ที่มา ประชาไท
Thu, 2015-12-17
17 ธ.ค.2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยทางกฎหมายแก่ประชาชน มานับแต่รัฐประหาร 2557 พบว่า การควบคุมตัวและดำเนินคดีจากการใช้โซเลียลมีเดียมีเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนหลายรายถูกพาขึ้นศาล ทหารในข้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 หรือพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และหลายรายถูกพิพากษาจำคุก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงจัดทำคำแนะนำกรณีถูกจับกุมจาการโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย[1]ขึ้น ดังนี้
คำแนะนำเบื้องต้นกรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?
การโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้นหากจะถูกจับกุมควรปฏิบัติดังนี้
1) สอบถามว่ามีหมายจับหรือไม่
2) ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ ว่าชื่ออะไร สังกัดอะไร
3) เราจะถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
4) เราจะถูกพาตัวไปที่ไหน
5) แจ้งให้ญาติหรือคนที่ใกล้ชิดทราบโดยด่วน
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะทำการค้นบ้านหรือที่ทำงานควรปฏิบัติดังนี้
1) สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่
2) ยืนยันว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าเราผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยาน
3) ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน
4) ขอบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน
พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำหรือสั่งให้เราทำสิ่งต่อไปนี้ได้ก็ต่อเมื่อมี “หมายศาล” อนุญาตให้ทำได้ หากไม่มีหมายศาล พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจและเราก็มีสิทธิที่จะไม่ทำตาม
1) คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของเรา
2) สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟรชไดร์,แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่
3) ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา
4) ถอดรหัสผ่าน (password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้าpassword หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในกากระทำการดังกล่าว
5) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น
กรณีเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ควบคุมตัวและค้น
1) บุคคลซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งเท่านั้นถึงเป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หรือ“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หากไม่ได้รับการแต่งตั้งย่อมไม่มีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558
2) ผู้ถูกควบคุมตัวต้องขอดูบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อพิสูจน์ว่ามีอำนาจดังกล่าวจริง
เมื่อถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารโดยเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ควรปฏิบัติเช่นไร ?
· เมื่อถูกควบคุมตัวเราควรมีปฏิบัติดังต่อไปนี้ โดยพึงระลึกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับเรา
1) ไม่ควรสนทนากับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม หากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใดๆรือหากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใดๆหรือรวมทั้ง Username (ชื่อผู้ใช้) และ Password (รหัสผ่าน) และไม่ควรใช้อารมณ์โต้เถียงประเด็นต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกควบคุมตัว เช่น นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี
2) อย่าวิตกกังวลไปกับการข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ พยายามควบคุมสติให้ได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์กดดัน
3) ข้อเสนอแลกเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ที่ต่อรองว่าหากรับสารภาพจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าปกติ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เราไม่ควรตกลงเนื่องจากจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง เพราะข้อเสนอล้วนไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและไม่สามารถกระทำได้จริง
4) หากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสาร ควรสงบสติอารมณ์ให้นิ่งและอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ โดยต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมตัวคิดหรือคาดเดาไปเอง หากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซ็นได้
5) โปรดระวังเอกสารและข้อมูลทุกชนิดที่เราให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะถูกนำมาใช้ในชั้นศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้
6) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวเราได้สูงสุดเพียง 7 วันเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ขู่ให้บอกข้อเท็จจริงหรือเซ็นเอกสารต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เราควรตั้งสติและตระหนักเสมอว่าคำขู่ต่างๆ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้จริง เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
