นักวิชาการชี้"น้ำในหูไม่เท่ากัน"คือ"ความยุติธรรมไม่เสมอกัน"
August 26, 2017
ที่มา Thai Post
อาจารย์มธ.ตีความ "น้ำในหูไม่เท่ากัน" คือการแสดงสัญลักษณ์ของ "ยิ่งลักษณ์"ว่าระบบยุติธรรมไม่เสมอกัน ชี้ฟังขึ้นเพราะจำนำข้าวไม่ใช่คดีอาญาแบบปกติ แต่เป็นเรื่องการเมือง ระบุต่างประเทศมีน้อยมากที่จำคุกนักการเมือง 40 ปี มากกว่าคดีฆ่าคนตายเสียอีก
นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) และเป็นหนึ่งในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและถูกศาลออกหมายจับ ว่า กรณีนี้คิดได้หลายทาง ในข้อที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้ในการอ้างว่าไม่สามารถที่จะมาศาลได้ เป็นเพราะมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน และส่วนของข่าวที่ออกมาว่า คุณยิ่งลักษณ์ได้ออกไปนอกประเทศไปแล้ว ตนคิดว่า ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ออกไปจริง คำที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้ว่า น้ำในหูไม่เท่ากัน ในแง่หนึ่งตีความในเชิงสัญลักษณ์ได้ว่า ระบบยุติธรรมมันไม่เสมอ เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์เอง ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอาการที่เป็นโรคหรือเป็นไข้อะไร
"ข้อความที่คุณยิ่งลักษณ์ใช้อ้างอาจเป็นการสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ว่า ไม่สามารถที่จะมารับฟังคำพิพากษาได้ด้วยเหตุที่ว่า เห็นว่ากระบวนการนี้นั้นไม่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมาคดีนี้ไม่ได้เป็นคดีอาญาแบบปกติ มันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคี่ยวทางการเมืองของกลุ่มอำนาจสองกลุ่มที่สืบเนื่องมายาวนาน และเป็นแค่เพียงหมากตัวหนึ่งที่เขาใช้ในการขจัดฝังตรงข้ามทางการเมือง จึงไม่สามารถที่จะคาดหวังในสิ่งที่เป็นความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันได้"นายอนุสรณ์ กล่าว
คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าส่วนกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังประสบ ในแง่หนึ่งก็ฟังขึ้น เราจะเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีน้อยมากในแต่ละประเทศที่จะเกิดกรณีเช่นนี้ ซึ่งน้อยมากที่จะถูกนับมาเป็นคดีและติดคุกยาวนาน 40 กว่าปี ซึ่งมากกว่าคดีฆ่าคนตายในบางกรณีเสียอีก ถ้าเกิดน.ส.ยิ่งลักษณ์เห็นว่า กระบวนการตรงนี้ไม่ยุติธรรม มันลำเอียง เสมือนน้ำในหูไม่เท่ากัน และเป็นเหตุให้ไม่มาในครั้งนี้ ก็ถือว่าคาดการณ์ได้ถูก เพราะตนเข้าใจว่าถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์มาในวันนี้ก็คงเป็นในลักษณะเดียวกัน
"เห็นได้ว่าที่ผ่านมาที่พยายามจะต่อสู้คดีตามลำดับแต่ไม่ได้รับการตอบสนองสักเท่าไหร่ แม้กระทั่งคำฟ้องของอัยการที่กล่าวปิดคดี มันไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้ตัวบทกฎหมายมาประยุกต์ใช้กับความผิดที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด มันเหมือนกับเป็นคำปราศรัยการเมืองที่ปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นมา ซึ่งมันผิดวิสัยอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการยุติธรรมในการที่จะกล่าวหาบุคคล ทุกคนทราบกันดีว่า คดีดังกล่าวมันไม่ใช่เป็นเรื่องความผิดตามปกติ ไม่ใช่เรื่องของการทำผิดกฎหมาย มันเป็นเรื่องของการขับเคี่ยวทางการเมืองเท่านั้นเอง"นายอนุสรณ์ ระบุ.
...