ooo
เศรษฐกิจต้มกบ...
ส่วนหนี่งจากบทความ
(Way Magazine)
28 Jun 2017
28 Jun 2017
https://waymagazine.org/20-yrs-tyk-crisis_1/
พอจะเห็นสัญญาณอะไรข้างหน้าในระยะอันใกล้หรือไกลบ้างไหม
ใกล้คงยังไม่เห็น สามปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยช้ามาก โตปีละ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเราโตทีปีละเจ็ดถึงสิบเปอร์เซ็นต์
ในขณะที่คนในสังคมกำลังกลายเป็นคนแก่มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเศรษฐกิจไทยยังโตปีละสามเปอร์เซ็นต์แบบนี้ไปเรื่อยๆ จะหมายความว่ายังไงสำหรับพวกคุณ ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ รุ่นผมเพิ่งจบพอดี อย่างเพื่อนผมจบบัญชีพร้อมกันทำงานบริษัทเอกชน เงินเดือนเริ่มต้นที่หมื่นกว่าบาท โบนัส 12 เดือน แล้วดูตอนนี้ เงินเดือนยังหมื่นกว่าบาทอยู่ใช่ไหม แล้วเงินเดือนคุณขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์แต่ละปี ความสามารถของนายจ้างก็จะจ่ายเงินเดือนได้ลดลง
นั่นแสดงให้เห็นว่า รายได้ของรุ่นคุณจะโตช้า เงินได้โตช้า ในขณะที่พ่อแม่พวกคุณก็ต้องแก่ลง แล้วจะไปเลี้ยงพ่อแม่ ครอบครัวไหวไหม ผู้สูงอายุต้องใช้เงินเดือนมหาศาลนะ นี่ล่ะ คนรุ่นต่อไปกำลังจะเผชิญกับวิกฤติสังคมคนชรา ถ้ารายได้โตไม่เร็ว นั่นคือสิ่งที่จะตามมา
สถานการณ์ในตอนนี้ถือว่าน้ำที่ต้มอยู่กำลังเดือดอยู่หรือเปล่า
ผมก็คิดว่าแบบนั้น สามปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยไม่โต การส่งออกก็ไม่โต ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมไทยถือว่าช้าที่สุด อินโดนีเซียโต 5 เปอร์เซ็นต์ ฟิลิปปินส์โต 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ไทยกลับโตเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ เพราะการส่งออกบ้านเราลดลง ผมไม่มั่นใจว่าตัวเลขพึ่งพิงการส่งออกของฟิลิปปินส์เป็นตัวเลขเท่าไร แต่ดูจากเศรษฐกิจด้วยรวมแล้วเขาโตปีละ 6 เปอร์เซ็นต์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เราแซงฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจเราเหนือกว่า แต่ตอนนี้ฟิลิปปินส์กำลังกลับมาแซงเราแล้ว เมื่อก่อนฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่า ‘Sick Man of Asia’ หรือ คนป่วยแห่งเอเชีย แต่ตอนนี้ไทยกำลังเป็นแทน เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ต่างชาติก็พูดอยู่บ่อยๆ สิ่งที่ผมพูด มันไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งรู้ ถ้าคนที่ตามข่าวสารเศรษฐกิจทั่วโลกก็จะรู้กันอยู่แล้ว
ถ้าตอนนี้ไทยเป็นกบที่กำลังถูกต้ม เราจะโดดออกทันไหม หรือมีคนเอาฝามาปิดเรียบร้อยแล้ว
ก็แล้วแต่คุณจะมอง คุณก็ต้องเอาเรื่องไปผูกกับการเมือง รัฐบาลเขาบอกว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือ ทางออก เป็นนโยบายที่จะแก้ไขสภาวะดังกล่าว
นโยบายที่จะทำให้คนไทยกระโดดออกจากหม้อน้ำร้อนมันยากกว่าเดิมอีกนะ สัดส่วนแรงงานลง การผลิตก็น้อยลง แล้วเราจะผลิตให้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมได้อย่างไร จากอดีตคนหนึ่งคนผลิตสินค้าได้ห้าชิ้น ปัจจุบันต้องผลิตมากกว่าเดิมเพื่อให้รายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูคนในครอบครัวก็ต้องเพิ่มการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 10 ชิ้น แล้วจะทำอย่างไรให้ผลิตมากกว่าเดิมในเวลาที่เท่าเดิม ยากไหมล่ะ ถ้าบอกว่าอยากให้เป็น 4.0 ก็ต้องพูดถึง innovation หรือ creative ถ้าเราไม่อยากเป็นโรงงานรับจ้าง เราก็ต้องมี innovation นี่คือ มนตราที่รัฐบาลร่ายคาถาให้คุณฟังอยู่ ถูกไหม ก็ถูก
