วันเสาร์, กันยายน 08, 2561

ทนายประเวศ อดีตผู้ต้องขังในคดี #มาตรา112 และ #มาตรา116 เล่าประสบการณ์จากข้างในให้คนข้างนอกได้ฟัง




บทเรียน 16 เดือนในเรือนจำ หลังการต่อสู้เพื่อ "พังระบบศาล" ของทนายประเวศ


โดย ilaw-freedom 
6 กันยายน 2018


"ทนายประเวศ" เป็นอดีตทนายความที่ช่วยเหลือคดีทางการเมือง ที่กลายมาเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และ 116 เสียเอง เขาถูกจับกุมในเดือนเมษายน 2560 หลังจากนั้นต้องใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นเวลา 16 เดือนเต็ม ก่อนได้รับการปล่อยตัวกลับสู่ชีวิตตามปกติ

คดีของทนายประเวศ สร้างความประหลาดใจให้กับทั้งศาล อัยการ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีของเขา เมื่อทนายประเวศเขียนแถลงการณ์ส่งถึงศาล แบบ "พังระบบ" คือ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี โดยจะไม่ให้การต่อศาล ถอนทนายความ ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล เนื่องจากกังขาต่อความเป็นกลางของศาลไทยใน "คดีลักษณะนี้" นอกจากนี้ในการยื่นขอประกันตัว ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว กรณีเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักและเทิดทูนของประชาชนโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อันอาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งทนายประเวศเห็นว่า เป็นการพิพากษาไปแล้วก่อนคดีจะเริ่มขึ้น

ในคำฟ้อง ทนายประเวศถูกกล่าวหาว่า โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 รวมสิบกรรม และฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามมาตรา 116 พ่วงกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมสามกรรม ซึ่งหากศาลพิพากษาให้เป็นความผิดทุกกรรมอาจถูกสั่งให้จำกคุกรวมกันได้หลายสิบปี แต่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ศาลพิพากษายกฟ้องในข้อกล่าวหามาตรา 112 ทั้งหมด และให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 116 กรรมละห้าเดือนรวม 15 เดือน และพิพากษาว่า ประเวศมีความผิดฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549 ให้ลงโทษจำคุกหนึ่งเดือน รวมเป็น 16 เดือน

หลังรับโทษครบตามกำหนดเวลา 16 เดือน ประเวศถูกปล่อยตัวเมื่อ 26 สิงหาคม 2561 พร้อมแบกประสบการณ์การใช้ชีวิตนักโทษกับการสู้คดีด้วยวิธีการพิเศษครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยกลับออกมาด้วย ถึงวันนี้ ทนายประเวศยังมีความหวังที่จะกลับมาประกอบอาชีพทนายความ ใช้ชีวิตทำมาหากิน และยังคงไว้ซึ่งความคิดความเชื่อทางการเมืองที่ไม่เปลี่ยนแปลง ยังพร้อมช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาทางการเมืองเช่นเดิมต่อไป


อ่านรายละเอียดคดีของประเวศ เพิ่มเติมได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/786


เราได้พบและพูดคุยกับทนายประเวศ ประมาณ 10 วัน หลังเขาได้รับการปล่อยตัว และกำลังอยู่ระหว่างพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวกลับมาใช้ชีวิตเช่นคนทั่วไปอีกครั้ง ในบรรยากาศการพูดคุยสั้นๆ ภาพของทนายประเวศที่เคยยืนขึ้นโต้เถียงกับศาลอย่างเผ็ดร้อนในการพิจารณาคดีของเขาได้จางหายไป กลายเป็นชายสูงวัยที่สงบนิ่งทั้งภายในและภายนอก กับรอยยิ้มอย่างเข้าใจความเป็นไปของชีวิตและความขัดแย้งทางการเมือง


ชีวิตหลังออกจากเรือนจำแล้วเป็นยังไงบ้าง?

