ธุรกิจฝืด 163 บจ.ขาดทุน ชำแหละไตรมาส 2 กำไรทรุดยกแผง
21 สิงหาคม 2560
ประชาชาติธุรกิจ
สัญญาณเศรษฐกิจไม่ฟื้นทุบกำไร บจ.ในตลาดหุ้นทรุดฮวบ ไตรมาส 2 กำไรสุทธิแค่ 2.2 แสนล้าน ลดลงต่อเนื่อง 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 23% จากไตรมาสแรก เผยบริษัทขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่แย่ลงทุกกลุ่ม “ขนส่ง-ไอซีที-ปิโตรฯ-วัสดุก่อสร้าง” ติดลบถึง 163 บริษัท บางกอกแอร์เวย์ส-แอร์เอเชียแจงต้นทุนน้ำมันพุ่ง
จำนวน บจ.ขาดทุนเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการรวมรวมข้อมูลการนำส่งงบฯของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดไตรมาส 2/2560 ข้อมูลล่าสุดจนถึง 16 ส.ค. 2560 พบว่า ส่วนใหญ่ผลดำเนินงานออกมาน่าผิดหวัง ซึ่งปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะพบว่ามีบริษัทที่ผลประกอบการพลิกเป็นติดลบหรือขาดทุนสุทธิแล้ว จำนวน 163 บริษัท จากที่มีการประกาศผลประกอบการออกมาแล้ว ประมาณ 560 บริษัท ซึ่งถือว่ามีบริษัทที่ผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่า 30 บริษัท จากไตรมาส 1/2560 ที่มีเพียงจำนวน 133 บริษัท และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวน 143 บริษัท
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลประกอบการของ บจ. งวดไตรมาส 2 ที่บริษัทมีบทวิเคราะห์ครอบคลุมจำนวน 125 บริษัท หรือคิดเป็น 85% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ มองว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มส่งออก หรือจำนวนนักท่องเที่ยวจะดูดีขึ้น แต่ผลดีที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้กระจายไปยังกลุ่มอื่น ๆ จึงยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจยังดูชะลอตัวอยู่ ขณะที่ยังต้องรอลุ้นทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน เพราะกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคัก ต้องรอผ่านช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงพระราชพิธีสำคัญของประเทศไปก่อน
บริษัทเล็ก-กลาง-ใหญ่แย่ยกแผง
“กำไร บจ.งวดไตรมาส 2 ดูแย่กว่าที่คาด ขณะที่ช่วงไตรมาส 1/60 กำไรของบริษัทที่ออกมาไม่ดีส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก ๆ แต่บริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ยังออกมาดี แต่ผลประกอบการไตรมาส 2 พบว่า หุ้นทั้งขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ต่างออกมาแย่กว่าที่คาดค่อนข้างมาก และคาดว่าจะมีจำนวนบริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนเพิ่มมากขึ้น”
นายชัยพรกล่าวต่อว่า ทิศทางกำไร บจ.ในช่วงไตรมาส 3/2560 คาดว่าจะใกล้เคียงจากไตรมาส 2 เพราะปกติแล้วกำไรบริษัทจดทะเบียนจะพีกในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ของทุกปี cซึ่งคาดว่ากำไรโดยรวมปีนี้จะต่ำกว่าที่เดิมคาดการณ์ไว้ระดับ 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ กำไร บจ.ไตรมาส 2 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ยังส่งผลให้บริษัทได้ปรับลดอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ลงราว 2-3% จากระดับ 103 บาทต่อหุ้น เหลือระดับ 100 บาทต่อหุ้น และส่งผลให้เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ลดลงจากระดับ 1,627 จุด เป็น 1,578-1,580 จุด
5 กลุ่มธุรกิจกำไรทรุดฮวบ
ขณะที่รายงานบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัสระบุว่า จากที่บริษัทจดทะเบียนได้ประกาศงบฯงวดไตรมาส 2/2560 ออกมาแล้ว ประมาณ 560 บริษัท (ซึ่งคิดเป็น 99% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด) โดยมีกำไรสุทธิรวม 2.216 แสนล้านบาท ซึ่งลดลง 11% จากงวดไตรมาส 2/2559 และลดลงราว 23.2% จากงวดไตรมาส 1/2560 ที่ทำกำไรสุทธิรวมกัน 2.85 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ กำไรสุทธิรวมที่ลดลงเป็นผลจากการลดลงจากเกือบทุกกลุ่ม และหากไม่รวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่าทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 1.649 แสนล้านบาท ซึ่งลดลง 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 26.2% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มที่กำไรลดลงมากสุด 5 อันดับแรก คือ 1.ขนส่ง (ส่วนใหญ่ทางอากาศ และทางทะเล) กำไรสุทธิปรับตัวลดลง 48% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 86% จากไตรมาสก่อนหน้า, อันดับ 2.กลุ่มไอซีที ลดลง 42% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 40% จากไตรมาสก่อนหน้า, 3.