พิสูจน์การทรมานด้วยพิธีสารอิสตันบูล
ชำนาญ จันทร์เรือง
ข่าวคราวที่อื้อฉาวในช่วงระยะหลังๆ ที่ทำให้องค์การด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์การออกมาท้วงติง
การปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐไทยที่มีต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ที่ถูกจับกุมคุมขัง ว่ามี
‘การทรมาน’ เกิดขึ้น จนมีการตอบโต้อย่างรุนแรงและแข็งกร้าวจากผู้นำของรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างข้อมูลของฝ่ายตนเองมาสนับสนุนและโต้แย้ง
ซึ่งอันที่จริงเรื่องดังกล่าวนี้มีวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำที่ชัดเจนอยู่แล้วก็คือสิ่งที่เรียกว่า
‘พิธีสารอิสตันบูล’ :คู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานอย่างมีประสิทธิภาพ
กรณีการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม
หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ( Istanbul Protocol: Manual on the Effective
Investigation and Documentation of Torture and Other Cruel, Inhuman or
Degrading Treatment or Punishment) นั่นเอง
พิธีสารอิสตันบูลนี้ได้ถูกนำเสนอต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๒ และไทยเราก็ได้ลงนามและให้สัตยาบันต่อออนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (UN Convention against Torture) หรือเรียกย่อๆว่า CAT ไปแล้วเมื่อปี ๒๕๕๐
กอปรกับมาตรา ๔
แห่งรัฐธรรมนูญฯ ปี ๕๗ (ฉบับชั่วคราว) ก็ให้การยืนยันที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อองค์การระหว่างประเทศไว้
ไทยเราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตาม
พิธีสารอิสตันบูลนี้เกิดจากความร่วมมือของนักนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักจิตวิทยา ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อวางหลักการมาตรฐานในการบันทึกรวบรวมพยานหลักฐานกรณีการทรมานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหาย จากการถูกทรมานเพื่อการคุ้มครองและเยียวยา และสามารถนำเสนอพยานหลักฐานอันเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ต่อศาลอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
การนำนิติวิทยาศาสตร์
(Forensic
science) และนิติจิตเวชศาสตร์ (Forensic psychiatry) เป็นเครื่องมือและกลไกหนึ่งที่เข้ามาสนับสนุนให้กระบวนการยุติธรรมต่อเหยื่อผู้รอดพ้นจากการทรมาน
จะเกิดประสิทธิผลอันทำให้ผู้เสียหายได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และได้รับการเยียวยาได้ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย
สำหรับนิติจิตเวชศาสตร์เป็นองค์ความรู้ใหม่ในสังคมไทย ที่จะนำมาใช้กับเหยื่อผู้เสียหายจากการถูกซ้อมทรมาน
ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ และจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจ
นิติวิทยาศาสตร์และนิติจิตเวชศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่จะสามารถคุ้มครองเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดยเฉพาะเหยื่อผู้เสียหายด้านการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ควรได้รับความรู้
ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และการเยียวยาความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมไปถึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากกระทรวงยุติธรรม
เนื้อหาในพิธีสารนั้นมีครบถ้วนกระบวนความในอันที่จะพิสูจน์การทรมาน
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกาย ผิวหนัง ใบหน้า ทรวงอกและช่องท้อง
ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ระบบสืบพันธุ์และปัสสาวะ ระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย
รวมไปถึงการตรวจร่างกายและประเมินผลที่ได้รับจากการทรมานในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย
เช่น การทุบตีและการกระแทกด้วยวัตถุไม่มีคม การทุบตีเท้า การแขวน
การทรมานด้วยการจี้ การทรมานที่เกิดกับฟัน การขาดอากาศหายใจ
การทรมานทางเพศซึ่งรวมถึงการกระทำชำเรา
พิธีสารฯนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๕๔ โดย American
Bar Rule Of Law Initiative (ABA ROLI) หรือเนติบัณฑิตยสภาแห่งอเมริกา
เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงผลกำไรที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
และเป็นส่วนย่อยจาก American Bar Association (ABA) ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพนักกฎมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คน ทั้งผู้พิพากษา
พนักงานอัยการ ทนายความ นักกฏหมายและอาจารย์ด้านกฎหมายที่ได้อาสาและให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางกฎหมาย
(pro bono)
กว่า
๒๐ ปีที่ผ่านมา ABA
ROLI ได้มีโครงการและดำเนินงานในการปฏิรูปกฎหมาย
เสริมสร้างระบบกระบวนการยุติธรรม ให้ความรู้ด้านกฎหมาย
และมีโครงการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนใน ๔๐ ประเทศทั่วโลก ABA ROLI มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน
โดยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิของเหยื่อผู้เสียหาย
และการตรวจสอบรวบรวมหลักฐานด้วยนิติวิทยาศาสตร์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เนปาล
ฟิลิปปินส์รวมถึงประเทศไทยเราด้วย
ฉะนั้น
จึงเป็นอันว่าไม่ต้องมาเถียงกันให้เปลืองน้ำลายให้มากความ เพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ เนื้อหาสาระฉบับเต็มก็ไม่ต้องซื้อหาให้ยุ่งยากแต่อย่างใด
เพราะมีให้ดาวน์โหลดฟรีอยู่แล้ว
ถามว่าเซ็นสัญญาและให้สัตยาบันแล้วไม่ปฏิบัติตามได้ไหม
ก็ต้องตอบว่าได้
เพราะเราเป็นรัฐเอกราชมีอธิปไตยเป็นของตนเอง
และคิดว่าเราจะอยู่คนเดียวในโลก ไม่คบหาสมาคมกับใครอีกแล้วในโลกนี้
ขนาดรัสเซียที่เคยยิ่งใหญ่เจอกรณียูเครนเข้าไปตอนนี้ยังสะบักสะบอม
ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อยเหมือนกัน
_______
หมายเหตุ
๒)
เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