วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 31, 2560

ยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศ "แพ้ทุกฝ่าย" จมดิ่งก้นเหวลึก จุดเปลี่ยนการเมืองไทยยากหวนกลับ :ชำนาญ จันทร์เรือง

แพ้ทุกฝ่าย
ชำนาญ จันทร์เรือง

จากการที่คุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา จนศาลฯ ออกหมายจับและยึดเงินประกัน และเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเธอได้เดินทางออกไปต่างประเทศ ในระยะแรกๆ ที่ฝุ่นยังตลบอยู่ก็เกิดความงุนงงสงสัย มีการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา

ซึ่งกระแสที่ออกมาดูเหมือนว่าจะเป็นทุกฝ่ายได้รับชัยชนะ (win win solution) เพราะคุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่ต้องติดคุกและไม่ต้องผจญกับคดีที่เหลืออีกเป็นสิบๆ คดี สามารถใช้ชีวิตอย่างสบายตามประสาเศรษฐีเดินทางไปได้รอบโลกยกเว้นไทย มวลชนที่เคยสนับสนุนก็ยังคงเข้าใจและ เห็นใจที่เธอตัดสินใจเช่นนั้น เว้นแต่ฝ่ายที่ต้องการเห็นเธอเป็นออง ซาน ซู จี เมืองไทยก็อาจจะผิดหวังเล็กๆ เพราะคงมีน้อยคนที่คิดว่าเธอจะเป็นเช่นนั้นได้จริงๆ

ทางด้าน คสช.ก็หมดสิ้นเสี้ยนหนามหรือหอกข้างแคร่ไปอีกหนึ่ง คสช.ก็จะได้เดินตามโรดแม็ปอย่างสะดวกโยธินเสียที เพราะหากคุณยิ่งลักษณ์เลือกที่จะติดคุก แน่นอนว่านอกเหนือจากกระแสความปั่นป่วนจากมวลชนที่จะเกิดขึ้นแล้ว ผมเชื่อว่าทุกวันที่หน้าเรือนจำที่คุมขังคุณยิ่งลักษณ์จะต้องมีผู้คนมาเยี่ยมเยียนหรือมารวมตัวกันให้กำลังใจไม่มากก็น้อย สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ก็จะต้องมีการรายงานข่าวว่า วันนี้คุณยิ่งลักษณ์กินข้าวไม่ค่อยได้ ป่วยครั่นเนื้อครั่นตัว วันนี้ดูเครียด วันนี้ดูร่าเริงแจ่มใส ฯลฯ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องปวดหัวต่อ คสช.อย่างแน่นอน

ส่วนฝ่ายตรงข้ามกับเธอไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือ กปปส.ต่างแสดงความยินดีออกมาจนนอกหน้า มีการเยาะเย้ยถากถางกันอย่างสนุกสนาน บางรายลืมตัวเล่นเลยเถิดไปจนเป็นการเหยียดเพศ ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นถึงศิลปินแห่งชาติ จนถูกล่าชื่อถอดถอน ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นก็ถือโอกาสเล่นบท  “พี่คนดี” ให้สัมภาษณ์ตีกินเป็นระยะๆ เพราะเหตุที่มีความหวังว่าคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญของตนคือพรรคเพื่อไทยน่าจะอ่อนแรงลง

แต่เมื่อถึงวันนี้ที่ฝุ่นค่อยๆ จางลง การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น หลายคนเริ่มกลับมาหวนคิดและเกิดคำถามว่าเหตุใดคุณยิ่งลักษณ์จึงสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างลอยนวล ไหนว่าฝ่ายความมั่นคงคอยจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิดจนแทบกระดิกตัวไม่ได้ ไม่ว่าจะไปที่ใดก็มีคนคอยตามหาข่าวถ่ายรูปและรายงานเป็นระยะๆ ฝ่ายพันธมิตรฯ และ กปปส.เริ่มรู้สึกว่าถูกหักหลัง เพราะเกิดความสงสัยว่า คสช.นั้น “เกี้ยเซี้ย”กับคุณยิ่งลักษณ์และคุณทักษิณเสียแล้ว จนมีการร้องถามขึ้นมาทางสื่อและสอบถามไปยัง ปปช.ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้คุณยิ่งลักษณ์หนีไปหรือไม่ อย่างใด

