วันพุธ, เมษายน 19, 2560

เบื้องหลังการตัดสินใจของทักษิณ เดินคนละทางกับฮาร์ดคอร์ เสื้อแดง (จบ)





เบื้องหลังการตัดสินใจของทักษิณ เดินคนละทางกับฮาร์ดคอร์ เสื้อแดง (จบ)


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 เมษายน 2560
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
16 เมษายน พ.ศ.2560

ตอน1

7 ปีหลังการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
ได้…รธน. 2560


รธน. 2540 ถูกล้มโดยการรัฐประหาร 2549 และก็ยัดเยียดฉบับ 2550 มาให้ใช้แทน คนเสื้อแดงทวงคืนประชาธิปไตย โดยมาชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นำโดย นปช. แต่ถูกปราบ ตาย บาดเจ็บ ถูกดำเนินคดี

วันนี้ผ่านมานานถึง 7 ปีแล้ว การต่อสู้ทางการเมือง ยังต่อเนื่อง มีการใช้ทุกรูปแบบ ทั้งการเลือกตั้ง ม็อบ องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร สุดท้ายสิ่งที่ได้มาคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแบบ 70/30 จริงๆ

โครงสร้างอำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไม่เป็นไปตามประชาธิปไตยแบบสากล เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ประกาศใช้ออกมาแล้ว ใครยอมก็จะต้องเข้าร่วมในกระบวนการปรองดองและเลือกตั้งตามที่กำหนด

สถานการณ์ล่าสุดนักมวยมุมแดง จะถูกกรรมการจับแพ้ฟาล์วเมื่อไรก็ได้





นปช. จะไปทางไหน

จนถึงวันนี้ กลุ่ม นปช. ก็ยังเดินแนวทางเดียวกับพรรคเพื่อไทย แม้มีอิสระเสรีมากกว่า มีกฎเกณฑ์บังคับน้อยกว่า แต่แรงกดดันทางกฎหมาย ทางคดี ทำให้พวกเขาเคลื่อนไหวไม่ได้สะดวก ดูแล้วเมื่อมีโอกาสเปิดให้เคลื่อนไหวได้คงทำได้ในขอบเขตจำกัด

สุดท้ายก็ต้องมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง แต่จะมีคนใน นปช. เข้ามาลงสมัครในฐานะ ส.ส. หรือไม่ คราวนี้ยังไม่แน่ใจ อาจไม่มีเลยก็ได้

แต่การยอมรับการนำของมวลชน ที่มีต่อแกนนำ นปช. ย่อมเปลี่ยนไป

การตัดสินใจของมวลชนทุกกลุ่มจะมาจากอะไรบ้าง

1. มาจากสถานะทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ประจำวัน แรงกดดันทางเศรษฐกิจ เสรีภาพหรือกฎหมายที่กระทบต่อชาวบ้านโดยตรงเรื่องนี้อาจจะมีผลกระทบต่อแต่ละคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน

2. ความนิยมต่อผู้นำ ต่อบุคคลที่เป็นที่ชื่นชอบ เช่น อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แกนนำ นปช. นักการเมือง นักวิชาการ

3. อุดมการณ์ทางการเมือง และความเข้าใจทางการเมือง ที่พัฒนามากขึ้น จากการเข้าร่วมต่อสู้ จากการติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ จากการศึกษาการเมืองมากขึ้น จากการพบเห็นความอยุติธรรม

ถึงตรงนี้บางคนอาจจะรับได้กับรัฐธรรมนูญแบบ 70/30 และคิดว่าแนวทางต่อสู้นี้เหมาะกับสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งแกนนำของพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. จะเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่มวลชนบางส่วนไม่ยอมรับ และมีปฏิกิริยา 2 แบบคือ เลิกไป หรือแยกไป




AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA


คนเสื้อแดง เปลี่ยนทางเดินได้
ตามสถานการณ์


คําสัญญาว่าจะไม่แก้แค้น เป็นของนายกฯ ยิ่งลักษณ์และทักษิณ แต่ไม่ใช่ของคนเสื้อแดง ความโกรธและความแค้นจะหายไปก็อยู่ที่คำพูดและการปฏิบัติของฝ่ายอื่น

มาถึงวันนี้คนเสื้อแดงซึ่งไม่ค่อยมีใครใส่เสื้อแดงแล้ว บางส่วนไม่ใช่ นปช. และไม่ใช่เพื่อไทย คนเสื้อแดงบางส่วนมาจากฐานการเมืองของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย บางส่วนเติบโตมาจากกลุ่ม นปช.เก่า

เมื่อสถานการณ์พัฒนาขึ้นมา ความขัดแย้งแหลมคมขึ้น กระจายกว้างไปทั่วทั้งแผ่นดิน ลงลึกถึงเลือดถึงเนื้อ ความรู้สึกที่มีอยู่ในใจ ความคิดเชิงอุดมการณ์ที่ต่างกันก็เกิดขึ้น

ถึงวันนี้จึงมีความแตกต่างของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม

