วันศุกร์, เมษายน 17, 2558

หวังจะเข้ามาแก้ปัญหา แต่กลับมาสร้างปัญหาซะเอง...


การชุมนุม ช่วงเดือนพฤษภาคม 2535
กับดักรัฐธรรมนูญ...

รัฐธรรมนูญคือ "ทางลงจากหลังเสือ" ของคณะรัฐประหาร จะลงสวยลงเหวอะหวะก็อยู่ที่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี่ละ

ประยุดถึงได้กังวลเพราะถ้าบวรศักดิ์โดนถล่มหนัก รัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับ กระทั่งพวก สปช.สนช.องค์กรอิสระด้วยกันเองยังจัดหนัก ก็เปิดช่องเปิดคางให้พรรคการเมืองและพลังประชาธิปไตยที่จองกฐินไว้แล้ว

วิถีลงจากอำนาจของรัฐประหาร ล้วนต้องขายฝันรัฐธรรมนูญ กับการเลือกตั้ง ต่อให้ดีบ้างชั่วบ้างก็ต้องให้นักการเมืองและสังคมมีความหวังว่า เอาน่ะ อย่างน้อยก็ได้เลือกตั้ง อย่างน้อยก็มีหวังชนะเป็นรัฐบาล

ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญ 50 แม้แพ้ประชามติ พรรคเพื่อไทยก็ยังมีความหวังกับการเลือกตั้ง

แต่ครั้งนี้ต่างไป ถ้าพรรคการเมืองเห็นแล้วว่าการเลือกตั้งไม่มีความหมาย ถ้าสังคมไทยปฏิเสธรัฐธรรมนูญ คสช.จะทำอย่างไร

อย่าลืมว่าวันใดที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวร รธน.ชั่วคราวก็ต้องหมดอายุ ม.44 ก็หมดอายุ เอาละ อาจจะกลับไปประกาศกฎอัยการศึกต่อได้ แต่การเลือกตั้งจะเหลือเครดิตอะไร

รัฐประหารทุกครั้งเมื่อถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญคือวันที่ทุกคนโล่งอก แม้ไม่พอใจบ้างแต่ก็มองไปข้างหน้า

แต่ถ้าถึงวันประกาศใช้่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วคนยังฮือต้าน ไม่เอา ไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่อำนาจประชาชนไร้ความหมาย ยังต่อต้านประยุดที่กลายเป็นรัฐบาลรักษาการ ถามว่าจะทำยังไง

ใบตองแห้ง
...



กับดักรัฐธรรมนูญ คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ที่มา ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

คราบน้ำสงกรานต์ไม่ทันเหือด การเมืองกลับมาร้อนระอุ นับถอยหลังสู่วันอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกในสภาปฏิรูปฯ ที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะกลายเป็น "ตำบลกระสุนตก"

ตกถี่ยิบซะด้วย เพราะไม่ใช่แค่ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ไม่ใช่แค่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ แต่มีทั้ง สปช. สนช.ไปถึง ผู้ตรวจฯ ที่ซัลโวประธาน "เผด็จการ" ผู้นำ คสช.เลือกคนผิด

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องวิตกว่าถ้าคน ในประเทศไม่ยอมรับ คนนอกประเทศก็บอกไม่เป็นสากล จะทำอย่างไร อย่ากระนั้นเลย ชวนฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น มาช่วยพิจารณาดีกว่า

พวกคนไทยรักชาติที่เคยชูป้ายประท้วงฝรั่งฟังแล้วหงายเงิบ ท่านหัวหน้า คสช.กลับเข้าใจดีว่าจะชูธงเอกราชตั้งแต่เทือกเขาอัลไตอยู่ชาติเดียวไม่ได้ ต้องให้ชาวโลกยอมรับด้วย

ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ต้องวิตก ก็เพราะรัฐธรรมนูญคือ "ทางลงจากหลังเสือ" ของคณะรัฐประหาร จะลงสวยลงเหวอะหวะก็อยู่ที่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ไม่เชื่อดู รสช.เป็นตัวอย่าง จะบอกว่ามีอำนาจแล้วบังคับใช้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ แล้วหลังจากนั้นล่ะ ต้องนอนสะดุ้งตาไม่หลับอีกนานเท่าไหร่

"รัฐธรรมนูญที่ดี" สำหรับรัฐประหารทุกคณะ คือรัฐธรรมนูญที่ไม่จำเป็นต้องสืบทอดอำนาจเอง แต่วางฐานอำนาจ พร้อมหลักประกันว่ารัฐบาลที่ถูกโค่นหรือประชาชนผู้ถูกกระทำ จะ ไม่สามารถ "เอาคืน" อย่างน้อยก็ช่วงเวลาสั้นๆ เคล็ดสำคัญคือเมื่อวางยาขมก็ต้องเคลือบน้ำตาล ต้องมีสาระบางอย่าง "ดูดี" เป็นจุดขาย เพื่อให้คนส่วนใหญ่ยอมรับหรือจำยอมแม้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

แบบรัฐธรรมนูญ 2550 นั่นไง ฝากอำนาจไว้กับศาล องค์กรอิสระ วุฒิสภากึ่งลากตั้ง แล้วหลอกชาวบ้านลงประชามติ เนียนขนาดนั้นยังใช้ได้แค่ 7 ปี ทำให้ประเทศแตกแยกบานปลายจนเกิดรัฐประหารใหม่

รัฐธรรมนูญ 2558 คิดหัวแทบแตกว่าจะเขียนอย่างไร ให้แย่กว่าปี "50 สุดท้ายก็วางกลไกให้อำนาจจากเลือกตั้งอ่อนแอ ถอยหลังไปสร้างอำนาจไม่มาจากเลือกตั้งรุงรัง เพิ่มนายกฯ คนนอก วุฒิฯลากตั้งทั้งหมด เพิ่มองค์กรอิสระ กฎกติกาพิสดาร แต่แทนที่จะสร้างจุดขาย กลับเรียกกระสุนจากทุกฝ่าย

ขืนปล่อยไป คสช.ก็นอนตาโพลงก่ายหน้าผาก เพราะมีโอกาสสูงมากที่รัฐธรรมนูญจะจุดปฏิกิริยาโต้กลับ เอาแค่เสียงวิจารณ์วันนี้ก็กุมขมับ มีมาตรา 44 ก็ห้ามไม่ได้ เพราะ สปช. สนช. องค์กรอิสระ ออกมาซัดเองนำร่อง

ช่วงเวลาเกือบ 4 เดือนนับจากนี้ถึงวันที่ 6 ส.ค.ซึ่ง สปช. จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันอ่อนไหวยิ่ง คณะกรรมาธิการจะยอมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไหม แก้ไขแล้วคนนอกคนในจะยอมรับหรือไม่ คสช.จะเข้ามา มีบทบาทอย่างไร

ถ้า สปช.รับร่างก็ยังมีเสียงเรียกร้องให้ลงประชามติ ถ้าไม่ลงประชามติก็จะถูกตีตรา "ไม่ชอบธรรม" แต่ถ้าลงประชามติ ก็ต้องยอมให้รณรงค์คัดค้าน สถานการณ์จะยิ่งหวั่นไหวพร้อมยืดเยื้อไปอีก 3 เดือน

อย่าลืมว่าตลอดช่วงเวลานี้ คสช.จะต้องเผชิญทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งหลังสงกรานต์กำลังซื้อของชาวบ้านจะนิ่งสนิท ปัญหาการเมืองซึ่งหลายเรื่องจะประดัง ทั้งคดีถอดถอนอภิสิทธิ์ ทั้งคดีอาญายิ่งลักษณ์ ทั้งการเคลื่อนไหวสารพัด และคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชน หลังตัดสินใจใช้มาตรา 44 ที่บางคนอาจเชียร์ว่าดี แต่อย่าลืมว่าอำนาจยิ่งใช้มากยิ่งถอยยาก

คิดดูนะครับ ถ้ารัฐบาล คสช.ยังต้องใช้อำนาจมาตรา 44 จนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แล้ววันรุ่งขึ้นจะทำอย่างไร แน่ละ รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลยังให้รัฐบาลรักษาการ แต่ คสช. และรัฐธรรมนูญชั่วคราวต้องสิ้นไป จะเขียนให้มีมาตรา 44 ต่อได้ไง หรือจะกลับไปประกาศใช้กฎอัยการศึกจนวันเลือกตั้ง ทั้งฝรั่งทั้งไทยหัวร่องอหงาย

คสช.จึงต้องผ่อนคลายสถานการณ์ให้ได้ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ โดยต้องทำให้รัฐธรรมนูญ "เป็นที่ยอมรับ" แม้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่พอจะให้ทุกฝ่ายยอมรับการเลือกตั้ง มองไปข้างหน้า มีความหวังกับการเลือกตั้ง มากกว่าจะรุมต่อต้าน ซึ่งเท่ากับปิดกั้นทางลงจากหลังเสือของ คสช.

วิถีทางที่คาดว่าจะเป็นคือ คสช.คงต้องกระตุกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ให้แก้ไขบางประเด็นที่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากนั้นก็ผ่าน สปช.เพื่อทูลเกล้าฯ ประกาศใช้โดย ไม่ลงประชามติ เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามโรดแม็ป เพื่อที่ คสช.จะได้รีบพ้นไปก่อนที่อะไรๆ จะประเดประดังจนเกินรับไหว

ปัญหาเหลือข้อเดียวที่ตอบยาก คือจะถอยร่างรัฐธรรมนูญไปอยู่จุดไหน ที่คนในคนนอกยอมรับ พร้อมกับรัฐประหารไม่ "เสียของ" นี่สิมองไม่เห็นจริงๆ


ooo



กับดักลุงตู่

ที่มา เดลินิวส์
วันพฤหัสบดี 16 เมษายน 2558

เมื่อยังไม่มีรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจึงรักษาการต่อไปจนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะคลอดและมีการเลือกตั้ง นั่นเป็นเงื่อนไขหนึ่งให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อตามคำพยากรณ์

เป็นคำอวยพรสงกรานต์หรือเปล่าไม่ทราบ ตั้งแต่เริ่มเทศกาล,ระหว่างเทศกาลและใกล้สิ้นสุดเทศกาลมีประสานเสียงจากหลายคณะพูดถึงเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ เอาเกณฑ์ 3 ปีของหมอดูวารินทร์เป็นตัวตั้งแล้วก็ทอนหรือเติมตามอัธยาศัย

โดยวิสัยทัศน์นักพยากรณ์ก็อ้างดวงดาวยืนยันว่าต้องอยู่ยาวเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง จะโดยวิธีไหนพี่หมอมิได้กำกับไว้

อาจเป็นได้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามโรดแม็พปี 2559 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับมหัศจรรย์พันลึกขาดการยอมรับ มีอยู่ 2 ลักษณะครับ 1. ในชั้นสุดท้ายซึ่งต้องลงมติในสภาปฏิรูปฯปรากฏว่าไม่ผ่าน มีผลให้ทั้งสปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสภาพ

ลักษณะที่ 2 สภาปฏิรูปฯรับรอง ความน่าจะเป็นคือทำประชามติโดยไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเนื่องจากมีมาตรา 44 ใช้อำนาจหัวหน้าคสช.สั่งการ ประชามติไม่ผ่านก็ไม่ได้เลือกตั้ง

เมื่อยังไม่มีรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจึงรักษาการต่อไปจนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะคลอดและมีการเลือกตั้ง นั่นเป็นเงื่อนไขหนึ่งให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อตามคำพยากรณ์

อีกวิธีหนึ่ง อันนี้เป็นสถานการณ์ที่รัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย...

จำได้ใช่ไหมคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ มิได้ระบุว่าต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขียนไว้เพียงว่าให้มาจากสภาผู้แทนราษฎร เหตุที่กั๊กเอาไว้เราท่านได้ยินหลายรอบเผื่อมีกรณีวิกฤติ

มีสิทธินะเลือกตั้งเสร็จเกิดวิกฤติทันที พรรคการเมืองตะลุมบอนช่วงชิงตั้งรัฐบาลแต่ไม่มีขั้วไหนทำสำเร็จต้องหันมาพึ่งนายกฯคนนอกกู้วิกฤติ ลองเดาซิคนนอกที่ว่าตรงกับของหมอดูมั้ย?

นอกจากวงโคจรดวงดาวก็มีผู้ปรารถนาดีทยอยมาเชียร์ให้พล.อ.ประยุทธ์แสดงฝีมือ บางรายทั้งหนุนทั้งแบกให้ใช้มาตรา 44 กวาดล้างทุจริตคอร์รัปชั่น แลกกับที่จะนั่งเก้าอี้นายกฯต่อไปยาวๆ

มีเหมือนกันเอาไปเทียบกับพล.อ.เปรม นายกฯคนนอกเพราะทำงานดีซื่อสัตย์สุจริตอยู่นานถึง 8 ปี อันนี้เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่น่าจะเข้าแก๊บนักเนื่องจากป๋าเป็นนายกฯสมัยแรกด้วยการลงมติของสภาผู้แทนฯ มิได้มาโดยรัฐประหารควบคุมอำนาจ

คำเยินยอให้อยู่ 3 ปี 8 ปีไม่เป็นผลดีต่อพล.อ.ประยุทธ์อย่างใดเลย ท่านต้องชัดเจนในโรดแม็พเลือกตั้งปีหน้าและพร้อมลงจากตำแหน่งผู้นำบริหารหลีกทางให้ผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามา

คำพูดจำเป็นอยู่เพื่อบ้านเมือง นั่นแหละกับดักทำลายผู้หลงใหลในอำนาจเสียผู้เสียคนมาเยอะแล้ว

มองปัจจุบันครับ วันนี้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่ก็ทุ่มเทความสามารถของตัวเองและทีมงานครม.รวมทั้งที่คสช.เพื่อความมั่นคงทางสังคมและปากท้อง ถึงเวลาไปประชาชนอาลัยถามถึง

เป้าหมายต้องชัดปี 2559 จัดการเลือกตั้ง ส่วนอะไรจะเป็นไปจากนั้นอาจมีส.ส.มาเชิญเป็นนายกฯอีกจงให้เป็นไปโดยธรรมชาติ ระวังพวกปรารถนาดียุยงวางแผนให้-สุดท้ายพัง.

แมงเม่า

ooo

ซัดร่างรธน.กำมะลอ จี้รับความคิดเห็นปชช.


วันที่ 16 เมษายน 2558

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) แถลงผลการสำรวจความเห็นของประชาชนเพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ประเด็นการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ชอบธรรม ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิพล ยั่งยืน และมีลักษณะประชาธิปไตยกินได้ ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย สพม. ระหว่างวันที่ 1 - 25 มี.ค. จากการใช้แบบสอบถามลักษณะตัวเลือก และไม่มีการแสดงเหตุผลปประกอบการเลือกคำตอบ และใช้วิธีสุ่มแบบบังเอิญ ใน 55 จังหวัด มีผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,478 คน

โดยตั้งคำถามในกรอบการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ชอบธรรม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นั้น ประเด็นที่มานายกฯ ผู้ตอบแบบสอบถามสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 70 เห็นว่านายกฯควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน,​รองลงมา ให้ส.ส.และส.ว.เป็นผู้เลือก คิดเป็นร้อยละ 11.8, ให้ส.ส.เลือก คิดเป็นร้อยละ 7.8 , ให้สรรหาจากบุคคลที่เหมาะสม คิดเป็ดร้อยละ 7.5 และมาจากการเลือกของส.ว. คิดเป็นร้อยละ 0.6 , ประเด็นที่มาส.ส. เห็นว่าควรเป็นรูปแบบเดิม คือเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ คิดเป็นร้อยละ 37.8 รองลงมาคือ มาแบบสัดส่วนผสม (รูปแบบเหมือนประเทศเยอรมนี) และมีเฉพาะแบบแบ่งเขตเท่านั้น คิดเป็นร้อยละที่เท่ากัน คือ ร้อยละ26, ประเด็นที่มาส.ว. เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน คิดเป็นร้อยละ 55.2 รองลงมา คือ จากการเลือกตั้งและสรรหา คิดเป็นร้อยละ 24.9 และมาจากการเลือกตั้งตามสาขาอาชีพ ร้อยคะ 14.5 ขณะที่ประเด็นการแบ่งแยกอำนาจ เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.5 เห็นว่าตต้องมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติที่ชัดเจน คือ ส.ส. และส.ว.ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ส่วนวาระการบริหารของรัฐบาล เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีวาระ4 ปี ดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระติดต่อกันและห้ามกลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกไม่ว่ากรณีใดๆ ​

นายธีรภัทร์ แถลงด้วยว่าสำหรับกรอบการสร้างประชาธิปไตยให้ยั่งยืนนั้น เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.8 เห็นด้วยกับแนวคิดให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน และมีรายละเอียดที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นเป็นเสียงส่วนใหญ่คือ การให้การศึกษาการเมืองต้องทำทั้งในและนอกระบบการศึกษาผ่านหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาล นอกจากนั้นร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการจัดตั้งสถาบันพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อมาดำเนินการให้การศึกษาการเมืองแก่ประชาชน ขณะที่การมีอยู่ของสภาพัฒนาการเมือง ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 62.4 เห็นว่าควรมีต่อไป และในกรอบที่ว่าด้วยการสร้างประชาธิปไตยกินได้ นั้น ภาพรวมของการประเมินคือการให้บทบาทสำหรับสภาพลเมืองในการวางรากฐานความรู้ทางการเมืองและประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนทุกระดับ

นายธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่าความเห็นของประชาชนดังกล่าวตนจะนำไปสังเคราะห์และเตรียมยกร่างเป็นบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนุญเพื่อมอบให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานฯ โดยมีรายละเอียดสำคัญคือการให้การศึกษาการเมืองแก่ประชาชนที่ควรเขียนเป็นหมวดเฉพาะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และส่วนต้องการเห็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนำการสำรวจความเห็นของประชาชนที่จัดทำโดยสพม. นั้นไปพิจารณาเพื่อปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 (2) ที่ระบุให้การยกร่างรัฐธรรมนูญมีกรอบทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสม กับสภาพสังคมของไทย

ดังนั้นการทำการปกครองที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ไม่ใช่ฟังแต่ความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีสมาชิกรวมกันประมาณ 500 คนเท่านั้น ซึ่งหากไม่รับฟังความเห็นประชาชนที่สะท้อนความต้องการแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าต่อให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ไม่สามารถลบคำครหาที่ว่า รัฐธรรมนูญกำมะลอ หรือรัฐธรรมนูญฉบบับของปลอมได้ ดังนั้นจึงขอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปพิจารณา อย่าเขียนรัฐธรรมนูญบนฐานความมีอคติ หรือนึกไปเองด้วยความคิดที่คับแคบของตนเองเท่านั้น
...