ในส่วนของมวลชนที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน เริ่มสงสัยว่าในเมื่อคุณยิ่งลักษณ์พูดอยู่เสมอว่าพร้อมที่จะติดคุก แล้วมันเกิดอะไรขึ้นเพราะแม้แต่จะติดคุกก็ยังไม่ได้เชียวหรือ ฤาว่ามีการข่มขู่เอาชีวิตแม้ว่าจะยอมติดคุกก็ตาม ฯลฯ จึงเกิดความรู้สึกว่าฟางเส้นสุดท้ายกำลังจะมาถึงแล้ว

จากสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อประกอบเข้ากับระบบการเมืองที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ก็ดี หลายคนหันมาพิจารณาถึงอนาคตบ้านเมืองนับต่อจากนี้ เริ่มมีความรู้สึกว่าผลแห่งการดำเนินคดีจากการดำเนินนโยบายก็ดี หรือการที่จะไม่ดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติก็ดี ฯลฯ ทำให้ในการเลือกตั้งที่จะเกิดมีขึ้นนั้น คนที่มีความรู้ความสามารถที่ไหนจะอาสาเข้ามาทำงานการเมือง ระบบการเมืองแบบนี้จะดึงดูดคนแบบไหนเข้ามา ระบบการเมืองแบบนี้จะทำให้ไม่มีใครกล้าทำนโยบายที่มีผลต่อสังคมจริงๆ ออกมา เพราะในที่สุดก็จะถูกนำมาเล่นงานอยู่ดี

การบริหารประเทศก็จะเป็นไปในลักษณะเช้าชาม เย็นชาม ทำงานในลักษณะงานประจำดังเช่นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐทำอยู่ ทุกคนต่างทำงานแบบประคองตัว ไทยเราก็จะเป็นรัฐราชการสมบูรณ์แบบ(absolute bureaucratic polity) ในขณะที่เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว รัฐไทยที่ปกติก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ (function) อยู่แล้ว ก็ยิ่งด้อยประสิทธิภาพลงไปอีก

ความเสียหายที่สำคัญนอกจากกระบวนการยุติธรรมที่ถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลงแล้ว พัฒนาการของประชาธิปไตยของไทยเราที่วิวัฒนาการมาโดยตลอดและสะดุดหยุดอยู่เป็นระยะๆ เมื่อมีการรัฐประหาร แต่ในครั้งนี้ประชาธิปไตยของเรากลับกลายเป็นสะดุดหยุดนิ่ง และถอยหลังไปไกลกว่าจุดเริ่มต้นเมื่อ 85 ปีที่แล้วเสียอีก

กล่าวโดยสรุปก็คือ ที่คาดการณ์ว่าคุณยิ่งลักษณ์เดินทางออกประเทศแล้วดูเหมือนว่าจะเป็นการ ‘win win’ ทุกฝ่ายนั้นไม่ใช่เสียแล้ว กลับกลายเป็นการพ่ายแพ้ของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด

ฝ่ายรัฐประหารและผู้สนับสนุนก็พ่ายแพ้ เพราะนอกจากจะเกิดความหวาดระแวงและลดทอนความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว คสช.ทำอย่างไรก็ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหาร การปรองดองตามที่ประกาศไว้ก็ไม่เกิดขึ้น มีแต่จะแตกแยกร้าวลึก ฝ่ายที่เรียกตนเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็กลับมาขัดแย้งขบกัดกันเอง ดังที่เห็นได้ทั่วไปในโซเชียลมีเดีย มึงว่ากู กูว่ามึง ซึ่งยิ่งทำให้กระแสประชาธิปไตยอ่อนแรงลงเรื่อยๆ

ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมานี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทย และจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ยากจะหวนกลับ (point of no return) เพราะมันได้จมดิ่งลงไปยังก้นเหวที่ลึกมากเกินกว่าจะเยียวยาได้ บางทีในชั่วชีวิตนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นเลยเสียด้วยซ้ำ