เรื่องการปรับตัวไม่มีปัญหามาก เพราะว่า อยู่ในคุกไม่นานมากถึงขนาดจะเคยชิน เคยได้ยินเรื่องของนักโทษคนอื่นที่เมื่อได้ปล่อยตัวออกมาต้องเปิดไฟนอน ต้องใส่แต่กางเกงขาสั้น เดินเข้าร้านอาหารก็ต้องถอดรองเท้า แต่ผมไม่มีปัญหา นอนหลับได้ตามปกติดี

แต่สภาพความเป็นอยู่หลังออกมาแล้วไม่เหมือนเดิม เพราะบ้านที่เคยอยู่ถูกยึดและขายทอดตลาดไปในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำแล้ว เรื่องที่อยู่ตอนนี้เลยต้องย้ายไปมา ที่อยู่ถาวรก็ยังไม่ชัวร์

ถึงตอนนี้ยังไม่ได้งานทำอะไร เพราะว่า ใบอนุญาตทนายความขาดอายุพอดี ก็เลยยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาตไปแล้ว สำหรับคดีที่ถูกพิพากษาให้จำคุกมาไม่คิดว่า จะกระทบการการขอใบอนุญาตทนายความ เพราะในทางเทคนิคอัยการยังขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อยู่ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด


เวลา 16 เดือนในเรือนจำ ทำให้อะไรในตัวเราเปลี่ยนไปบ้าง?

วิธีแปรงฟันเปลี่ยน (ยิ้ม) เพราะตอนอยู่ในนั้นไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเลยก็ว่าได้ ยิ่งตอนเช้าตารางเวลาชีวิตก็ยาก ผมเลยแปรงฟันหลังกินข้าวเย็นวันละครั้ง ตอนประมาณเที่ยง ซึ่งผมก็กินข้าววันละสองมื้อ หลังกินข้าวเสร็จก็แปรงฟันไปเลย แล้วก็เป็นการแปรงฟันในที่สาธารณะ ไม่ใช่ห้องน้ำ

การอาบน้ำก็ต้องอาบตอนบ่ายสอง แล้วเข้าห้องนอนเลย ซึ่งเป็นเวลาที่กำลังง่วง ถ้าให้หลับยาวเลยได้ก็จะดี แต่ดันมีบังคับให้สวดมนต์ตอนเย็นอีก ก็เลยฝืนให้ไม่นอน แล้วไปนอนเร็วตอนหนึ่งทุ่มทุกวันจนถึงเช้า แต่พอออกมาก็ไม่ได้มีตารางชีวิตแบบนี้แล้ว จริงๆ นิสัยอย่างหนึ่งที่ควรเอาติดตัวออกมาจากเรือนจำด้วย ก็คือ เรื่องเหล้ากับบุหรี่เนี่ยแหละ หลังออกมาผมยังไม่ได้ซื้อบุหรี่เลยนะ

เหรียญมันมีสองด้านเสมอ ขยะมันก็ยังมีประโยชน์ อุจจาระก็ยังเอาไปทำเป็นปุ๋ยได้ คงไม่มีอะไรหรอกที่มันจะไร้ประโยชน์เอาเสียเลย


ชีวิตในเรือนจำทำให้ความคิดหรือทัศนคติอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่?

เห็นแก่ตัวขึ้น คือ คนในนั้นมันมีแต่ความเห็นแก่ตัวสูง ส่วนใหญ่เป็นคนที่กระทำความผิดทางอาญามาจริง ทรรศนะของพวกเขาไม่ได้รู้สึกผิดที่จะไปขโมยของใคร แล้วส่วนใหญ่ก็มีฐานะยากจน ค่อนข้างจะขาดแคลน ต้องดิ้นรน ต้องทำงานข้างใน หากวันไหนไม่มีก็ต้องกินข้าวจากโรงเลี้ยงของทางเรือนจำซึ่งรสชาติมันแย่มาก แทบจะไม่มีเนื้อสัตว์เลย

พอมีคนมาขอ ถ้าให้ไปนะ เขาขอตลอดเลย ถ้าเริ่มให้ไปครั้งนึงก็มาทุกวัน กลายเป็นว่า จะต้องเห็นแก่ตัว ต้องงกหน่อย ตอนเราอยู่ข้างนอกคุ้นเคยแต่การช่วยเหลือกัน มีอะไรช่วยได้ก็ช่วย แต่อยู่ในนั้นถ้าให้แล้วเราเดือดร้อนเลย

แล้วมันมีแต่ความรุนแรงอยู่ในนั้น เพราะเป็นเรือนจำที่ถูกครอบโดยระบบทหาร การลงโทษและการฝึกวินัยก็ทำแบบฝึกทหาร เครื่องแบบและยศของผู้คุม ใช้ยศแบบทหาร เช่น พันเอก พันโท การทำความเคารพด้วยการ "ตะเบ๊ะ" ถอดแบบมาจากทหารหมด การเข้มงวดกับผู้ต้องขังก็ใช้วิธีแบบทหาร มีแต่ความคิดที่จะสร้างความลำบากให้พวกเรามากขึ้น ไม่มีวิธีเกลี้ยกล่อมจิตใจคน มีแต่การลงโทษใช้ความรุนแรง แต่ในทางตรงกันข้ามก็มาบังคับสวดมนต์ บังคับให้ท่องคำปฏิญาณ


สวดมนต์บทไหน?