· เราควรปฏิบัติตัวเช่นไรและควรให้การอย่างไรกับพนักงานสอบสวนเมื่อถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ
1) ไม่ควรให้การใดๆกับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้น
2) หากไม่มีทนายความของตนเอง เราควรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา หรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การใดๆ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น
3) ข้อพึงระวัง 1. เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้ และ 2. การให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู่คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านในชั้นศาล
[1] โซเชียลมีเดีย (Social Media) คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Twitter, Line, Youtube, และอื่นๆ
ooo
'พลเมืองเน็ต' ย้ำคลิกไลค์ไม่ผิด-ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท
Thu, 2015-12-17
ที่มา ประชาไท
17 ธ.ค.2558 เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ ‘รัฐบาลต้องสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน’ โดยอธิบายเรื่องการกดไลค์ไม่ผิดกฎหมายและเรียกร้องให้ระงับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทออนไลน์โดยใช้มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์การการแสดงความเห็นทุกกรณี
การออกแถลงการณ์ครั้งนี้สืบเนื่องจากการจับกุมผู้ต้องหาหลายรายโดยใช้อำนาจตาม ม.44 จากการแชร์ผังทุจริตโครงการราชภักดิ์ และเชื่อมโยงไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 116 มาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงมาตรา 112 หลังเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ต้องหาไปคลิกไลคก์ข้อความหมิ่นสถาบันและเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง เครือข่ายพลเมืองเน็ตอธิบายเหตุการณ์ในภาพรวมพร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า การคลิกไลค์เฟซบุ๊กไม่มีกฎหมายรองรับว่าเป็นการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้สนับสนุนการทำความผิดตามหลักกฎหมาย และไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำเพราะเป็นระบบซอฟท์แวร์ที่ทำการแสดงผลอัตโนมัติโดยไม่ใช่เจตนาหรืออยู่ในวิสัยที่ผู้กดไลค์จะดำเนินการอะไรได้ นอกจากนี้ยังระบุว่า มาตรา 14 ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการจัดทำเพื่อนำมาดำเนินคดีหมิ่นประมาท หากแต่เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลเอกสารและอิเล็คทรอนิกส์
รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้
17 ธ.ค.2558 เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ ‘รัฐบาลต้องสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน’ โดยอธิบายเรื่องการกดไลค์ไม่ผิดกฎหมายและเรียกร้องให้ระงับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทออนไลน์โดยใช้มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์การการแสดงความเห็นทุกกรณี
การออกแถลงการณ์ครั้งนี้สืบเนื่องจากการจับกุมผู้ต้องหาหลายรายโดยใช้อำนาจตาม ม.44 จากการแชร์ผังทุจริตโครงการราชภักดิ์ และเชื่อมโยงไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 116 มาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงมาตรา 112 หลังเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ต้องหาไปคลิกไลคก์ข้อความหมิ่นสถาบันและเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง เครือข่ายพลเมืองเน็ตอธิบายเหตุการณ์ในภาพรวมพร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า การคลิกไลค์เฟซบุ๊กไม่มีกฎหมายรองรับว่าเป็นการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้สนับสนุนการทำความผิดตามหลักกฎหมาย และไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำเพราะเป็นระบบซอฟท์แวร์ที่ทำการแสดงผลอัตโนมัติโดยไม่ใช่เจตนาหรืออยู่ในวิสัยที่ผู้กดไลค์จะดำเนินการอะไรได้ นอกจากนี้ยังระบุว่า มาตรา 14 ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการจัดทำเพื่อนำมาดำเนินคดีหมิ่นประมาท หากแต่เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลเอกสารและอิเล็คทรอนิกส์
รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้
1. ความตื่นตัวของพลเมือง
จากความสงสัยของสาธารณะต่อประเด็นที่ว่าการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้นมีการทุจริตหรือไม่ และถ้าหากมีจริง การทุจริตดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข้าราชการ รัฐบาลทหาร หรือบุคคลในคณะรัฐประหารหรือไม่นั้น นำไปสู่กิจกรรมที่น่าสนใจอย่างน้อยสามประการโดยสื่อและพลเมืองที่สนใจประเด็นทุจริตคอรัปชัน กล่าวคือ
1) การแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมไปถึงการเปรียบเทียบกรณีทุจริตในรัฐบาลก่อนๆ และความคาดหวังกับการ “ปฏิรูป”
2) การพยายามแสวงหาข้อเท็จจริงจากเอกสารหลักฐาน เช่น ผ่านช่องทางพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
3) การพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงที่ค้นพบดังกล่าว ซึ่งอาจซับซ้อนเกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กรจำนวนมากในเวลาที่หลากหลาย ผ่านการเล่าเรื่องอย่างเป็นลำดับหรือการเล่าด้วยภาพ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในภาพใหญ่ หรือทำให้สังเกตเห็นถึงความขัดแย้งกันของข้อมูล
