วันพุธ, เมษายน 19, 2560

หมุดคณะราษฎรหาย สร้างคุณูปการต่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่น่าเชื่อ...




กรณีหมุดคณะราษฎรหาย กลับสร้างคุณูปการต่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะนี่เป็นช่วงเวลาที่คนไทยหันมาสนใจเรื่องราวของคณะราษฎรอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมถึงเกิดคำถามตามมาว่าทำไมต้องเป็น "หมุด" อันที่จริงหมุดและจารึกแบบนี้มีทั่วโลก ในฐานะเครื่องบอกตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนในประวัติศาสตร์


หมุดประวัติศาสตร์=อำนาจประชาชน


19 เมษายน 2560
โดย พรรณิการ์ วานิช
นักข่าวและพิธีกร iASEAN/ Tonight Thailand/ Voice World Wide





หมุดประวัติศาสตร์ ไม่เคยอยู่ในสารบบความคิดของคนไทยมาก่อนเลย ในฐานะประเทศที่เคยคุ้นกับการสร้างอนุสาวรีย์และวัดวาอารามใหญ่โตอลังการ เพื่ออุปภัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งเกิดกรณีหมุดคณะราษฎรถูกถอนออกไปอย่างเป็นปริศนา ทำให้คนไทยทั้งประเทศหันมาสนใจจุดหมุดหมายทางประวัติศาสตร์เล็กๆ ลิ่มทองเหลืองอันตอกตรึงเพื่อระลึกถึงจุดที่พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถาปนาประชาธิปไตยขึ้นในสยาม หรืออาจเรียกว่าเป็นจุดตกฟากของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยไทย

"ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ ”


นี่คือข้อความที่จารึกไว้บนหมุด เป็นประโยคสั้นๆเรียบง่าย แต่กินความยิ่งใหญ่ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุด จากสยามยุคราชาธิปไตย สู่ยุคประชาธิปไตย การตอกหมุดลงบนจุดที่พระยาพหลฯยืน ก็เพื่อจะให้ผู้ผ่านไปมาในจุดนี้ ได้รับรู้ว่าบนถนนแห่งนี้ เคยมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ หรืออ่านหนังสือตำรา การตอกหมุดในพื้นที่ทีเ่กิดเหตุการณ์จริง นอกจากจะเป็นการจารึกร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ยังทำให้ประวัติศาสตร์นั้นยังมีชีวิต และกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนในยุคปัจจุบันด้วย

หมุดประวัติศาสตร์คืออะไร?


แน่นอนว่าประเทศไทยไม่ใช่ที่เดียวในโลกที่มีหมุดประวัติศาสตร์บนท้องถนนเหมือนที่หลายคนเข้าใจ อันที่จริงแล้วการที่คณะราษฎรเลือกทำหมุดประวัติศาสตร์แทนที่จะเป็นอนุสาวรีย์ใหญ่โตเพื่อรำลึกถึงการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรก ก็น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากตะวันตก ที่มีหมุดแบบนี้กระจายอยู่ทั่วไป โดยการเลือกใช้หมุดที่เรียบง่าย ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ต้องการรำลึก ซึ่งเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ประชาชนคนธรรมดาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

Blue Plaque แห่งลอนดอน เชื่อมประวัติศาสตร์กับปัจจุบัน





หนึ่งในสถานที่ที่พบเห็นหมุดประวัติศาสตร์หรือจารึกประวัติศาตร์ได้มากที่สุด ก็คือกรุงลอนดอนของอังกฤษ เกือบทุกมุมถนนจะปรากฏป้ายวงกลมสีน้ำเงินจารึกข้อความสั้นๆบอกเล่าความสำคัญของสถานที่แห่งนั้น นี่คือ Blue Plaque ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 1866 ปัจจุบันดูแลโดยองค์กรอิสระ English Heritage ถือว่าเป็นหนึ่งในระบบป้ายจารึกประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ทุกวันนี้มีป้ายประวัติศาสตร์ติดอยู่ตามที่ต่างๆในลอนดอนเกือบ 1,000 ป้าย และผู้ที่สนใจ สามารถไปหาอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆที่มีป้ายได้ในเว็บไซต์ English Heritage รวมถึงมีแอพพลิเคชันสำหรับผู้ที่ต้องการตามหาป้ายประวัติศาสตร์ต่างๆในลอนดอนด้วย

Blue Plaques จะปรากฏตามสถานที่ต่างๆที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นบ้านของผู้ที่เคยสร้างผลงานหรือมีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเมนต์ที่บ็อบ มาร์ลีย์ นักร้องชื่อดังเคยอาศัยอยู่ หรือสถานที่ที่มีการผ่าตัดโดยใช้ยาสลบแผนปัจจุบันแห่งแรกในโลก จุดประสงค์หลักของป้ายเหล่านี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าลอนดอนเป็นมหานครที่เคยเป็นที่อยู่ของผู้มีพรสวรรค์ระดับหัวกะทิ และได้รังสรรค์สิ่งต่างๆมากมายให้แก่โลก และยังทำให้ประชาชนได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อีกด้วย

