วันอังคาร, สิงหาคม 29, 2560

BBC Thai วิเคราะห์: “พรรคทักษิณ” ในการเมืองหลังยุค “ชินวัตร”



น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอตัวเป็นนายกฯ ในนามพรรคเพื่อไทย ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 โดยประกาศว่าขอเข้ามาบริหารประเทศเพื่อ "แก้ไข ไม่แก้แค้น"


วิเคราะห์: “พรรคทักษิณ” ในการเมืองหลังยุค “ชินวัตร”


หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ที่มา BBC Thai

การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร? คือคำถามใหญ่หลังการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกออกหมายจับเนื่องจากไม่ไปฟังคำพิพากษาของศาลตามนัดหมายเมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

การตัดสินใจ "เดินตามรอยเท้า" พี่ชาย-อดีตผู้นำพเนจร นายทักษิณ ชินวัตร ย่อมส่งผลกระทบต่ออนาคตพรรคเพื่อไทยอย่างไม่ต้องสงสัย บ้างก็ว่าพรรคทักษิณอาจถึงคราวล่มสลาย.. บ้างก็ว่าเป็นจังหวะที่ดีในการปฏิรูปพรรคให้เป็นสถาบันการเมือง เลิกผูกติดอยู่กับตัวบุคคล..

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยที่เป็น "จุดแข็งที่สุด" ของพรรค แต่ก็เป็น "จุดอ่อนที่สุด" ในเวลาเดียวกันคือความเป็น "นายทักษิณ ชินวัตร"

อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลนายทักษิณบอกกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย เพราะแกนนำและอดีต ส.ส.ของพรรคที่ไปรอให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ศาล ต่างไม่ทราบ "แผนหนี" ของเธอมาก่อน

"ก็ถือเป็นจังหวะที่ดีที่แกนนำพรรคจะได้ทบทวน และหารืออนาคตของพรรคอย่างจริงจังต่อไปในวันที่ไม่มีคนในตระกูลชินวัตร" อดีตรัฐมนตรีผู้ใกล้ชิดนายทักษิณกล่าว

ย้อนโปร์ไฟล์การเมือง "พรรคทักษิณ"

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2544-2554) พรรคทักษิณชนะการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ส่งแกนนำพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 4 คน ในจำนวนนี้เป็นคนในเครือข่ายตระกูลชินวัตร 3 คน ได้แก่ นายทักษิณ, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว ทุกชัยชนะล้วนมี "เงาทักษิณ" แฝงอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในตัวตน-สไตล์การเมืองแบบทักษิณ




หลังรัฐประหาร 2549 ชื่อนายทักษิณถูกชูให้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะบรรดาผู้สนับสนุนมองว่าอดีตนายกฯ เป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งที่ตลอด 5 ปีแห่งการครองอำนาจ นายทักษิณถูกวิจารณ์ว่าเป็นตัวการทำลายความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค จากการสวมบทบาท "ผู้นำรวมศูนย์อำนาจ" ทั้งฐานสภา-ฐานมวลชน จนเกิดวาทกรรม "เผด็จการรัฐสภา"

ทว่านายทักษิณกลับบอกว่า "ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้บอกว่ามีเกิน 300 เสียง แล้วเป็นเผด็จการรัฐสภา" (มติชนรายวัน, 6 ก.พ. 2548)


GETTY IMAGES
นายทักษิณ ชินวัตร สไกป์มาอวยพรสมาชิกพรรคเพื่อไทยก่อนวันสงกรานต์ 7 เม.ย. 2559 โดยระบุว่า "หากอยู่ด้วยความอิจฉา ริษยา หรือโกรธแค้น ชีวิตก็จะยิ่งสั้น"


แม้ตัวไม่อยู่ในไทยตั้งแต่ปี 2550 แต่นายทักษิณยังคิดนโยบาย-บัญชาการราชการจาก "แดนไกล" จนพรรคประชาธิปัตย์โจมตีว่าก่อให้เกิดภาวะ "รัฐซ้อนรัฐ" ทำให้นายกฯ และหัวหน้าพรรคโดยตำแหน่งสูญเสียภาวะผู้นำ

นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนงานการเมืองผ่าน "คณะกรรมการครอบครัว" แทนที่จะเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค

การเมืองสไตล์นายทักษิณถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อชนชั้นนำเก่า และเชื่อกันว่านี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พรรคทักษิณถูกสั่งยุบ 2 ครั้ง และถูกรัฐประหาร 2 ครั้ง