พลเมืองจำนวนมากมีส่วนร่วมในกิจกรรมติดตามตรวจสอบทั้งสามประการนี้ ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อกันไปสู่เพื่อนฝูงญาติมิตรของเขา ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยทั้งหมดหรือไม่ก็ตามกับข้อมูลดังกล่าว คนอีกจำนวนหนึ่งยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อข้อมูลที่พวกเขาเผยแพร่ต่อด้วย เพื่อชวนให้คนรอบข้างพิจารณาว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือเพียงไร
2. การปราบปรามผู้เห็นต่าง
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 เรื่องที่ไม่ควรเกิดระหว่างการปกครองโดยกลุ่มบุคคลที่ประกาศว่ามุ่งมั่นจะกำจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จับกุมนายฐนกร ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่ง โดย พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าหน่วยข่าวกรองของทหารสืบทราบว่านายฐนกรเป็นผู้เผยแพร่แผนผัง “เปิดปมการทุจริตอุทยานราชภักดิ์” ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และตอนที่ 3 และภาพ “อุทยานราชภักดิ์จะต้องใช้ใบบัว 5,920,000 ใบจึงจะปิดได้มิด” ซึ่งพาดพิงว่ามีบุคคลได้รับผลประโยชน์ เบื้องต้นเชื่อว่าเป็นข้อมูลเท็จ จึงเข้าคุมตัวที่บริษัท ก่อนจะเข้าตรวจค้นภายในบ้านพัก ยึดคอมพิวเตอร์ พร้อมกับโทรศัพท์มือถือของนายฐนกร ให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ไปตรวจสอบ และคุมตัวไปสอบปากคำที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง โดยไม่เปิดเผยว่าเป็นที่ใด และไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบ
หลังการสอบสวนและตรวจสอบ นายฐนกรถูกแจ้งความดำเนินคดีเมื่อเวลาประมาณ 17:30 น. ของวันที่ 9 ธันวามคม 2558 โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิด “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ “ยุยุงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “ดูหมิ่นกษัตริย์” ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ “1. กดไลก์รูปภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ 2. คัดลอกและแชร์รูปภาพประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงในเฟซบุ๊ก และ 3. คัดลอกและแชร์รูปภาพแผงผังเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐและปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ”
โปรดสังเกตว่าเหตุการณ์ (1) (กดไลก์) และ (2) (สุนัขทรงเลี้ยง) นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏเพิ่มเติมหลังการจับกุม ตรวจค้นบ้านพัก ยึดคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือของนายฐนกรไปตรวจสอบ ซึ่งทั้งในข่าวกรองของทหารที่พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. กล่าวถึง และในการให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 ธันวาคม ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็กล่าวถึงเฉพาะเหตุการณ์ (3) (แผนผังทุจริต) เท่านั้น ส่วนด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อในช่วงประมาณก่อนบ่ายสามโมงของวันเดียวกัน ว่าทหารกำลังสอบสวนอยู่ และกล่าวถึงเฉพาะการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สำหรับข้อหาอื่นพล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่ายังต้องรอการตรวจสอบหลักฐาน โดยไม่ได้พูดถึงความผิดตามมาตรา 112 และ 116 แต่อย่างใดเช่นกัน
หลังการจับกุมข้างต้น พล.ต.ต. ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ หนึ่งในชุดสอบสวนคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กล่าวว่า “ตามกฎหมายนั้นผู้ใดที่กดถูกใจ หรือร่วมแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กหรือในข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็จะต้องมีความผิดร่วมไปด้วย” และประกาศเตรียมดำเนินคดีต่อผู้ดูแลกลุ่มและสมาชิกของกลุ่มเฟซบุ๊กที่นายฐนกรนำภาพไปเผยแพร่ โดยอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อสมาชิกที่มีการกดไลก์และแชร์ข้อความหรือรูปภาพที่ “ไม่เหมาะสม” ซึ่งปรากฏต่อมาว่ามีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมตลอดทั้งสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
3. การคุกคามการตรวจสอบด้วยข้อหา “หมิ่นประมาท”
ไม่เพียงกรณีการจับกุมนายฐนกร และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอื่นๆ ในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์นี้เท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา ที่รัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ พยายามใช้ข้อหา “หมิ่นประมาท” ไม่ว่าจะในรูปแบบการใช้กฎหมาย “หมิ่นประมาทบุคคล” “หมิ่นประมาทกษัตริย์” “ยั่วยุปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ” ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ตาม มาคุกคามการนำเสนอข้อมูลเพื่อการตรวจสอบโดยสุจริต โดยปฏิเสธที่จะชี้แจงหรือแสดงหลักฐานว่าข้อมูลที่ถูกนำเสนอนั้นเป็นเท็จอย่างไร และมักเบี่ยงเบนประเด็นการตรวจสอบไปเป็นเรื่องอื่น ด้วยการกล่าวหาลอยๆ ว่า ผู้พยายามเสนอข้อมูลเพื่อการตรวจสอบดังกล่าว ทำไปโดยมีวาระทางการเมืองหรือมีขบวนการสนับสนุนเบื้องหลัง
