วันพุธ, พฤศจิกายน 11, 2558

มาดูความคิดพี่น้องเสื้อแดง ...เฉพาะที่พูดได้




อัพเดทสถานการณ์ 2558 ‘เสื้อแดง’ อีสาน-เหนือ คิดอย่างไรใต้เงาทหาร

ทีมข่าวการเมือง
ประชาไท
Tue, 2015-11-10

คำว่า “คนเสื้อแดง” นั้นกินความหลากหลาย ทั้งมวลชนสายพรรคเพื่อไทย สาย นปช. กลุ่มแดงอิสระกลุ่มต่างๆ สายนักกิจกรรมปัญญาชน และอีกจำนวนมากที่ระบุ “ไม่ใช่แดง” แต่มีแนวคิดพื้นฐานบางอย่างเหมือนกัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังหลักของเสื้อแดงนั้นอยู่นอกกรุงเทพฯ หลังการรัฐประหาร 2557 สถานการณ์ของคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดเป็นอย่างไร มวลชนคิดอะไร ถอดบทเรียนอย่างไร บางทีความเข้าใจเก่าๆ ก็น่าจะได้รับการอัพเดทอีกครั้ง ‘ประชาไท’ จึงพาไปสุ่มสำรวจหลายกลุ่มในจังหวัดมหาสารคาม อุบลราชธานี และเชียงใหม่

เราคุยกับแกนนำในพื้นที่หลายคนที่มีพื้นเพแตกต่างกันไป และส่วนใหญ่ล้วนเพิ่ง “ถือกำเนิดทางการเมือง” อันหมายถึงการสนใจและเข้าร่วมเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในช่วงปี 2552-2553 นี่เอง ก่อนหน้านั้นในการเลือกตั้งหลายคนยังเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรคไทยรักไทย หลังรัฐประหาร 2549 หลายคนก็ไม่ได้เคลื่อนไหวต้านรัฐประหารทันที แต่อยู่ในภาวะ “ดูสถานการณ์ ฟังความข้างต่างๆ ก่อน” บางคนออกมาต้านรัฐประหารทันทีแต่รวมกลุ่มคนได้แค่ 20 คนไปแจกใบปลิว ไล่ไปจนถึงแกนนำที่เป็น ‘ซ้ายเก่า’ และได้รับความนับถือในพื้นที่ เคลื่อนไหวบนแนวคิด “ทุนใหม่น่ากลัวน้อยกว่าทุนเก่า” บางคนยินดีเปิดเผยชื่อ ขณะที่บางคนขอสงวนนามไว้เพราะไม่แน่ใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ที่น่าสนใจอีกประการคือ แต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปและปฏิบัติการที่ผ่านมาทั้งเหมือนและแตกต่างกัน โดยที่เราอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน คงไม่อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นภาพแทนขบวนทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆ ที่เด่นชัด

1.

ความเข้มข้นในการควบคุมพื้นที่ต่างจังหวัดหลังรัฐประหาร

หลังรัฐประหาร 2557 แกนนำเหล่านี้อยู่ในความควบคุมของทหารในพื้นที่อย่างใกล้ชิด บางคนเคยโดนเรียกไปปรับทัศนคติเพียงครั้งเดียว หลายคนอยู่ในค่ายสองสามวัน บ้างอยู่ครบเจ็ดวัน บางคนถูกเรียกเป็นระยะๆ หากโผล่ไปในงานไหนเป็นต้องโดนเรียกแม้ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม สำหรับแกนนำที่มีมวลชนมากอย่างในอุบลราชธานี มีอยู่ 4-5 คนที่ยังต้องไปรายงานตัวกับทหาร “ทุกวันจันทร์” จวบจนปัจจุบันนี้ ไม่นับรวมบรรดานักกิจกรรมในลิสต์ปรับทัศนคติที่ต้องแจ้งทหารก่อนจัดเสวนาใดๆ รวมถึงต้องขออนุญาตก่อนเดินทางออกนอกประเทศและรายงานตัวทุกครั้งหลังจากกลับมา โดยด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินได้รับคำสั่งให้ตรวจหนังสือเดินทางโดยละเอียดและถ่ายเอกสารไว้ทุกหน้าว่าเดินทางไปที่ใดบ้าง เป็นไปตามที่ขออนุญาตหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในทางความสัมพันธ์ส่วนตัวนั้นไม่มีใครที่ระบุว่า ทหารพูดจาขุ่มขู่ คุกคามหรือทำร้าย

“มันก็ไม่เชิงคุกคาม เขาก็พูดดี แต่นัยยะที่เขาแสดงออกแม้จะใช้คำพูดดีๆ เราก็ตีความหมายได้ว่าเขาต้องการให้หยุดทุกอย่าง” พิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือที่คนมักเรียกว่า “อาจารย์ต้อย” แห่งกลุ่มชักธงรบยกตัวอย่าง

หากย้อนไปช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ เราพบว่าแกนนำจำนวนมากหลบออกจากพื้นที่หรือพยายามหลบซ่อนตัวเนื่องจากเกรงจะไม่ปลอดภัย ทั้งในอุบลราชธานีและเชียงใหม่ปรากฏรูปแบบของปฏิบัติการ “จับตัวประกัน” นั่นคือ เมื่อไม่เจอเป้าหมาย เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวคนในครอบครัวไปไว้ที่ค่ายทหารแทน ทำให้บุคคลเป้าหมายต้องยอมมารายงานตัว

“วันรัฐประหารทหารก็ไปตามบ้านแกนนำทั้งหมด บ้านผมด้วย ผมไม่เข้าบ้าน บอกที่บ้านให้บอกเขาว่ากลางคืนจะไม่ไปด้วย เขาก็เฝ้าจนถึงเที่ยงคืนแล้วสุดท้ายก็เอาลูกเขยไป ผมก็ต้องไปเปลี่ยนตัววันรุ่งขึ้น” แกนนำคนหนึ่งที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่เล่า

“ตอนปี 49 ก็โดนนะ หลังปฏิวัติหลายเดือนแล้ว ตอนนั้นเรามีการประชุมกัน เขาหาว่าเป็นคลื่นใต้น้ำ ก็เลยเอาแกนนำในพื้นที่ไป 6-7 คนไปคุมตัว 7 วัน ดูจริงจังกว่านี้มาก แต่พอมาคราวนี้เขาคุยธรรมดา เป็นการสอบสวนแบบถามไถ่ เขาก็ให้อาหารดีอยู่บอกไม่ให้เคลื่อนไหวอะไร กักตัวไว้ประมาณ 7 วัน” แกนนำฝางเล่า

แกนนำอีกคนในภาคอีสานระบุว่า แกนนำในทุกอำเภอถูกเรียกอย่างครบถ้วนให้ไปรายงานตัวและปรับทัศนคติที่ศาลากลางจังหวัด

“ไม่รู้เขารู้ได้ยังไง เรียกไปหมดเลย อย่างน้อยอำเภอละคน” แกนนำคนดังกล่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวซึ่งเป็นข้าราชการมหาดไทยคนหนึ่งในจังหวัดภาคกลางให้ข้อมูลว่า ทางจังหวัดต้องส่งรายชื่อของแกนนำคนเสื้อแดงทั้งหมดในจังหวัดให้ทหารด้วยหลังมีการยึดอำนาจ

2.

