วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 01, 2558

คสช. นี่บ้าบอหรือว่าบ้าจี้กันแน่ แต่งแดงต้องจับตา ไม่แต่งแดงก็ให้จับตาอีก





คสช. นี่บ้าบอหรือว่าบ้าจี้กันแน่ แต่งแดงต้องจับตา ไม่แต่งแดงก็ให้จับตาอีก

ต่อข่าวที่ว่าจะมีการรวมตัวกันให้กำลังใจแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากการที่จะถูกคณะทหารใช้อำนาจทางการปกครองเรียกค่าเสียกรณีโครงการจำนำข้าวถึง ๕ แสนล้านบาท ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์เองได้บอกแล้วว่า ขอให้ฟังคำสั่ง คสช. เพื่อความมั่นคง

แต่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะยึดอำนาจ คิดไกลไปถึงกรณี “มีหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า การใส่เสื้อสีอะไรก็ตามก็สามารถให้กำลังใจได้ เพราะไม่ใช่การแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์ของสีเสื้อ

จึงเป็นไปได้สูงที่ความพยายามครั้งนี้อาจทำให้หลายๆ คนมองว่าอาจจะมีนัยยะอื่นๆ แฝงผสมเข้ามาด้วย”

(http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/672296)

รวมความว่าถ้าใครให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ เป็นต้องโดนจับตา ปะเหมาะจากนั้นอาจจับตัวไปปรับทัศนคติซะด้วย

ขนาดกระบวนการเชือดคอแบบ 'ลึกลับ และซับซ้อน' ของ ปปช. ว่ายอดแล้ว ก็ยังไม่พอ

ต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ม.๔๔ 'ปิดจ๊อบ' ต่ออายุคณะกรรมการสอบคดีจำนำข้าว เพื่อเอาผิด เรียกค่าเสียหายจากอดีตนายกฯ หญิง แถมใส่เสื้อเกราะให้ไว้ป้องกันผู้เสียหายฟ้องกลับ ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และแม้แต่ด้านวินัย




คณะปกครองของประยุทธ์-ประวิตรนี่ นานวันยิ่งขวัญอ่อน หวาดระแวงประชาชนแทบจะทุกขุมขนแล้วสินะ

วันก่อนประยุทธ์บอกว่า “เรื่องของนิสิตนักศึกษาผมให้คนไปคุยนะ ครูอาจารย์ต่างๆ ก็ขอร้องกัน...

ที่ผ่านมาทุกคนมีแรงขับเคลื่อนที่แรงนะมากมาย เมื่อมีคนมาให้ข้อมูลท่านไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ท่านเคลื่อนไหวในทางที่ผิด แล้วก็เป็นอันตรายต่อตัวเอง พ่อแม่ กับอะไรต่างๆ”

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1446200374)

ขอยืมคำ อธึกกิต แสวงสุข มาขยายความหน่อย “จากที่ใช้อำนาจห้ามเคลื่อนไหว จากที่ใช้ ม.๔๔ จับ ๑๔ นักศึกษา คสช. กำลังพลิกบทไปทำ ‘การตลาด’ กับสังคมที่ถูกปิดหูปิดตา

อ้างตนเป็นคนดีคนซื่อ มาปฏิรูปเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นทุกคนต้องไม่ต่อต้าน บอกอาจารย์ นักศึกษา ให้รอก่อน เอาไว้เป็นประชาธิปไตยแล้วค่อยคัดค้าน อย่าเคลื่อนไหวในทางที่ผิด”

จนทำให้ 'เครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย' ต้องออกแถลงการณ์ว่า 'มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร' นะเอ็ง

“จากการที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น...

เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยชี้การที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพไม่สามารถข่มขู่ด้วยการใช้อำนาจ”

คณาจารย์ระบุว่า “ประการแรก ‘เสรีภาพ’ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้...

จึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม...

ประการที่สอง...การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะโดยอำนาจจากปากกระบอกปืนหรืออำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้เกิดความสงบราบคาบขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง”

(http://www.prachatai.com/journal/2015/10/62202)




ถึงกระนั้นก็ดี มีความเห็นเพิ่มเติมจากหนึ่งในคณาจารย์ Anusorn Unno แนะว่า

“แทนที่จะเป็นนายทหารควบคุมกำลังพลที่มีความรู้ความเข้าใจประเด็นปัญหาจำกัดและไม่มีส่วนในการกำกับดูแลนโยบาย ควรเป็นคนในรัฐบาล เช่น รมว.ศึกษา หรือไม่ก็เป็นตัวนายกฯ เอง ที่เดินทางมาพบปะพูดคุยกับอาจารย์และนักศึกษาธรรมศาสตร์ เพื่อการพูดคุยจะได้แตะประเด็นปัญหาตรงจุด”

หากแต่ว่าบังเอิญเราไม่ได้ยึดมั่นว่านั่นคือประเด็นสำคัญ จุดใหญ่ใจความอยู่ที่คณะทหารเพียงต้องการให้ทุกอย่างสงบนิ่ง ราบคาบ