เช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 กรมทหารพรานที่ 14 จังหวัดยะลา แจ้งความร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาทต่อ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จากกรณีที่มูลนิธิฯ ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทำร้ายร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่ง โดยกล่าวหาว่า น.ส.พรเพ็ญ ทำให้ “กรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลา ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง” คดีนี้ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดยะลามีคำสั่งไม่ฟ้อง
หรือกรณีเมื่อเร็วๆ นี้ที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการแทรกแซงการดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ และการถูกข่มขู่คุกคาม จากกลุ่มผู้มีอิทธิพลเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังปรึกษา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาว่าการแสดงออกดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่
คดีสำคัญอีกคดีหนึ่งในเรื่องนี้ คือคดีที่กองทัพเรือเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อ นายอลัน จอร์น มอริสัน และนางสาวชุติมา สีดาเสถียร สองผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภูเก็ตหวาน จากการเสนอรายงานข่าวขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งแม้ต่อมาหลังจากสู้คดีมาสองปี ศาลจังหวัดภูเก็ต มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ภูเก็ตหวานก็ตัดสินใจจะปิดตัวลงในวันที่ 31 ธันวาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากบรรยากาศไม่สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างรอบด้านและตรงไปตรงมาได้ ยังมีสังคมบางส่วนที่ไม่เข้าใจการทำงาน อีกทั้งถูกข่มขู่เป็นระยะ กรณีเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่มีอิสระในการทำงานของสื่อ บรรยากาศของความหวาดกลัว และการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
4. ความเห็นเครือข่ายพลเมืองเน็ต
การกระทำและความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเป็นปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหลายประการ อีกทั้งได้ตีความกฎหมายจนเกินตัวบท เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีความเห็นดังนี้
4.1 การกดไลก์ไม่ใช่การเผยแพร่หรือสนับสนุน
เครือข่ายฯยืนยันจุดยืนเดิมตามแถลงการณ์ “คลิกไลก์ไม่ใช่อาชญากรรม” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 และมีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้
แม้การเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่าย “ยั่วยุปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อาจถูกศาลตัดสินให้เป็นความผิด แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเนื้อหาดังกล่าว ไม่มีฐานความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ถือเป็นการสนับสนุน เพราะการสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และผู้สนับสนุนต้องมีการกระทำบางอย่างในการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระ ทำความผิด ซึ่งการกดไลก์นั้นไม่เข้าเงื่อนไขใดเลย
นอกจากนี้ การกดไลก์ก็ไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำ แม้จะมีโอกาสที่ระบบซอฟต์แวร์ของเว็บไซต์สื่อสังคมจะทำการเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกกดไลก์ต่อไปโดยอัตโนมัติ แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นเจตนาของผู้กดไลก์ ผู้กดไลก์ไม่ได้มีอำนาจควบคุมใดๆ ในการทำงานของซอฟต์แวร์ดังกล่าว อีกทั้งจะสั่งให้ระงับการเผยแพร่ก็มิได้ มากไปกว่านั้น ผู้กดไลก์ไม่มีอำนาจควบคุมเนื้อหาของข้อความต้นทางที่ตนกดไลก์ ซึ่งสามารถถูกแก้ไขโดยผู้สร้างข้อความนั้นๆ ได้ทุกเมื่อ ทำให้ข้อความที่แสดงให้เห็น ณ เวลาหนึ่ง อาจแตกต่างไปจากเวลาที่ผู้ใช้กดไลก์
4.2 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ไม่ใช่เรื่อง “หมิ่นประมาท”
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งระบุให้การ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” เป็นความผิด ถูกนำไปใช้ในการฟ้องหมิ่นประมาทจำนวนมาก ทั้งที่เจตนารมณ์ของมาตรานี้ เขียนขึ้นเพื่ออุดช่องว่างที่ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารในประมวลกฎหมายอาญา ยังไม่รวมการปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
“ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” และ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ในมาตราดังกล่าวตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย จึงหมายถึงข้อมูลอย่างอีเมลปลอมหรือเว็บไซต์แอบอ้าง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ตีความมาตรานี้ในทางที่ครอบคลุมการหมิ่นประมาทด้วย ส่งผลให้มาตรา 14 (1) นี้ถูกใช้ในทางที่ผิดเพื่อฟ้องร้องด้านเนื้อหา โดยจุดอ่อนสำคัญก็คือมาตราดังกล่าวมิได้ยกเว้นกรณีที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นโทษฐานหมิ่นประมาทในกฎหมายอาญา
คดีที่กองทัพเรือเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภูเก็ตหวาน ถือเป็นคดีสำคัญที่ศาลพิจารณาตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยศาลระบุว่า “เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328”
เครือข่ายพลเมืองเน็ตเรียกร้องให้ระงับการใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในการฟ้องร้องที่เกี่ยวกับเนื้อหาการแสดงออกในทุกกรณี
อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
17 ธันวาคม 2558