Tonight Thailand - ไทยแลนด์ 4.0 แต่ให้หาเสียงแบบอนาล็อก
...
Sep 1, 2018
Voice TV
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนชี้ คสช.ควรหาขอบเขต ข้อกำหนด กรณีห้ามหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย เตือนสติ ชุมชนออนไลน์เป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ ควบคุมยาก หากข้อความที่เผยแพร่ไม่ได้ละเมิดสิทธิบุคคล หรือนำเข้าข้อมูลเท็จ จะไปเอาผิดได้อย่างไร ยิ่งใกล้โหมดเลือกตั้ง ยิ่งควรให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายและสื่อสารกับประชาชน
ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์ ทีวี' ว่า การกำหนดขอบเขต การหาเสียงผ่านโซเชียลในปัจจุบัน แทบจะหาขอบเขตดังกล่าวไม่ได้เลย หลังพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ห้ามพรรคการเมืองและนักการเมือง หาเสียงผ่านโซเซียลมีเดีย เพราะถือว่าเข้าข่ายผิดคำสั่งคสช. และกฎหมายคอมพิวเตอร์
ดร.นันทนากล่าวว่า โซเชียลมีเดีย คือชุมชนขนาดใหญ่ กว้างขวาง ไม่สามารถควบคุมข้อมูลต่างๆ ได้อยู่แล้ว ดังนั้น การกำหนดขอบเขตข้อมูลจึงทำได้ยาก เพราะฉะนั้น เป็นความรับผิดชอบของผู้ที่สื่อสารเข้าไปในโซเซียลเน็ตเวิร์กต้องพิจารณาให้ดีว่า ข้อมูลที่ส่งไปนั้น กระทบหรือละเมิดกับใครบ้าง คนที่ปล่อยข้อมูลออกไปจะต้องรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม หากต้องการควบคุมจริงๆ จะต้องมีข้อบัญญัติที่เป็นกฎหมาย เพื่อป้องกันการละเมิด ซึ่งในปัจจุบันมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่คุ้มครองอยู่แล้ว โดยกำหนดว่าการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ การนำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะไปละเมิด มีความผิด ซึ่งกฏหมายตัวนี้ค่อนข้างกว้างและสามารถคุ้มครองบุคคลที่ถูกละเมิดได้ หากมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือใส่ร้ายป้ายสีกัน ก็จะสามารถใช้ พ.ร.บ.นี้มาปกป้องสิทธิของบุคคลนั้นได้อยู่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรกังวลใจกับเรื่องนี้
ดร.นันทนายังกล่าว่า หากวันนี้ยังไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหาเสียง หรือนำเสนอแนวนโยบายพรรคการเมือง แล้วพรรคการเมืองจะหาสมาชิกได้อย่างไร เพราะสมาชิกพรรคต้องเกิดขึ้นจากแนวคิดอุดมการณ์ร่วม แนวคิดนโยบายนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ตัวบุคคลนั้นคิด มุมมองที่อยากจะได้ บุคคลเหล่านั้นก็จะมาสมัครเป็นสมาชิก แต่หากวันนี้พรรคการเมืองยังไม่ได้นำเสนอนโยบาย หรือสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายหรือประชาชนทั่วไป ประชาชนทั่วไปจะมีนโยบายอะไร แล้วจะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้อย่างไร
"ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลและคสช.เข้าใจสื่อโซเซียลมากน้อยเพียงใด เพราะข้อมูลกระจายไปอย่างรวดเร็ว หากจะควบคุมโซเซียล ก็ต้องถามว่าจะควบคุมในลักษณะใด เพราะข้อมูลไหนที่ไม่ได้ไปละเมิดใคร ไม่ได้ทำบุคคลใดเสียหาย ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ยิ่งเป็นเรื่องของการหาเสียงของพรรคการเมือง การที่พรรคจะออกมาบอกว่าจะทำอะไร แนวทางไหน เรื่องนี้ถือว่าไม่เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือละเมิดองค์กรต่างๆ โอกาสที่พรรคการเมืองจะทำแบบนี้ก็ย่อมทำได้"
