วันพฤหัสบดี, เมษายน 13, 2560

ทำไม Jack Ma ไม่เลือกเมืองไทย





อธิบายได้ทั้งหมดเลยว่าทำไม Jack Ma ไม่เลือกเมืองไทยเป็น logistic hub ของ #Alibaba ทำไมมาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ประเทศที่มี “ตลาด” เล็กกว่าเรา แต่ดึงดูดใจนักลงทุนได้มากกว่าเรา

“เราอยู่กับการรับจ้างทำของ เช่น ทำรถยนต์มาตั้งเยอะ แต่ไม่มีแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง เป็นแค่ประเทศที่รับจ้างผลิต”

“เฮดควอร์เตอร์ของไมโครซอฟท์ ออราเคิล ไอบีเอ็ม บริษัททุกอย่างที่เป็นบิ๊กเนม ไม่มีเฮดควอร์เตอร์ในไทย อยู่ที่สิงคโปร์ ไม่ก็มาเลเซีย เพราะเขาไม่สนใจ เราดึงดูดเขาไม่พอ แต่ขาดตรงไหนไม่รู้ ทั้งที่ประชากรเรามากกว่า ตลาดใหญ่กว่า เรามีทุกอย่างที่ยักษ์ใหญ่พึงจะมาตั้งออฟฟิศ แต่(เรา)ก็มีแค่สำนักงานขาย เฮดควอร์เตอร์ตั้งที่สิงคโปร์ ศูนย์พัฒนาตั้งที่เวียดนาม”
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1491662542


Pipob Udomittipong


ooo

มองอนาคต วงการไอทีไทย ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้มีแค่สตาร์ตอัพ


updated: 09 เม.ย 2560 เวลา 09:30:06 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สัมภาษณ์

คร่ำหวอดในวงการซอฟต์แวร์มายาวนาน "ภาณุทัต เตชะเสน" หรือ "หมอจิมมี่" แพทยศาสตรบัณฑิตที่ถอดเสื้อกาวน์มาเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้บุกเบิกซอฟต์แวร์ไทยส่งออกไปต่างประเทศเป็นเจ้าแรก ๆ และมีธุรกิจในมืออีกมาก ล่าสุดโฟกัสวงการ "เมกเกอร์" ตั้ง Chiangmai Maker Club เป็นเวทีสร้างสรรค์ผลงานของเมกเกอร์รุ่นใหม่ "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับหมอจิมมี่ หลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับวงการไอทีบ้านเรา ดังนี้

- คุณหมอทำอะไรอยู่บ้าง

หลัก ๆ เป็นบริษัทอาร์ต แอนด์ เทคโนโลยี และเมกเกอร์เอเชีย สร้างงานเมกเกอร์ ส่วนบรรดาบริษัทซอฟต์แวร์ก็ยังทำอยู่ แต่ให้รุ่นน้อง ๆ ทำมากขึ้น

- วงการเมกเกอร์ในไทยโตขึ้น

เมกเกอร์ก็คือคนที่ประดิษฐ์สินค้าขึ้นมา จริง ๆ ฮิตขึ้นมาช่วง 4-5 ปีนี้ เนื่องจากมีนิตยสารเมกแมกาซีน และมีการจัดเมกเกอร์แฟร์ไปทั่วโลก ที่ไทยจัดมาแล้ว 2 ครั้ง หลัง ๆ คนนิยมสินค้าพวกนี้ขึ้นมาเท่าที่จัดงานในกรุงเทพฯ ก็มีคนเข้าร่วม 5-6 พันคน ต่างจังหวัดราว 1 พันคน ตลาดน่าจะใหญ่พอสมควร ที่สร้างงานออกมาแล้วประสบความสำเร็จในต่างประเทศมีรายได้ มีหลายคน

อย่างอุปกรณ์ที่วัดค่าต่าง ๆ ในรถ ของไดรฟ์บอท ประสบความสำเร็จในไทยและขายในตลาดโลกได้ เมื่อก่อนพวกชิ้นส่วนรถแทบเป็นไม่ได้เลยที่คนทั่วไปจะทำถ้าไม่ใช่บริษัทรถหรือบริษัทใหญ่ ๆ แต่นี่คือเด็กไทย 2-3 คนที่เพิ่งตั้งบริษัททำขายได้ เป็นแนวโน้มใหม่ที่ใคร ๆ ก็ทำโปรดักต์อะไรก็ได้ออกมาขาย

