วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 24, 2560

จากไผ่ถึงยิ่งลักษณ์ :ความพยายามหักด้ามพล้าด้วยเข่าในกระบวนยุติธรรมไทยสมัยอำนาจรัฐประหาร

ในการสืบพยานคดีนักศึกษากลุ่มดาวดิน ชูป้ายต้านรัฐประหารอันถือเป็นความผิดฐานขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๕๘ ห้ามชุมนุมตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป ท่ามกลางผู้ไปให้กำลังใจ ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทร์ไพศาล กันเนืองแน่นกว่า ๖๐ คน รวมทั้งตัวแทนกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ที่บริเวณศาลทหารในมณฑลทหารบกที่ ๒๓ เมื่อ ๒๒ ส.ค. ๖๐

ผู้บังคับกองร้อยสารวัตรทหาร พยานโจทก์ ให้การตอบคำซักค้านของทนายจำเลยอย่างเหลือเชื่อว่า “พยานทราบว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค. ๕๗ คสช. ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แต่พยานไม่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นกบฎในราชอาณาจักร

แต่เป็นการกระทำที่น่าชื่นชมและสนับสนุน จำเลยจึงไม่ควรมาคัดค้าน การกระทำของจำเลยกับพวกที่ไปชูป้าย คัดค้านรัฐประหาร นั้น แม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตย สมควรได้รับโทษและปรับทัศนคติ”


มิพักจักมองความเห็นของนายทหารพยานฝ่ายรัฐประหารคนนี้ว่าเป็น ตรรกะวิบัติ ในหลักกฎหมายและการปกครองสากล หากแต่ยังชี้ถึงการพยายามบิดเบือนทั้งนิติรัฐและนิติธรรม ให้คล้องจองกับการกุมอำนาจการเมืองการปกครองของคณะรัฐประหาร ที่เรียกตัวเองว่า คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

นับเป็นการดึงเอากระบวนการยุติธรรมไทยมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง ให้แก่พวกผู้ยึดอำนาจและฝักฝ่ายที่สนับสนุนคณะรัฐประหาร

ดังการวิเคราะห์ของ ดร.เออร์จินี่ แมริเยอ แห่งสถาบันรัฐศาสตร์ Sciences Po ปารีส (ต่อการตัดสินคดีความเสียหายโครงการจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) อันตกอยู่ในครรลองของการใช้อำนาจบิดเบือนเช่นเดียวกัน ที่ว่า

“สะท้อนว่าประเทศไทยยึดถือหลักกฎหมายสองแบบ คือหลักนิติธรรม (rule of law) และหลักนิติวิธี (the rule by law)” และ

“ศาลถูกใช้เป็นกลไกจัดการกับนักการเมือง และนโยบายการบริหารประเทศ ภายใต้แนวคิด 'ตุลาการภิวัฒน์' บทบาทของฝ่ายตุลาการในการเข้าร่วมกับกองทัพเพื่อสร้าง 'รัฐซ้อนรัฐ' ปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”


คดีไผ่ อัยการทหารพระธรรมนูญ ถึงกับพยายามที่จะให้มีการลงทัณฑ์จำเลยหนักมากขึ้นไปอีก ด้วยการร้องต่อศาล “มิให้หักวันคุมขังคดีนี้ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา

เนื่องจากทับซ้อนกับวันรับโทษจำคุกในคดี” ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ของประมวลกฎหมายอาญา หมายเลขแดงที่ ๑๙๔๕/๒๕๖๐ ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นได้ตัดสินจำคุกไผ่ ๕ ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ ๒ ปี ๖ เดือน เพราะจำเลยสารภาพ และจะหักกลบเวลาที่ไผ่ถูกคุมขังมาแล้วระหว่างรอการพิพากษาด้วย

ในคดีจำนำข้าวที่จะมีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ ๒๕ สิงหาคมนี้ เกิดกระแสการให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คุกรุ่นมาเป็นแรมเดือนทั้งในฝ่ายที่สนับสนุนเธอ (และอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย)

และฝ่ายตรงข้ามที่เป็นผู้เปิดประเด็นเรื่องก่อความวุ่นวาย นำร่องให้รัฐบาล คสช. วางมาตรการป้องกันด้วยการส่งทหารลงพื้นที่ฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ขอ ไม่ให้เดินทางไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์กันในวันตัดสิน

