“กับอีกคนคือเนติวิทย์ แกมองว่ากระด้างกระเดื่อง...ถ้าอาจารย์รู้จักฝากเตือนด้วยนะครับ”
เป็นข้อความที่แหล่งข่าวฝ่ายในส่งให้นักวิชาการท่านหนึ่ง
ซึ่งบ่งบอกถึงสภาพสังคมในประเทศไตแลนเดีย ยุคที่นักรัฐประหารครองเมืองนี้
ไม่เพียงแต่ประชาชนต้องจำทนกับการใช้อำนาจไม่มีการตรวจสอบของ คสช. (ดังมาตรา ๔๔ เป็นอาทิ)
บังคับกับทุกเรื่องอย่างพร่ำเพรื่อแล้ว
ยังต้องระแวงระไวกับอำนาจเบ็ดเสร็จนอกระเบียบกฎหมาย
และเหนือกว่าอำนาจที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยมาตรฐานพียงแค่ “แกไม่ปลื้ม”
ผู้แจ้งข่าวบอกว่า “ผมไม่รู้จักเนติวิทย์” แต่เชื่อแน่ว่าผู้อ่านข้อเขียนนี้เป็นหมื่นเป็นแสนคนรู้จักเขาดี
ว่าอะไรทำให้เขาโดดเด่นกระทั่งถูกกล่าวหาว่ากระด้างกระเดื่อง
เอาแค่ล่าสุดจากจดหมายของศาสตราจารย์ชื่อดังระดับโลก โนม ชอมสกี้
ที่เขียนไปให้กำลังใจเขาว่า “คุณยืดหยัดเพื่อความยุติธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐาน...อย่างคุณคือคนที่จะถางทางประเทศไปสู่อนาคตที่สดใสได้”
ก็น่าจะเพียงพอทำให้อำนาจเหนือประชาธิปไตยบังเกิดความไม่พอใจได้
ในประเทศ เนติวิทย์กำลังเผชิญกับการคุกคามอย่างหนัก จากกลุ่มอำนาจที่กำลังนำประเทศถอยกลับไปสู่ระบบสังคมศักดินาราชาธิปไตยและเผด็จการทหารฟาสซิสต์
“วันที่
๒๕ สิงหาคมนี้ ผมและเพื่อนสภานิสิตจุฬาฯ อีก ๗ คนจะถูกสอบสวนและลงโทษทางวินัยจากทางมหาวิทยาลัย
เนื่องจากกรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และผมยังโดนข้อหาเพิ่มด้วยคือ
การจัดรับฟังปัญหาผู้ค้าสวนหลวง”
เขาเขียนเล่าแจ้งสถานะความเป็นไป พร้อมทั้ง “ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่ส่งเข้ามาอย่างมากมายครับ
นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบาก
นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบาก
แต่เพราะกำลังใจทำให้ไม่เคยย่อท้อที่จะฝ่าฟันไปให้ได้
ถ้าไม่มีตรงนี้ ประชาธิปไตยเสรีภาพก็ไม่มี เมื่อตอนบ่ายนี่เองก็มีอาจารย์นักวิชาการทั่วประเทศ
๑๒๘ คนลงนาม
ต่อเรื่องนี้
ผมขอขอบคุณทุกท่าน” นั่นหมายถึงกลุ่มคณาจารย์และนักวิชาการจากทั่วประเทศ
ทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความ “วิตกกังวลต่อทั้งสิทธิเสรีภาพของนิสิตที่ถูกสอบสวนและต่อเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
ข้อความในจดหมายนั้น
ตอนหนึ่งย้ำชัดถึงการก้าวไปข้างหน้าให้ทันตามพลวัตของโลกยุคใหม่ “จารีตประเพณี
ค่านิยมและความเชื่อในทุกสังคม
รวมทั้งสังคมไทยล้วนต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
และปัญญาชนคนรุ่นใหม่มักมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
ส่วนผู้มีอำนาจที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงและใช้อำนาจดิบลงโทษผู้ที่เห็นต่างนั้นมักประสบกับการต่อต้านอย่างรุนแรง”
เรา (หมายถึงทั้งฝ่ายผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ)
คงไม่ต้องการให้ไปถึงจุดนั้น ที่เกิดการต่อต้านรุนแรงขึ้น มีตัวอย่างให้ศึกษากันในประวัติศาสตร์โลก
โดยเฉพาะในรัสเซียและฝรั่งเศส
แต่การที่ชุมชนนานาชาติให้ความใส่ใจ
ให้กำลังใจแก่ผู้ถูกกระทำ ทั้งทางลายลักษณ์อักษรและการไปแสดงตนสนับสนุน
ดังที่เกิดขึ้นเมื่อทนายจูน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ นักสิทธิมนุษยชนไปศาลครั้งหลังสุด
หรือสื่อมวลชนประชาธิปไตย ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ถูกตั้งข้อหาก่อความไม่สงบ (ม.๑๑๖) เมื่อไม่กี่วันมานี้
ล้วนมีคณะทูตและเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนตะวันตกจำนวนเกือบสิบคนไปให้กำลังใจที่ศาล
หรือในกรณีคนหนุ่มสาวที่รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
อย่าง ไผ่ ดาวดิน ผู้ที่นานาชาติยอมรับว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ออกมาคัดค้านเผด็จการอย่างแข็งขัน
รางวัลกวางจูที่เขาได้รับเป็นเครื่องยืนยัน
แต่กลับต้องถูกจองจำด้วย “ข้อหาไร้เดียงสา” จากผู้มีและทรงอำนาจ เช่น “เย้ยหยันศาล”
หรือว่าแชร์บทความเหมือนกับคนอื่นๆ อีกสองพัน แต่กลับโดนหมายหัวคนเดียว
เพราะอำนาจก้ำเกินธรรมดาบังเกิดความไม่พอใจ
การคุมขังไผ่ หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา “ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยศาลจังหวัดขอนแก่นสืบพยานโจทก์ไปแล้วสองครั้ง เมื่อวันที่ ๒ และ ๓ สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการสืบพยานทั้งหมดถูกผู้พิพากษาสั่งให้เป็นการลับและห้ามทนายความเผยแพร่เนื้อหาการพิจารณาคดี”
มีบุคคลสำคัญระดับโลกอย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์รางวัล
Palme d'Or จากเทศกาลหนังเมืองคานน์ ไปเยี่ยมถึงทัณฑสถานบำบัดพิเศษ
จังหวัดขอนแก่น “เพื่อที่จะย้ำบอกว่ามันมีความจริงแบบนี้อยู่”
และส่งสัญญานย้ำเตือนให้โลกรู้
ว่ายังมีประเทศล้าหลังในทำนองคลองธรรมสากลหลงเหลืออยู่อีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งเชื้อราชนิดพิษร้ายอันเกิดจากความเน่าเฟะของจริยธรรมแห่งความเสมอภาคนั้น
กำลังกัดกร่อนเนื้อนาอาณาประชากร ให้สิ้นสลายลงไปทุกเมื่อเชื่อวัน