- ความแตกต่างสตาร์ตอัพกับเมกเกอร์

เมกเกอร์คือคนที่อยากทำสินค้าแล้วก็เอาออกมาขาย แต่ไม่ใช่ New S-Curve เหมือนกับสตาร์ตอัพ ที่คาดหวังว่าพอ Spin off แล้วจะโตก้าวกระโดดทันที เป็นคนละปัจจัย ธรรมชาติคนละอย่าง

- ข้อจำกัดที่เป็น S-Curve ไม่ได้

เมกเกอร์เป็นตลาดที่สเกลยาก เพราะเป็นของที่ต้องผลิต เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องยุ่งกับการผลิต ไม่ง่าย ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้แต่ยาก ขณะที่สตาร์ตอัพที่มีชื่อเสียง เช่น อูเบอร์ ไม่มีกระบวนการผลิต เป็นแค่บิสซิเนสโมเดล ถ้าคิดถูก ก็โตเลย โดยไม่ต้องมีโรงงาน ไม่ต้องมีคน

- การผลักดันเมกเกอร์ของคุณหมอ

ที่เชียงใหม่ผมตั้งคลับ เมกเกอร์สเปซ เหมือนโคเวิร์กกิ้งสเปซชนิดหนึ่ง ให้เมกเกอร์มาใช้ ไม่มีโต๊ะทำงาน แต่มีอุปกรณ์เครื่องมือที่จะทำสิ่งของให้ใช้ เปิดใช้ฟรี 24 ชั่วโมง แต่แลกกับต้องเป็นโอเพ่นซอร์ซ และต้องเขียนบทความเกี่ยวกับงานที่ตัวเองทำให้คนอื่นได้เรียนรู้

- เมกเกอร์เอเชียมีสินค้าอะไรบ้าง


มีบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ขายในต่างประเทศ เหมือนเมนบอร์ดคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเอนด์ยูสเซอร์ไม่ได้ซื้อ เป็นอุปกรณ์สำหรับคนที่จะทำด้าน IoT ซื้อไปใช้

- ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญกับเมกเกอร์ไหม

ต้องเข้าใจว่าคำที่รัฐบาลใช้ คือ ไทยแลนด์ 4.0 มีนัยในเรื่องที่ว่า เราอยู่กับการรับจ้างทำของ เช่น ทำรถยนต์มาตั้งเยอะ แต่ไม่มีแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง เป็นแค่ประเทศที่รับจ้างผลิต ด้วยต้นทุนที่เคยต่ำ พัฒนาอุตสาหกรรมมา 30-40 ปี จนเมื่อมีประเทศอื่นที่ค่าแรงถูกกว่า เราก็เริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ไทยไม่สามารถทำรายได้เยอะ ๆ ได้ เพราะไม่มีแบรนด์ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอินโนเวชั่น ไม่มีสินค้าทางปัญญา ขายแต่แรงงาน รัฐบาลเรียกว่าเป็นกับดักรายได้ปานกลาง รัฐบาลบอกว่า ไทยแลนด์ 4.0 คือการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยให้มีรายได้สูง เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง มีอินโนเวชั่น แบรนด์ตนเอง มีดีไซน์ ปัญหาคือว่าไม่มีคำว่าสตาร์ตอัพสักคำกับการพัฒนาเป็นอินดัสทรี 4.0 มีอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง มีกำไรมาก ๆ

- ไม่มีคำว่าสตาร์ตอัพ แต่เราไปส่งเสริมสตาร์ตอัพ

ผมคิดว่าเป็นความสับสนว่าเราไม่รู้ว่าจะจับอะไรที่ได้ผลเร็วเมื่อคิดว่าอุตสาหกรรมการผลิต อาจไม่ใช่อุตสาหกรรมที่น่าสนใจอีกต่อไป ควรหา S-Curve เลยไปสนับสนุนสตาร์ตอัพ หวังว่าธุรกิจวันนี้จดทะเบียนไม่กี่บาท อีก 2 ปี เป็นพันล้าน ไทยต้องเจริญ แต่อีกด้าน เช่น ที่จีน หรือเยอรมนี เขาปรับประเทศไปสู่อินดัสทรี 4.0 โดยปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพขึ้น ลดคน ใช้ออโตเมชั่นมากขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับเรามองไทยแลนด์ 4.0 ตรงไหน