ปัจจุบันเอกชนหันไปลงทุนต่างประเทศกันเยอะขึ้น ตัวเลขคร่าวๆ อยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ต่างชาติมาลงทุนในบ้านเราแค่ 1,000 ล้านดอลลาร์ แม้แต่คนไทยด้วยกันยังขนเงินหนีออกจากประเทศ ออกจากระบบเศรษฐกิจไทย ก็เพราะว่าเขาเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีแล้วหรือเปล่า ฉะนั้นก็เลยหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน
แน่นอนว่า การไปลงทุนต่างประเทศแทนก็จะส่งผลให้เงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยลดลง แม้เงินจะกลับเข้ามาในประเทศก็จริง แต่เงินดังกล่าวไม่ได้ถูกกระจายไปสู่ทุกชนชั้น กลับกระจุกตัวอยู่ที่เจ้าของทุน ถ้าคุณจ้างงานในประเทศก็จ้างค่าแรงให้แรงงาน เงินก็จะกระจายไปทุกภาคส่วน
ปัญหาของไทยอยู่ที่เชิงโครงสร้างหรือเปล่า
โครงสร้างการแข่งขันของไทยแย่ลง ปัญหาก็คือ ต่อให้วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้น เราไม่มีน้ำท่วม ไม่โดนฝนแล้ง ถามว่าไทยจะโตไหม ถ้ามันไม่โตก็แสดงว่าเรามีปัญหาที่ลึกกว่าปัญหาชั่วคราว ซึ่งก็คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ การสูญเสียโครงสร้างทางการแข่งขัน ซึ่งต่อมาได้สะท้อนลงมาถึงภาคการลงทุนในไทยที่มันต่ำลงมามาก ต่ำมาหลายปีแล้ว ตัวอย่างเช่น ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจไทยมีการลงทุน 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่หามาได้ ปัจจุบันเราลงทุนเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมามันหายไปครึ่งหนึ่ง
ลงทุนน้อย ความสามารถในการผลิตก็น้อย จะไม่โตเร็ว ที่ลงทุนน้อยก็เพราะว่าแข่งขันไม่ได้ จะแข่งขันได้ก็ต้องเพิ่ม productivity รัฐบาลต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนในด้านทรัพยากรมนุษย์ เทรนคน เพื่อให้ประชาชนสามารถหลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าวได้ ต้องสร้างยี่ห้อได้ ต้องมี innovation ในการตลาด
ฉะนั้นแล้ว เราสามารถใช้ภาคเกษตรกรรมผลักดันให้ไทยเป็นประเทศมหาอำนาจผลไม้เพื่อให้สามารถกระโดดข้ามหม้อต้มน้ำนี้ได้หรือไม่
ประสบการณ์ของทั่วโลกมันไม่มี ประเทศที่รวยที่สุด 10 ประเทศแรก ไม่มีประเทศไหนเขาเป็นประเทศเกษตรกรรมกันแล้ว ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นในอังกฤษเมื่อปี 1750 สาเหตุที่หันมาปฏิวัติอุตสาหกรรมกันทั่วโลกเพราะว่า ในหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมี productivity สูงกว่าเกษตรเยอะ มีความสามารถในการผลิต กล่าวคือ มีรายได้ มีโอกาสในการเติบโตสูงกว่า
ผมก็ตอบไม่ได้ว่าไทยจะทำได้ไหม แต่ถ้าดูตามประวัติศาสตร์โลกก็คือ ไม่มี ประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือย่างนิวซีแลนด์ที่อาจมีการส่งออกเกษตรกรรมบ้าง แต่ข้อดีเขาคือ มีแร่ธาตุเยอะ เขาส่งออกตรงนั้น แต่ก็ไม่ใช่ส่วนนั้นอย่างเดียว คุณอย่าไปโรแมนติก ต่อให้เป็น smart farmer ก็ตาม ไม่ได้จะบอกว่าไม่ดีนะ แต่ไม่พอที่จะให้เรากระโดดออกจากหม้อต้มน้ำได้
จากที่ฟังทั้งหมด เหมือนว่า คนรุ่นต้มกบจะลำบากกว่าคนรุ่นต้มยำกุ้ง
ก็แน่นอน เด็กที่เพิ่งเรียนจบ ทั้ง Gen Y หรือ Gen Z ผมเชื่อแบบนั้น เนื่องจาก หนึ่ง-เงินเดือนเขาโตช้ากว่า สอง-ลักษณะงานขาดความมั่นคงมากกว่า ผมไม่แน่ใจว่าการทำงานฟรีแลนซ์ที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป หรืออาจเป็นเพราะงานประจำทั้งภาครัฐและเอกชนมันเติบโตน้อยกว่าที่ควร ทำให้คนบางกลุ่มหันไปสนใจฟรีแลนซ์แทน ทั้งๆ ที่ก็อาจอยากได้งานมั่นคงมากกว่า หรือเปล่า จริงๆ แล้วภาพแบบนี้เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
