วันพุธ, เมษายน 19, 2560

ชวนอ่าน ยิ่งกว่านิยาย ชีวิต “ลุงแมว” ทายาทคณะราษฎร





ยิ่งกว่านิยาย ชีวิต “ลุงแมว” ทายาทคณะราษฎร

คนในข่าว : 16 เม.ย. 2560
ที่มา คมชัดลึก

เบื้องหลังชีวิต ลุงแมว ทายาท พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เล่าขานตำนานอภิวัฒน์ประเทศไทยที่ยังมีลมหายใจอยู่

ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ข้องเกี่ยวกับ “24 มิถุนายน 2475” หรือ “ประชาธิปไตย” เมื่อนั้น ชื่อของ “พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา” เป็นที่พูดถึงทุกครั้ง ในฐานะที่เป็นบุตรชายของ พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หรือ พจน์ พหลโยธิน หัวหน้าคณะราษฏร สายทหารบก ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “ทายาทอภิวัฒน์ที่ยังมีลมหายใจ” ถือเป็นคนสำคัญที่เหลืออยู่ในการถ่ายทอดเจตนารมย์ เรื่องเล่า และตรวจสอบหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 24 มิถุนายน 2475

บรรดาลูกหลานบนเส้นทางสายประชาธิปไตยเรียกขานด้วยความเคารพว่า “ลุงแมว” นอกจากนั้น ยังเป็นที่ชื่นชมในเรื่องวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและรักษาเกียรติยศความดีงามของบิดามารดามาตลอดชีวิต บ้างก็ว่า ชีวิตจริงของพระยาพหลพยุหเสนารายนี้ ยิ่งกว่านิยาย เกิดเป็นลูกพระยา แต่เส้นทางชีวิตมิได้เติบโตอย่างลูกพระยา!!





พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา เป็นบุตรชายคนที่ 4 ของ พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา กับ ท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหาเสนา เกิดเมื่อปี 2482 มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ปัจจุบันอายุได้ 78 ปี เกิดและเติบโตในวังปารุสกวัน วิ่งเล่นอยู่ในวังเก่าแก่มาจนกระทั่งอายุได้ 8 ขวบ พล.อ.พระยาพหลพยุหเสนาถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 60 ปี จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เมื่อสิ้นบิดา สิ้นตำแหน่ง ครอบครัวจึงต้องย้ายออกจากวังปารุสกวัน อันเป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร ไปอยู่หลายที่หลายแห่งแล้วแต่รัฐบาลแต่ละยุคสมัยจัดให้แล้ว นอกจากไม่มีบ้านของตนเองแล้ว ยังพบว่าไม่มีเงินด้วย ทั้งบ้านมีเงินเหลือเพียง 25 บาท เพราะบิดามิใช่นักสะสม หากจะมีก็เพียงที่ดินย่านรังสิต 50 ไร่ และบางซื่อเท่านั้น จากวังปารุสกวัน ท่านผู้หญิงบุญหลงพาลูกๆ ทั้งเจ็ดย้ายไปที่ ปตอ. บ้านเก่าแก่สมัยที่พระยาพหลฯ เป็น พ.ท.ริมคลองบางซื่อ ใกล้กับสะพานพิบูลฯ แต่ไกลจากพระนคร จึงย้ายไปอยู่บ้านสวนอัมพวัน แถวสี่เสาเทเวศร์ ไม่นานนักบ้านสวนถูกรัฐบาลปรับบ้านเป็นสภาการศึกษาแห่งชาติ จึงย้ายไปอยู่บ้านที่ยึดจากจอมพลสฤษดิ์ที่ซอยจอมพล จนท้ายสุดไปซื้อที่ดินอยู่นครชัยศรี เท่านั้นไม่พอ ที่ดินแถววัดพระศรีมหาธาตุฯ ย่านบางเขน ยังถูกรัฐบาลสมัยจอมพล.ป.พิบูลสงคราม เวนคืนไปทำโรงเรียนอีกด้วย รวมถึงเงินบำนาญก็ไม่ได้รับ ทำให้ครอบครัวอยู่กันอย่างลำบาก