- รัฐมาถูกทาง

ธุรกิจของสตาร์ตอัพต้องสเกลได้ แต่ตอนนี้ยากแล้ว พยายามปั้นแบบอูเบอร์ขึ้นมาแข่งกับอูเบอร์ ก็เหนื่อยแล้ว และเราไม่สามารถปั้นธุรกิจ S-Curve ได้ไม่จำกัด ไม่มีทางที่จะสร้างสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จได้เป็นพันรายด้วยข้อจำกัดของ สตาร์ตอัพเอง ธรรมชาติไม่สามารถเป็น Mass ได้ แค่สิบบริษัทก็เก่งแล้ว แต่อาจมีในนั้นที่โตเป็นหมื่นล้านได้

- รัฐบาลไม่ครบวงจร

ไม่เชิง คือ มุ่งไปแต่ว่า อยากสร้างธุรกิจใหม่ก็ทำสตาร์ตอัพ แต่ในความเป็นจริงยังมีอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่อีกเยอะที่ยังไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเจน แม้ตามแผนของรองนายกฯ สมคิด จะเห็นชัดว่ามีทั้งอุตสาหกรรมโรโบติก อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ สุขภาพ ถ้าสนับสนุนได้ตามแผนก็จะดี แต่นี่คือเห็นมุมเดียวเท่านั้นเองคือสตาร์ตอัพ นโยบายรัฐบาลมาถูกแล้วถ้าทำได้ตามนั้น

- การให้สิทธิประโยชน์ให้เอกชนมาหนุน

ต้องสร้างกลไกทางการเงินที่เหมือนฝรั่ง ต้องให้เห็นการลงทุนระดับ 10 ล้านเหรียญมาก ๆ ตอนนี้เอกชนให้ 1-2 แสน สเกลนี้ไม่มีวันโตได้ ถ้าจะแข่งกับโลก ต้องเล่นสเกลที่โลกเล่น แต่ไม่ง่าย ยิ่งพยายามดึงระดับโลกเข้ามา ถ้าเราเอาเด็กจบใหม่มาให้ไปแข่งในระดับโลก ต้องมีโค้ชที่ดี

- รัฐจะสร้างซิลิคอนวัลเลย์เมืองไทย

ก็ไม่ตอบโจทย์ เฮดควอร์เตอร์ของไมโครซอฟท์ ออราเคิล ไอบีเอ็ม บริษัททุกอย่างที่เป็นบิ๊กเนม ไม่มีเฮดควอร์เตอร์ในไทย อยู่ที่สิงคโปร์ ไม่ก็มาเลเซีย เพราะเขาไม่สนใจ เราดึงดูดเขาไม่พอ แต่ขาดตรงไหนไม่รู้ ทั้งที่ประชากรเรามากกว่า ตลาดใหญ่กว่า เรามีทุกอย่างที่ยักษ์ใหญ่พึงจะมาตั้งออฟฟิศ แต่ก็มีแค่สำนักงานขาย เฮดควอร์เตอร์ตั้งที่สิงคโปร์ ศูนย์พัฒนาตั้งที่เวียดนาม เราประสบความสำเร็จมากในออโตโมบิล แต่ตลาดไอทีไม่เคย ถ้าเราดึงดูดพอ เขาไม่ไปที่อื่น

- ควรไปทางอื่นดีกว่า

เรามีหลายตลาดที่แข็งแรง เช่น ท่องเที่ยว การแพทย์ สุขภาพ รถยนต์ แต่คิดแต่สตาร์ตอัพ สนับสนุนสตาร์ตอัพที่ไปซัพพอร์ตเฮลท์แคร์ ทำไมไม่ไปสนับสนุนเฮลท์แคร์ที่รุ่งอยู่แล้ว หรือให้โรงพยาบาลหรือสถานพักฟื้นให้มีเทคโนโลยี