รู้จักที่มาและจุดยืนของกลุ่มย่อยในหลายจังหวัด


มหาสารคาม - เวลาคือบททดสอบ แกนนำรุ่นสองรุ่นสาม

ไข่เขย จันทร์เปล่ง แกนนำคนหนึ่งในมหาสารคามเล่าว่า พวกเขาเป็นแกนนำรุ่นหลังการสลายการชุมนุมในปี 2553 ซึ่งภายหลังความพ่ายแพ้ยับเยินครั้งนั้นก็เกิดกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยขึ้นมากมายในแต่ละจังหวัดภาคอีสาน บ้างแตกมาจากกลุ่มใหญ่กลุ่มเดิม บ้างก่อกำเนิดขึ้นใหม่ด้วยความเฉพาะตัว แกนนำรุ่นแรกๆ ในหลายพื้นที่หลายคนถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในเรื่องผลประโยชน์ กลุ่มย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นบางส่วนไปในแนวทาง นปช. บางส่วนชูประเด็น “รักทักษิณ” แต่เขาและอีกหลายกลุ่มมีความรู้สึก “เป็นเอกเทศ” และกล้าวิพากษ์วิจารณ์ นปช.และพรรคเพื่อไทย

ข้อต่อ ท้องที่-ท้องถิ่น-นักการเมือง และชาวบ้าน

ไข่เขยทำงานร่วมกับเยาว์ แกนนำอีกคนหนึ่งในกลุ่มเล่าว่า ปี 2553 ที่ นปช.ชุมนุมกันนั้นยังไม่รู้จักกัน ต่างคนต่างนั่งมอเตอร์ไซค์ไปฟังปราศรัยที่เวทีศาลากลางจังหวัด หลังจากนั้นไข่เขยถูกจับพร้อมพวกในข้อหาเผาที่ว่าการอำเภอเมือง ซึ่งความเสียหายเกิดขึ้นกับต้นมะขามในที่ว่าการอำเภอ มีการเผายางที่ฟุตบาทและเผาตู้โทรศัพท์ ท้ายที่สุดหลังเขาติดคุกนาน 8 เดือนศาลก็ยกฟ้อง

ไข่เขย เป็นผู้นำที่มีลักษณะโผงผางตรงไปตรงมา เขามีพื้นเพทำงานมวลชนมายาวนาน เป็นผู้นำนอกระบบราชการที่คอยช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้วและคอยช่วยเหลือนักการเมืองในพื้นที่ด้วย เขาจำกัดความที่อยู่ที่ยืนของตัวเองว่าเป็นตัวต่อระหว่างท้องที่ ท้องถิ่น กับชาวบ้าน เขายืนยันว่าจะไม่เป็นนักการเมืองให้คนด่าโคตรเหง้าตระกูล แต่สำหรับ “การหากิน” กับนักการเมืองนั้นเขาไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน หากใครที่หักหลังพรรคที่ประชาชนเลือก เขาบอกว่าพร้อมลาขาด เช่นเดียวกับผู้สมัครที่เคยทำงานร่วมกันแล้วย้ายไปพรรคภูมิใจไทย





ชูทักษิณเป็น “สัญลักษณ์ตาสว่าง”

“เราไมได้ทำเพื่อพรรค เพื่อทักษิณ เราทำเพื่อมวลชน เพื่อลูกหลาน เราเสียสิทธิเสรีภาพ เราเสียระบอบประชาธิปไตย ถามดูว่าใน 80 ปี เราได้แค่ 7 ปี ผมบอกเลยว่าผมไม่ได้สู้เพื่อคุณ แต่ผมสู้เพื่อหลานคุณโน่น อาจไม่ทันลูกคุณด้วยซ้ำ” ไข่เขยกล่าว

เมื่อถามถึงประเด็นทักษิณ เขาตอบว่า “ผมไม่ผิดหวังทักษิณนะ ไม่มีข้อให้ผิดหวัง ผมไม่ได้งมงายทักษิณด้วย ประชาชนในอีสานเขาชอบทักษิณแต่ไม่ได้งมงาย ไม่ได้ช่วยทักษิณด้วย แต่ที่ยินดีช่วยเพราะว่าเขา [ทักษิณ] เป็นที่พึ่งประชาชนได้ ประชาชนก็คิดว่าพึ่งเขาได้” ไข่เขยกล่าวพร้อมยกตัวอย่างรูปธรรมโดยละเอียดของนโยบายพรรคไทยรักไทยหลายอย่าง

“เขาเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นตาสว่าง ถ้าไม่มีทักษิณก็ไม่ได้มีวันนี้ ประชาชนก็ไม่ได้ลืมตาอ้าปาก ในความคิดแม่ แม่ว่าเขายังลงมาไม่เต็มที่นะ ยังห่วงธุรกิจเขา ยังห่วงผลประโยชน์เขา สมมติว่าเขาไม่ห่วงอะไร จะเล่นกันให้สุดๆ จริงๆ ก็ควรเซ็นยอมรับศาลไอซีซี (ศาลอาญาระหว่างประเทศ) อย่างนั้นก็คงไม่ต้องยืดเยื้อมาจนตอนนี้” เยาว์กล่าว

หนุนไพรมารี่โหวต พรรคเพื่อไทยอย่าข่มขืนใจประชาชนนัก

สิ่งเดียวที่กลุ่มนี้วิจารณ์ตัวพรรคเพื่อไทยเห็นจะเป็นประเด็นการเลือก ส.ส.ไม่ตรงใจชาวบ้าน พวกเขาสนับสนุนเพื่อไทยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่กับตัวผู้สมัครนั้นคนละเรื่อง เขาคิดว่าพรรคควรมีระบบสอบถามจากชาวบ้านก่อนส่งใครลงสมัคร แต่เรื่องนี้แม้ชาวบ้านเห็นด้วยมาก แต่ก็ไม่มีใครผลักดันจริงจัง

“ที่ภาคอื่นไม่รับประกัน แต่ที่อีสาน กล้าเลือกตั้งไหม เพื่อไทยเอาหมามาก็รับรองว่าได้ แต่ ส.ส.คนเก่าอย่ามา...เราอยากจะบอกพรรคเพื่อไทยว่าอย่าขืนใจประชาชนมากนัก เขาไม่ชอบ น่าจะมาถามเราบ้างว่าจะเอาใคร” ไข่เขยกล่าว

“คือเราก็ต้องเลือกเขานั่นแหละ ไม่รู้จะเลือกใคร เลือกทั้งน้ำตา เลือกเพราะพรรคแท้ๆ” เยาว์กล่าวและว่าหัวเด็ดตีนขาดเธอก็ไม่เลือกประชาธิปัตย์เนื่องจากเป็นพรรคเก่าแก่ที่เคยเป็นรัฐบาลหลายครั้งและพิสูจน์จนสิ้นสงสัยสำหรับเธอแล้วว่าไม่มีนโยบายที่จับต้องได้สำหรับรากหญ้า

เมื่อถามว่าทำไมจึงไม่ชอบ ส.ส.เพื่อไทยบางคน เยาว์กล่าวว่า ู“ประชาชนเข้าหายาก ไปกี่ทีเมียเขาก็บอกไม่อยู่ๆ นั่งอย่างกับนางพญา เห็นเราไม่มีความหมายเลย วันไหนมีคนตายเขาจัดงาน ไปขอน้ำแข็งก็รับแบบเสียไม่ได้”

“ผมเคยเป็นตัวแทน ส.ส.เพื่อไทยทั้ง 5 เขต มีใครตายพวงหรีดไปนี่ 500 ผมส่งตลอด ใส่ซอง 2,000 เราจะเอาที่ไหนสำรองจ่าย กว่าจะได้คืนอีก 3 เดือน ส.ส.ติดประชุมอยู่ที่ไหนไม่รู้ ผมนี่ออกเงินก่อนพรรคเพื่อไทย พูดอย่างนี้เลยดีกว่า พยายามเอาหน้าพรรคไว้ ให้ชาวบ้านเขาประทับใจ แล้วผมก็ไล่เก็บถ่านขายไปสิ ไม่อย่างนั้นไม่มีเงินใส่ซอง ตอนนี้ก็ยังทำ” ไข่เขยกล่าว

