วันจันทร์, พฤศจิกายน 30, 2558

เทศกาล ลอยแพ... ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน ไม่เอาตัวรอด (อิอิ)




Credit FB
พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล

ooo



ลอยแพ โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร



ที่มา มติชนออนไลน์

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12/มติชนรายวัน 29 พ.ย.2558

เทศกาล "ลอยกระทง" ผ่านไป

เทศกาล "ลอยแพ" จะตามมาหรือไม่

น่าระทึกใจอย่างยิ่ง

ด้วยโครงการ "ปั่นเพื่อแม่" และโครงการราชภักดิ์ อยู่ในสภาวะบานปลายอย่างยิ่ง

เป็นภาวะบานปลาย ที่ลึกเข้าไปถึง"ข้อเท็จจริง" สำคัญมากขึ้นทุกที

ข้อมูลของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ระบุว่าโครงการราชภักดิ์มิใช่เรื่องเงินบริจาคของประชาชนเท่านั้น

หากแต่เกี่ยวพันกับงบประมาณของรัฐบาลด้วย

ในเบื้องต้นก็คืองบกลาง 63 ล้าน ถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่เปิดประตูให้ สตง.ต้องเข้าไปตรวจสอบตามหน้าที่

และพลอยทำให้ ป.ป.ช., ปปท. แม้กระทั่ง ศอตช.-ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เคยละล้าละลัง อยู่เฉยไม่ได้ ต้องขยับเข้ามามีบทบาท

มิเช่นนั้นอาจจะถูกมองไปในทางไม่ดี

ประกอบกับการที่ พ.อ.คชาชาต บุญดี และ พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ ตกเป็นผู้ต้องหาอย่างเป็นทางการ ในคดีแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์ ก็ยิ่งทำให้เรื่องเขม็งเกลียวขึ้น

แม้ทั้ง 2 คนจะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย

และยังไม่สามารถเชื่อมโยงถึงโครงการราชภักดิ์ได้

แต่ก็ทิ้ง "อะไรๆ" ให้สังคมได้คิดและติดตามเรื่องได้ชัดเจนขึ้น

อย่าง พ.อ.คชาชาต ที่ปัจจุบันถูกถอดยศเป็นนายคชาชาตแล้ว ยังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) อายัดเงินเอาไว้ถึง 40 ล้านบาทนั้น

เงิน 40 ล้านบาทที่พบในเบื้องต้น น่าจะเป็นเบาะแสสำคัญ

เพราะสำหรับนายทหารยศพันเอก และมิได้ปรากฏการทำธุรกิจอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ยากยิ่งที่จะมีทรัพย์สินได้มากมายขณะนี้

ส่อถึงภาวะ "ร่ำรวยผิดปกติ"

เป็นความผิดปกติ ที่หน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตน่าจะเคลียร์ให้ชัดเจน

จะเกี่ยวข้องแค่โครงการ "ปั่นเพื่อแม่" เท่านั้น หรือจะโยงถึงโครงการราชภักดิ์ ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการหรือไม่

นี่เป็นปริศนา ที่สังคมสงสัยและอยากให้มีคำตอบ

เช่นเดียวกับ พล.ต.สุชาติ ที่อึมครึมมาโดยตลอด หลังจากตกเป็นผู้ต้องหาชัดเจน คงจะเริ่มปรากฏข้อมูลและหลักฐานออกมาให้ทราบ

ป.ป.ง.คงต้องเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินอย่างที่ตรวจสอบนายคชาชาต ซึ่งนั่นอาจจะได้อะไรดีๆ อีก

ต้องไม่ลืมว่า อดีตนายทหารทั้งสองอยู่ในศูนย์กลางของอำนาจ ทั้งในกองทัพ ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และในรัฐบาลมาโดยตลอด

ซึ่งก็มีคำถามว่า พฤติกรรมอันไม่ชอบทั้งหลาย จำกัดไว้เฉพาะตัวเท่านั้นหรือไม่

หรือจะพาดพิงถึงบุคคลอื่นด้วย

และบุคคลอื่นนี้กระมัง ที่ทำให้เรื่องนี้บานทะโรค ไปสู่ประเด็นการเมืองอันแหลมคม

นั่นคือท่าทีของพรรคเพื่อไทย และคนประชาธิปัตย์ จี้ให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ในฐานะ "นาย" และผู้ดำเนินการโครงการราชภักดิ์ลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งอื้อฉาวที่เกิดขึ้น

ธงจริยธรรมถูกย้อนเกล็ด ชูเหนือความผิดตามกฎหมายแล้ว

แถมยังเริ่มมีประเด็นพาดพิงไปถึงคนที่สูงกว่าอีกด้วย

หากไม่เร่งดับไฟที่เริ่มลาม อาจจะวุ่นไปกว่านี้อีก

แม้ตอนนี้จะมีเสียงเข้มๆ จากทำเนียบในทำนองแข็งขืน ไม่เห็นพ้อง

แต่กรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เป็นตัวอย่างของการ "ต้องเสียสละ" มาแล้ว

ดังนั้น ในกรณีนี้จึงอาจจะมี "กระทงลายพราง" โผล่ออกมานอกเทศกาล เพื่อลอยใครบางคนไป ในนามแห่ง "การรับผิดชอบ"

เพื่อช่วยลดน้ำหนักแห่งความอื้อฉาวลง

ถึงได้บอก แม้เทศกาลลอยกระทงผ่านไปแล้ว

แต่เทศกาลลอยแพ อาจกำลังจะมาอย่างน่าระทึกใจยิ่ง