- สร้างสตาร์ตอัพลดความเหลื่อมล้ำ

สตาร์ตอัพมีแต่เด็กในเมือง ไม่มีเด็กบ้านนอกทำหรอก ธรรมชาติสตาร์ตอัพบ้านเราคือสัมมนา การพิตช์ การทำงานในร้านกาแฟ การใช้ชีวิตชิล ๆ ผมไม่ได้บอกไม่ดี แต่เยอะไปหรือเปล่า

ธุรกิจที่รุ่ง ๆ ก็มีเยอะแยะ เช่น ท่องเที่ยวในต่างจังหวัด ก็เป็น GDP ทำไมไม่ทำให้คนพวกนี้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวเราใส่เทคโนโลยีได้เยอะ แต่นี่ไปปั้นเด็กจบใหม่ ซึ่งบอกว่าจะทำเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร แต่ไม่เคยทำเกษตรเลย ทำนาไม่ใช่ง่าย ทำไมไม่พัฒนาคนในอุตสาหกรรมให้ใช้เทคโนโลยีแทน

การพัฒนาสตาร์ตอัพอยู่ที่ 1. เงิน บ้านเราเงินไม่ถึง ถ้าจะไปสเกลเดียวกับโลกต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง ว่าทำไงให้เกิดสตรักเจอร์การเงินที่จับต้องได้ เช่น ดึง VC ใหญ่ ๆ มา ไม่ใช่ VC ที่ตั้งกันเอง

- วงการไอทีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปอย่างไร


วงจรก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไร ยังมีปัญหาของคน การสนับสนุนของรัฐบาลที่ไม่ค่อยถูกทาง ผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นเราเป็นได้แค่ผู้ใช้ ตลอด 30 ปีที่พัฒนาตลาดไอทีมา เราไม่ Success รัฐบาลต้องคิดเรื่องนี้ให้ออกว่าทำไม เป็นไปได้ว่าเอกชนไม่แข็งแรงพอ ผมไม่รู้จริง ๆ แต่มีสมมุติฐานหลายเรื่อง 1.อย่างอุตสาหกรรม Success คือ อุตสาหกรรมที่ใช้คนต่ำกว่ามหาวิทยาลัย แปลว่าสายอาชีพของไทยแข็งแรงรึเปล่า แต่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ต้องใช้ปริญญาตรี และไม่ประสบความสำเร็จเพราะปริญญาตรีเราล้มเหลวรึเปล่า ไม่มีใครรู้ การส่งเสริมของภาครัฐ อย่าง BOI เกือบ 20 ปี ไม่ยอมใช้ค่าใช้จ่ายแรงงานเป็นต้นทุนในการหักภาษี เพราะต้นทุนกว่า 80% ของอุตสาหกรรมนี้คือแรงงาน เมื่อบริษัทไม่ใช้เครื่องจักร เช่น ใช้ซอฟต์แวร์ ซึ่งไม่สามารถใช้หักภาษีได้ใครจะมาตั้ง BOI แก้กฎซึ่งก็สายเกินไปแล้ว

- ซอฟต์แวร์จะตาย IoT (Internet of Things) จะมาแทน


ซอฟต์แวร์เป็นตลาดที่เปลี่ยนไปเรื่อย จากที่เคยเขียนบนเมนเฟรม ก็เป็นพีซี เป็นมือถือ และกำลังจะไป IoT ตลาดซอฟต์แวร์ยังคงเดิม แค่เปลี่ยนว่าซอฟต์แวร์จะไป Run บนอุปกรณ์อะไร พอเป็น IoT ก็หมายถึงหลายพันล้านตัวที่ต้องใช้ เพียงแต่ตลาดจะเฉพาะ และยากขึ้น มีความซับซ้อนของอุปกรณ์ปลายทาง จะหาบริษัทที่ทำครบทุกส่วนไม่มีแล้ว ดังนั้นแทนที่บริษัทจะใหญ่ขึ้น มันจะเล็กลง และตลาดจะมีไดนามิก ไม่หยุดนิ่ง

- คุณสมบัติเด็กรุ่นใหม่จะเข้าวงการ

คนไอทีเมืองนอกจะนั่งคิดว่าจะเขียนอะไรที่บนโลกยังไม่มี แต่ของไทยนายสั่งมาซิว่าจะให้ทำอะไร ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยังไม่เจริญมาก ทักษะไอทีเป็นสิ่งที่ต้องเรียนเพิ่มด้วยตัวเองตลอดเวลา