ทีมวิเคราะห์เชื่อว่าขณะนี้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลางๆ หมายความว่าพวกเขารับได้ทั้ง ทักษิณ นปช. พรรคเพื่อไทย กลุ่มฮาร์ดคอร์เสื้อแดง คนเหล่านี้เมื่อมีการเลือกตั้งก็จะไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยตามเดิม ถ้าเกิดมีการเคลื่อนไหวของ นปช. ก็ยังไปชุมนุมด้วย

บางส่วนก็ติดตามข่าวสารจากของกลุ่มฮาร์ดคอร์เสื้อแดง ซึ่งเผยแพร่จากต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา และประเทศเพื่อนบ้าน แต่การกระจายความคิดก็ทำได้แค่ผ่านอินเตอร์เน็ต ผ่าน youtube บางคนจึงไม่เคยฟังเลย

แรงกดดันทางกฎหมาย ที่มีความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม แรงกดดันทางเศรษฐกิจที่รู้สึกว่ายากลำบากขึ้น ประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่รู้สึกว่าถูกรังแกยังทำให้เขารวมตัวและต่อสู้อยู่ได้

แต่เมื่อคนเสื้อแดงไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีรูปแบบ มีการนำ ที่มองเห็น การปริแยกก็ไม่เห็น แต่จะกลายเป็นการก่อตัวของแต่ละกลุ่ม ตามแนวทาง ตามความคิด การเติบโตเข้มแข็งหรือล้มเหลว

การช่วงชิงมวลชนส่วนนี้ของฝ่ายรัฐบาล ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลและสุดท้ายก็เป็นรัฐบาลของ คสช. ยังไม่สามารถทำได้ดีนะ เพราะสิ่งที่แสดงออกมา คนเสื้อแดงบ่นว่าถูกเหยียบซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรมและปัญหาปากท้อง เรื่องพืชผลเกษตรตกต่ำ การล้มโครงการจำนำข้าว ปัญหาจากกรณี 30 บาทรักษาทุกโรค

และล่าสุดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้รถกระบะซึ่งทำให้พวกเขาเดือดร้อนมาก

ความรู้สึกเช่นนี้ถูกเจาะฝังลึกลงไปในใจ ถ่ายทอดออกไปในวงกว้างกระจายข่าวกันไปเรื่อยๆ การต่อสู้ขยายจากกลุ่มคนเป็นกลุ่มการเมือง เป็นเรื่องชนชั้น





ปัญหาความสามัคคี


ถ้ามองย้อนกลับไปถึงปี 2553-2554 นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดงมีความเป็นเอกภาพกันอย่างมาก มีความสามัคคีมีสูง ความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ยังสามารถประนีประนอมกันได้ ท่าทีของมวลชนที่ให้ความเชื่อมั่นและไว้เนื้อเชื่อใจต่อแกนนำ นปช. ก็มีสูงมาก ดังนั้น เหตุการณ์ในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 การเข้าต่อสู้ของมวลชนจึงเป็นไปอย่างกล้าหาญ ใช้ใจเข้าสู้

แต่เวลาที่ผ่านไป 7 ปี ความเหินห่างเริ่มปรากฏ การแตกแยกทางความคิดเริ่มปรากฏ และหลายคนก็แยกทางเดินออกไป ถ้ามองสาเหตุจะพบว่า

1. ด้านหนึ่งมาจากแรงกดดันของฝ่ายตรงข้ามที่ใช้ทั้งกำลังและกฎหมาย การถูกห้ามพูดห้ามโฆษณาความคิด ห้ามชุมนุม การถูกจับกุมคุมขังถูกฟ้องร้อง ทำให้มีกระแสการยอมจำนนเกิดขึ้นทั้งมวลชนและผู้นำ การยอมจำนนนั้นไม่ได้หมายถึงการยอมแพ้ แต่เป็นการยอมจำกัดการเคลื่อนไหวของตัวเอง

2. การแตกต่างทางความคิดเมื่อเริ่มขึ้นขยายตัวต่อไป มีการนำเสนอทฤษฎีการต่อสู้ในแบบต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นลักษณะสากลทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน

และสิ่งที่ติดตามมาก็คือเกิดความขัดแย้งในหมู่มิตรและแนวร่วมซึ่งเคยร่วมกันมาก่อนการพัฒนาความคิดขยาย เป็นการต่อปากต่อคำทางวาจา และอาจจะมีมากขึ้น เป็นปัญหาการแตกสามัคคี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขง่าย

3. ขณะนี้ฝ่ายตรงข้ามก็มองออกและนั่งยิ้มอยู่เงียบๆ พวกเขามองเห็นว่าถ้าเกิดการแตกแยกมากๆ ก็ไม่ต้องออกแรงให้ยุ่งยาก

ย้อนอดีตไปเมื่อครั้งปี 2522-2525 การเปลี่ยนแปลงในค่ายสังคมนิยม การทะเลาะกันของจีนกับโซเวียต การทะเลาะกันของเวียดนามกับจีน การที่เวียดนามบุกกัมพูชา และสุดท้ายเป็นการทะเลาะของกลุ่มปัญญาชนนักศึกษาที่เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