เมื่อถามถึงท่อน้ำเลี้ยงจากนักการเมือง ไข่เขยหัวเราะแล้วชี้ไปที่เตาเผาถ่านขนาดใหญ่ “นั่นแหละท่อน้ำเลี้ยง ท่อใหญ่ด้วย”

คำถามต่อ นปช.และ “สันติอหิงสา”

สำหรับ นปช.แล้วทั้งคู่วิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงทั้งยุทธศาสตร์และระบบโครงสร้างการนำ

“ผมไม่เห็นด้วยกับ นปช. พอกลุ่มสุเทพอ่อนแอปวกเปียก หรอมแหรมแล้ว แทนที่จะจัดการ ภาคอีสานเขาพร้อม ทุกภาคเขาพร้อม ก็จับไมค์พูดแต่อหิงสาอยู่นั่นแหละ คือเราก็ผิดหวังมาตั้งแต่ที่ราชมังฯ แล้ว แล้วมาลั่นกลองรบอยู่ที่อักษะ รบทำอะไร เพื่ออะไร หรือเพื่อเดินหุ้น” ไข่เขยกล่าว

“ถามว่ามันกร่อนไหม สู้แล้วก็เจอซ้ำแล้วซ้ำเล่า อะไรๆ ก็ อหิงสา อหิงสา เราทดสอบทดลองมาเท่าไหร่แล้ว มีแต่เราที่ตาย” ไข่เขยกล่าว



“ตอนอักษะ เราไม่เห็นด้วยหรอก เราประชุมกันแล้ว คิดว่าชุมนุมจังหวัดใครจังหวัดมันดีกว่า แต่พอ นปช.ไปจัดที่นั่น คนก็เห็นว่าอยู่ตรงนั้นไม่มีใครกล้าสลายหรอก ชาวบ้านดูในทีวีก็อยากจะไป เขาก็มาดันเราอีกที มวลชนดันหลังก็ต้องไป” เยาว์กล่าวและว่ามวลชนจำนวนมากก็ยังเชื่อแกนนำหลัก แต่คนที่เป็นระดับนำกลุ่มย่อยในพื้นนั้น “ไม่เท่าไหร่แล้ว” และเห็นว่า นปช.ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารเนื่องจากที่ผ่านมาแกนนำระดับตัดสินใจหรือกลไกจัดการนั้นมาจากภาคอีสานน้อยเกินไปทั้งที่มวลชนหลักเป็นชาวอีสาน

“แล้ว นปช.ก็มีตัวเหลื่อมตรงนี้ ตอนโดนยึดอำนาจ ตรวจสอบทรัพย์สิน มีข่าวออกมาแกนนำใครต่อใครมีเท่านั้นล้านเท่านี้ล้าน แต่แกนนำแต่ละจังหวัดมีแต่มาดูว่ากูหมดตัวเท่านี้แสนเท่านั้นแสน มันก็เปรียบเทียบ พวกเรานี่ บ้านบางคนขายไปแล้ว กิจการล่มสลาย ที่ดินก็รอมร่อจะไปอีก เอามาเคลื่อนไหวตลอดหลายปี” ไข่เขยเสริม

จะออกอีก ต้องเปลี่ยนแปลงจริงๆ เท่านั้น

แกนนำอีกคนหนึ่งในจังหวัดมหาสารคามทำงานความคิดเงียบๆ ในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเขาไม่เปิดเผยรายละเอียด เขามีลักษณะของความระแวดระวังสูงและมีความคิดที่ค่อนข้างคล้ายกับฝ่ายซ้ายเก่า ทั้งที่เขาเพิ่งมาสนใจการเมืองจริงจังไม่นานนัก หลังรัฐประหาร 2549 เขายังอยู่ในสภาพ “ฟังฝ่ายต่างๆ เพื่อประมวลสถานการณ์” แต่เมื่อประมวลผลได้และร่วมเคลื่อนไหวกับเสื้อแดง เขาก็เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่สมัยกบฏบวรเดช ปฏิวัติ 2475 เรื่อยมา รวมถึงประวัติศาสตร์การปฏิวัติประชาชนของประเทศต่างๆ

“เราไม่ได้ต้องการจำนวน แต่เราต้องการคุณภาพ แบบที่มีอุดมการณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ความคิดชัดเจน” เขาเล่าถึงแนวทางของกลุ่ม พร้อมระบุว่าจะไม่วิพากษ์แนวทางของมวลชนส่วนใหญ่ เพียงแต่หากจะมีการชุมนุมอะไรอีกกลุ่มเขาคงจะไม่ไป หากไม่แน่ใจว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ

“นปช.ก็มองแล้วว่าไปไม่ได้เพราะต่อสู้เพียงเพื่อปฏิรูป เพื่อเลือกตั้ง แล้วก็ไปอยู่ในกะลาครอบเหมือนเดิม ชาวบ้านบางส่วนก็มองอย่างนี้เลย เขาบอกว่าไม่เอาแล้ว เป้าหมายการสู้ต่ำไป แต่พูดอย่างนี้เขาหยุดไหม เลิกไหม ไม่เลย ผมบอกกับเขาตลอดว่าทุกคนต้องเป็นแกนนำหมด อย่าไปอาศัยคนอื่นนำ เราต้องการสู้ให้มันจบไปเลย จะสู้ทำไม สู้ให้เขาฆ่าทิ้งแล้วก็ไปใหม่ ผมมองและวิจารณ์มาตลอดแล้วก็โดนกล่าวหาว่าเป็นพวกไหน ก็ไม่ใช่ว่าเราไปรังเกียจ เขาก็ดีแบบเขา เพียงแต่เราไม่เห็นด้วยเพราะมันไม่ได้แก้ปัญหา” เขากล่าวเพียงเท่านั้น

“แบบที่เราคิดตอนนี้ยังเป็นไปไม่ได้หรอก แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงมันมีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ เพียงแต่เราต้องเตรียมพร้อม มันต้องจัดตั้งมวลชนระดับหมู่บ้านให้เข้มแข็ง” เขากล่าว

'ชักธงรบ' การรวมตัวขนาดใหญ่และความภูมิใจใน “อีสานบ้านเฮา”

กลุ่มชักธงรบในจังหวัดอุบราชธานี เป็นกลุ่มที่มีมวลชนจำนวนมากและมีภาพพจน์ที่ออกจะ “รุนแรง” นำโดยอาจารย์ต้อย อาจารย์ต้อยมีประสบการณ์ชีวิตที่ต่างออกไป เขาใช้ชีวิตในหลายประเทศ ทำธุรกิจจนร่ำรวยก่อนที่สุดท้ายจะละทิ้งทุกอย่างกลับมาดูแลแม่ เขามีลักษณะ “ภูมิภาคนิยม” สูงมาก โดยเห็นว่าคนอีสานเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่กลับถูกกดขี่เหยียดหยามมาโดยตลอดตั้งแต่อดีต เขาจึงต้องการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของอีสานซึ่งมีมาตั้งแต่ยุค “ขบวนการผู้มีบุญ” รวมถึงวัฒนธรรม ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ เขาบอกด้วยว่านี่เป็นครั้งแรกที่เขายอมให้สัมภาษณ์ด้วยภาษา “ไทยกรุงเทพ”



“มันอาจเป็นดีเอ็นเอในเรื่องการเมือง ถ้าย้อนหลังไปเมื่อ 111 ปีที่แล้ว ปู่ผมโดนฆ่าตาย กรมหลวงสรรพสิทธิ์ฆ่าตายที่อำเภอตระการพืชผล ตอนที่เรียกว่ากบฏผีบุญ” เขายืนยันและว่าช่วงร้อยปีมันแค่ชั่วสองอายุคนจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะส่งต่อเรื่องเหล่านี้

“ความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมนี่ เราเห็นมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย” เขากล่าว

จุดเริ่มต้นของเขามาจากการเป็นผู้จัดรายการวิทยุชุมชนรายการหนึ่งแล้วได้รับความนิยมอย่างสูง เขาไม่ได้เริ่มต้นกับรายการการเมืองแต่เป็นวาไรตี้ เรื่องราวในชีวิตประจำ และค่อยๆ ขยับมาเป็นเรื่องการเมืองอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน กระนั้น สิ่งที่เขาระมัดระวังมากคือ การไม่เข้าใกล้โซนของมาตรา 112

เมื่อความนิยมขึ้นสูง การระดมทรัพยากรใดๆ ย่อมเป็นไปได้ง่าย เงินบริจาคได้มาเกือบ 2 ล้านทำสถานีวิทยุได้ 2 สถานี ก่อตัวมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเขาระบุว่า “ตอนนั้นเสื้อแดงยังเป็นวุ้นอยู่เลย”

ปี 2553 กลุ่มนี้เข้าร่วมกับ นปช.เป็นจำนวนมาก หลังการสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ จังหวัดอุบลก็มีการเผาศาลากลาง เขาเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับและขังคุกที่อุบลนาน 15 เดือน ก่อนศาลยกฟ้องในที่สุด

“ตอนเผาศาลากลางจับไปเกือบ 20 คน สุดท้าย 11 คนยกฟ้อง ตอนนี้ 4 คนยังโดนอยู่ข้อหาเผาศาลากลางและก่อการร้าย จริงๆ ที่จับนั่นก็ไม่ใช่ คนเผาจริงๆ หาตัวไม่ได้ เพียงแต่พวกนี้ไปป้วนเปี้ยนอยู่ในที่เกิดเหตุ ทหารตำรวจ 800 คนคิดดูทำไมมีการเผาได้”

“ถามว่ามวลชนเขาเปลี่ยนไปไหม เปลี่ยนนะ เขาคิดหน้าคิดหลังมากขึ้น แบบผมเจอมาด้วยตัวเองเลย ผมติดคุก คนผมตาย คนผมบาดเจ็บ ทีมผมนี่หลังปี 53 โดนหมายจับเกือบ 500 คน ตำรวจหว่านแหไปทั่ว ตั้งคดีแรง บ้านแตกสาแหรกขาดไม่ใช่น้อยๆ หนีกระจัดกระจาย หนีไปบวช หนีไปต่างประเทศก็มี พอยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลเราบอกอันที่ไม่มีหลักฐานให้ถอนหมายจับให้ชาวบ้าน ก็ไม่ทำอะไร”



เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหว เขายืนยันว่าตัวเองเป็นแดงเอกเทศ และภาพพจน์ความรุนแรงที่ออกมานั้นเป็นเพราะถูกท้าทายก่อน

“หลายครั้ง นปช.มาชวนให้ร่วม แต่ความคิดเห็นผมมันค่อนข้างเป็นเอกเทศ ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นในคนอีสาน คนที่พูดอีสานแบบผม 22 ล้านคนใน 20 จังหวัด เราเป็นราชธานี ต้องมีความคิดเป็นของตัวเอง บางครั้ง นปช.ส่วนกลางคิดดีไหม ดี บางครั้งก็ใช้ไม่ได้ อุดมการณ์บางอย่างถ้าตรงกันเราก็ร่วม ถ้าไม่ตรงกันก็ไม่ร่วม เราไม่เข้าไปอยู่กับเขาเพราะถ้าเห็นไม่ตรงกัน สัมภาษณ์ไม่ตรงกัน มันก็จะไม่เข้าท่ากับขบวน”

“แนวทางของกลุ่มคือ ความตรงไปตรงมา ความเป็นธรรม กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย คุณว่าผมผิดเอาผมไปติดคุกได้ เราไม่เคยจะเอาแบบนอกกฎหมาย จะเดินขบวนทุกครั้งผมไปบอกตำรวจก่อน และจะมีคนของเราคอยดูแลการจราจรไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ถ้าจะแสดงออกรุนแรงบ้างกับบางกลุ่ม เช่น ไปเผาโลง เผาเรือ ก็เพราะว่าปากเขาไม่ดี”

“คนเขามองว่ากลุ่มเรารุนแรง จริงๆ ไม่ใช่ ผมแค่เป็นคนเด็ดขาด คนของผมนี่ถ้ามาร่วมแล้วดื่มเหล้า ผมตบเลยนะ แม้กระทั่งน้องชายผมเอง ถ้าไม่สุภาพกับคนอื่นผมไล่ออกจากขบวนทันที มันทำให้คนอื่นเสียทั้งหมด เราไม่รังแกใคร แต่ถ้าใครมาท้าทายไม่ได้เลย รอเลย แต่ถ้าเราไม่ถูก เรายอมรับ เราขอโทษ” อาจารย์ต้อยกล่าว

วิจารณ์ทักษิณท่ามกลางคนรักทักษิณ

“ผมรวมรถเป็นร้อยคันตอนปี 53 บริจาคข้าวนี่เต็มคันสิบล้อนะ อยู่สนามหลวงเป็นเดือนกันเลย ไม่เดือดร้อน อย่าลืมว่าคนเสื้อแดงมันจำนวนเยอะมาก คนห่วยก็มี คนดีก็เยอะ บางคนเป็นส.ส.ก็ยังยกตีนในสภา มันเหมาะสมไหม บางคนรวบรวมเสื้อแดงได้เยอะแล้วคำสองคำก็เรียกทักษิณว่า นาย เรียกว่า พ่อ ...มันทุเรศน่ะ”

เขาระบุว่า เขาไม่ได้ยึดทักษิณเป็นสรณะ แม้จะชอบนโยบายต่างๆ หลายอย่างของพรรคไทยรักไทย แต่ส่วนที่ไม่ถูกต้องตามที่ถูกกล่าวหาหลายเรื่องก็มีส่วนจริง เขายังให้ความเห็นด้วยว่าทักษิณเดินเกมผิด น่าจะกล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากต้องติดคุกก็ควรยอมเพื่อให้เห็นความไม่เป็นธรรมชัดเจน อย่างมากก็ติดไม่กี่เดือน โดยเฉพาะกับคดีเซ็นโอนที่ดินให้ภรรยาซึ่งเขาเห็นว่าเป็น “คดีขี้หมา”

เราถามว่าดีลกับชาวบ้านที่รักทักษิณได้อย่างไร ในเมื่อวิจารณ์แรง ?

“ชาวบ้านเขารักทักษิณจริงๆ ผมก็ไม่ใช่ไม่รักนะ แต่รักแล้วไม่ใช่เป็นขี้ข้า เรารักแล้วเป็นพันธมิตรกัน สิ่งไหนดีผมว่าดี สิ่งไหนไม่ถูกต้องก็ต้องบอก ต้องด่า คุณทักษิณก็ไม่ใช่เทวดา แล้วอย่างนี้ผมผิดอะไร” อาจารย์ต้อยกล่าว

พ่อค้าปลาหมึกย่างกับกลุ่มย่อยในอุบล

ในอุบลราชธานีนอกเหนือจากลุ่มชักธงรบ ยังมีกลุ่มรักทักษิณ กลุ่มเสรีชน ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 8 กลุ่มที่แยกออกมา ปรีดี พันทิวา หรือเปี๊ยก พ่อค้าขายอาหารและปลาหมึกย่างเป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มทำกลุ่มย่อยในแนวทางของเขา

