วันจันทร์, สิงหาคม 21, 2560

“กิตติรัตน์”ย้ำรัฐบาลต้องดูแลชาวนา ยืนยันความถูกต้องของโครงการจำนำข้าว





“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” คำยืนยันความถูกต้องของโครงการจำนำข้าว
======================

"ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ รู้ว่ามันจะเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ สิ่งที่ผมจะทำคือทำงานอื่นให้น้อยลงแล้วอธิบายสิ่งที่พูดวันนี้ให้มากขึ้นเพื่อต่อสู้กับวาทกรรมทางการเมืองในตอนนี้"

“เราเป็นประเทศซึ่งมีความพร้อมแล้วที่จะจัดสรรทรัพยากรการเงินของประเทศดูแลคนภาคส่วนต่างๆ ได้ การที่เราเลือกจะดูแลคนรายได้น้อย ทั้งกลุ่มคนเมืองและเกษตรกรเราสามารถทำได้ ในเรื่องความพร้อมนั้น ผมยืนยันว่าเราพร้อม จะซื้อเรือดำน้ำก็ซื้อได้ ซื้อหลายลำก็ยังได้ แต่มันอยู่ที่ว่ามีเหตุผลแค่ไหนที่จะซื้อในสายตาคนบริหาร”

------------------- 1 -----------------

ปี 2537 ประเทศไทยมีจีดีพี 3.7 ล้านล้านบาท รายได้จากการส่งออกคิดเป็น 38% ของจีดีพี เรื่องนี้สำคัญเพราะเมื่อเวลาผ่านมาเราเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศขาดดุลการค้า เราลอยตัวค่าเงิน ทำให้นำเข้าแพง-ส่งออกได้ดี ช่วยให้การส่งออกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประเทศขาดดุลกลายเป็นเกินดุลการค้า

ปี 2543 สัดส่วนการส่งออก ขยับจาก 38 เป็น 68% ของจีดีพี

“เราพึ่งพาการส่งออกตั้งแต่ลอยตัวค่าเงิน เราชินกับเศรษฐกิจดีโดยส่งออกเป็นตัวหนุน ที่น่าสนใจคือ ตอนเริ่มทำหน้าที่ในรัฐบาล คำถามคือ การส่งออกขยับเป็น 70% แล้วยังจะเติบโตไปด้วยการส่งออกจริงหรือ”
จีดีพีประเทศจาก 3.7 กลายเป็น 14 ล้านล้านในปัจจุบัน

“วาทกรรมการเมืองที่เขาพูดกันว่าเสียหายเป็นแสนล้านนั้น เราต้องเข้าใจว่าเรากำลังจะขับเคลื่อนประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตถึง 14 ล้านล้าน ดังนั้นการเคลื่อนโดยโครงการระดับร้อยล้าน มันไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนได้”

“คำถามคือ เราต้องพึ่งพาการส่งออกไปถึงไหน แล้วมันต้องพึ่งคนซื้อด้วย เราจะไม่พึ่งตัวเองเลยหรือ ให้คนของเรามีกำลังซื้อ มีรายได้ที่ดีขึ้น ไม่ว่าค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานที่มีฝีมือน้อย จนคนจบปริญญา”

--------------------- 2 -------------------

หากดูตัวเลขจากสำนักงานสถิติ พบว่า คนรวยที่สุดรายได้ 26,673 ต่อเดือน คนที่จนที่สุดคือ 1,246 ต่อเดือน จริงๆ มันมีเส้นความยากจน แต่คนจำนวนเยอะมากๆ อยู่ในสถานะ “เกือบจน” เราจึงต้องสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ

พอคนส่งออกได้ดี เขาได้เงินตราต่างประเทศมาแลกเงินไทย แล้วเงินตราต่างประเทศจะไปอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากภาวะที่เรามีเงินสำรองต่างประเทศน้อย มันก็สะสมมากขึ้นๆ ปรากฏว่า ส่วนเงินบาทที่แลกไปก็นอนในธนาคาร ธปท.เกรงว่าเงินบาทที่ล้นในระบบธนาคารจะเป็นปัญหา ไม่อยากจ่ายดอกเบี้ยจึงดูดเงินออกมาเป็นพันธบัตร มีจำนวน 3 ล้านล้านบาทในช่วงที่ตนทำงาน เอามากอดไว้แล้วจ่ายดอกเบี้ย ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ ทำยังไงไม่ให้แบงก์ชาติต้องดูดมากอดแล้วไม่เป็นภาระกับแบงก์ชาติ