- ขาดแคลนบุคลากร

ปัญหาไม่ได้ขาดแค่ไหน แต่อยู่ที่เราต้องการมากแค่ไหน ต้องการจริงหรือเปล่า ธุรกิจที่ผมทำไม่ขาด เพราะไม่ได้ต้องการเยอะ ทำเฉพาะที่อยากทำแต่ถ้าเป็นในภาพรวม ที่บอกว่าขาดคือ ไม่มีตำแหน่งรองรับหรือไม่มีรายได้พอจ่าย ในสิงคโปร์เงินเดือนเหยียบแสน บริษัทมีพอจ่าย แต่บริษัทซอฟต์แวร์ในไทยไม่มีใครจ่าย และจะมาบอกว่าขาดคนทั้ง ๆ ที่มีความสามารถในการจ่ายแค่ 15,000 มันขาดแน่ ๆ คนเก่ง ๆ ก็ไปทำงานต่างประเทศ คนไม่เก่งบริษัทก็ไม่อยากได้ มันก็ขาด

- อนาคตวงการไอที

เราพลาดมาแล้ว 2 อุตสาหกรรมที่ไม่เกิดในไทย 1.อินเทอร์เน็ต ที่ไม่เคยมีบริษัทใหญ่พอที่จะไปต่างประเทศได้ 2.ซอฟต์แวร์ ที่ก็ยังไม่ใหญ่ ต่อไปก็สตาร์ตอัพ ถ้าจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีสตาร์ตอัพที่สเกลหมื่นล้านขึ้นไปเทกโอเวอร์คนอื่นได้ ทำไมต้องรอให้บริษัทร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ต หรือ อาลีบาบา มาซื้อมาตั้งอีคอมเมิร์ซในไทย เป็นแค่สนามให้เขาเล่น ตลาดอีคอมเมิร์ซเราก็เป็นแค่คนซื้อ กำลังซื้อเยอะ แต่ต่างชาติได้กำไร

- IoT บิ๊กดาต้า บล็อกเชน กำลังมา

เราก็จะเป็นผู้บริโภคอีก อุตสาหกรรมพีซี ซอฟต์แวร์ อินเทอร์เน็ต เราซื้อมาขายไปหมดไม่ได้พัฒนาเอง ตลาดโมบายก็มีแค่ยี่ห้อเดียว แต่ก็จ้างจีนทำ สตาร์ตอัพก็เหมือนกัน แต่เราต้องทำให้มันเกิด

- เมกเกอร์ในเชียงใหม่เป็นความหวัง


แนวโน้มของโลกจะไปสู่การที่ทุกคนเป็นผู้ผลิต เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก คือ อินดัสทรี 4.0 เครื่องมือการผลิตขนาดเล็กเกิดขึ้นในราคาถูก ตลาดเมกเกอร์เป็นตัวสร้างอุตสาหกรรมแบบนี้ เมื่อก่อนต้องเป็นบริษัทใหญ่ แต่ตอนนี้จะเห็นงานของเด็กในเชียงใหม่ แม้เป็นงานเล็ก แต่ส่งออกได้จริง

ม.ค.ทุกปีที่เชียงใหม่จะมีงานเมกเกอร์แฟร์ เชิญผู้ซื้อจากต่างประเทศมาเลือกซื้อสินค้า ตั้งแต่ซื้อสิทธิ์ จ้างผลิตหรือเทกโอเวอร์ โลกยุคใหม่สามารถจ้างโรงงานผลิตหลักร้อยหลักพันได้ ไม่ต้องจ้างผลิตเป็นแสนเป็นล้านชิ้น การผลิตจำนวนน้อย ๆ เท่านี้ก็เลี้ยงคนในบริษัทเล็กได้สบาย บริษัทใหญ่ทำรายได้ร้อยล้านคนงานร้อยคน แต่บริษัทเล็ก มี 1-2 คนที่ทำรายได้สิบล้าน เทียบต่อหัวมีรายได้มากกว่าอีก งานแบบนี้ผมมองว่าเป็นอินดัสทรี 4.0 ซึ่งน่าจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยประเทศได้ และรองรับเทรนด์ IoT ด้วย