“จริงๆ ต้องให้เครดิตกลุ่มชักธงรบ เขาเป็นกลุ่มแรกเลย แต่อาจารย์ต้อยแกเป็นคนตรง ทำจริงด้วย กลุ่มแกจะเรียกร้องมาตรฐานสูง คือ ถ้าคนคิดแบบนั้นทั้งจังหวัดมันยิ่งกว่าเพชร แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้แบบนั้น และอาจาย์ต้อยแกเป็นลักษณะหักเลย” เปี๊ยกวิเคราะห์กลุ่มเก่าแก่



เขาเป็นพ่อค้าขายอาหารที่ร่วมสนับสนุนเงินทุนกับกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอย่างคึกคักยิ่งในช่วงปี 53 รวมถึงร่วมจัดเวทีอยู่ในตัวจังหวัด ขึ้นปราศรัยในช่วงบ่ายแก่ก่อนกลับไปเปิดร้านขายอาหารตอนเย็น หลังสลายการชุมนุม แกนนำอุบลฯ ถูกจับกุมคุมขัง หลายคนไม่กล้าขยับอะไร ทำให้เขาเริ่มออกมาจัดตั้งกลุ่มและทำกิจกรรม เริ่มแรกตั้งชื่อกลุ่มว่า นปช.อุบล 54 มีเป้าหมายเพียงการรวมกลุ่มและส่งต่อข้อมูลข่าวสาร แต่หลังจาก นปช.ส่วนกลางวางโครงสร้างประธาน นปช.แต่ละจังหวัดอย่างเป็นทางการ เขาก็ต้องยกเลิกชื่อนี้ไปโดยปริยาย

“พอวางโครงสร้าง นปช.จังหวัด ผู้นำตามธรรมชาติไม่ค่อยได้รับการยอมรับ และไม่มีใครยอมเป็นลูกน้องใคร คนที่นปช.เลือกก็ไม่ได้รับการยอมรับ โดยหลักการน่ะดีแต่ในทางปฏิบัติปัญหาเยอะ” เปี๊ยกกล่าวและว่าเขาตั้งชมรมคนรักอุบลขึ้นมาแล้วเข้าร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ อปพช.ของแรมโบ้อีสานด้วย

“ตอนนั้นเรื่องนี้ดูเป็นแนวคิดที่โอเคและตอบโจทย์พี่น้องที่รักประชาธิปไตย เราต้องการรวมกลุ่มประชาชนที่ไม่ต้องการการปฏิวัติรัฐประหารอีกแล้ว ถ้าทหารประกาศ มันอาจมีกองกำลังหนึ่งที่ออกมาต่อต้าน วิธีการก็คือ การฝึกพี่น้องเรา อย่างน้อยต้องมีกำลังบ้าง แต่ไม่ใช่มีอาวุธ ใช้อาวุธทางปัญญาเสียมากกว่า ให้กลุ่มเราไปขยายความคิดให้เข้าใจประชาธิปไตยและสิทธิของตัวเอง”

เมื่อถามว่ามีการฝึกอาวุธกันจริงหรือไม่ เขาตอบว่า “มันอยู่ที่เราไปตีข่าว ในมุมมองตอนนั้นมันเป็นยุทธการเฉพาะหน้า ทำยังไงให้เขาเห็นว่าเรามีการเตรียมการ ให้ฝ่ายที่เขาคิดจะปฏิวัติต้องลังเล ตัดไม้ข่มนาม แต่จริงๆ เราก็ไม่ได้ทำ เรายังมานั่งเชิญคนไปบรรยายอยู่เลย” เปี๊ยกกล่าว

ฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ สามอำเภอแดงสายแข็งของเชียงใหม่

หากพูดถึงพื้นที่ “สีแดง” เข้มข้น เชียงใหม่ย่อมต้องเป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะใน 3 เขตอำเภอห่างไกล กลุ่มคนรักฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550-2551 แกนนำคนหนึ่งของที่นี่เป็นอดีตชาวนาที่เคยเข้าร่วมกับ พคท.ในอดีต ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มรวมตัวกันเพราะอยากไปร่วมชุมนุมกับ นปช.ที่กรุงเทพฯ และจัดผ้าป่าระดมทุนหาค่ารถพาผู้คนไปร่วม

“ที่เราระดมทุนไปกันเอง 5-6 ครั้ง เคยไปได้ถึง 9 คันรถบัส ในส่วนสถิติสูงสุดที่ไปคือ 20 คันรถบัสตอนปี 53 ตอนนั้นมีส.ส.เข้ามาช่วยบ้างแล้ว” แกนนำคนหนึ่งกล่าว

การระดมทรัพยากรผ่านการจัดผ้าป่า โต๊ะจีน คอนเสิร์ต ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านอย่างดียิ่ง และมีเงินเหลือทำสถานีวิทยุชุมชนที่ออกอากาศครอบคลุมทั้งสามอำเภอ โดยมีสโลแกนว่า “สถานีของประชาชนที่ใช้เงินของประชาชน” สถานีนี้ก็เหมือนที่อื่นๆ ที่หลังรัฐประหาร 2557 ทหารพยายามจะเข้ายึดเครื่องส่ง แต่สิ่งที่ต่างไปจากที่อื่นคือที่นี่รักษาเครื่องส่งไว้ได้ และปัจจุบันพวกเขาเปิดสถานีได้อีก แม้ในส่วนการเมืองจะเหลือแค่การอ่านข่าวเท่านั้น




“เย็นวันยึดอำนาจ ทหารเข้ามา 20 กว่าคนจะทุบกุญแจสถานีไปยึดเครื่องส่ง ชาวบ้านรู้ข่าวก็ไปกันเต็มเลย เกิดปะทะคารมกัน ผู้หญิงทั้งนั้น ขวางเลย ทหารถือปืน ป้าๆ นี่ก็ปัดปืนเลย เปิดนม เปิดผ้าถุงกันเลย พอดีมันค่ำเขาคงกลัวบานปลาย แล้วชาวบ้านก็แอบเข้าข้างหลังไปแกะเครื่องส่งเป็นชิ้นๆ เอากลับบ้านใครบ้านมันกันแล้ว สุดท้ายเขาเลยกลับ” แกนนำเล่าถึงวีรกรรมของชาวบ้าน
สีสันกิจกรรมในพื้นที่

“ตอนนี้ก็เป็นรายการอื่นๆ ขายของซะมาก ส่วนผมอาศัยอ่านข่าวการเมืองและข่าวประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมี “ค่าวฮ่ำ” มันเป็นคล้ายๆ กลอนพื้นบ้าน อันนี้ชาวบ้านชอบมาก บางทีก็แต่งมาแลกเปลี่ยนกับเราเรื่องการเลี้ยงหลาน” แกนนำคนหนึ่งกล่าว

น่าสนใจมากว่า “ค่าวฮ่ำ” ที่ว่ามีเนื้อหาทั้งเรื่องสุขภาพ สมุนไพร คำรำพันถึงความยากลำบากจากมุมชาวนา หรือแม้แต่อธิบายความแตกต่างระหว่างปฏิวัติกับรัฐประหาร






กิจกรรมของที่นี่ยังมีการออกสลากภายในกลุ่มเพื่อการระดมทุนด้วย แกนนำในพื้นที่ระบุว่าพวกเขาเป็นแกนนำกลุ่มรุ่นแรกที่ยังยืนหยัดอยู่ได้เพราะพยายามจัดระบบการเบิกจ่ายให้โปร่งใสและตั้งคณะกรรมการจากหลายส่วนมาดูแลการใช้จ่าย