ให้ทุกคนรอจนกว่าคณะทหารเห็นว่าสภาพการณ์เหมาะเจาะพอที่จะเปิดให้มีการเลือกตั้ง ตามกฏระเบียบที่ทหารต้องการ อาทิ รัฐธรรมนูญ ‘เรือแป๊ะ’ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ต้องพับไปเพราะเสร็จไว ยังไม่น่วมพอ

และแม้แต่รัฐธรรมนูญไทยๆ แบบใหม่ state of the arts ที่ปรมาจารย์ด้านเนติบริกร มีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังพยายามจะร่าง ให้พรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ได้มีสมาชิกสภาแบบบัญชีรายชื่อจำนวนมาก (กว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้ง)

อันนี้ต้องขอยืมคำ Atukkit Sawangsuk อีกแหละ เพราะเขารวบรัดกระหวัดไว้เหมาะเหม็ง

“สูตรเอาคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เฉพาะ ส.ส. สอบตก เมื่อเอาไปคำนวณจากปี ๔๘ ปชป.ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มจาก ๒๖ เป็น ๓๗ คน

ไทยรักไทยได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดจาก ๖๗ เหลือ ๒๐ คน ชาติไทยเพิ่มจาก ๗ เป็น ๒๑ พรรคมหาชนของไอ้หนุ่มซินตึ๊งจาก ๐ เป็น ๑๙”

มิใยที่นายมีชัยจะอ้างว่า “ไม่ได้นึกว่าพรรคการเมืองใดใครจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ขึ้นอยู่ว่าแต่ละพรรคจะไปพัฒนาให้เกิดความนิยมได้อย่างไร เรายึดตัวประชาชนเป็นหลัก วิธีแบบนี้คำนวณง่ายมากไม่ยุ่งยาก ประชาชนเข้าใจเพราะลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว”

หากแต่ยังมีนักวิชาการเรื่องนี้ให้ข้อคิดกันหลง “หลักการที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งคือสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้มากที่สุด”

รองศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนความจำ




“มันเป็นระบบเลือกตั้งที่ลงโทษพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง กล่าวคือหากคนชนะพรรคก็จะไม่ได้คะแนน เพราะหากจะให้ได้คะแนนพรรค ผู้สมัครของพรรคจะต้องไม่ได้อันดับหนึ่ง

ฉะนั้นเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะเลือกพรรคและตัวบุคคลจึงถูกบิดเบือนให้สวนทางกันเอง...

ปัญหานี้นั้นสากลประเทศเขาจึงเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นวิธีแก้ปัญหา”

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1446185200)

แหม่ทำไงได้ล่ะอาจารย์ ธงของรัฐธรรมนูญชั่วคราวตะหานเขาต้องการอย่างนั้น ให้มันสวนทางกันเข้าไว้ รัฐธรรมนูญสากลแบบไทยๆ

นี่ไง พวกที่เขาไปจับกลุ่มรำลึกลุงนวมทองหน้ากองบัญชาการทัพบก ถึงเรียกร้องให้ ‘จัดระเบียบ’ กองทัพอันดับแรก

ถ้าประเทศจะต้องปกครองโดยทหารตลอดไปทั้งชาตินี้ ก็ควรที่ผู้ปกครองต้องรู้จักเดินในครรลองสากล

“กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม ‘รำลึกนวมทองชนกองทัพ’ เดินเท้าไปบก. ทบ. เรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ...

โดยตัวแทนกลุ่มกล่าวว่า จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในกองทัพ อย่ายัดเยียดหลักสูตรสงครามเย็นที่มองเห็นทุกคนเป็นศัตรู

กองทัพต้องอยู่ภายใต้การนำของพลเรือน ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศและควรจะนำกองทัพออกจากศูนย์กลาง โดยให้ไปอยู่บริเวณชายแดนประเทศ

รวมถึงการสร้างประชาธิปไตยในกองทัพ ที่ควรมีสวัสดิการ พลทหารต้องได้รับเกียรติเท่ากับนายพล กองทัพต้องทำให้ประชาชนปลอดจากความหวาดกลัว และขอให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว”

การนี้ “เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชนรายงานว่า กลุ่มผู้จัดกิจกรรมได้ปฏิบัติตามคำสั่งจำกัดพื้นที่และเวลาในการทำกิจกรรม ที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ภายในครึ่งชั่วโมง ตามอำนาจ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ขณะที่การจราจรโดยรอบยังคงเคลื่อนตัวได้ตามปกติ”

อ๊ะนี่ state of the arts ชนิดประหลาดอยู่นะทั่น ‘จำกัดพื้นที่’ พอเห็นได้ในทางสากล

แต่จำกัดเวลา ‘ภายในครึ่งชั่วโมง’ นั่นไม่ไทยแท้ (ตามสบาย) นะฮัพพี่ แค่รวมพล ตั้งขบวนก็เลยเวลาแล้วละเธอว์