จากที่มีคุณแม่เป็นหัวหน้าครอบครัว ลูกๆ แต่ละคนจึงได้รับการสอนให้ดูแลตัวเองด้วยการทำงานบ้านควบคู่ไปกับเรียนหนังสือ เพื่อให้ความเป็นอยู่ที่ดี ในบ้านจึงแบ่งพื้นที่สวนหนึ่งสำหรับปลูกต้นไม้ปลูกผักทั้งขายและไว้กินในบ้าน พ.ต.พุทธินาถ จึงมีหน้าที่ทำทุกอย่างในบ้านเช่นเดียวกับพี่ๆ น้องๆ

กว่าที่ครอบครัวจะได้รับ เงินบำนาญของพระยาพหลฯ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศไทย เวลาก็ผ่านไปกว่า 30 ปี โดยปรับจาก 1,600 บาทเป็น 8,000 บาท ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยมีได้รับการร้องขอมิให้เรียกดอกเบี้ยเพิ่มอีกด้วย ตลอดชีวิตของทายาทพระยาพหลฯ จึงมิได้สบายมากนัก แต่ทุกคนให้ความสำคัญด้านการเรียนสูงสุด ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเดิม จาก “พหลโยธิน” เป็น “พหลพลพยุหเสนา” ตามดำริของคุณแม่ที่ต้องการรักษาเกียรติวงศ์ตระกูลด้วยการนำบรรดาศักดิ์บิดามาเป็นนามสกุล

พออายุได้ 18 ปี พ.ต.พุทธินาถ สอบเข้าโรงเรียนนายสิบได้ เหตุที่อยากทำงานในเครื่องแบบเพราะอยากประชดแม่ คิดว่าแม่ไม่รักจึงพยายามทำในสิ่งที่คิดว่าดีเพื่อให้แม่เห็น แต่แล้วหนึ่งปีต่อมาหลังจากที่ได้ไปรบที่เวียดนาม ถึงได้รู้ว่าความรักของแม่ยิ่งใหญ่มหาศาล เช้าวันระเบิดลงได้ฝันด้วยว่าแม่กับพ่อมายืนเรียกชื่อตัวเองจนกระทั่งตื่น ทำให้แคล้วคลาดจากภยันตราย เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย แม่ไปรับที่สนามบิน จึงวิ่งตรงไปอย่างเร็ว พอถึงแล้วจึงก้มกราบเท้าแม่ทันที

อายุ 35 ปี ได้บรรจุที่ ม.พัน 4 ทหารสังกัด เป็นหนึ่งในลูกน้องของ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร และที่นั่นเองกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงในชีวิตอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ “เมษาฮาวาย” และ “กบฏ 9 กันยา” ในปี 2528 ถึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เป็นเพียงทหารในสังกัดที่ได้รับคำสั่งให้เตรียมรถถังจากสระบุรีเข้ามาล้อมดอนเมืองที่กรุงเทพฯเท่านั้น อีกทั้งยังมิได้เคลื่อนทัพจากสระบุรีแต่อย่างใดเพราะเกิดปฏิวัติเสียก่อนก็ตาม แต่ท้ายสุดก็ไม่พ้นข้อหา “ซ่องสุมกำลังปฏิวัติ”

วัย 47 ปี ต้องถูกออกจากราชการ เพราะถูกมองเป็นลูกชายพระยาพหลฯ และลูกน้อง พล.อ.มนูญกฤต รูปขจร หลังจากออกราชการจึงไปทำงานที่องค์การทหารผ่านศึก รับเงินเดือน 5 พันบาทเรื่อยมา ชีวิตหลังจากนั้นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่มีบ้านของตัวเอง ตระเวณเช่าบ้านไปเรื่อยๆ อยู่มาหมดแล้วทั้งย่านมีนบุรี, รังสิต, รามอินทรา ฯลฯ แต่ทุกที่มักปลูกต้นไม้และดูแลบ้านอย่างสะอาดเป็นระเบียบตามแบบที่คุณแม่ได้สอนมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ไปไหนมาไหนก็ด้วยรถประจำทางทั่วไป

ทุกปีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนมาถึง มักจะไปที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ ย่านบางเขน หรือ วัดประชาธิปไตย เพื่อร่วมกับทายาทคณะราษฎรทำบุญให้กับบรรพบุรุษ





24 มิถุนายน 2551 ขึ้นเวทีอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 เนื่องในวาระครบรอบ การอภิวัฒน์ 75 ปี ประชาธิปไตย ย้อนรอยสมัยบิดาเคยประกาศไว้ต่อหน้าบรรดาทหารและผู้ร่วมอุดมการณ์เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับประชาธิไตยเรื่อยมา อาทิเช่น เสวนา unseen 2475, แนะวิธี “สยบรถถัง หากมีการรัฐประหาร”, บรรยายเรื่องประวัติศาสตร์ “คณะราษฎรในความทรงจำ” เป็นต้น





จุดยืนสำคัญคือ “ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ” มาโดยตลอด โดยไม่เชื่อว่าการปฏิวัติทำให้ประเทศเจริญ แต่ยอมเพียงครั้งเดียวเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ที่ถือว่าคณะราษฎรทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

บทบาททางการเมืองเป็นหนึ่งใน “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” นปช. ในปี 2557 ได้เป็นตัวแทนทายาทคณะราษฎรหนุนให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ด้วย ต่อมาปี 2558 ร่วมกับ “เซีย ไทยรัฐ” นำชาวนปช.จัดงานอวยพรวันเกิด “66 ปี ทักษิณ” ที่ อิมพีเรียลเวิร์ลลาดพร้าว กระทั่งปีที่แล้ว ในวาระครบรอบ 2 ปีการปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2559 ตกเป็นข่าวเปิด “คณะกู้วิกฤติชาติ เพื่อกู้วิกฤติประชาธิปไตย” ร่วมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ แต่สุดท้ายก็ยกเลิกไป







ทุกวันนี้ พ.ต.พุทธินาถ หรือ ลุงแมวของชาวเสื้อแดง ยังคงใช้ชีวิตเรียบง่าย ถึงแม้เกิดอย่างลูกเจ้าพระยา แต่มิได้ใช้ชีวิตอย่างลูกเจ้าพระยาก็ตาม แต่คติหนึ่งที่บุตรชายของพระยาพหลฯ ได้ยึดมั่นเสอมมาคือ “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” เฉกเช่นบิดาของเขา รวมถึงคำสอนที่บิดาให้ไว้ตลอดมาในเรื่อง “ไพร่-ผู้ดี”

“อย่าได้คิดว่าคำว่า ”ไพร่“ คือ ”คนจน“ คำว่า ”ผู้ดี“ คือ ”คนรวย“ คนที่มีจิตใจดีมีมารยาท มีศีลธรรม มีความโอบอ้อมอารี และมีระเบียบวินัย คนนั้นคือผู้ดี ไม่ว่าจะเป็นขอทานหรือว่าอะไร แต่คนมีเงินเป็นเศรษฐีมีบ้านอยู่ใหญ่โตแต่มีนิสัยไม่ดีเอาเปรียบคนอื่นอะไรต่างๆ เหล่านี้คือไพร่” ส่วนยศถาตำแหน่งนั้น พ.ต.พุทธินาถ ได้ปฏิเสธไว้ไม่ขอรับยศตำแหน่งใดนอกจาก “นายสิบ” เช่นเดียวกับที่เป็นมา ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาเกียรติยศและความดีงามที่บิดาและมารดาได้สร้างไว้นั่นเอง

ขอบคุณภาาพจาก ประชาไท