“เราจัดออกล็อตเตอรี่ด้วยเพื่อสนับสนุนการเดินทางไปชุมนุมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีบัตรรำลึกวันสำคัญทางการเมือง แล้วใส่ 001 002 003 จำหน่ายบัตรละร้อย ขายได้หลายพันใบ เราออกรางวัลให้ด้วย ถ้าถูกจะได้ 5,000 บาทเพื่อเป็นน้ำใจ ทีนี้ก็ใช้วิธีไม่ออกอากาศตรงๆ ตำรวจว่ามันจะผิดกฎหมาย เราจับรางวัลข้างนอก แล้วประกาศว่า สำหรับผู้สนับสนุนเลขที่โชคดีคือเลขนี้ เป็นอันรู้กัน” แกนนำเล่าพร้อมหัวเราะ

ต่อมาทางกลุ่มเริ่มจัดตั้งเป็นคณะกรรมการอำเภอและตำบล ตำบลหนึ่งมีกรรมการประมาณ 15-16 คน ซึ่งขยายตัวเร็วมาก การจัดตั้งโครงสร้างดังกล่าวเพื่อให้มีการรวมมวลชนเป็นกลุ่มก้อน การกระจายข่าวเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวมถึงจัดช่วยเหลือกันในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นในช่วงน้ำท่วมใหญ่พวกเขาระดมสิ่งของบริจาคไปช่วยผู้ประสบภัยในภาคใต้ได้จำนวนมาก

สถานการณ์ใหม่ มวลชน-แกนนำ อยู่ในภาวะงง

เมื่อถามถึงสภาพการณ์ในพื้นที่ แกนนำอีกคนหนึ่งในกลุ่มระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ใหม่มากสำหรับพวกเขา และทำให้ยังจัดวางยุทธศาสตร์ไม่ถูก

“ระยะนี้มันเป็นระยะที่ถ้าพูดกันตรงๆ นะ มวลชนประชาชนก็กลัว ไม่รู้จะเอายังไง ที่เราโดนทุกวันนี้มันเป็นเรื่องใหม่ เราไม่ได้ตั้งตัวกัน ไม่ได้จัดอะไรกันไว้ ชาวบ้านก็งึมๆ งำๆ กันอยู่ทุกวันนี้ แกนนำจะเอายังไง แต่ละคนก็พูดคนละอย่าง ถ้าเขาเรียนรู้แล้วถ้าเข้าใจตัวนี้ มันคงปึ๊บเลย...แต่โดยหลักเลย มันก็พูดต่อๆ กันมาว่าเงียบไว้ก่อน”

“เรื่องแกนนำส่วนกลาง เราไม่ขัดแย้งกันเท่าไหร่ ไม่เห็นด้วยก็มี แต่มาคิดแล้วคนอื่นเอาด้วยเยอะ ก็ต้องว่ากันไปตามระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องไปทางนั้น ส่วนมากแกนนำทางเหนือจะคิดแบบนี้ จะไปขัดแย้งจริงจังไม่ค่อยมี” แกนนำคนหนึ่งกล่าว

ขณะที่แกนนำอีกคนแย้งว่าสำหรับเขานั้น เห็นว่า นปช.นั้น “ไม่มีก๊อกสอง” สำหรับการต้านรัฐประหาร และตัวเขาเองวิเคราะห์ว่ากลุ่มเสื้อแดงนั้นมีหลากหลาย บางกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์ต่อสู้กับรัฐก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงจริงจังและไม่ปฏิเสธความรุนแรง แต่เขาคิดว่าศักยภาพไม่มีและสถานการณ์ยังไม่ใช่

ดาบชิต – ภาพกว้างของ “เสื้อแดงเชียงใหม่”

ถัดจากพื้นที่ห่างไกลเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ ดาบชิต หรือพิชิต ตามูล เป็นแกนนำกลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่ ซึ่งประสานงานกับอีกหลายกลุ่มในหลายอำเภอ เขายืนยันว่าชาวบ้านยังคงเดิม แต่อึดอัดและสื่อสารไม่ได้

“เขายังเหมือนเดิม แต่อึดอัด ไม่สามารถสื่อสารได้ และสื่อที่เขาจะเสพก็ค่อนข้างเป็นมิติเดียว คุณป้าคุณลุงทั้งหลายมีเฟซบุ๊ก มีไลน์ของตัวเอง ก็เสพสื่อพวกนี้ ผมไม่ได้มองว่าคนเราขาดวุฒิภาวะ แต่ความน่าเชื่อถือของสื่อส่วนตัวมันยังไม่มีมาตรฐาน บางทีสื่อชาวบ้านที่ส่งต่อกันมันเป็นข่าวลือก็มาก และมันอันตรายสำหรับตัวเขา” ดาบชิตกล่าว

เมื่อถามถึงพัฒนาการของมวลชนเสื้อแดงในพื้นที่ เขากล่าวว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องยกเครดิตให้คนชื่อทักษิณ ชินวัตร เพราะชาวบ้านเริ่มต้นจากเรื่องนี้ก่อนที่จะค่อยๆ ต่อยอดสู่องค์ความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม

เขาเท้าความว่ามวลชนในเชียงใหม่ก่อร่างสร้างตัวเป็นเรื่องเป็นราวประมาณปี 2550 – 2551 โดยแรกเริ่มมาจากวิทยุ 92.5 ของ “ผอ.เพชรวรรต” ซึ่งพูดเรื่องการเมืองอย่างเผ็ดร้อน คนฟังเริ่มติดและต่อมาตั้งเป็นกลุ่มเชียงใหม่ 51 มีการเรียกระดมคนไปปกป้องนักการเมืองเพื่อไทยที่นั่นที่นี่ ถึงขั้นเคยมีการระดมคนไปสู้กับสถานีฝ่ายตรงข้ามที่ระดมคนเหมือนกันจนเกิดการสูญเสียของฝ่ายตรงข้าม

“มันเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกแบบนั้น ทุกสีเสื้อจะมีคนเหล่านี้อยู่ ปฏิเสธไม่ได้ เย็นๆ ค่ำๆ มาพวกขี้เมาก็มี มีมีดมีไม้แล้วก็ซ่ากันจะตาย เหมือนกันหมด” เขากล่าว

ในช่วงปี 2552 เริ่มมีการแตกตัวออกมาตั้งสถานีใหม่อีกหลายแห่ง เขาเองจากที่เคยเป็นหน่วยอิสระคัดค้านรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2549 ก็เริ่มมาเป็นเสื้อแดงเต็มตัว โดยร่วมกับสมาพันธ์ชาวเหนือจัดเวทีที่จังหวัด เนื่องจากมวลชนจำนวนไม่น้อยมีเสียงสะท้อนว่าเบื่อพฤติกรรมเกเรของกลุ่มเชียงใหม่ 51 เขาประสานหลายอำเภอเพื่อสร้างองค์กรที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ จนในการประชุมครั้งที่ 4 ทางนปช.ส่วนกลางส่งคนมาร่วมด้วยและขอให้ใส่ชื่อ “นปช.” ไปด้วย เขากล่าวพร้อมหัวเราะว่า นปช.กลางกับกลุ่มเชียงใหม่ 51 ไม่ถูกกัน ดังนั้นนปช.ก็เลยต้องเลือกกลุ่มเขา แม้ว่าจะคอนโทรลอะไรไม่ได้เหมือนกันก็ตาม

“ไม่ใช่ นปช.มาจัดตั้ง เราทำกันเองหมด เขาช่วยเรื่องส่งคนมาปราศรัย” ดาบชิตยืนยันและว่า “ตอนนั้นเรามีจินตนาการแล้วว่าจะไปรวมศูนย์เหมือนเชียงใหม่ 51 ไม่ได้ มันไม่โต เราต้องกระจายอำนาจ เลยสร้างองค์กรคล้ายๆ ราชการ มีระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ตอนนั้นยังใช้คำว่า “แกนนำ” ตอนหลังถึงเปลี่ยนเป็น “ผู้ประสาน” มันไม่ใช่ใครนำใคร”