บทหลักๆ บูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วก็บท "พาหุง" เป็นบทหลักเลย แล้วก็มีแผ่เมตตา ใช้วิธีการเปิดผ่านทีวีกรอกหูเข้าไปทุกวัน


ความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองในเรือนจำเป็นอย่างไร?

นักโทษการเมืองก็อยู่เหมือนกับนักโทษคนอื่น ถูกจับรวมกันหมด ไม่ได้ต่างกันเลย หลายคนก็ยังปักหลักสู้คดีอยู่ บางคนก็รับโทษอยู่รอกำหนดปล่อย ไม่แน่ไม่นอนว่า นักโทษการเมืองจะอยู่ข้างในเป็นเพื่อนกันหมดเสมอไป ถึงจะเป็นนักโทษการเมืองด้วยกันก็ไม่แน่ว่าจะนิสัยใจคอเหมือนกันหมด ผมคุยสนุกก็อยู่กับคนนั้น

ผมค่อนข้างเป็นคนโลกส่วนตัวสูง อยู่คนเดียวมากกว่า ไม่ถึงกับเพื่อนเยอะเท่าไร มีคนที่ตอนเข้าไปใหม่ๆ เขาคอยช่วยเหลือก็อยู่ด้วยกันได้


เคยเป็นทนายความ แล้วเข้าไปในเรือนจำ น่าจะมีคนมาขอให้ช่วยคดีเยอะ ใช่หรือเปล่า?

มีๆ แต่ไม่เยอะมาก มีผู้คุมคนหนึ่งเล่นโฆษณาให้เลย เอาไปพูดต่อหน้าแถวเลยว่า "พี่ทนายๆ" ก็เลยรู้กันทั้งแดน

นักโทษข้างในส่วนใหญ่ก็โดนคดีเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ยักยอกทรัพย์ ชิงทรัพย์ คดีฆ่าคนตายก็มีแต่ไม่เยอะ เพราะเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเรือนจำสำหรับคดีที่โทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี ส่วนนักโทษคดียาเสพติดจะถูกแยกออกไปอยู่คนละที่ ต่างหากกัน มีคดีบัตรเครดิตอันหนึ่ง ผมร่างเอกสารให้ขณะที่อยู่ในเรือนจำแล้วก็ส่งออกมาให้คนเอาไปพิมพ์ เห็นว่า มันขาดอายุความแล้วก็เลยเขียนคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องนี้ ปรากฏต่อมา โจทก์ถอนฟ้อง (ยิ้มกว้าง)


นักโทษอื่นที่รู้ว่า โดนคดีมาตรา 112 มีปฏิกริยาเป็นพิเศษหรือไม่?

ไม่นะ เฉยๆ เค้าก็ไม่ได้มาตื่นเต้นอะไรกับตรงนี้ ไม่มีปัญหา


เมื่อต้องเข้าเรือนจำ จัดการกับภาระการงาน และธุระส่วนตัวอย่างไร?

ผมมีคดีที่ต้องไปว่าความ ตอนถูกจับแล้วก็โทรศัพท์ออกมาฝากงานกับเพื่อนทนายความรุ่นน้อง ตอนแรกที่ถูกจับเข้าไปค่ายทหาร ผมกำลังจะมีนัดคดี แล้วทหารไม่ยอมให้โทรศัพท์ ผมเลยใช้วิธีอดข้าวประท้วงหนึ่งวัน ก็เลยมี เสธ. คนนึงมาคุยให้โทรศัพท์ได้ แบบต้องเปิดลำโพงให้ฟังด้วย

กว่าผมจะได้ออกมา คดีความก็จบไปแล้ว แล้วก็ได้ฝากรุ่นน้องคนนี้ให้ดูแลบ้านให้ด้วย ตอนนี้แฟ้มสำนวนคดีก็เลยถูกเก็บไปอยู่กับคนนี้หมด


ตอนที่เลือกจะสู้คดีแบบปฏิเสธอำนาจศาล คิดว่าแนวทางนี้จะทำให้ต้องติดคุกนานเท่าไร?

