ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2558) มีงานสัมมนาวิชาการประจำปีการศึกษา 2558 ในหัวข้อ "กฎหมายคืออะไร" ที่ห้อง LT 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน มีการให้ความรู้และมุมมองจากหลากหลายสาขา อาทิ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา โดยวิทยากรในงานประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ, สมภาร พรมทา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และดำเนินรายการโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ในทางนิติศาสตร์ตัวบทกฎหมายไม่ใช่เพียงคำสั่งของรัฐ แต่มีมิติที่มากกว่านั้น ทั้งในทางประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา ฯ ซึ่งนั่นคือโจทย์ของวงเสวนาในครั้งนี้ที่จะมาร่วมกันอธิบายว่ากฎหมายคืออะไรในมุมมองต่างๆ
มุมมองประวัติศาสตร์
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และนักด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง ระบุว่า กฎหมายในสังคมรัฐโบราณมักถือเอากฎที่อยู่เหนือกว่าผู้ปกครองมาใช้ในการปกครอง แต่ต่อมาหลักการนี้ถูกปฏิเสธโดยนักคิดกลุ่มปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่เชื่อว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐที่มีประโยชน์ต่อคนหมู่มาก
นิธิ อธิบายต่อว่า แต่บางสำนักอย่างสำนักตีความก็เชื่อว่า กฎหมายเป็นการอธิบายสังคม เพียงแต่การอธิบายนั้นๆจะต้องได้รับความยินยอมจากมวลชน
"แต่การที่คนพูดอะไรไม่ตรงหู(ของผู้มีอำนาจ)แล้วถูกเรียกไปปรับทัศนคติจะเรียกว่าเป็นกฎหมายหรือไม่เพราะหากจะถือว่าเป็นกฎหมายก็ต้องถือว่าสิ่งนี้เป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดในสังคมแล้ว" นิธิ กล่าว
นิธิ เสนอว่า คำสั่งของรัฐที่จะเป็นกฎหมายได้ต้องมี 4 ประการ อันได้แก่
1.ความยินยอมพร้อมใจของประชาชน ซึ่งหมายความรวมถึงกฎหมายต้องปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทสังคม
2.กระชับและชัดเจน ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องใช้วิจารณญาณส่วนตนให้น้อยที่สุด
3.ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องมีความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย
และ 4.ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม
"แต่ภายใต้ระบอบที่คำสั่งไม่ได้เป็นไปตาม 4 ข้อที่ว่ามา เราจะอยู่กันอย่างไร เราอาจหวังให้มันเป็นเรื่องชั่วคราว วันหนึ่งมันจะหมดไป แต่ผมเสนอว่า หากมีโอกาสเราต้องปฏิรูปกฎหมาย ในแง่ที่ว่าต้องปฏิรูปทั้งศาล อัยการ ตำรวจ เรือนจำ เพราะปัญหาของกฎหมายไทยมันแยะมาก" นิธิ กล่าวทิ้งท้าย
มุมมองรัฐศาสตร์
เกษียร ระบุว่า สำหรับการใช้กำลังบังคับของรัฐสมัยย่อมใช้กฎหมายเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรม และใช้ความยินยอมของประชาชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
เกษียร อธิบายถึงฐานความชอบธรรมของกฎหมายว่าประกอบด้วยหลักปัจเจกบุคคล และความสมเหตุสมผลของกฎหมายในการปกครอง ซึ่งมองว่าหัวใจหลักของการมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรคือการกำกับ กำจัด ควบคุมอำนาจของผู้ทรงอาญาสิทธิ์ในรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
"แต่ในสังคมไทยการใช้กฎหมาย แทนที่จะใช้เพื่อกำกับอำนาจของรัฐเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ แต่กลับใช้เพื่อเสริมอำนาจรัฐ และลิดรอนสิทธิเสรีภาพ" เกษียร กล่าว