Stolperstein หมุดย้ำแผลประวัติศาสตร์นาซี




หมุดประวัติศาสตร์ของลอนดอนเป็นหมุดแห่งความภาคภูมิใจ แต่หมุดของเยอรมนีกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกทั้งสองครั้ง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เป็นประวัติศาสตร์นองเลือดที่ชาวเยอรมันเลือกที่จะจดจำเพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำสอง ด้วยเหตุนี้ เยอรมนีจึงเป็นประเทศที่มีหมุดประวัติศาสตร์มากที่สุดในโลก หมุดเหล่านี้ถูกเรียกว่า "Stolperstein" หรือ "หินสะดุด" จารึกโลหะเหล่านี้จะสอดแทรกอยู่ตามพื้นอิฐปูถนน โดยนูนขึ้นมาเล็กน้อย วัตถุประสงค์เพื่อให้คนผ่านไปผ่านมาเดินสะดุด และก้มลงมองข้อความในจารึก ซึ่งจะปรากฏชื่อของชาวยิวผู้ตกเป็นเหยื่อการสังหารหมู่หรือเข้าค่ายกักกันของรัฐบาลนาซี โดยจุดที่อยู่ของหมุด คือจุดสุดท้ายที่พวกเขาเคยอาศัย หรือทำงานอยู่ ก่อนที่จะถูกจับตัวไป โปรเจ็คนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1992 และยังดำเนินต่อไป ปัจจุบันหมุด Stolperstein มีมากถึง 56,000 หมุดใน 22 ประเทศทั่วยุโรป และกลายเป็นอนุสาวรีย์แบบกระจายตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

หมุดสะดุดของเยอรมนี เป็นการตอกย้ำความสำคัญของหมุดประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ที่การรำลึกถึงเสี้ยวสำคัญในของอดีต ไม่ต้องการอนุสาวรีย์ที่วิจิตร แต่ต้องการเพียงแต่สิ่งที่สะดุดตาและสะดุดใจ เพื่อตอกย้ำให้คนในยุคปัจจุบันไม่ลืมเลือนอดีตอันเลวร้ายหรือรุ่งโรจน์ที่ผ่านมาเท่านั้น

Historical Marker เสรีภาพในการเลือกจำประวัติศาสตร์อเมริกัน




ในสหรัฐฯ ป้ายประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการชำระประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง และมีพลวัตรอย่างไม่น่าเชื่อ การทำป้ายจารึกประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้นในทศวรรษที่ 1930 และปัจจุบัน มี่ป้ายประวัติศาสตร์เหล่านี้อยู่ทั่วไปในสหรัฐฯจำนวนหลายพันป้าย การมีอยู่ของป้ายเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย ว่าฟุ่มเฟือยเกินไป เพราะป้ายบางป้ายก็ดูไม่มีความสลักสำคัญอะไรมากนัก แต่การทำป้ายประวัติศาสตร์ใหม่ๆก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงถึงการให้ความสำคัญกับ "ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน" ที่คนท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจว่าเรื่องใดสมควรถูกจารึกไว้ให้โลกประจักษ์



นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการชำระประวัติศาสตร์อเมริกันยุคมืด โดยมีโปรเจ็คสร้างป้ายประวัติศาสตร์ในทุกที่ที่มีการสังหารหมู่หรือรุมประชาทัณฑ์คนผิวสี ในยุคที่การเหยียดเชื้อชาติและสีผิวยังเป็นสิ่งถูกกฎหมายในสหรัฐฯ แม้ว่าชาวอเมริกันจำนวนมากจะมองว่าประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดยุคนั้นควรถูกลืม เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ลดทอนความตึงเครียดทางสีผิวที่กลับมาปะทุอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากมองว่าประวัติศาสตร์ยิ่งเจ็บปวด ก็ยิ่งต้องถูกตอกย้ำ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ซึ้งถึงความเลวร้ายที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ปัจจุบันป้ายรำลึกถึงการสังหารหมู่ชาวแอฟริกันอเมริกันยังมีน้อย แต่ก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการพิสูจน์ว่าอิสระในการเลือกจำ เลือกบันทึกประวัติศาสตร์ ยังเป็นของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนมากหรือส่วนน้อยในสหรัฐฯ

หมุดประวัติศาสตร์ ตอกย้ำอำนาจประชาชน

สิ่งหนึ่งที่คนไทยเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับหมุดประวัติศาสตร์ จากกรณีหมุดคณะราษฎร ก็คือหมุดเหล่านี้ แม้จะได้ชื่อว่า "หมุดประวัติศาสตร์" หรือ "ป้ายประวัติศาสตร์" แต่คุณค่าของมันไม่ได้อยู่ที่ความเก่าแก่ ความเป็นโบราณวัตถุ เนื่องจากธรรมเนียมการทำหมุดประวัติศาสตร์ เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อไม่ถึง 150 ปีที่ผ่านมา ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ที่ประชาชนได้รับความสำคัญมากกว่าสถาบันหลักของชาติอย่างศาสนาและสถาบันกษัตริย์ ยุคที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยอำนาจรัฐ และรับใช้รัฐเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กลับถูกใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวของสามัญชนมากขึ้น

อันที่จริงแล้ว หมุดไม่ได้มีคุณค่าในตัวเองเลย แต่มันเป็นเพียงเครื่องหมายอันเป็นรูปธรรมที่สุด ที่ใช้ตอกย้ำหมุดหมายทางประวัติศาสตร์บนสถานที่จริง เพื่อให้คนที่มีตัวตนจริงๆได้ตระหนักว่าประวัติศาสตร์อยู่รอบตัวเรา เป็นรากฐาน และเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมที่เราอยู่ และแม้แต่คนตัวเล็กที่สุด ธรรมดาที่สุด ก็ไม่มีใครไม่สำคัญพอที่จะถูกกันออกจากการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ

หากอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย