Sun, 2015-04-05 11:20
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รายงาน
ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มนักวิชาการอาคันตุกะแห่งสถาบันฮาร์วาร์ด-เย็นชิงและโครงการไทยศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประกอบด้วย อรัญญา ศิริผล ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อภิวัฒน์ รัตนวราหะ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง สื่อใหม่ กิจกรรมทางสังคมในโลกไซเบอร์และขบวนการทางสังคมในเอเชีย ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมีผู้เข้าร่วมนำเสนอบทความและเข้าฟังเพื่อแลกเปลี่ยนสนทนาจากหลากหลายประเทศในเอเชีย
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รายงาน
ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มนักวิชาการอาคันตุกะแห่งสถาบันฮาร์วาร์ด-เย็นชิงและโครงการไทยศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประกอบด้วย อรัญญา ศิริผล ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อภิวัฒน์ รัตนวราหะ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง สื่อใหม่ กิจกรรมทางสังคมในโลกไซเบอร์และขบวนการทางสังคมในเอเชีย ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมีผู้เข้าร่วมนำเสนอบทความและเข้าฟังเพื่อแลกเปลี่ยนสนทนาจากหลากหลายประเทศในเอเชีย
ยุกติ มุกดาวิจิตร นักวิชาการอาคันตุกะ ประจำศูนย์อุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ได้นำเสนอกรณีศึกษาของการใช้สื่อออนไลน์ในเวียดนามในการรณรงค์เพื่อเรียกร้องในประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ โดยได้ตั้งคำถามว่าในประเทศที่มีการควบคุมทางการเมืองและสังคมอย่างแน่นหนาเช่นเวียดนาม อินเตอร์เน็ตจะสามารถเป็นพื้นที่สำหรับการรวมตัวกันใหม่ของชุมชนพลเมืองเน็ตของเวียดนามได้หรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจคือ ในบริบทของการควบคุมกำกับสื่อออนไลน์อย่างเข้มงวดที่แม้แต่การล้อเลียนคำประกาศของอดีตผู้นำประเทศโดยนักเรียนมัธยมคนหนึ่งก็ทำให้ได้รับบทลงโทษที่รุนแรงได้ กลับพบว่าการเติบโตของพลเมืองเน็ตในเวียดนามเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างการรณรงค์ในประเด็นต่างๆในเครือข่ายออนไลน์ในเวียดนาม ได้แก่ การคัดค้านการยึดกุมที่ดินขนาดใหญ่ของนายทุนต่างชาติภายใต้ความร่วมมือกับรัฐ การต่อต้านการตัดต้นไม้ใหญ่ในกรุงฮานอย การรณรงค์เรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม ไปจนถึงประเด็นความขัดแย้งด้านพรมแดนกับจีน การวิพากษ์เรื่องคอรัปชั่นของรัฐ และการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการใช้สื่ออินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูบ และเว็ปบล๊อกต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ในเวียดนาม ซึ่งได้ทวีความเข้มแข็งและกว้างขวางขึ้น ก่อรูปเป็นชุมชนประเภทใหม่ ที่ประกอบไปด้วยปัจเจกบุคคลที่เชื่อมโยงพลังทั้งจากภายในและนานาชาติ ข้ามพรมแดนรัฐชาติในการต่อรองกับรัฐสังคมนิยมในประเด็นต่างๆ ซึ่งบางประเด็นก็ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ เช่น การโอบกอดต้นไม้
เป็นต้น ในบางกรณี การแสดงออกทางสื่ออินเตอร์เน็ตยังได้ทวีการเผชิญหน้ากับรัฐซึ่งหน้า อาทิการเผยแพร่บทเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์การคอรัปชั่นของรัฐเวียดนาม เป็นต้น
ยุกติเห็นว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวสะท้อนการรวมตัวของกลุ่มชนประเภทใหม่ในสื่อออนไลน์ในฐานะชุมชนแห่งความหวัง ที่ขยายขอบเขตของความเป็นชุมชนและประเด็นปัญหาที่กว้างขวางไปจากเดิม
สื่อภาคพลเมืองออนไลน์ในอินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญในระดับต่างๆ ในระดับชุมชน สื่อเหล่านี้ทำหน้าที่เชื่อมชุมชนในชนบทที่มีช่องทางในการเข้าถึงสื่อภายนอกที่จำกัดให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งในและนอกประเทศ ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ สื่อพลเมืองเข้าถึงประเด็นปัญหาในท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วกว่าสื่อกระแสหลัก สามารถสร้างชุมชนออนไลน์ที่ร่วมกันนำเสนอปัญหาทางสังคมและการเชื่อมโยงระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน อาทิ การรวมตัวของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสร้างกลุ่มในการรายงานเหตุการณ์และกรณีละเมิดสิทธิต่างๆในโลกออนไลน์ ในขณะเดียวกันในระดับชาติ สื่อเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกำกับการเลือกตั้งอีกด้วย ความสำเร็จของสื่อภาคพลเมืองซึ่งริเริ่มโดยนักกิจกรรมทางสังคมได้ยังผลให้สื่อกระแสหลักเริ่มหันมาทำงานที่ปฎิสัมพันธ์กับกลุ่มคนในโลกออนไลน์มากขึ้น
สื่อใหม่เหล่านี้มีลักษณะร่วมกันหลายประการ อาทิการใช้ Crowdsourcing และ User generated con-tentในการกระจายปัญหาในชุมชนออนไลน์ ทั้งเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ด้วยเครื่องมือหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเว็ปไซต์หรือสมาร์ทโฟน และสร้างอิทธิพลด้านข่าวด้วยการสะสมและขยายปริมาณของผู้ใช้สื่อ ทั้งนี้ความสำเร็จของการนำเสนอข่าวของสื่อพลเมืองขึ้นอยู่กับวิธีการวางกรอบประเด็นปัญหา ช่วงจังหวะของการนำเสนอข่าว ตลอดจนความน่าเชื่อถือของสื่อนั้นๆ
เพ็ญจันทร์ ได้ใช้กรณีศึกษาเรื่องการประท้วงรัฐประหารในช่วงปี 2557 เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสร้างภาษาใหม่ๆในการสื่อสารความหมายของการต่อต้านในฐานะที่เป็นการแสดงออกในชีวิตประจำวันประเภทหนึ่ง สัญญะต่างๆถูกนำมาใช้เพื่อการต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ร่างกายเพื่อแสดงออกถึงการขัดขืน การยึดสร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการชูสามนิ้วจากภาพยนตร์เรื่อง Hun-ger Games การอ่านหนังสือ 1984 การกินแซนด์วิช ซึ่งได้ทำให้ยืนยันถึงสิทธิของพลเมืองและการกดขี่เป็นสิ่งที่มองเห็นได้จากการแสดงเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ การต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นข่าวไม่เพียงแต่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่างประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียก็มีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน อาทิ Algorithm ของ Facebook ซึ่งมีผลต่อการกรองและเลือกโพสต์ในหน้า feed ตลอดจนการเชื่อมต่อกับการเคลื่อนไหวนอกเครือข่ายดิจิตอลและผู้กระทำการอื่นๆ เป็นต้น
ปิ่นแก้วเห็นว่า การทำงานของขบวนการฝ่ายขวาในไทยผ่านโครงการเช่นลูกเสือไซเบอร์ และการล่าแม่มดขององค์กรเอกชน อาทิ องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน เพื่อกำจัดบุคคลและการกระทำบนโลกออนไลน์ที่ “ไม่พึงประสงค์” ในแง่หนึ่งสะท้อนการกลับมาของอุดมการณ์ทางการเมืองของโลกยุคสงครามเย็น ที่ซึ่งการปิดป้าย “คอมมิวนิสต์” ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “พวกล้มเจ้า” หรือ “ขายชาติ” อันเป็นตราประทับที่ปลุกเร้าความเกลียดชัง ความกลัวต่อบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ถูกปิดป้ายดังกล่าว และต้องกำจัดในฐานะที่เป็นภัยคุกคามของชาติ สิ่งที่น่ากังวลคือ กลุ่มสังคมออนไลน์ที่ทำหน้าที่ไล่ล่าผู้ที่คิดต่างทางการเมืองในปัจจุบันเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ปัจเจกบุคคลที่เข้าร่วมในโครงการลูกเสือไซเบอร์และสมาชิกขององค์กรเก็บขยะแผ่นดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก ปรากฎการณ์ดังกล่าวสะท้อนจินตนาการว่าด้วยชาติที่วางอยู่บนหลักคิดของความเฉพาะและคัดสรร (Exclusive nation) ของฝ่ายขวาในไทย ที่ซึ่งการใช้อำนาจในการตรวจตราและกดปราบถูกทำให้ชอบธรรมผ่านวาทกรรมทางศีลธรรมว่าด้วยคุณธรรม ความดี และการคืนความสุขให้กับสังคมไทย
บัณฑิตเห็นว่า จำนวนผู้ชมสื่อออนไลน์ใต้ดินเหล่านี้ ทั้งในไทยและต่างประเทศ มียอดที่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังรัฐประหาร ในบางรายการมียอดสูงถึง 5 แสนครั้งการชม ซึ่งบัณฑิตเห็นว่า สื่อเหล่านี้ ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นที่พักพิงทางออนไลน์ให้กับผู้เห็นต่างที่ถูกเบียดขับความคิดทางการเมืองในปัจจุบัน ทั้งนี้ ปรากฎการณ์สื่อออนไลน์ใต้ดินเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่การปฎิวัติ USB เช่นดังในเกาหลีเหนือ ที่ซึ่งละครและรายการต่างๆในเกาหลีใต้ถูกบันทึกใน USB และส่งข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต
สุดารัตน์ มุสิกวงศ์ อาจารย์ด้านสังคมวิทยาและวัฒนธรรมศึกษา จาก Siena College ได้ศึกษายูทูบในฐานะคลังข้อมูลแห่งการบ่อนเซาะของพลเมืองเน็ตในไทย โดยมีคำถามสำคัญได้แก่ ยูทูบมีอิทธิพลอย่างไรต่อความคิดของรัฐ ตลาด และพลเมืองเน็ต ในท่ามกลางกลไกเซ็นเซอร์ต่างๆของรัฐ ทุนข้ามชาติมีความสัมพันธ์เช่นไรต่อบทบาทในการกำกับตรวจตราของรัฐเผด็จการ และผู้สร้างภาพยนต์ พลเมืองเน็ต สื่อมวลชนให้ความหมายอย่างไรต่องานที่พวกเขาผลิตขึ้นคัดง้างกับรัฐ
สุดารัตน์เห็นว่า เทคโนโลยีออนไลน์ได้เปิดช่องทางใหม่ๆ ให้ทั้งการตรวจตราบังคับ และการแสดงออกในการต่อต้าน สามารถทำงานได้ในหลายเวทีออนไลน์ที่บรรจบกัน ในท่ามกลางแนวทางการปิดกั้นสื่อออนไลน์อย่างเข้มงวด Youtube ได้ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อ (Connectivity) และเป็นคลังในการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์พยานของการกดปราบและการต่อต้าน สุดารัตน์ ได้ใช้กรณีศึกษา ภาพยนต์อินดี้ อาทิ Paradoxocracy ประชาธิปไทย ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ตลอดจนคืนความจริง เสนอให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของภาพยนต์เหล่านี้ในการบันทึกเหตุการณ์และความรู้สึกร่วมสมัยของผู้คนในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ตลอดจนการที่เวทีออนไลน์เช่นยูทูบ ได้กลายเป็นแหล่งรวมและชุมนุมของข้อมูลที่สามารถเชื่อมต่อไปยังหลากหลายแหล่ง ซึ่งผู้ใช้สามารถเห็นได้จากลิงค์ต่างๆที่ปรากฎในหน้าจอขณะที่ใช้งานอยู่
วงสัมมนาได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในหลากหลายประเด็นด้วยกันที่ชวนให้ทบทวนและคิดต่อ เพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อใหม่ เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อาทิ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสื่อในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีในการสื่อสารและการสร้าง platforms ใหม่ๆในการสื่อสารและรวมตัวกันของชุมชนออนไลน์? ทิศทางการกดปราบอันเข้มงวดมากขึ้นของรัฐในควบคุมสื่อ มีต้นทุนเช่นไร ? ช่องทางใหม่ๆในการแสดงออกของปัจเจกบุคคล และตัวตนในชุมชนออนไลน์ ได้ท้าทายนิยามและเส้นแบ่งใดบ้าง อาทิ นิยามขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ของคนหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ ? เมืองและชนบทมีเส้นแบ่งเช่นไรภายใต้โครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆด้านสื่อ? จะนิยามสื่อใหม่เช่นไรเพื่อมิให้จำกัดอยู่เพียงในนิยามของอินเตอร์เน็ต? เทคโนโลยีที่สูงกว่าหมายถึงการเข้าถึงข้อมูลมากกว่าเสมอไปหรือไม่ ? ผู้กระทำการอิสระ(Free agent) ใหม่ๆในการสร้างสื่อ และเครือข่ายการรณรงค์ ตลอดจนเครือข่ายทางสังคมใหม่ๆ การกระจายอำนาจในการสร้างข้อมูล ข่าวสารที่ผู้ชมสามารถสร้างข่าวสารข้อมูลได้เอง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร? ตลอดจนปัจเจกบุคคลและการแสดงออกในโลกออนไลน์มีขีดความสามารถในการมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากน้อยเพียงใด ปัญหาการสนทนาและสื่อสารในชุมชนออนไลน์ที่มีแนวโน้มในการคิดไปในทางเดียวกัน ซึ่งทำให้ยากต่อการรับข้อมูล และความคิดที่แตกต่างและหลากหลาย และเทคโนโลยีออนไลน์ที่เน้นความรวดเร็ว สั้น และฉับไว และอิทธิพลต่อการขับเคลื่อน(mobilize) อารมณ์ ความรู้สึกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร มากกว่าการใช้ตรรกะและเหตุผลในการคิดและวิเคราะห์ข้อมูล เหล่านี้ เป็นโจทย์ที่ท้าทายการศึกษาเรื่องสื่อใหม่ และเทคโนโลยีออนไลน์ในยุคปัจจุบัน