นี่ยังไม่รวมกระแสที่ต่างชาติกำลังเริ่มกังวล ที่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจกำลังจะเริ่มนำหุ่นยนต์และ AI (ปัญญาประดิษฐ์ – Artificial Intelligence) เข้าสู่ระบบตลาดแรงงานมากขึ้นที่เรียกว่า robotization เทคโนโลยีพวกนี้กำลังจะทำลายแรงงานมนุษย์ มนุษย์จะแข่งกับหุ่นยนต์ไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องหันไปหางานที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้แทน และนี่คือความสำคัญคือ การบูรณาการทางความรู้
แต่เทรนด์ดังกล่าว ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่บ้านเราต้องเผชิญ เพราะดูเหมือนว่าเด็กรุ่นใหม่ทั้งโลกต่างได้รับผลกระทบจากกระแสนี้เหมือนกัน
ถูกต้อง เราจึงเห็นการขึ้นมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกระแสที่อังกฤษต้องการออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ทั้งสองเหตุการณ์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าชนชั้นกลาง ชนชนล่างเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบและไม่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์
ผมก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ผมพูดแค่นี้ดีกว่า ประเทศที่เป็นลัทธิเสรีนิยมสุดโต่งจะได้รับผลกระทบเยอะและอาจตามมาด้วยความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตย
จะออกหัวหรือออกก้อยยังไม่รู้ หรือออกซวยก็ได้ โลกอาจกลายเป็นเผด็จการมากกว่านี้ ประชาธิปไตยอาจถูกโจมตีมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ ลัทธิปกป้อง หรือ protectionism อาจกลับมามากขึ้นก็ได้
ณ ตอนนี้คือจุดเริ่มต้นของ long wave ลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่เคยครอบงำเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 1970 จนถึงปี 2000 กำลังถูกคลื่นลูกใหม่ท้าทาย เป็นคลื่นที่ยังไม่มีใครรู้ ผมก็ไม่ใช่นักอนาคตศึกษาคงไม่อาจเดาได้ แต่เห็นได้ชัดว่าตอนนี้ทั้งโลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน ลัทธิเสรีนิยมใหม่จะอยู่รอดได้ไหม กับความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือจะถูกท้าทายจากฝ่ายขวาจนต้องพ่ายแพ้ไป หรือเอาชนะได้ใหม่ ต้องรอดูต่อไป
ขอคำแนะนำสำหรับคนรุ่นต่อไปในปัจจุบันควรจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่รอด
มึงหนีออกนอกประเทศไปเลยดีที่สุด (หัวเราะ) จริงๆ ผมบอกหลานแบบนี้ การเมืองไทยใน 15 ปีข้างหน้าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร แผนไทยแลนด์ 4.0 จะสำเร็จเหรอ ในเมื่อมันขับเคลื่อนโดยระบบราชการ นักการเมืองคงไม่ต้องพูดถึง ถูกจัดให้เป็นเพียงตัวประกอบ คิดว่าระบบราชการจะขับเคลื่อนตัวเองออกจากต้มกบได้หรือ ดูเพียงระบบราชการที่ล้าสมัย ต้องมาขับเคลื่อนแผนการ 4.0 ผมก็ไม่มีความเชื่อมั่นแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเนื้อหาแผนเลย ในเมื่อสถานการณ์ในตอนนี้ยากกว่าเดิม ยากกว่าสมัยที่ นายกรัฐมนตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้เกิดทุนนิยมสมัยใหม่ในบ้านเราอีก โดยภารกิจมันยากกว่ากันเยอะ
แล้วความขัดแย้งทางการเมืองจะจบไหม เมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถแก้ไขได้ กลไกการแก้รัฐธรรมนูญอย่างสันติไม่มี ทุกอย่างถูกล็อคเอาไว้หมดแล้ว ผมว่าในทางการเมือง ไม่ใช่ว่าเอาฝาปิดหม้อต้มกบอย่างเดียวหรอก เอาหินทับอีกด้วย (หัวเราะ)