“มันจึงเป็นคำตอบว่าฝ่ายบริหารต้องนำไปบริหารจัดการจะทำเรื่องคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานก็ทำได้ แต่เรากลัวต้มยำกุ้ง เราเลยไม่กล้าทำอะไร ก่อนต้มยำกุ้งเราเหมือนคนขาดอาหาร แต่พอลอยตัวค่าเงินบาท ส่งออกดี เติบโตดี เรากลายเป็นไม่ผอม แต่เป็นคนอ้วนอุ้ยอ้ายไม่ได้ออกกำลังกาย ปัญหาจึงไม่เหมือนกันการแก้ไขก็แตกต่างกัน”

--------------------- 3 -------------------

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การใช้จ่ายภาครัฐ รัฐบาลมีงบประมาณปีละ 2 ล้านล้านเศษ แต่มีการขาดดุลงบประมาณมาก ก็คือ มีรายได้จากการเก็บภาษีน้อยกว่า รัฐบาลจึงต้องกู้มาชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องปกติและมีกรอบของมัน แต่ถ้าขาดดุลมากๆ ก็จะมีหนี้เยอะเกินไป

ก่อนหน้าที่ตนจะมารับหน้าที่ เราขาดดุล 3.5 แสน แล้วขึ้นไปเป็น 4 แสนล้านในช่วงท้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เราก็กู้ 4 แสนล้านเท่ากับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งตนก็เห็นด้วยว่าเยอะเกิน ปีถัดมาจึงลดเหลือ 3 แสนล้าน ปีสุดท้ายปีงบประมาณ 2557 การกู้ลดลงเหลือ 2.5 แสนล้าน โดยมีเป้าหมายว่าเราจะมีงบประมาณสมดุลในปี 2560 นี่เป็นความตกลงระหว่างสำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง

ปี 2557 รัฐบาล คสช. การขาดดุลอยู่ที่ 2.5 แสนล้าน ต่อมาปี 2559 ขาดุลงบประมาณเป็น 3.9 แสนล้าน ปี 2560 ก็ตั้งงบขาดดุลไว้ที่ 3.9 แสนล้าน แต่มีการเสนองบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีอีก 1.9 แสนล้าน โดยระบุว่าจะมีรายได้มา 3 หมื่นล้าน จึงเหลือขาดดุล 1.6 แสนล้าน รวมแล้วปี 2560 จะเป็นการขาดดุลงบประมาณรวมเยอะที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 5.5 แสนล้าน

“การที่เศรษฐกิจจะโตได้ก็มาจากการที่เราจ่ายมากกว่าเก็บภาษี ทำแบบนี้มันก็เคลื่อนได้ แต่ถ้ามันโตแบบนี้ มันจะสบายใจไหม”





-------------------- 4 -------------------

ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพดานของกระทรวงการคลังแต่เดิมมานั้นกำหนดไว้ที่ต้องไม่เกิน 60% ของงบประมาณ ภาระหนี้ต่องบประมาณหรือการจ่ายดอกเบี้ยเงินต้น เมื่อเทียบกับงบทั้งปีไม่ควรเกิน 15%
ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตั้งแต่สมัยผมจนตอนนี้ก็อยู่ที่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เลวร้าย

ส่วนหนี้สาธารณะตอนต้มยำกุ้ง ที่ผ่านมาไม่มีใครชำระเงินต้น รัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยปีละ 7 หมื่นล้านมาตลอด 10 กว่าปี พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาก็ให้เริ่มชำระเงินต้นและสร้างระบบในการชำระเงินต้น หนี้ตรงนั้นยังเป็นหนี้สาธารณะอยู่ แต่ไม่ต้องเป็นภาระต่องบประมาณแล้ว เดี๋ยวนี้เงินต้นลดลงไปแล้วกว่า 2 แสนล้าน

การเป็นหนี้เพื่อมาบริหารเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องปกติและไม่ได้เป็นอย่างที่วาทกรรมทางการเมืองพูดกันว่า ต้องใช้หนี้อีกห้าสิบปี เพราะในความเป็นจริงเขาเพียงแต่จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นนิดหน่อยไปเรื่อยๆ โดยเอาเงินดังกล่าวมาบริหารจัดการให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น และการชำระดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับรายได้โดยรวมแล้วมันเป็นสัดส่วนที่เล็กมาก

“เรามีหน้าที่คุมมันให้มันต่ำเมื่อเทียบกับจีดีพี เราไม่จำเป็นต้องใช้หนี้ให้มันหมด โครงการต่างๆ ของคนที่ปั้นวาทกรรมเขาก็ไม่ได้ใช้หนี้ เพียงแต่จ่ายดอกเบี้ย”