หลังก่อร่างสร้างกลุ่มปี 2552 ปีถัดมา นปช.มีการจัดชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ กลุ่มของเขาจึงจัดผ้าป่าระดมทุน

“ตอนนั้นปัจจัยไม่มีจากส่วนกลาง ชาวบ้านเขาระดมของเขาเองแล้วได้สามสี่แสน ส่วนกลางเพิ่งมาบอกว่าจะช่วยค่าน้ำมันรถก็ตอนจะเริ่มเดินทางกันแล้ว ช่วยค่าน้ำมันรถอย่างเดียว ชาวบ้านเขาอยากจะไปตั้งแต่รู้ข่าวเขาเตรียมของเขาก่อนเลย” เขากล่าวและว่าในปี 2553 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของการทำงานร่วมกัน ในเชียงใหม่มี 26 อำเภอ มีกลุ่มเสื้อแดงอยู่ 30 กว่ากลุ่ม บางอำเภอมี 3 กลุ่ม

“เขาต่างกันที่วิธีคิด ไม่ใช่เรื่องการต่อสู้นะ แต่เป็นวิธีคิดในการบริหารเงิน (หัวเราะ) ชอบแตกกันเพราะเงินผ้าป่า” ดาบชิตกล่าว

เจ้าพ่อไพรมารี่โหวต

แม้ดาบชิตจะประสานงานกับเสื้อแดงหลายกลุ่ม แต่เขาดูไม่เป็นที่ชื่นชอบของนักการเมืองนัก โดยเฉพาะการจุดประเด็นเสนอให้พรรคเพื่อไทยทำ “ไพรมารี่โหวต”

“เราต้องยอมรับความจริงว่าคนเสื้อแดง 60-70% เป็นมวลชนเพื่อไทย มวลชนแดงเต็มที่ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยไม่อิงกับพรรคน่าจะไม่น่าเกิน 20% สำหรับในเชียงใหม่ ทั้งหมดนี้ผมจินตนาการเอาจากเท่าที่สัมผัส ไม่ได้มีงานวิจัยอะไรรองรับ ตัวแกนนำระดับอำเภอแทบจะทั้งหมดด้วยซ้ำที่เอาตามพรรคว่า มีไม่กี่คนที่ไม่ใช่แนวพรรค”

“ยกตัวอย่างตอนปี 54 ผมโดนถล่มหนัก เรื่องไพรมารี่โหวต ทุกคนรุมหมดเลย พรรคก็ไม่แฮปปี้ที่เรามาเล่นประเด็นนี้ จริงๆ แนวคิดนี้ไม่ได้มาจากผม คนพูดคนแรกๆ ก็คุณทักษิณนั่นแหละ ตอนนั้นปี 42 ยังเพิ่งก่อตั้งพรรคไทยรักไทยด้วยซ้ำ ผมมองว่า ปี 54 หลังผ่านการเลือกตั้งเรียบร้อย คนเสื้อแดงไม่มีราคาเลย คนเสื้อแดงที่มีมูลค่าหน่อยก็คือแกนนำหลักในกรุงเทพ 7-8 คน เลยคิดว่าต้องเพิ่มอำนาจให้ประชาชน”

“แนวคิดพื้นฐานก็คือ ทำไมต้องผูกขาดคนของพรรคเพื่อไทย เหมือนเราต่อสู้เรื่องความเท่าเทียม ความเป็นธรรม แล้วเรามาเจอระบบอำมาตย์ในพรรคเราเอง ถ้ามันเปลี่ยนได้ให้ยึดโยงกับชาวบ้านมันก็จะดี ในเรื่องบริหารก็ว่าไป แต่ส.ส.มันต้องเป็นคนที่ชาวบ้านเขาแฮปปี้ ตอนนั้นมีกระแสเยอะมากจากคนเสื้อแดง อีสานนี่ก็เอาด้วยมากเลย เขาอึดอัด”ดาบชิตกล่าว

เมื่อถามว่า มีแนวคิดหรือความเป็นไปได้ไหมที่จะขยายมวลชน 20% นั้น เขากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปได้โดยธรรมชาติ ตอนนี้เขาลงไปพื้นที่พบปะกับส่วนที่เป็นหัวคะแนนพรรค คนเหล่านั้นก็เริ่มหันมาสนใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโดยสันติ เรื่องสิทธิเสรีภาพ

“มันเป็นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ จริงๆ คนเสื้อแดงหรือนปช.มันน่าจะตายไปแล้วล่ะ รูปแบบการต่อสู้งวดต่อไปมันจะไม่ใช่แบบสองปีที่แล้ว มันจะพัฒนาไปในลักษณะของประชาชนจริงๆ ผมเชื่อมั่นในประชาชนนะ ปี 54-55 ผมก็ปราศรัยตลอดว่า คนเสื้อแดงอย่าไปรังเกียจคนเสื้อเหลือง อย่าไปรังเกียจพันธมิตร เพราะสักวันหนึ่งคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงมันต้องเดินร่วมกันในการเปลี่ยนแปลง ภาคการเมืองเขาก็อยู่ของเขาไป ...รูปแบบการต่อสู้งวดต่อไปถ้าสมมติจะเกิดขึ้น มันต้องบ้านใครบ้านมัน” ดาบชิตวิเคราะห์

3.

ประคับประคองบนยุทธศาสตร์ที่ไม่มีใครรู้

คำถามส่วนที่ตอบยากที่สุด หรือหาความชัดเจนจากคำตอบได้ยากที่สุด เห็นจะเป็นคำถามว่าแล้วกลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะทำอะไรในสถานการณ์นี้ หรือวางแผนการต่อสู้อย่างไรต่อไป แกนนำฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ กล่าวว่า ชาวเชียงใหม่รักใครแล้วรักมาก “ทักษิณ” ยังคงเป็นคนที่ชาวบ้าน “เอ็นดู” และคิดถึง ส่วนเรื่อง “ความก้าวหน้า” หรือการตื่นตัวทางการเมืองนั้นหายห่วง แต่ถามว่าจะทำอะไรต่อ ตอนนี้ได้แต่รอดูสถานการณ์

“ถ้าพอจะนึกได้ก็คือ พยายามพยุงกำลังไว้ ให้มันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เราติดต่อกันตลอด มีงานประเพณี งานบุญเราก็เจอกัน เดี๋ยวนี้เราก็มีกองทุนสวัสดิการร่วมกันด้วย มีสามพันกว่าคน พวกนี้ยังเกาะกลุ่มกันอยู่” แกนนำฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ กล่าว

เช่นเดียวกับในภาคอีสานที่อาศัยเนื้อนาบุญเดิมผสมผสานพ่วงไปกับวาระทางการเมือง ทำให้พวกเขายังสามารถเช็คสภาพของกันและกัน เช็คข่าวระหว่างกันและกันได้อยู่ภายใต้ภาวะเงียบสงัด

“เราอาศัยเจอกันตามงานบุญ งานประเพณี ตอนนี้เราทำงานกับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุยังตกหล่นอยู่มากในเรื่องความคิดความรู้ทางการเมือง แล้วผู้สูงอายุนี่แหละจะเป็นคนสอนลูกสอนหลานต่อไป เราทำงานร่วมกับหลวงพ่อด้วย วัดนี่มีบทบาทสนับสนุนการเคลื่อนไหวของมวลชนมานานแล้ว ผ้าป่งผ้าป่าหาทุน ท่านช่วยตลอด ถ้าทักษิณจะเป็นหนี้ใครก็เป็นหนี้หลวงพ่อนั่นแหละเยอะที่สุด” ไข่เขยกล่าว