จึงเริ่มมีข้อเสนอให้ปฏิรูปพรรคด้วยการ "ก้าวข้ามทักษิณ" ภายหลังชนะการเลือกตั้งปี 2554 เพื่อยุติปัญหา "ชนะเลือกตั้ง แต่ปกครองไม่ได้" ทว่าเจ้าของพรรคตัวจริงไม่สนองตอบ เพราะชัยชนะในสนามเลือกตั้งในครั้งนั้น ได้จากการที่นายทักษิณประกาศว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์คือ "โคลนนิง" ของเขา

เช็คท่าทีมวลชน หลัง 2 พี่น้องชินวัตรพเนจร


อีกครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์โคลนนิงพี่ชายด้วยการ "หนีคดี" แกนนำมวลชนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่-บ้านเกิดของ 2 พี่น้องตระกูลชินวัตร ประเมินว่าการหายไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งผลทั้งในเชิงบวกและลบต่อพรรคเพื่อไทย

ในแง่บวก จะเกิดกระแสความเห็นใจและเทคะแนนให้พรรคเพื่อไทยต่อความไม่อยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตระกูลชินวัตร เพราะนิสัยคนไทยขี้สงสาร ส่วนในแง่ลบพรรคอาจขาดแม่เหล็กในการดึงดูด ส.ส.



AFP/GETTY IMAGES


สิ่งที่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยรอดูหลังจากนี้ คือใครจะขึ้นเป็นผู้นำพรรคคนใหม่

"ถ้าหัวกระดิกได้ หางย่อมส่ายเป็นของธรรมดา ในเมื่อพระเอก-นางเอกไม่ได้เล่นเอง ก็ต้องรอดูว่าคนที่ถูกเลือกให้เป็นพระเอก-นางเอกคนใหม่จะสมบทบาทหรือไม่ แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าอดีตนายกฯ ทักษิณจะเป็นผู้กำกับได้เต็มที่หรือไม่ เพราะตัวท่านเองก็เจอวิบากกรรมไม่น้อย" นายมหวรรณ กะวัง อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย และผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชน 105.5 เชียงใหม่ กล่าวกับบีบีซีไทย

อย่างไรก็ตาม เขาไม่เชื่อว่านายทักษิณจะวางมือทางการเมือง เพียงแต่รอดูจังหวะที่เหมาะสมในการเคลื่อนไหวรอบใหม่

"อดีตนายกฯ ทักษิณเคยพูดว่าต้องเอาความยุติธรรมกลับคืนมา ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกหน้า ดังนั้นถามว่าท่านจะวางมือทางการเมืองไหม คงวางลำบาก เพราะความอยุติธรรมที่ท่านและครอบครัวเจอมันสาหัส" นายมหวรรณระบุ

ส่วนที่มีชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือเจ๊หน่อย เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ แกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าหากคุณหญิงหน่อยได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคจริง การเมืองจะเข้าสู่โหมด รอมชอม แต่เป็นเกมเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วแบบในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่หาเสียงว่า "แก้ไข ไม่แก้แค้น"

"สุดท้ายไม่ได้แก้อะไรสักอย่าง เพราะฝ่ายที่จ้องทำลายไม่ยั้งมือเลย หากเจ๊หน่อยเป็นหัวหน้าพรรค มวลชนจำนวนหนึ่งคงไม่เอาด้วย" เขากล่าว


THANYAPORN BUATHONG/BBC THAI
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พบปะมวลชนหน้าศาลฎีกา ที่มารอให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560


พรรคเพื่อไทย หลังยุค "ชินวัตร"

ในวิกฤต "พรรคไร้หัว" รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นโอกาส โดยชี้ว่าความท้าทายของพรรคเพื่อไทยคือจะจัดการอย่างไรเพื่อให้พรรคก้าวสู่ความเป็นสถาบันการเมือง ซึ่งกินความหมายถึงความมั่นคงยืนยงของตัวองค์กรพรรค โดยไม่ยึดติดกับตัวบุคคล, ความหลากหลายในการแสดงบทบาท เช่น การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้เคาะจากผู้มีบารมีในพรรคคนใดคนหนึ่ง, ความมีอิสระ และการมีฉันทามติในกระบวนการของพรรค

