วันพุธ, สิงหาคม 23, 2560

“รูปธรรม” แห่งความหวาดกลัว... เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดความคิด ความรู้สึก ไม่อยากให้มี “เลือกตั้ง” ในกลุ่มที่เคยปูทางและสร้างเงื่อนไขให้ “คสช.” ขึ้นมามีอำนาจ





คะแนน การเมือง ของ รัฐบาล และ คสช. กับ’25 สิงหาคม’


22 สิงหาคม พ.ศ.2560
มติชนสุดสัปดาห์


เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดความคิด ความรู้สึก ไม่อยากให้มี “เลือกตั้ง” ในกลุ่มที่เคยปูทางและสร้างเงื่อนไขให้ “คสช.” ขึ้นมามีอำนาจหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

1 ปัจจัยที่สัมผัสได้จาก “กรณี 25 สิงหาคม”

1 ปัจจัยจากที่รับรู้ผ่านการสำรวจความรู้สึกประชาชนของ “กรุงเทพโพล” ภายใต้หัวข้อ “ประเมินผลงาน 3 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

การได้คะแนนเฉลี่ย 5.27 จากคะแนนเต็ม 10 ก็หวาดเสียวอย่างยิ่งแล้ว

แต่เมื่อลงลึกไปยังแต่ละคำถามอันเป็นรายละเอียด ไม่ว่าจะด้านความมั่นคง ไม่ว่าจะด้านการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะด้านการต่างประเทศ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจคะแนนล้วนลดลง

เท่ากับชี้ว่า 3 ปีมิเป็นการสูญเปล่าหรือ

เมื่อ 3 ปีเศษภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินในความรับผิดชอบโดย คสช.เป็นเช่นนี้ เมื่อมาประสบกับการแสดงออกของชาวบ้านโดยรวมศูนย์ไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใน “กรณี 25 สิงหาคม”

ยิ่งก่อความหวั่นไหวให้กลายเป็นโรคระบาด

มาตรการต่างๆ ที่อัดลงไปโดย 1 คสช.ผ่าน กกล.รส. 4 กองทัพภาค 1 กระทรวงมหาดไทยผ่าน 7 มาตรการไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานเข้ากับ 1 แผนกรกฎ 52 ของตำรวจ

ยิ่งสะท้อน “รูปธรรม” แห่งความหวาดกลัว

“จากการข่าวพบว่า ขยับกันทั้งประเทศ มีการระดมคน ชักชวนกันมา ปากต่อปาก ชวนกันมาจังหวัดละ 10-20 คนทั้งประเทศ มีเพียง 10 จังหวัดเท่านั้นที่ระดมคนมา ที่เหลือมากันหมด

“แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นแนวร่วมกลุ่มไหน ใส่เสื้อสีแดงหรือไม่”

การที่การขยายกำลังพลจาก 17 กองร้อยเป็น 24 กองร้อย นั่นคือจาก 2,505 นาย เป็น 3,600 นาย เท่ากับเป็นรูปธรรมแห่งความไม่ประมาท

ก็ในเมื่อ “กรณี 25 สิงหาคม” คือ การอ่านคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าว แม้ตำรวจไม่ได้ระบุว่าการระดมคนมาจากกลุ่มไหน ใส่เสื้อสีแดงหรือไม่

ก็ไม่ยากที่จะคาดเดา

เพราะเป้าหมายของการประกบติดแกนนำ 1 คือภาคเหนือ ดังกรณีอันเกิดขึ้นที่เชียงใหม่ 1 คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังกรณีวิทยุสั่งการที่อุดรธานี

ย่อมชัดว่าเป็นกลุ่มการเมืองใด

แต่ในเมื่อพรรคเพื่อไทยก็ยืนยันว่าไม่มีการปลุกระดม ขณะเดียวกัน นปช.ก็ยืนยันว่าไม่มีการจัดตั้งไม่มีการเกณฑ์คน

หากแต่เป็นเรื่องของ “ความสมัครใจ”

มาตรการต่างๆ อันขับเคลื่อนและดำเนินการโดย 1 กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย 1 กระทรวงมหาดไทย และ 1 ตำรวจ

ก็แทบจะพุ่งไปใน “ความว่างเปล่า”

เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เงียบสงบอยู่ในบ้านซอยโยธินพัฒนา 3 เพราะพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีการขยับ เพราะ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็มิได้ทำอะไร

ทั้ง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ถูกจำขัง ณ เรือนจำคลองเปรม

อาจกล่าวได้ว่า “กรณี 25 สิงหาคม” เป็นงานที่หนักหนาสาหัสในความรับผิดชอบของสำนักงานเลขาธิการ คสช.ของกระทรวงมหาดไทย และของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เพราะเป็นการต่อสู้ภายใน “ความเงียบ”

เป็นความเงียบ เป็นความสงบ ที่รู้อยู่ว่ามีความไม่พอใจคุกรุ่น และคะแนนนิยมของ คสช.และรัฐบาลก็ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

ทั้งไม่รู้ว่าหากเลื่อน “การเลือกตั้ง” ออกไป ผลจะเป็นเช่นใด”