law มิใช่ Rule of Law แต่อย่างใด

เล่าจื๊อ (ตอนนี้กำลังฮิต ฉายที่ช่อง อสมท.ทุกคืนวันเสาร์อาทิตย์ อย่าไปห้ามเขาฉายเสียล่ะ) สอนไว้นานแล้วแต่ก็ยังใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยว่า

กฎหมาย กฎเกณฑ์ เป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นให้ประชาชนเอาแต่จะฝ่าฝืน  ยิ่งมีความเข้มงวดกวดขันและมีข้อห้ามต่างๆ ในโลกมากขึ้นเพียงไร หรือยิ่งมีกฎหมายและคำสั่งมากขึ้นแค่ไหน ขโมยและโจรผู้ร้ายก็ยิ่งมากขึ้นเพียงนั้น

ฉะนั้น การกระทำขั้นแรกของนักการปกครองคือ จะต้องขจัดเหตุทั้งหลายอันเป็นสมุฎฐานของความเสื่อมโทรมในสังคมและความยุ่งเหยิงในทางการเมืองเสียก่อน (ซึ่งก็คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือให้น้อยที่สุด – ผู้เขียน)

บ้านเมืองเราถอยหลังไปไกลมากแล้ว อย่าให้มันถอยหลังไปมากกว่านี้เลยครับ การรักชาติทำได้หลายแบบหลายวิธี เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็รักชาติตามแบบของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นักวิชาการก็รักชาติตามแบบของนักวิชาการ

แต่วิธีหนึ่งที่ตรงกันและจะแสดงให้เห็นถึงการรักชาติอย่างแท้จริงก็คือ การปกป้องเกียรติภูมิและชื่อเสียงของชาติมิให้ตกต่ำ เป็นที่น่ารังเกียจเดียดฉันท์ของเพื่อนร่วมโลก ซึ่งจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจนเป็นผลเสีย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงก็คือประชาชนตาดำๆ นั่นเอง

จิ้งจกทักคนยังฟัง นี่เป็นคนตัวเป็นๆ ที่ก็รักชาติเหมือนกัน ทักแล้วจะไม่ฟังกันบ้างเลยหรืออย่างไร

----------

หมายเหตุ ปรับปรุงจากการเผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2560