วันอาทิตย์, เมษายน 16, 2560

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิเคราะห์ความแตกต่าง ระหว่าง “หมุดคณะราษฎร”และ “หมุดหน้าใส” ชี้ ‘หมุดหน้าใส’ ไม่สามารถทำลายพลังประชาธิปไตยแต่จะกลับกลายเป็นพลังด้านกลับ ทวงถามประชาธิปไตยให้ประชาชน




https://www.facebook.com/FahroongSk/videos/765777906920625/

วิเคราะห์ text บน “หมุดหน้าใส” ไม่สะท้อนอุดมการณ์ที่มองไปข้างหน้า แตกต่างจาก “หมุดคณะราษฎร”

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้เขียนหนังสือ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (1932 Revolution and Aftermath) พิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กล่าวว่า หมุดนี้ขนาดก็ดูใกล้เคียงกับหมุดคณะราษฎร 2475 ถ้าดูจากภาพก็ดูเหมือนเป็นหมุดโลหะแผ่นหนึ่ง แต่เมื่อมามองดูใกล้ๆ ก็ดูเหมือนเป็นร่อง เป็นกรอบ เป็นวงกลมแล้วมีชิ้นส่วนอย่างน้อยๆ 4 ชิ้นมาประกอบกัน

ตัวอักษรตรงกลาง “ขอประเทศสยามจงเจริญ” ต้องพิจารณาว่า การใช้คำว่าประเทศ และการใช้คำว่า สยาม นั้น รัฐบาลกรุงเทพฯ ยอมรับเป็นชื่อประเทศสยามเมื่อปีพ.ศ. 2398 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อต้องทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ต่อมาชื่อประเทศสยามถูกเปลี่ยนแปลง ในปี พ.ศ. 2482 ในสมัย จอมพล ป หรือ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลคณะราษฎร ผู้สร้างระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ ได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทย

ดังนั้น ประเทศสยามได้สิ้นไปแล้ว ในปีพ.ศ. 2482 ช่วงของประเทศสยามมีเพียง 83 ปีเท่านั้น การที่ใช้คำว่าประเทศสยาม เท่ากับย้อนยุคไป ในขณะที่เราอยู่ในช่วงของประเทศไทย

คำว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญ ยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” อันนี้แปลกมากเลยนะครับ เมื่อใช้คำว่าสุขสันต์หน้าใส สุขสันต์เป็นคำใหม่ของโลกยุคของพวกเรา แต่คำว่า หน้าใส มันก็ทำให้คิดถึง จารึกในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ที่เราเรียกว่าไพร่ฟ้าหน้าใส แต่ทีนี้จะใช้คำว่าไพร่ฟ้าก็ไม่ได้ กลับมาใช้คำว่าประชาชน ประชาชนเป็นคำที่ถูกใช้หลังการปฏิวัติ 2475 เพราะว่าก่อนปฏิวัติ 2475 เราเป็นประเทศสยาม เราจะต้องเรียกคนในแผ่นดินนี้ว่าราษฎร ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎรหรือว่า the people party จึงตั้งชื่อตัวเองว่าคณะ หรือ party ซึ่งแปลว่า คณะ

ตอนนั้นคำว่าพรรคการเมืองยังไม่มี ส่วน people ใช้คำว่าราษฎร ซึ่งเป็นผู้ถูกปกครองในสมัยของประเทศสยาม แต่พอบอกว่า ประเทศสยามแล้วบอกให้ประชาชนหน้าใส มันคนละยุคสมัย ที่เอามาอยู่ด้วยกันได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ส่วนคำว่า “เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” เป็นคำที่เราคุ้นๆ

คำว่าไพร่ฟ้าหน้าใส อาจจะตีความได้ว่ามีความสุขสดชื่น แต่โดยทั่วๆ ไป เราแค่เห็นสิ่งที่พยายามจะบอกว่า บ้านเมืองดูดีนะ แต่เราไม่เห็นอุดมการณ์ที่มองไปข้างหน้า นี่คือหลักหมายของหมุดนี้

คำในวงกลมเหมือนเป็นการเอาคำที่ปิ๊ง มาไว้ร่วมกัน ทั้ง 3 อันจึงขัดแย้งกันเอง ไม่ได้ไปตามยุคสมัยใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับบอกว่า ไพร่ฟ้าหน้าใส เอ๊ะ!! แล้วจะเป็นอุดมการณ์ ทางการเมืองยังไง

เราอ่านแล้วก็จะไม่รู้ถึงการมองไปข้างหน้า วิชั่นที่จะมีไปข้างหน้า ในขณะที่หมุดของคณะราษฎร บอกว่า เขาได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ ซึ่งเป็นวิชั่นที่มองไปข้างหน้า นี่คือความแตกต่างกันนะครับ