เมื่อรัฐบาลนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นแผนปฏิบัติการโดยสามัคคีจีนต้านเวียดนามในการบุกเขมร ต่อรองปิดการใช้สถานีวิทยุของ พคท. ในจีน และมีข้อเสนอตามคำสั่ง 66/23 ของรัฐบาล ให้นักศึกษาออกจากป่ากลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถือเป็นรูปแบบการนิรโทษกรรมแบบรวดเร็ว

การแตกความสามัคคีครั้งนั้นส่งผลให้แนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธของ พคท. ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมา 10 กว่าปีพังทลายลงอย่างรวดเร็ว

นักเรียนนักศึกษาที่ออกมาจากป่า มวลชนเข้าไปร่วมดั้งเดิมก็ออกมา แกนนำก็ออกมา สุดท้ายแม้กรรมการ พคท. ก็ต้องออกมา

และเมื่อเวลาผ่านไปแล้วก็ได้รู้ว่าการยืนหยัดรักษาอุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแปลงไปเข้าข้างผู้ชนะในสถานการณ์ต่างๆ ทำได้ง่ายกว่า


เมื่อก่อนไปอ่านประวัติศาสตร์จีนพบว่ามีแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามหลายคนแพ้บ้าง ยอมจำนนบ้าง กลับข้างมาอยู่กับอีกฝ่าย ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

ยิ่งค้นคว้าพบว่านี่เป็นเรื่องทั่วไปเมื่อแพ้ยอมจำนนไม่ตาย มีข้อเสนอใหม่ที่ดีกว่าคนก็สามารถเปลี่ยนไปได้โดยเฉพาะการทำงานรับใช้บุคคลไม่ใช่อุดมการณ์ที่ลึกซึ้งอะไร หมายความว่าเปลี่ยนจากคนที่ 1 เป็นคนที่ 2 จากคนที่ 2 เป็นคนที่ 3 แต่การต่อสู้เพื่อตนเองกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดต่างหาก

ผลของการแตกแยกของประชาชน จะได้ผู้ปกครองที่เอาเปรียบและกดขี่ ผลของการแตกแยกของแนวร่วม ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้…




เดินทางไหนก็ต้องไม่โดดเดี่ยวตนเอง

เมื่อมีความคิดแตกแยกกัน มีแนวทางต่างกัน การเกิดความศรัทธาของมวลชนในกลุ่มนำแต่ละกลุ่มก็เกิดขึ้น คนสนับสนุนเป็นหลักหมื่น หลักแสน แกนนำจะรู้สึกฮึกเหิม และอาจจะใช้ท่าทีที่ไม่ค่อยสนใจการทำงานแนวร่วมต่อกลุ่มมิตรหรือคนทั่วไป

แต่กระแสความนิยมที่จะยืนหยัดต่อสู้แบบยืดเยื้อไม่ใช่ดำรงอยู่ง่ายๆ ในระยะเวลาที่ยาวนาน บางทีปีนี้มีคนนิยมมาก อีก 2 ปีเมื่อมันไม่มีความคืบหน้า ไม่มีสถานการณ์ใหม่ การเสื่อมความนิยมก็เป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ทุกกลุ่มจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้


เพราะมวลชนจริงๆ แล้วอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างยังเหมือนเดิม การเสื่อมถอยย่อมเกิดขึ้น เหมือนการเดินขึ้นที่สูงต้องมีขั้นบันได หรือทางเดินคนที่เดินก้าวไปเพราะมีขั้นบันไดทอดอยู่ข้างหน้า แม้ต้องออกแรงและเหนื่อยก็ยังก้าวขึ้นไป

แต่ถ้าวันใดที่มองไม่เห็นขั้นบันไดข้างหน้า ดูแล้วมืดมน มีน้อยคนที่จะกล้ายื่นเท้าเหยียบความว่างเปล่า

แสงสว่างที่ยอดเขาหรือปลายอุโมงค์จึงมีความหมายอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน เส้นทางเดินหรือขั้นบันไดก็ต้องปรากฏให้เห็น มิฉะนั้นการเคลื่อนไหวจะหยุดนิ่งและถอยหลังกลับในที่สุด

วันนี้การปริแยกของเสื้อแดง เริ่มจากส่วนหัวเท่านั้น มวลชนส่วนใหญ่ยังไม่แตก พวกฮาร์ดคอร์มีทางเลือกของตนเอง แต่เส้นทางที่อดีตนายกฯ ทักษิณเดิน คือการปฏิรูป ไม่ใช่การปฏิวัติ สถานการณ์แบบนี้จะส่งผลทางการเมืองในอนาคตแน่นอน

เรื่องต่อเนื่อง...

เบื้องหลังการตัดสินใจของทักษิณ เดินคนละทางกับฮาร์ดคอร์ เสื้อแดง (1)
https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_31287