ดร.นันทนาให้ความเห็นว่า หากไม่สามารถหาเสียงได้ ใช้โซเซียลเน็ตเวิร์กไม่ได้ อาจหมายความว่า บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลาย ห้ามพูด ห้ามเขียน ห้ามสื่อสารใดใดลงไปในโซเซียลเลย ตรงนี้จะเข้าข่ายขัดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิในการพูด สิทธิในการสื่อสาร การแสดงออก ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิที่ถูกรองรับอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ดังนั้น การที่รัฐบาลออกมาบอกว่าห้ามหาเสียง ขอบเขตอยู่ตรงไหน
"ถ้าพรรคการเมืองออกมาแนะนำตัว พรรคการเมืองมีแนวทางแบบนี้ ถือเป็นการหาเสียงหรือไม่" ดร.นันทนาตั้งคำถาม
ส่วนเรื่องนี้จะเข้าข่ายผิดคำสั่งคสช. ตามที่พลเอกประวิตรระบุหรือไม่นั้น ที่ผ่านมา เรื่องนี้ คสช. ไม่เคยกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการชุมนุมในโซเซียลเลย มีแต่การกำหนดห้ามชุมนุมเกินกัน 5 คน เท่านั้น แต่โซเซียลมีเดียมีคนหลายล้านคน เช่น เพจต่างๆ ที่มีรวมกันหลากหลายความคิด ดังนั้น จึงขอให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงออกมาระบุให้ชัดเจนว่าขอบเขตเป็นอย่างไร แล้วทำได้แค่ไหน
ดร.นันทนายกตัวอย่าง ถ้ามีบางคนถูกใจในบุคลากรพรรคการเมืองบางพรรค ที่เขามาออกมาพูดหรือสื่อสาร ว่าพรรคของเราจะทำแบบนี้ มีนโยบายแบบนี้ แล้วกลุ่มคนในโซเซียลก็ไปแชร์ต่อๆ กัน อันนี้ถือว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่ เป็นการผิดกฎระเบียบหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงควรพูดออกจากให้ชัดเจน เพราะเท่ากับว่าการที่ไม่ให้พรรคการเมืองห้ามขยับ ห้ามกระกระดุกกระดิก แต่บางบุคคลสามารถไปทำอะไรได้ เรื่องนี้จึงกลายเป็น ไม่ห้ามกลุ่มบุคคล แต่ห้ามคนที่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ถ้าในแง่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว พรรคการเมืองคือที่ร่วมตัวกันของคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน เป็นกลุ่มคนที่ตั้งใจจะเข้าไปบริหารประเทศ ตรงนี้ก็น่าจะสำคัญมากกว่ากลุ่มบุคคล ที่รวมตัวกันไม่มีทิศทาง
ดังนั้น การห้ามไม่ให้พรรคการเมืองทำอะไรก็ดูเหมือนว่าจะขัดกับสิ่งที่รัฐบาลได้ประกาศมาโดยตลอดเรากำลังเข้าใกล้สู่โหมดของการเลือกตั้ง เข้าไปทุกทีแล้ว ถ้าเข้าใกล้โหมดการเลือกตั้ง ก็ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองนั้น ออกมาสื่อสาร ออกมาพูดจากับประชาชน
ส่วนกรณีมีเพจเชียร์รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงออกมา รวมถึงภาพถ่ายนายกรัฐมนตรีในอิริยาบท พักผ่อน คู่กับสุนัข เรื่องนี้เป็นการแสดงนัยยะทางการเมืองหรือไม่นั้น
เรื่องนี้ ดร.นันทนา มองว่า ในระยะหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พยายามหาแนวร่วม ต้องการแสวงหาการยอมรับ สนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากการไปสัญจรในพื้นที่ต่างๆ การใช้ถ้อยคำพูดกับประชาชนคล้ายนักการเมือง ที่พยายามจะหาคะแนนนิยม เรียกการยอมรับสนับสนุน จึงเห็นได้บ่อยขึ้น จึงเชื่อว่าจะเป็นการเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง ในครั้งหน้า ส่วนในมุมของรองนายกฯ ที่มาในมุมอ่อนโยน ให้คนเห็นในมุมน่ารัก จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะสร้างคะแนนนิยมให้กับประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ห้าม 'พรรคการเมือง' หาเสียงในโซเชียล เสี่ยงพ.ร.บ.คอมฯ-ขัดคำสั่งคสช.
โพลชี้พลังโซเชียลกระตุ้นให้คนอยากเลือกตั้ง