เกษียร กล่าวเพิ่มเติมว่า หัวใจของหลักนิติธรรมคือรัฐบาลต้องมีอำนาจจำกัด หรือพูดอีกอย่างว่าต้องไม่ก้าวล้ำเข้าสู่เส้นของสิทธิเสรีภาพพลเมือง
มุมมองปรัชญา
"ข้อดีของปรัชญาคือการอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ แต่เราจะมีหนทางทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร และยังตั้งคำถามด้วยว่าเราจำต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของมันหรือไม่"สมภาร กล่าว
สมภาร ยกตัวอย่างกฎหมายโดยอิงแนวคิดของสำนักปฏิฐานนิยมว่า การอยู่ในสังคมที่มีกฎหมายกำกับ แม้ว่าเราจะไม่ชื่นชอบกฎหมายนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องอย่าลืมว่า คำสั่งหรือกฎหมายนั้นๆมีอยู่จริง และใช้ได้จริง ซึ่งเราจำต้องยอมรับเพราะมันเป็นของจริงและมีผลจริงต่อชีวิตของเรา
มุมมองนิติศาสตร์
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวติดตลกว่า หากถามว่ากฎหมายคืออะไรก็ขอให้ลองฝ่าฝืนดู แต่เอาเข้าจริงมองว่าคำอธิบายเรื่องกฎหมายคืออะไรยากกว่านั้น เพราะคำถามว่ากฎหมายคืออะไรนั้นถูกตั้งขึ้นกว่า 200 ปีมาแล้วโดยนักปรัชญาชาวเยอรมัน อิมมานูเอล คานท์ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบที่เป็นอันยุติ
"แต่มองว่าในรัฐสมัยใหม่กฎหมายมีภารกิจมาก ทั้งเพื่อสร้างสันติ ส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ แต่คำถามคือกฎหมายที่ขัดแย้งกับศีลธรรม หรือกฎหมายที่อยุติธรรมจะถือว่าเป็นกฎหมายหรือไม่" วรเจตน์ กล่าว
วรเจตน์ อธิบายต่อถึงกฎหมายในมุมของสำนักคิดกฎหมายบ้านเมือง และสำนักกฎหมายธรรมชาติที่มีความแตกต่างทางความคิดในบางประเด็น เพราะสำนักแรกมองกฎหมายในมุมมองของโลกแบบปรากฏการณ์ แต่สำนักหลังมองโลกในมุมมองทางคุณค่า จนในยุคหลังได้มีนักคิดที่พยายามผนวกรวมเอาสองสำนักนี้มารวมเข้ากันเพื่ออธิบายว่ากฎหมายคืออะไร
"แต่ปัญหาของกฎหมายไทยคือการขัดกันของหลักการผู้มีอำนาจมักเขียนกฎหมายที่ให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้นซึ่งขัดกับหลักสามัญสำนึกเพราะเป็นการทำให้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตชอบด้วยกฎหมาย เลยเสนอว่าต่อไปถ้าจะเอาให้มากกว่านั้น ก็ควรจะเพิ่มต่อไปเลยว่า การกระทำในอนาคตใดๆ(ของผู้มีอำนาจ) ย่อมชอบด้วยกฎหมายทั้งภพนี้และภพหน้า" วรเจตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ooo
https://www.youtube.com/watch?v=GpGtI8VH260
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : องค์ประกอบสำคัญ 5 ประการของกฎหมาย
matichon tv
https://www.youtube.com/watch?v=43zuQONSKaU
เกษียร เตชะพีระ : กฎหมายคืออะไร ในยุค คสช. ???
matichon tv
https://www.youtube.com/watch?v=tUHPJ0VHAIg
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : อย่าเชื่อนักกฎหมายมากนัก !!!
matichon tv
Published on Nov 22, 2015
Official Matichon TV 22 พ.ย. 2558 การเสวนาทางวิชาการ เรื่องกฏหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์และปรัชญา จัดโดยโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฏหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ห้องจี๊ดเศรษฐบุตร(LT.1)มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ ศ.ดร.สมภาร พรมทา โดยมี ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีผู้ให้ความสนใจทั้งนักศึกษาและประชาชน เข้าร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้แน่นห้อง เมื่อ22.พ.ย.58