"ที่ผ่านมา คุณทักษิณไม่พยายามจัดการองค์กรพรรคให้เป็นสถาบัน พอวันนี้ไม่มีนายทักษิณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คนในพรรคจึงตื่นตระหนก แต่ถ้าพรรคใช้จังหวะอันท้าทายนี้ปรับตัวทางการเมือง ทำตัวเองให้หลุดจากตระกูลชินวัตร ก็จะสามารถสร้างฐานให้เป็นสถาบันการเมืองได้ แต่แน่นอนว่าย่อมมีคำถามอื่นๆ ตามมา เช่น ทุนจะมาจากไหน อดีต ส.ส.จะถูกซื้อตัวไปหรือไม่" รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

ในทัศนะของ รศ.ดร.สิริพรรณ ไม่ว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์จะอยู่ในประเทศหรือไม่ พรรคเพื่อไทยก็เสี่ยงตกอยู่ในภาวะ "พรรคแตก" ก่อนการเลือกตั้ง ด้วยเพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่เอื้อให้พรรคการเมืองในปีกนายทักษิณได้เป็นรัฐบาลแม้ชนะการเลือกตั้งก็ตาม



AFP/GETTY IMAGES
นายทักษิณ ชินวัตร พบปะกลุ่มคนเสื้อแดงภายในเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เดือนเม.ย. 2555


การเมืองหลังยุคชินวัตร จึงยากจะคาดเดา-มีโอกาสออกมาได้หลายหน้า

หน้าหนึ่ง นายทักษิณอาจไม่ส่งคนตระกูลชินวัตรลงสนามเลือกตั้ง แต่สร้างนอมินีการเมืองแบบที่เคยทำ ซึ่งต้องรอดูว่าเกมการเมืองใหญ่จะมีเป้าหมายต่อสู้เพื่อทวงคืนอำนาจ หรือออกมาในลักษณะประนีประนอมกับทหาร หากเป็นอย่างหลัง พรรคเพื่อไทยก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอีกแบบ เพราะฐานสนับสนุนสำคัญของพรรคคือพลังที่เป็นขั้วตรงข้ามทหาร ก็จะกลับมาที่การแสวงหาฉันทามติว่าจุดยืนพรรคควรอยู่ตรงไหน

อีกหน้าหนึ่ง นายทักษิณเลือกเปิดหน้าสู้ ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนเรื่องอุดมการณ์ของพรรค แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีกลุ่มพลังสนับสนุนเป็นใคร สร้างฉันทามติได้มากน้อยแค่ไหน

อีกหน้าหนึ่ง ตระกูลชินวัตรหายไปจากพรรคเลย แต่อาจมีแกนนำพรรคเพื่อไทยคนอื่นใช้แบรนด์ "ไม่เอาเผด็จการ" ของพรรคทักษิณ มาสร้างการเมืองใหม่ โดยถือเป็นพรรคที่มีรากเหง้าจากนายทักษิณ แต่แตกหน่อออกมา ไม่ใช่ทำการเมืองแบบสืบสายโลหิต

"เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองได้ พรรคเพื่อไทยต้องหยุดคิดเอาคนตระกูลชินวัตรขึ้นมาเป็นหัว อย่าคิดว่าจะดีลได้ทางการเมือง นั่นคือปัญหาหลักของคุณทักษิณในช่วงที่ผ่านมา" รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

พร้อมย้ำว่า การชนะการเลือกตั้ง 4 ครั้งของพรรคทักษิณ ไม่ได้ทำให้พรรคเป็นสถาบันโดยอัตโนมัติ วันนี้เราจำเป็นต้องคิดเรื่องการทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ย้อนกลับไปสร้างกลไกที่ทำให้นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายบริหารไม่จำเป็นต้องใช้พรรคเป็นเครื่องมือ เพราะวิธีอื่นก็เข้ามามีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศได้ โดยรวมก็คือเป็นความพยายามทำให้ระบบพรรคการเมืองทุกพรรคมีความอ่อนแอผ่านกฎหมายโดยถาวร ไม่ใช่แค่ผ่านการรัฐประหารซึ่งเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว

หนทางเดียวในการต่อสู้ตามวิถีทางการเมือง จึงอยู่ที่การทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันอย่างแท้จริง


นายกฯ ฉุน โวยใครจะปล่อย "ปู" ไป
สด: ยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศแล้ว
68 ปีทักษิณ หนีคดี 6 หมายจับ ผลัก "ชินวัตร" เข้าแดนอันตราย