‘เฌอปราง’ นักร้องสาววัยปลาย teen (๒๒ ปี) ที่ ก้อง ฤทธิ์ดี คอลัมนิสต์ ‘with senses’ ประจำหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
บอกว่า “as in
teenage, not foot” จะสามารถฟอกขาวให้กับ คสช. และคณะทหารนักยึดอำนาจ
ได้ละหรือ คำตอบโผล่ให้เห็นชัดแล้ว ท่าจะยาก
‘เผด็จการแสงเสียง’ เหมือนดั่งเด็กดื้อเคยตัวคอยแต่เรียกร้องความสนใจ
(ตามคำของก้อง) ตกอยู่ในภาวะใกล้จะหมดลมหายใจ (‘desperation’) จึงพยายามจะสร้างเรตติ้งด้วยการนำเอาดารา นักร้องคนดัง “ที่น่าสงสาร”
เข้ามาช่วย
“หน้าสวยๆ สร้างความได้เปรียบให้กับบางสิ่งที่ไม่ค่อยจะสวยนัก”
คำของก้องอีกเช่นกัน เนื่องจากทุกวันเวลา ๖ โมงเย็น ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา
ชาวบ้านร้านช่องมือไม้ไขว่คว้า หาปุ่มเดียวที่สามารถช่วยได้บนแท่งรีโมต เพื่อกด ‘ปิด’
“เมื่อมีคำขอร้องมาจากส่วนบน โดนด่าสาดถ้าตอบรับ โดนด่าเช็ดถ้าปฏิเสธ
ค่าจ้างค่าออนก็ไม่ได้ ในเมื่อต้องทำเพื่อประเทศชาติ” เป็นภาวะที่บรรดาดารานักร้องหลายคนเผชิญ
หนึ่งในนั้นคือ เฌอปราง อารีกุล
‘ไอดอล’ ของกลุ่ม BNK48 คณะนักร้องสาวๆ นักเต้นวัยรุ่นไทย
(สไตล์เกาหลี) ที่ดังระเบิดขณะนี้ เข้าไปเป็นผู้ดำเนินรายการ ‘เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน’
อีกหนึ่งแผนงานหาเสียงสร้างคะแนนนิยม
ในห้วงก้าวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยภายใต้ยุทธศาสตร์ คสช.
ก้องเขียนในบทความประจำวันเสาร์ที่ ๑ กันยายนของเขาว่า การที่เฌอปรางตอบรับเข้าไปเป็นผู้ดำเนินรายการ
‘วัยทีน’ ของ คสช. ก็ “โดนด่าสาด” หรือ controversial
เข้าไปแล้ว เนื่องเพราะ หนึ่งนั้นเธอเป็นสาวที่แคล่วคล่อง
ด้วยวิสัยทัศน์ก้าวไปข้างหน้า
ประเด็นนี้ต้องไปดูบทความของ ‘จีเอ็มไล้ฟ์’
ทางไซเบอร์ ที่บอกว่าเธอเป็น “เสรีนิยมใหม่ในระบบตลาด” ซึ่ง “เฌอปราง เป็นคนที่รู้จักระบบนี้ดีกว่าใคร ๆ” ทั้งยังขนานนามให้
(อย่างกระหวัดสบัดลิ้น) ด้วยว่าเธอคือ ‘เฌอปรางธิปไตย’
สรรพคุณของเฌอปรางดังที่ จีเอ็มไล้ฟ์ วาดภาพไว้ “เธอรู้ว่า
เธอจะต้องบริหารอย่างไรเพื่อที่จะได้เป็นที่ ๑ ในระบบนี้ได้ และสื่อ หน่วยงานรัฐ
บริษัทห้างร้านนั้นต้องการสิ่งใด เธอก็สามารถตอบสนองให้ได้ตามที่ต้องการ เช่น