ปิโตรเคมี ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 42% จากไตรมาสก่อนหน้า, 4.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ลดลง 27% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 30% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 5.กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงประมาณ 29% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับกลุ่มที่กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นมีเพียง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มโรงพยาบาล กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 67.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่ม 44% จากไตรมาสก่อนหน้า, อันดับ 2.พัฒนาอสังหาฯ เพิ่มขึ้น 38% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 80% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 3.พาณิชย์ เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกำไรสุทธิ บจ.ในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะทำได้ราว 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของประมาณการกำไรปี 2560 ที่ประเมินไว้ 9.9 แสนล้านบาท
“แอร์ไลน์” สะดุดต้นทุนน้ำมันพุ่ง
ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจของบริษัทปีนี้คงทำกำไรได้ไม่มาก เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น บวกกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจสายการบินมีอัตราการขยายตัวของกำไรลดลง ในส่วนของบางกอกแอร์เวย์สครึ่งปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 13,451.2 ล้านบาท ลดลง 2.7% มีกำไรสุทธิ 44.4 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1,418.3 ล้านบาท หรือ 97% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
ขณะที่แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจสายการบินในช่วงครึ่งปีหลังยังคงรุนแรงเช่นเดิม เพราะทุกสายการบินต่างเพิ่มที่นั่ง และยังคงนำราคามาเป็นตัวสู้กัน ทำให้ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยลดลง สำหรับบางกอกแอร์เวย์สยังดีที่มีรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ อย่างธุรกิจสนามบิน ครัวการบิน บริการภาคพื้น และอาคารคลังสินค้ามาช่วยเสริมในเรื่องการทำกำไร
สำหรับ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ครี่งปีที่ผ่านมา AAV มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นราว 5% แต่กำไรสุทธิปรับลดลง 48% เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559
อย่างไรก็ตาม คาดว่าไตรมาส 3 จะทรง ๆ และไตรมาส 4 น่าจะดีต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า เพราะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย
นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชียยังวางแผนขยายเส้นทางบินใหม่ด้วยการรุกเปิดตลาดอินเดียเพิ่มขึ้น ทั้งเมืองใหญ่และเมืองรอง เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากเส้นทางอินเดียให้เป็น 15% ในอีก 3 ปีนับจากนี้ จากปัจจุบันที่อยู่ที่ราว 3% เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากตลาดเส้นทางจีน ซึ่งปัจจุบันครองสัดส่วนสูงถึง 30% ของรายได้ทั้งหมด โดยเป้าหมายระยะยาวอยากให้มีสัดส่วนรายได้จากตลาดจีนและอินเดีย อย่างละ 20%
ในส่วนไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ บริษัทเตรียมเปิดเส้นทางบินตรงใหม่แบบประจำสู่ยุโรปในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 โดยเน้นแถบยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นจุดหมายที่มีศักยภาพสูงมาก ตั้งเป้าเป็นสายการบินหลักที่เชื่อมต่อยุโรปตะวันออกกับไทยและเอเชีย ขณะที่เส้นทางญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เตรียมกลับไปรุกอีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า หลังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปลดธงแดงออกจากประเทศไทย
...
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือน ก.ค.ติดลบ 15.62% มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ลำไย สุกร กุ้งขาว ฉุดรายได้ภาคเกษตรติดลบ 2.64% คาดว่าเดือนสิงหาจะลดลงอีก แต่อ้างว่ามีโครงการ 9101 วงเงิน 22,000 ล้านเป็นบัตรเติมเงิน (โครงการยอดฮิตเท่าที่ได้ข่าวคือ ให้ชุมชนเอาเงินไปซื้อขี้วัวขี้ควายมาทำปุ๋ยหมัก โดยจ้างชาวบ้านรายวันๆ ละ 310 บาท ได้ปุ๋ยหมักล้นหลามไปหมด)
นี่แหละครับ ที่มาพร้อมกับข่าวดีสภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์จีดีพี 3.7%
Atukkit Sawangsuk