ไม่แตกต่างกันมากนักกับเสียงจากอุบล “ว่าก็ว่าพื้นเพของคนอีสานถูกกดมานาน ส่วนใหญ่ก็เรียนมาน้อย มันทำให้เขามีลักษณะเป็นผู้ตามซะมาก ผมว่าชาวบ้านก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าอยากทำอะไร เขาคิดด้วยว่าถ้าจะทำอะไรสักอย่าง ทำแล้วได้อะไร อย่างจะล้มนายก ล้มแล้วใครจะเป็นนายกต่อ เขาไม่สนใจหรอกว่ายุคทหารไหม เขาสนใจว่าใครจะนำ แล้วจะนำไปเพื่ออะไร ทุกวันนี้ที่พวกเรากังวลที่สุดคือกลัวเป็นเหมือนสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รอแล้วรอเล่าจนสฤษดิ์ตาย รัฐบาลก็ลับลวงพรางเหมือนเดิม มันเหมือนเขากำลังจัดขบวน ถ้าเขาเข้มแข็งเมื่อไรเขาอาจทำเหมือนพม่าเหมือนจีนก็ได้” เปี๊ยกกล่าว

ขณะที่ดาบชิตระบุว่า การลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านนั้นสำคัญมาก แม้ว่าเขาจะตื่นตัวแล้ว แต่ “กำลังใจ”ยังเป็นเรื่องสำคัญ

“ตอนนี้มันทำอะไรไม่ได้ ใครถนัดทางไหนก็ทำไปก่อน ถามว่าทำไมต้องออกพื้นที่ทุกอาทิตย์ ตอนนี้สิ่งที่มวลชนต้องการคือต้องการกำลังใจ ต้องการคนไปพูดกับเขา เขารู้หมดแล้วแต่เขาก็ยังต้องการเจอ ต้องการคุย งานศพ งานประเพณี งานวันเกิด ต้องไปหมด วันเกิดใครก็ตาม เขาอยากให้เราไปพูด แค่นั้น” ดาบชิตกล่าว

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงแต่ดาบชิตหยิบยกขึ้นมาคือ อาการหวาดระแวงและซึมเศร้าของบรรดามวลชนที่ไปชุมนุมและเผชิญความรุนแรง หลังเหตุการณ์พวกเขายังไม่ได้รับ “การดูแลรักษา” แต่มาถึงวันนี้เรื่องนี้อาจคลี่คลายไปแล้ว

“เสื้อแดงหลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์ 53 เขามีสภาพจิตใจที่แย่มาก ได้ยินเสียงพลุ เสียงปะทัดไม่ได้เลย กระโดนเหยง ผวา ตลอด แล้วก็เอาแต่คิดถึงเรื่องเดิมๆ โดยเฉพาะพวกป้าๆ ที่ไปอยู่จนวันสุดท้าย ช่วงเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเราขอให้จัดคนของกระทรวงสาธารณสุขมาดูแลสุขภาพจิตมวลชนหน่อยก็ไม่มี เพราะเราจะสู้ต่อยังไงถ้าเต็มไปด้วยคนทุพลภาพทางจิตใจ” ดาบชิตกล่าว

แนวทางที่ดูต่างออกไปมากที่สุด เห็นจะเป็นแนวของอาจารย์ต้อย อาจด้วยความเป็นนักธุรกิจเก่าทำให้เขามองเห็นช่องทางทำมาหากินที่เขายืนยันว่าหากมันเดินไปได้ มันจะไม่ใช่แค่ช่องทางหากินของเขาเท่านั้น แต่เป็นช่องทางสำหรับมวลชนเองด้วยเช่นกัน เขาอธิบายรายละเอียดโมเดลทางธุรกิจใหม่นี้มากมายเพื่อยืนยันว่ามีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมโดยมีเป้าหมายให้มวลชนที่เข้าร่วมขายนั้นตั้งตัวได้ด้วย





“เราต้องขับเคลื่อนใหม่ ตอนนี้ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ คนเราถ้ามันไม่อิ่ม ทำอะไรก็คงไม่สำเร็จ ผมเลยทำสินค้าขึ้นมา เราแค่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเรา จากที่เคยใช้ของปาล์มโอลีฟมาเป็นของเราเอง เป็นลักษณะขายตรง เราจัดสรรผลประโยชน์ให้คนขายได้เต็มที่ ไม่มีการเอาเปรียบ แล้วเราก็จัดกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมาด้วย มันจะกระตุ้นให้คนเราอยากดูแลสาธารณะ”

“เราพูดอะไรตอนนี้มันไม่มีประโยชน์ เหมือนวิ่งชนกำแพง ตอนนี้เราจะทำยังไงให้พี่น้องเราเข้มแข็ง มีเงินมีทอง เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรื่องนี้แหละทำให้นักต่อสู้ทางการเมืองล้มเหลว เพราะสุดโต่งเกินไปโดยไม่สนใจเรื่องนี้ แล้วมันก็จำเป็นมากสำหรับชาวบ้าน” อาจารย์ต้อยกล่าว

หากกล่าวโดยสรุปจากการพูดคุยทั้งหมด คนเสื้อแดงค่อนข้างมีความหลากหลาย แต่ละกลุ่มทำงานในแนวทางของตนเอง หลายกลุ่มริเริ่มกิจกรรมที่มีสีสันและน่าสนใจ มีความพยายามเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายใหญ่แบบหลวมๆ ภายใต้สภาวะกระจัดกระจาย ส่วนที่ขัดแย้งกันเองก็มีไม่น้อย มวลชนในส่วนที่มีทัศนะวิพากษ์ต่อ “ทักษิณ” “เพื่อไทย” หรือขบวนการของตนเองยังมีไม่มากนักโดยสัดส่วนหากเปรียบเทียบกับมวลชน "ก้อนใหญ่" ของพรรคเพื่อไทยซึ่งจิตสำนึกประชาธิปไตยของพวกเขาถูกปลุกจากนโยบายอันจับต้องได้ของไทยรักไทย ชาวบ้านหลายคนยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในชีวิตของเขาอย่างชัดเจนและละเอียดลออในทุกๆ นโยบายของไทยรักไทย นักวิชาการในภาคอีสานคนหนึ่งที่ทำงานกับมวลชนเสื้อแดงมานานหลายปีให้ความเห็นไว้ว่า หลังความสูญเสียในปี 2553 เป็นต้นมามวลชนกลุ่มใหญ่ของพรรคเริ่มมีความคิดเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม มากขึ้นด้วยซึ่งเกิดขึ้นการที่พวกเขาได้เห็นลักษณะ “สองมาตรฐาน” และความอยุติธรรมมากมายด้วยตัวเอง

สำหรับสภาวะในช่วงนี้บางคนนิยามว่าเป็นช่วง “แกล้งตาย” บ้างบอกเป็นช่วง “ซุ่มซ่อนรอคอย” ปัจจัยภายนอกที่อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเอง บางคนเห็นว่าภายใต้ความเงียบมันคือช่วง “ฟักตัว” คุณภาพใหม่ ฯลฯ จุดร่วมที่พวกเขาทำได้คือการรักษาดูแลกลุ่มก้อนของตนเองและพยายามค้นหา “เครื่องมือ” ใหม่ๆ นอกเหนือจากการชุมนุมและการตั้งเวทีปราศัย มันอาจเป็นดังที่นักวิชาการอีสานคนเดิมสรุปไว้ว่า ขบวนการนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กระจัดกระจาย และเติบโตภายใต้สภาวะ “เปิด” มาโดยตลอดจึงไม่มีแนวคิดการจัดตั้งในแบบอื่นไว้ ภายใต้สถานการณ์ที่ฝ่ายความมั่นคงเองก็รัดกุมและ “เล่นเป็น” มากขึ้น สภาพขมุกขมัวนี้จึงน่าจะยังคงอยู่ไปอีกพักใหญ่ แบบที่ใครก็ยังมองไม่เห็นปลายทาง