ภาพลักษณ์ของ ‘ต้นแบบ’ ของสังคมที่ถูกคาดหวังไว้”
ข้อสองของก้องที่อ้างว่าเฌอปรางสร้างความอื้อฉาว เพราะเธอมี
‘แควนขลับ’ ติดตามล้นหลาม แถมด้วยข้อสาม พวกผู้ชายที่ต่อต้านรัฐประหารจำนวนไม่น้อยอยู่ในกลุ่มที่ตามติ่งเธอ
ความอีหลักอีเหลื่อจึงเกิดเมื่อพวกเขาไม่สามารถสนับสนุนเธอในขณะที่เธอ “ถูกคณะทหารใช้เป็นหุ่นเชิด”
ได้
ระเบิดเกิดขึ้นเมื่อ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโตผู้ต่อต้านคณะรัฐประหารอย่างแสบสันที่สุดคนหนึ่งในขณะนี้
เปิดฉาก ‘แอนตี้’ เฌอปราง ด้วยวลี “ผงซักฟอกเผด็จการ”
เขาอ้างศาสตราจารย์ โนม ชอมสกี้ “พูดเรื่องเยาวชนคนรุ่นใหม่
ว่าอย่าไปหวังมาก เพราะเยาวชนรุ่นใหม่พวกนี้ ใหม่แค่อายุ
แต่ความคิดยังถูกครอบงำด้วยอนุรักษ์นิยม
หรือแม้แต่ถูกครอบงำด้วยความไร้เดียงสาอย่างที่สุด”
อจ.ปวิน นำมาเปรียบเปรยกับเฌอปรางว่า “ขายความสดใส น่ารัก
เสียงเพลง อย่างเดียว แต่พอมาถึงเรื่องหลักการประชาธิปไตย ความถูกต้องในสังคม นาง ignorant (ไม่แยแส ชุ่ย ปัดสวะพ้นตัว) มากๆ”
สำหรับ ก้อง ฤทธิ์ดี ความไม่แยแสต่อประชาธิปไตยและสภาพเผด็จการในประเทศไทย
มิได้จำเพาะเจาะจงแต่กับเฌอปราง “ดาราคนดังของไทย ตั้งแต่สมัยก่อนมาจนทุกวันนี้
พวกนี้จะไม่ยอมเปิดปากพูดเรื่องอุดมการณ์การเมือง...
พวกเขาจะไม่ยอมแสดงความคิดเห็นสนับสนุนต่อประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างอึงมี่
เช่นเรื่อทำแท้ง เรื่องการแต่งงานในเพศเดียวกัน เรื่องเกณฑ์ทหาร เรื่องโรฮิงญา
เรื่องนาฬิกาหรู...ถ้าจะต้องออกไปร่วมประท้วงกลางถนน
ต้องแน่ใจว่าอยู่ข้างสถานะเดิม และกองทัพ”
ก้องชี้ว่าดาราคนดังไทยเป็นพวกว่าง่าย น้อมรับกับอำนาจเสมอ “ในฮอลลีหวูด
เก๋มากถ้าคุณอยู่ฝ่ายซ้าย ที่นี่ (ไตยแลนเดีย –คำผู้เขียน) มันปลอดภัยและก้าวหน้าทางวิชาชีพ
(เต้นกินรำกิน) ถ้าพยายามเกาะหลักกับฝ่ายขวา สุดกู่ได้ยิ่งดี”
เหมือนว่าเขาเพียงปรารภปิดท้ายบทความ แต่ย่อหน้าสรุปของ
ก้อง ฤทธิ์ดี กลายเป็นคำตอบที่สุดของการถกเถียงกรณีเฌอปราง “ความหวังของเราท่านทั้งหลายกับอนุชนรุ่นใหม่อยู่ที่บรรดานักเรียนนักศึกษา
ที่ยืนหยัดประกาศก้องในสิ่งที่คุณจะไม่ได้ยินจากรายการ ๖ โมงเย็น
พวกเขาถูกจับเอาไปกักกันเพราะการพูดเช่นนั้น
พวกเขานั่นแหละคือไอดอลควรค่าแก่การเชิดชู”