ผมก็คิดว่า ตายในคุกน่ะนะ ตามที่กฎหมายกำหนดโทษสูงสุดที่ถูกลงได้ก็คือ 50 ปี


ตอนที่คิดแบบนั้นแล้ว ยังมีห่วงอะไรเหลืออยู่บ้างไหม?

ไม่มีห่วงอะไรนะ มีงานค้างอยู่บ้างเท่านั้นเอง มีทรัพย์สินก็นิดหน่อย ทำใจได้ ต้องทำใจก่อนว่า สภาพแบบเรือนจำนั้นอยู่นานได้ แล้วก็ตัดความหวังให้หมด ถึงจะตัดสินใจสู้คดีในทางนี้ได้

ผมค่อยๆ คิดแล้วพัฒนาแนวทางการต่อสู้คดีแบบนี้ไปเรื่อยๆ ใช้เวลาอยู่เป็นปีเหมือนกัน โดยไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งตัวเองจะเป็นจำเลยเสียเอง ไอเดียนี้ผมเคยบอกกับคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข รวมทั้งหมอเหวง (โตจิราการ), อาจารย์ธิดา (ถาวรเศรษฐ์) ทุกคนเข้าใจว่า นี่คือ การต่อสู้กับระบบ แต่วิธีการที่ต่อสู้คดีอื่นๆ คือ การต่อสู้ในระบบเท่านั้น ทุกคนเข้าใจแต่ไม่มีใครคิดจะเอาไปใช้

วิธีการสู้คดีแบบนี้จุดประกายขึ้นมากับผมในช่วงปี 2552 วันที่ทำคดีมาตรา 112 ของดา ตอร์ปิโด แล้วศาลสั่งให้พิจารณาคดีลับ ผมก็คิดถึงแนวทางนี้แล้วก็เขียนเผยแพร่ออกไปทางเฟซบุ๊กหมดแล้ว ถ้าผมไปเลือกรับสารภาพเองก็เท่ากับกลืนน้ำลายตัวเอง


พอวันที่ศาลพิพากษาให้รับโทษจำคุก 16 เดือน รู้สึกอย่างไร?

ก็เซอร์ไพรส์นะ ตอนนั้น เพราะตอนเขาอ่านคำพิพากษาไปนึกว่า ยาวแน่แล้ว

นี่เป็นช่องทางที่คิดเอาไว้เองว่า มีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่สุดแล้ว เพราะสถานการณ์ที่ประเมินในวันที่เริ่มสืบพยานยังคิดว่า ศาลอาจจะยกฟ้อง คิดไปถึงตรงนั้นแล้วจากสิ่งที่ศาลพูดออกมา


ในห้องพิจารณาคดีลับที่คนอื่นเข้าไม่ได้ คุยอะไรกับศาลไปบ้าง?

จริงๆ ไม่มีอะไรแล้ว เพราะว่า ตอนที่ต่อรองกันเกิดขึ้นก่อนศาลสั่งปิดลับ พอปิดห้องแล้วก็เข้าสู่การสืบพยานแล้ว ซึ่งไม่มีอะไร เราก็ปล่อยเค้าทำไป

ที่ผมเตรียมการไว้ คือ หากมีการสืบพยานผมมีสิทธิจะประท้วง และหากเกิดความเสียหายขึ้น ศาลต้องรับผิดชอบ เพราะถ้าเกิดให้เขาหาข้ออ้างมาสืบพยานได้ก็จะพิพากษาจำคุกผม 50 ปีได้ แต่พอได้คุยกันตั้งแต่วันแรกของการสืบพยาน เขาบอกอะไรเป็นนัยไว้แล้ว ผมก็บอกไปว่า ผมจะไม่ขัดขวางการสืบพยาน

ผมไม่ได้ถามค้าน ไม่ได้ทำอะไรเลย ศาลก็ถามว่า จะโชว์ฝีมือหน่อยไหมทั้งๆ ที่เป็นทนาย ผมก็ยิ้ม ส่ายหน้า แล้วโบกมือ ไม่มีอะไรตึงเครียดแล้ว อย่างไรก็ดีการสืบพยานไปแบบนี้ก็ผิดกฎหมายอยู่ดี เพราะเป็นการสืบพยานไปข้างเดียว แล้วคำพิพากษาที่ออกมานี้ผมก็ยังสามารถวิจารณ์มันได้


ถึงวันนี้แล้ว รู้สึกยังไงกับการตัดสินใจเลือกเส้นทางการต่อสู้คดีแบบใหม่?

