วันจันทร์, พฤศจิกายน 30, 2558

ไมโครซ้อฟเจอเผือกร้อน องค์กรสิทธิฯ นานาชาติจี้เคยช่วยรัฐไทยจับนักเล่นหุ้นยัดคุก โยง ม.๑๑๒

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ สำนักงานใหญ่บริษัทไมโครซ้อฟในสหรัฐมีจดหมายตอบองค์การพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคลนานาชาติ (Privacy International) ซึ่งมีสำนักงานกลางอยู่ที่กรุงลอนดอน ต่อกรณีที่องค์กรสิทธิดังกล่าวพยายามขอความกระจ่างในคดีที่ทางการไทยลงโทษจำคุกพนักงานบริษัทหลักทรัพย์คนหนึ่งเป็นเวลา ๖ ปี ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ เหลือ ๔ ปี

เนื่องจากบริษัทไมโครซ้อฟประเทศไทยจัดส่งรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวทางอีเล็คโทรนิคของผู้ต้องหาให้แก่อัยการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการปรักปรำและพิพากษาความผิดผู้ต้องหาระหว่างการอุทธรณ์ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๗

จดหมายตอบของไมโครซ้อฟยอมรับว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ ศูนย์ความปลอดภัยอินเตอร์เน็ต ในสังกัดกระทรวงไอซีทีประเทศไทยได้เรียกร้องให้บริษัทไมโครซอฟประเทศไทยจัดส่งรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บัญชีฮ้อตเมลรายหนึ่ง อ้างว่ากระทำผิดโดยการเผยแพร่ข่าวสารอันทำให้ตลาดหุ้นไทยได้รับความเสียหาย

ไมโครซ้อฟตอบสนองด้วยการจัดส่งให้ตามนโยบายให้ความร่วมมือกับผู้รักษากฏหมายท้องที่ ทั้งในปี ๕๒ และ ๕๗ ซึ่งแจ้งวัตถุประสงค์และสาเหตุถูกต้องตามระเบียบที่ปรากฏ โดยที่เข้าข่าย “อย่างน้อยที่สุดรวมถึงรายละเอียดระดับสูงเกี่ยวกับธรรมชาติแท้จริงของความผิดนั้น”

แต่รายละเอียดที่ได้รับดังกล่าวจากคำร้องขอข้อมูลในประเทศไทยกลับชี้ว่า “ไม่เคยได้รับทราบล่วงหน้าเลยด้วยซ้ำว่าพัวพันกับการสอบสวนคดีความผิดตามกฏหมายปกป้องมิให้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์”

ทั้งนี้ องค์การพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคลได้พยายามขอความกระจ่างจากบริษัทไมโครซอฟประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๗ ไม่ได้รับการตอบสนอง จึงต้องติดต่อตรงถึงบริษัทแม่ในสหรัฐหลายต่อหลายครั้งจนกระทั่งเมื่อต้นเดือนนี้

รายงานของ Privacy International ระบุว่าเข้ามาทำการสอบสวนคดีดังกล่าวอย่างเอาจริง เริ่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ “โดยปกติเป็นที่เข้าใจกันว่าการร้องขอข้อมูลผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตโดยรัฐบาลท้องถิ่นมักจะเกี่ยวกับการสอบสวนคดีก่อการร้ายหรืออาชญากรรมข้ามชาติ

แต่ไมโครซ้อฟยื่นข้อมูลส่วนตัวอันมีความเสี่ยงสูงต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้ให้กับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในไทย โดยเข้าใจผิดว่าเป็นการช่วยเหลือสอบสวนเรื่องข้อมูลไม่ถูกต้องที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นจริงๆ แต่แล้วกลับกลายเป็นการดำเนินคดีต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

รายงานการสืบสวนของ Privacy International กล่าวว่า “คดีของนายคธา ปาจริยพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข่าวลือเกี่ยวกับพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทำให้หุ้นตกอย่างไม่เป็นท่า เผยให้เห็นวิธีการแอบแฝงของราชการลับไทย...

ทั้งกฏหมายที่ใช้และการสืบสวนสอบสวน ก่อให้เกิดการคุกคามต่อทั้งสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออก แม้นายคธาจะถูกตัดสินผิดด้วย พรบ. คอมพิวเตอร์ แต่ก็มีความกังวลกันว่า มีการใช้กฏหมายนี้เป็นตัวแทนด่านหน้าให้กับกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอันอื้อฉาว”

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://privacyinternational.org/node/674)

คดีดังกล่าวศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ตัดสินเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ ให้นายคธา ปาจริยพงษ์ พนักงานฝ่ายการตลาดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ตอนนั้นอายุ ๓๖ ปี มีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ จนเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ

จำเลยใช้ชื่อว่า ‘wet dream’ “ส่งเป็นจดหมายอีเล็คโทนิคส์ (e-mail) จนทำให้ประชาชนทั่วไปที่ทราบข้อความดังกล่าวเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ทรงโปรดแต่พวกเสื้อเหลือง และสมเด็จพระเทพฯ ก็เหมือนพระมหากษัตริย์ที่ทรงโปรดแต่พวกเสื้อเหลืองพันธมิตร และพระมหากษัตริย์ป่วยหนัก