บางแห่งถึงกับจับมือ (ขอ) ให้แกนนำบางคนเขียนคำสัญญาและลงลายเซ็นไว้เป็นคำมั่นว่าจะไปพาคนเดินทางไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ในวันที่ ๒๕ สิงหา
ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคมนี้เอง ผู้ประสานงาน นปช. พะเยา คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ “มาเชิญตัวไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงพะเยา” ที่สถานีตำรวจภูธร

เจ้าหน้าที่ได้ให้เหตุผลว่าเกรงจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จึงเตือนหลีกเลี่ยงหรืองดร่วมให้กำลังใจดังกล่าว เพราะการเดินทางอาจจะไม่สะดวก หรืออาจจะเป็นเป้าทางการเมืองด้วย” นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา บอกกับผู้สื่อข่าว

อีกทั้งยังได้มีการจัดกำลังตำรวจจำนวนไม่ต่ำกว่า ๒๔ กองร้อย เพื่อรับมือประชาชนที่จะไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่บริเวณศาลฎีกา “และทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะมีการตรวจค้นคัดกรอง รถที่ผ่านบริเวณดังกล่าว” โดยตั้งด่านตรวจตามเส้นทางต่างๆ เข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าศูนย์ราชการ


คดีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มไปทั่วโลก ดังที่สำนักข่าวบีบีซีไทยเสนอรายงานไว้ ดังเช่น

ดร.แพทริค โจรี (Patrick Jory) อาจารย์อาวุโส ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิด และบทลงโทษอย่างน้อยที่สุดก็จะถูกห้ามไม่ให้เล่นการเมือง” และ

“อ.ยาสุฮิโตะ อาซามิ (Yasuhito ASAMI) แห่งมหาวิทยาลัย โฮเซ (Hosei University) กล่าวว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากมองโครงการจำนำข้าวในแง่ลบ แต่พวกเขาก็มองว่าวิธีการดำเนินการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทางกฎหมายก็เป็นเรื่องสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมของไทยเช่นกัน”

แม้ว่าในรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า แกนนำเสื้อแดงที่ขอนแก่นคนหนึ่งผู้ขอสงวนนามเผยว่าจะมีปฏิกิริยาต่อต้านจาก พลังใต้ดินเกิดขึ้นแน่นอน หากศาลตัดสินให้ยิ่งลักษณ์มีความผิด

“มีแผนในการเผายางรถยนต์ตามจุดต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น ๑๐ แห่ง”

ทว่า ตระกูล มีชัย อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ (ผู้ซึ่งเมื่อปลายปี ๒๕๕๘ ให้ความเห็นผ่าน นสพ.ไทยรัฐว่า “รับได้กับแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ และไม่มองว่าเป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจโดยตรง อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/551402)

มาครั้งนี้เขาให้ความเห็นต่อบีบีซีไทยว่า “การออกมาประท้วงขนาดใหญ่ (ต่อคำตัดสินลงโทษยิ่งลักษณ์) น่าจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากคณะทหารสามารถกุมอำนาจไว้ได้อย่างเหนียวแน่น”

แต่กระนั้น ไม่ว่าคำตัดสินออกมาเช่นไร จะมีผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างแน่นอนชนิดที่เป็น ‘litmus test’ หรือ “การทดสอบความเป็นกรด ของนักการเมืองไทยในอนาคตว่าจะบริหารประเทศกันอีท่าไหน”


แต่ก็เป็นไปได้ว่าการทดสอบนั้นขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองใดได้เข้าไปเป็นรัฐบาลด้วย

หากเป็นพรรคประชาธิปัตย์และพรรคสนับสนุนทหาร (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอาทิ) ก็อาจจะไม่ต้องทดสอบ เพราะจะไม่มีตุลาการ ภิวัฒน์ คอยจ้องจับผิด เหมือนดังที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปลอดรอดมาแล้วในโครงการประกันราคาข้าว

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอบข้อซักถามกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอนหนึ่งเมื่อ มกราคม ๒๕๕๘ ว่า

การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวแม้จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกร ยกระดับพืชผลการกษตร แต่มีช่องโหว่เยอะ ดังนั้นในงานวิจัย (โดยทีดีอาร์ไอ ที่ ปปช.ร้องขอ) จึงเสนอให้ทำนโยบายประกันราคาข้าวแทน แบบสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ “ไม่ได้หมายความว่า นโยบายประกันราคาข้าวไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่พบว่ามีการทำให้เกิดสิ่งทีเรียกว่าการทุจริตเชิงนโยบายได้” และ ปปช.ก็ทำการไต่สวน “ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้สองมาตรฐาน