.....



https://www.facebook.com/FahroongSk/videos/765682673596815/

หมุดปลุกปีศาจทวงถามประชาธิปไตยให้ประชาชน

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ 2475 ชี้ ‘หมุดหน้าใส’ ไม่สามารถทำลายพลังประชาธิปไตยแต่จะกลับกลายเป็นพลังด้านกลับทำให้คนตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปลุกปีศาจทวงถามประชาธิปไตยให้ประชาชน

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้เขียนหนังสือ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (1932 Revolution and Aftermath) พิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตส่วนหนึ่งว่าบริเวณโดยรอบหมุดคณะราษฎร มีสถานที่ราชการรวมถึงกล้อง CCTV จะไม่รู้เลยหรือว่าใครขุดหมุดคณะราษฎรไป นอกจากนั้นเรื่องราวของหมุด ก็จะกลายเป็นประเด็นข่าวระดับโลกว่าประเทศไทยสามารถทำลายอดีตทำลายประวัติศาสตร์ของตนเองได้ภายใต้รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งทั่วโลกคงตกใจ เพราะหากเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ เรื่องอื่นๆ ก็เกิดขึ้นได้หมด นี่ก็คือความหมายอันสำคัญของการถอดหมุด

ส่วนจะสามารถทำลายพลังของประชาธิปไตยหรือไม่นั้น การถอดหมุดกลับช่วยกระตุ้นให้เกิดการอยากรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรเพิ่มขึ้น “ผมคิดว่าแทนที่หมุดใหม่จะทำลายพลังของประชาธิปไตยไป หมุดนี้กลับกลายเป็นเครื่องหมายกระตุ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามายังหมุดนี้ เราเห็นหมุดนี้ เราก็ต้องตั้งคำถามว่า หมุดนี้ใครเอามา แล้วทำไมต้องโยนหมุดของคณะราษฎรและ 2475 ไป

แค่เริ่มต้นคำถาม หมุดนี้ก็กลายเป็นหมุดแห่งปัญหา หมุดนี้กลับกลายเป็นหมุดของการกระตุ้นเตือนให้เกิดพลังประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะพลังประชาธิปไตยมาจากการเกิดคำถาม ไม่ใช่เกิดจากความเงียบ เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนอยู่ภายใต้ความเงียบโดยไม่มีคำถาม นั่นไม่ใช่พลังแน่ๆ แต่เมื่อไหร่หมุดนี้ก่อให้เกิดคำถามตลอดเวลา ว่าทำไมต้องทำให้เกิดขึ้น แค่หมุดเล็กๆ แค่นี้ชิงอะไรกันมากมายนัก

ผมคิดว่าคำตอบนี้ไม่ง่ายเลย นี่คือพลังด้านกลับที่หมุดอันใหม่ลืมคำนึงถึง และเมื่อมายืนอยู่ตรงนี้ เรื่องราวก็ย้อนกลับไปอีกว่า นี่คือจุดที่นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยืนประกาศเพื่อเปลี่ยนระบอบทางการเมือง มันก็เลยกระตุ้นคำถามกลับไปอีกว่าพระยาพหลคือใคร บุคคลที่หายสาบสูญไปแล้ว นายกรัฐมนตรีที่ไม่มีใครจำ กลับมายืนอยู่ต่อหน้าเราเหมือนปีศาจตนหนึ่งที่มาทวงถามประชาธิปไตยให้กับประชาชน”

ติดตามชมคลิปเต็มๆ เร็วๆ นี้

ooo




'หมุดหน้าใส' โดนป้ายสีแดง ไม่ทราบที่มาหมุด และไม่ทราบที่มาสี เมื่อวานยังไม่มีสีแดง

พบรอยปูนฉาบอีกจุด บริเวณเยื้องด้านหลังฝั่งซ้ายของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5

ที่มา FB
Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

ooo





Almost a peaceful 'revolution' by the 1932 People's Party
การปักหมุด 24 มิถุนา 2475 คือ
สัญญลักษ์ในอดีต ของการปฏิวัติ ที่ไม่นองเลือด
และประนีประนอมกัน
ระหว่าง คณะราษฎร กับ คณะเจ้า

แต่การถอนหมุด น่าจะเป็น
สัญญลักษณ์ในปัจจุบัน ของการไม่ปรองดอง
ไม่ปฏิรูป และความรุนแรง กับการนองเลือด
ที่จะบังเกิดเพิ่มขี้นๆ ระหว่างตัวแทน
ของฝ่ายอประชาธิปไตย กับฝ่ายประชาธิปไตย
ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ครั้งสำคัญสุดของชาติไทย
ที่มีมากว่าหนึ่งทศวรรษของย่ำสนธยา และตะวันตกดิน

Ck@15Apr2017


Charnvit Kasetsiri