“ศ.ดร.สุรชาติ” ชี้ “ยิ่งลักษณ์” หนี แค่เริ่มบทใหม่การเมืองไทย พท.เดินไปข้างหน้าได้มากขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
28 สิงหาคม 2560
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ทิศทางการเมืองหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มาศาล โดยคาดว่าหลบหนีไปต่างประเทศแล้วนั้น โดยระบุว่า การหาผู้นำของพรรคเพื่อไทยคนใหม่ที่จำเป็นจะต้องเป็นคนตระกูลชินวัตรหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่พูดกันไป แต่ผลพวงจากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้มีข้อจำกัดสำหรับบทบาททางการเมืองของคนตระกูลชินวัตรมากขึ้น เพราะสัญญาณที่ตนเห็นคือผู้มีอำนาจพยายามจัดการกับคนในตระกูลชินวัตรพอสมควร ส่วนบทบาทของพรรคเพื่อไทยหลังจากเหตุการณ์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถอยออกไปครั้งนี้ก็มีคนประเมินว่าพรรคอาจจะระส่ำระสาย แต่ตนกลับคิดตรงกันข้ามคือจะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มีสภาพเหมือนมีตัวประกันอีกต่อไป เพราะตนคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์คือตัวประกันทางการเมืองของเพื่อไทย แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจแบบนี้ทำให้พรรคไม่ต้องอยู่ในอาการพะว้าพะวัง และสามารถเดินไปข้างหน้าได้มากขึ้น รวมถึงคนในพรรคที่ต้องช่วยกันคิดและมีความสามัคคีกันมากขึ้น ถ้ายังตัดสินใจจะอยู่กับพรรคต่อไป
“การประเมินผลดีผลเสียจำเป็นจะต้องรอความชัดเจน แต่สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันเหมือนกับการปลดชนวนของระเบิดเวลา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนหน้าวันที่ 25 สิงหาคมทุกฝ่ายต่างกังวลกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ผมคิดว่าเป็นการเปิดบทใหม่ให้กับการเมืองไทยอีกครั้ง เหมือนครั้งหนึ่งที่เราเคยเรียกการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 ว่ายุคหลังทักษิณ แต่ผมคิดว่ายุคหลังยิ่งลักษณ์ไม่ได้หมดไปในการรัฐประหาร 2557 แต่มาหมดไปหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศต่างหาก” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว
และว่า “ในวันนี้เรากำลังจะเห็นการเมืองยุคหลังยิ่งลักษณ์เริ่มขึ้นและจะต้องดูกันต่อในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าสิ่งที่จะเห็นชัดคือการเมืองในช่วงต้นปี 2561 เป็นต้นไปสถานการณ์ทางการเมืองจะเริ่มเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เริ่มรุมเร้าทั้งเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงเสียงเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยด้วย”
ศ.ดร.สุรชาติกล่าวต่อว่า “เหตุการณ์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจแบบนี้ อย่างน้อยก็ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สบายใจในสถานการณ์วันตัดสิน เพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงคงมีความกังวลว่าจะคุมสถานการณ์ลำบาก แต่ในเมื่อเหตุการณ์หักมุมในลักษณะนี้ และผมคิดว่าจะเห็นในทางการเมืองมากในอนาคตคือเมื่อก่อนเรามี 3 สถาบันทางการเมือง คือนิติบัญญัติคือสภา ตุลาการคือศาล และฝ่ายบริหารคือรัฐบาล แต่อนาคตจะเห็นชัดอีก 2 สถาบันคือกองทัพและองค์กรอิสระ โดยองค์กรอิสระจะมีความเชื่อมโยงกับตุลาการเพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นในอนาคตไม่ใช่ตุลาการภิวัฒน์แต่เป็นตุลาการธิปไตย และสิ่งที่เราจะเห็นในวันหน้าคือจะเห็นการผสมผสานระหว่างเสนาธิปไตยกับตุลาการธิปไตยเข้ามาควบคุมการเมืองไทย”
“ส่วนกรณีการลี้ภัยทางการเมืองเราถูกตอบโจทย์ตั้งแต่กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ส่วนการเคลื่อนไหวของรัฐบาลและกลุ่มคนที่เรียกร้องให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็ไม่มีเสียงตอบรับกลับมาจากรัฐบาลประเทศที่นายทักษิณอยู่ ผมเชื่อว่ารัฐบาลในต่างประเทศติดตามการเมืองไทยอยู่พอสมควรเพราะฉะนั้นในบริบทแบบนี้จึงเป็นเรื่องเข้าใจกันได้ หากเรามองว่ารัฐบาลต่างประเทศควรจะไม่รับนั้นผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่ เพราะในสายตาที่เขามองการเมืองไทยอาจจะมองด้วยสายตาของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่กำลังเรียกร้องการเมืองไทย ด้วยความที่นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความสัมพันธ์กันในฐานะพี่กับน้อง ต่อจากนี้จะกลายเป็นกระแส “ทักษิณยิ่งลักษณ์” ที่ตอกย้ำด้วยเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 และ 2557 และผลพวงของคดีโครงการรับจำนำข้าวโดยจะทำให้กระแสทักษิณยิ่งลักษณ์อยู่นานขึ้น” ศ.ดร.สุรชาติระบุ
ศ.ดร.สุรชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า “ส่วนคนที่เห็นแย้งกับการรัฐประหารและความผิดพลาดและนโยบายสาธารณะไม่ใช่คดีอาญาจะยิ่งยอมรับในกระแสทักษิณยิ่งลักษณ์มากขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่เคยดี แล้วเมื่อเศรษฐกิจยิ่งตกก็จะมีกระแส “ทักษิณยิ่งหลอก” และกลายเป็นเสียงเรียกร้องที่คนฝันถึงเพราะเป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยเคยเฟื่องฟู และวันนี้ถ้าเปรียบการเมืองไทยเป็นหนังก็คงเพิ่งเริ่มบทใหม่ของภาพยนตร์เรื่อง “วิกฤตการเมืองไทยที่ยังไม่จบ”
ที่มา : มติชนออนไลน์