เพียงแต่ว่าการไต่สวนของ ปปช.ไม่ไปถึงไหน “ถามว่าทำไมคดีนายอภิสิทธิ์ถึงยังไม่จบ เพราะมีปัญหาเรื่องการส่งเอกสารต่าง ๆ และการให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.)” แม้นว่า “ได้สรุปความเห็นแล้วว่าต้องมีคนผิด ไม่ผิดไม่ได้ เพราะว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง” นายวิชา กล่าว


ครั้งนั้น โครงการจำนำข้าวซึ่งพนักงานอัยการได้อ้างในคำฟ้องถึงต้นแบบดั้งเดิมในงานวิจัยของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ทักษิณนำมาปรับเปลี่ยนเป็นวิธีการประกันราคาข้าว แต่ยังคงใช้ชื่อเดิมและดำเนินการในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“มีผลกระทบมากมายต่อตลาดข้าวในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ยังมีมาตรการช่วยเหลือชาวนาแบบอื่นที่จะไม่ก่อให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง

อัยการชี้ให้เห็นอีกว่า การดำเนินนโยบายจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กำหนดราคารับจำนำสูงเกินกว่าตลาดประมาณ ๕๐-๖๐% จึงถือเป็นการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด”

(ดูรายละเอียดเรื่อง “แม้วคิดปูทำ! อัยการชี้จำนำข้าวไร้งานวิจัยรองรับ แค่หาเสียงชาวนาเพื่อต้องการชนะเลือกตั้ง” https://www.isranews.org/israne…/58850-isranews-58850dd.html)

เห็นชัดว่ายิ่งลักษณ์ (และทักษิณ) โดนคดีจำนำข้าวเพราะ ปปช. ชงแล้วส่งให้ทีดีอาร์ไอใส่นมใส่น้ำตาล ส่วนคดีประกันราคาข้าว (ของอภิสิทธิ์) รอดเพราะไม่ได้คิดเอง แต่ใช้สูตรที่ทีดีอาร์ไอคิดให้ ถึงจะเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนกว่าแสนล้าน ปปช. ก็ไม่ติดใจ และไม่มีใครคิด (ใช้คำสั่งทางปกครอง) จองล้างตามทวงให้ชดใช้

เส้นทางอภิวัฒน์ของตุลาการไทยจากไผ่ถึงยิ่งลักษณ์ ถึงจะด่วนก็มิใช่ชินคันเซ็นแบบญี่ปุ่น แต่เร็วปานกลาง แวะเก็บเกี่ยวระหว่างทาง อย่างจีน (เส้นคุนมิง เชียงของ โคราช มาบตาพุด ที่ในไทยจะเริ่มตุลานี้)

ดังปรากฏในคดีที่นายวัฒนา เมืองสุข คนของพรรคเพื่อไทย มือซ้ายยิ่งลักษณ์ มือขวาทักษิณ โดนข้อหาก่อความวุ่นวายมาตรา ๑๑๖ ฐานโพสต์ข้อความชักชวนคนออกไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์

ระหว่างไปรายงานตัวต่อศาล พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องให้ออกหมายขังนายวัฒนา ๑๒ วัน ขณะที่ทนายของอดีต รมว.พาณิชย์ยื่นขอประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างโต้แย้งกันนั้นพนักงานสอบสวนลุแก่โทสะ โพล่งออกมาว่า “เต็มที่ก็เอาปืนยิงกรอกปากกัน

ซึ่งนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความส่วนตัวนายวัฒนา และดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่าคำพูดดังกล่าวเป็นการข่มขู่ และอาจสร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม


จึงได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ให้ทำการไต่สวน “ว่าการกระทำของพนักงานสอบสวนนอกจากจะเป็นการแสดงอำนาจที่มิชอบ

แล้วยังถือเป็นการประพฤติตัวไม่เหมาะสมและไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ข้อกล่าวหาคงจะได้แค่นั้น “เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างในอนาคต

เพราะในกระบวนยุติธรรมไทย การไม่ต้องรับผิด หรือ impunity มีอยู่แล้วล้นหลาม มาเพิ่มหลักนิติวิธี ‘the rule by law’ เข้าให้อีก เลยกลายเป็นผู้วิเศษกันไปทั้งยวง