มันก็ไม่รู้สินะ จะว่ามาถูกทางก็ไม่เชิง

ลึกๆ ผมก็ไม่คิดว่า ตัวเองจะต้องอยู่ในคุกนาน เพราะพวกเราไม่ใช่คนที่สมควรจะอยู่ตรงนั้น การต้องเข้าไปมันผิดที่ผิดทางอยู่แล้ว แต่สถานการณ์จะคลี่คลายออกมาได้แบบไหนเท่านั้นเอง

การที่ผมเลือกเดินทางนี้ และเขียนแถลงการณ์ส่งออกมาหลายฉบับ มันก็เป็นสิ่งที่ยังหล่อเลี้ยงสภาพจิตใจของผมให้ยังเป็นปกติอยู่ได้ ทำให้ผมยังมีอะไรทำ มีอะไรคิด มีเป้าหมายที่อยากจะไป มีจุดมุ่งหมายในการอยู่เพื่อจะพังระบบ ในคำแถลงการณ์ที่ผมปฏิเสธอำนาจศาล มันก็คือการรื้อเสาหลักของศาลออก


ถึงวันนี้ยังติดใจ หรือรู้สึกโกรธ ทหารที่มาดำเนินคดีกับเราหรือเปล่า?

ตอนที่ถูกจับนั้นก็ยังประเมินสถานการณ์อะไรไม่ถูก ก็ยังไม่มีเวลาโกรธ แล้วก็ต้องมาเตรียมเขียนคำแถลงการณ์ต่างๆ ก็เลยไม่มีเวลา

ต่อมาปัญหาหลักๆ ที่ต้องคิดมากกว่าการเขียนแถลงการณ์ก็คือ วิธีการที่จะส่งออกมาข้างนอก เพราะการส่งทางช่องทางปกติทำไม่ได้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อ่านแล้วเขาผวากันหมด เขากลัว เขาไม่ยอมให้ส่งออกมา เราเลยต้องใช้วิธีส่งเอกสารไปให้ศาลเลยแล้วค่อยถ่ายสำเนาออกมาจากสำนวนศาล

ถามว่า ตอนนี้โกรธไหม เวลามันก็ผ่านมาแล้วมันคงไม่มีอะไรต้องติดใจแล้ว แต่ถ้าถามว่า เอาคืนไหม? เอาคืน ทั้งก๊วนนั่นแหละ

สำนวนในนิยายจีนเขาบอกว่า ยกขึ้นแล้ววางลงให้ได้ ถ้าเราทำแบบนี้ได้สภาพจิตเราก็จะปกติ


ที่ส่งเอกสารออกมาตามช่องทางปกติไม่ได้ เพราะเหตุผลอะไร?

เค้าอ้างกฎหมาย อ้างพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เหตุที่ไม่สามารถส่งเอกสารออกมาได้เพราะเอกสารพาดพิงบุคคลอื่น มีปัญหาตั้งแต่ตอนผมส่งหนังสือร้องเรียนถึง UN ผมร้องเรียนศาล ซึ่งการร้องเรียนมันก็ต้องพาดพิงอยู่แล้ว แต่เขาก็อ้างกฎหมาย พอเราใช้วิธีส่งเอกสารไปยังศาลเขาก็บอกว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเขาที่จะห้ามการส่งเอกสารได้


วางแผนชีวิตหลังจากนี้ต่อไปอย่างไร?

นอกจากอยากจะกลับไปทำงานทนายความต่อแล้ว ก็ยังมีบางคดีที่ตั้งใจอยากจะทำ เป็นคดีที่ได้มาจากตอนที่อยู่ข้างใน เป็นความไม่เป็นธรรมที่เรารับรู้มา หากพอจะทำอะไรได้บ้างก็อยากจะช่วยเขา อีกคดีหนึ่งที่ได้ยินมาก็เป็นเรื่องของนักโทษการเมืองที่เหมือนถูกแกล้งฟ้องจากเหตุการณ์เดียวกัน แต่ฟ้องเพื่อให้ลงโทษเป็นสองคดี ก็ต้องขอไปหาข้อมูลก่อนว่า จะทำอะไรได้บ้าง

อีกอย่างหนึ่งที่อยากทำ ถึงแม้ว่า จะช่วยอะไรได้ไม่มาก แต่ก็ตั้งใจว่า จะเดินทางไปขอนแก่น ขอไปเห็นหน้าเห็นตากับ "ไผ่ ดาวดิน" สักหน่อย แล้วก็คดีของ "ทอม ดันดี" ที่ราชบุรีอีกที่อยากไปช่วย