----------------- 5 -----------------

“เราเป็นประเทศซึ่งมีความพร้อมแล้วที่จะจัดสรรทรัพยากรการเงินของประเทศดูแลคนภาคส่วนต่างๆ ได้ การที่เราเลือกจะดูแลคนรายได้น้อย ทั้งกลุ่มคนเมืองและเกษตรกรเราสามารถทำได้ เรื่องความพร้อมนั้นผมยืนยันว่า เราจะซื้อเรือดำน้ำก็ซื้อได้ จะซื้อหลายลำก็ได้ แต่มันอยู่ที่ว่ามีเหตุผลแค่ไหนที่จะซื้อในสายตาคนบริหาร”

“การดูแลชาวนาสำคัญอย่างไร ชาวนาและครอบครัวมีจำนวนรวมกันมากกว่าสิบห้าล้านคน ร้อยละ 23 ของจำนวนประชากร เราจึงต้องดูแลเขาให้มีรายได้ที่ดีขึ้นตามสมควร การดูแลด้วยระบบจำนำทำมาสามสิบกว่าปีแล้ว จะจำกัดจำนวน ตั้งเป้างบประมาณหรืออะไรก็เป็นระบบจำนำทั้งนั้น”

“ตอนนี้มีทางเลือกในการจำนำแล้ว ก่อนหน้านั้นเป็นประกันรายได้เกษตรกร มีลักษณะเป็นประกันราคา ถ้าชาวนาไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรสำเร็จก็สามารถรับเงินชดเชยได้ ปลูกจริงหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา สมัยที่ผมยังทำงานมีรายงานของสำนักนายกฯ พบว่าจากภาพถ่ายดาวเทียม มีพื้นที่ที่เป็นนาน้อยกว่ายอดที่มาขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมาก มันตรวจสอบยากมาก รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเห็นว่าเป็นช่องโหว่ใหญ่ โครงการรับจำนำต้องเอาข้าวมาแสดง และเราไม่ใช่รัฐบาลแรกที่จะกำหนดราคาสูงกว่าตลาด สูงคืออะไร ชาวนาไม่มีค่าแรงหรือ เมื่อเทียบแล้วจริงๆ เขายังได้รับค่าแรงน้อยกว่าคนทำงานในเมืองด้วยซ้ำ”

“ดังนั้น โครงการรับจำนำข้าวจึงเกิดขึ้น รัฐบาลปัจจุบันจำนำยุ้งฉาง ยุ้งฉางอยู่ไหนก็ไม่ทราบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชาวนาจำนวนมากไม่มียุ้งฉางแล้ว แล้วใช้วิธีชดเชยช่วยต้นทุนการผลิต สิ่งที่ต้องการให้ชาวนาได้รับคือรายได้ดีขึ้น ไม่ใช่เอาเงินให้แล้วรายได้ไม่ดีขึ้น เพราะให้ไปแล้วราคาข้าวเปลือกอ่อนตัวลง แต่โครงการรับจำนำราคามันไม่อ่อนตัว และตอนทำโครงการ ข้าวมาที่เราแค่เกินครึ่งนิดหน่อย ที่เหลือพ่อค้าแย่งซื้อแข่งกับราคาจำนำ รัฐบาลเลยสบาย”

“สภาพัฒน์เคยทำหนังสือยืนยันมายังคณะรัฐมนตรีว่า โครงการนี้สามารถทำให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้น เป็นจำนวนเท่าไร แต่โครงการอื่นไม่สำเร็จ เพราะราคาข้าวไม่จำเป็นต้องสูงขึ้นมันอาจจะอ่อนลงก็ได้”

“มันไม่ใช่โครงการทำขึ้นมาเพื่อให้นายกฯ เขาไม่ได้มีประโยชน์อะไร มันเป็นโครงการที่ผ่านการหาเสียง ผ่านความเห็นพรรครร่วม ผ่านรัฐสภา ดำเนินการโดยที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันการพิจารณา มันเป็นทางเลือกอันหนึ่ง และมันได้ผล”

“ส่วนที่บอกว่ามีความเสียหาย จำนำราคาสูง แล้วสีแล้วไปขายได้ราคาต่ำกว่า ในทางบัญชีอาจเรียกว่าขาดทุน แต่ในทางนโยบายสาธารณะเรียกว่า “รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย” ไม่ใช่เล่นสำนวนแต่มันมี term นี้จริงๆ เป็นการคำนวณที่ทำให้เห็นว่าต้องใช้งบชดเชยเท่าไร แล้วสิ่งที่ชาวนาได้รับรายได้ดีขึ้น มันจะกลายเป็นกำลังซื้อทางเศรษฐกิจ มันคำนวณได้และเมื่อดูแล้วมันสูงกว่างบประมาณที่มาใช้ชดเชย”

**เวทีเสวนา "ไม่เอาจำนำข้าวแล้วเอาอะไร" ที่ มธ.ท่าพระจันทร์

ที่มา FB

ประชาไท Prachatai.com

ooo