และ “เจ้าหน้าที่ศูนย์กลางความปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ต เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบ IP Address พบความถี่จากการเก็บข้อมูลในฮาร์ดดิสต์คอมพิวเตอร์ของจำเลย ปรากฏว่ามีการกดเข้าเว็บไซต์กว่า ๒๙,๐๐๐ ครั้ง”


โดยเหตุที่จำเลยต่อสู้คดีในระหว่างอุทธรณ์เมื่อเดือนมีนาคม ๕๕ ว่า ระหว่างมีการโพสต์ข้อความตามฟ้อง ตนไปสัมมนาต่างจังหวัด ไม่มีคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ที่จะนำลงข้อความได้ แต่ศาลไม่รับฟังอ้างว่าจำเลยทำงานเกี่ยวกับการลงทุน โดยยึดหลักฐานปรักปรำสามชิ้น

คือ ๑. การสืบสวนโดยปกปิดของหน่วยข่าวกรองแห่งชาติและสภาความมั่นคงแห่งชาติ สามารถล้วงความลับเชื่อมโยงระหว่างที่อยู่อีเมล stamp816@hotmail.com กับชื่อบัญชีผู้ใช้ Wet Dream ได้ และ ๒. จดหมายรับรองจากธนาคารกรุงไทยยืนยันว่านายคธาเป็นเจ้าของอีเมล stamp816@hotmail.com จริง

ประการที่สามซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินความผิดผู้ต้องหาเป็นจดหมายจากไมโครซ้อฟประเทศไทย แจ้งรายละเอียดส่วนตัวทางอีเล็คโทรนิคของนายคธา ยืนยันว่าเป็นเจ้าของ IP address : stamp816@hotmail.com

อย่างไรก็ดี รายงานขององค์กรพิทักษ์สิทธิส่วนตัว ซึ่งมีนางอีวา บลูม-ดูแมนเตต์ เป็นผู้ทำการวิจัย ให้ข้อคิดว่า ไอพีแอ๊ดเดรสไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนโดยจำเพาะของบุคคลได้เสมอไป เพราะไม่ได้เจาะจงใช้กับคอมพิวเตอร์เครื่องใด และไอพีหนึ่งใดก็สามารถใช้กันได้หลายคน

ดังคดีของนายคธา เครื่องคอมพิวเตอร์ของเขาในสำนักงานไม่มีการจำกัดด้วย Password ใครก็ตามอาจที่จะไปใช้ได้ แต่ด้วยจดหมายยืนยันของไมโครซ้อฟว่าเขาเป็นเจ้าของไอพีและอีเมลแอดเดรสที่ถูกกล่าวหา ศาลไทยจึงใช้ข้ออ้างนี้สั่งขังคุกนายคธาดังกล่าว

นี่อาจถือเป็นความผิดพลาดของไมโครซ้อฟ ในความยำเกรงรัฐบาลเผด็จการท้องถิ่นมากเสียจนทำให้สิทธิของมนุษยชนธรรมดาถูกละเมิด นางอีวา บลูม-ดูแมนเตต์กล่าวถึงคดีคล้ายคลึงกันเมื่อสิบปีที่แล้ว เมื่อเว็บไซ้ท์ยาฮูยอมส่งมอบไอพีผู้ใช้คนหนึ่งให้แก่รัฐบาลจีน

ก่อนการประท้วงครั้งใหญ่ที่จตุรัสเทียนอันเหมินในจีน กลุ่มสมัชชาประชาธิปไตยเอเซียได้ส่งคำเตือนรายการคำสั่งเซ็นเซอร์ออกไปอย่างแพร่หลาย ยาฮูปฏิบัติตามการเรียกร้องของทางการส่งไอพีแอดเดรสของนายชี เต๋า นักหนังสือพิมพ์ในฮูนานให้ เป็นเครื่องมือในการจับกุมและดำเนินคดี ตัดสินจำคุกนายชี เต๋า ๑๐ ปี

คดีในครั้งนั้นเป็นที่วิพากษ์โจมตีอย่างแรงโดยชุมชนตะวันตกต่อยาฮู ซึ่งแก้ตัวว่ารู้เท่าไม่ถึงการ “นี่เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างสุดๆ อีกครั้ง สิบปีให้หลัง” นางอีวากล่าว

“ที่บรรษัทยักษ์ของสหรัฐอีกแห่งหนึ่งยอมจำนนอย่างมืดมนต์ต่อข้อเรียกร้องของผู้ปกครองที่กดขี่...เมื่อไหร่กันที่ การแพร่หลายข่าวสารไม่ถูกต้องมีความสมเหตุสมผลพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรม” นางอีวาตอบโต้ข้ออ้างของไมโครซ้อฟที่ว่าส่งข้อมูลให้ทางการไทยด้วยเหตุดังกล่าว

“เรายินดีที่บรรษัทข้ามชาติอย่างไมโครซ้อฟปฏิบัติตามกฏหมายท้องถิ่น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะใช้เป็นข้ออ้างหลีกเลี่ยงหลักการสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดี (ประเทศไทย) นี้ มันเกี่ยวโยงโดยตรงกับสิทธิในการแสดงออก”