คำพูดประยุทธ์ คำยัวะ โวยวาย ท่าทีทั้งหลายในช่วงปีใหม่ตั้งแต่แถลงผลงานไปถึง "ช็อปช่วยชาติ" สะท้อนอะไร สะท้อนจุดยืนที่ "ไม่ถอยแน่" และถอยไม่ได้ ยังไงๆ กองทัพและเครือข่ายอนุรักษ์นิยมก็ต้องมีอำนาจเหนือการเมืองไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้ง ไม่ว่า รธน.จะร่างออกมาอย่างไร ผ่านไม่ผ่าน นี่คือการเตรียมครองอำนาจยาว ไม่ว่า 1.อยู่ต่อ 2.คลอด รธน.เลือกตั้งพิธีกรรมใต้กองทัพครอบงำ
ภาพรวมทั้งปี จนปีหน้า จะเป็นอย่างนี้ เพียงแต่ขั้นต้นจะชี้ใน 3 เดือนว่าเอา รธน.มีชัยหรือไม่เอา ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่ามันเป็นอุดมคติและผลประโยชน์ของสถาบันกองทัพ ไม่ใช่ตัวบุคคล อำนาจจึงเป็นเอกภาพเป็นปึกแผ่น แต่อีกด้านหนึ่งมันเป็นอุดมคติกึ่งพุทธกาลที่ย้อนแย้งโลกสมัยใหม่ ไม่มีทางอยู่รอดได้ ผลที่จะออกมา ซึ่งน่าจะเห็นภาพชัดขึ้นในปีหน้าคือความยืดเยื้อและเสียหายที่ยังจบไม่ลง
Atukkit Sawangsuk
ooo
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ยัวะ” สื่อวิจารณ์รัฐบาลแถลงผลงานมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ “รัฐบาล คสช.ปี 59 จะรอดไหม มึงอย่ามาเขียนไม่สร้างสรรค์” ท่านพูดย้ำเหมือนที่พูดทั้งปีว่าคสช.เข้ามาทำให้ประชาชนมีความสุข เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ เข้ามาปฏิรูป แต่กลับโดนด่าทุกวันเป็นนนทก โดนเขกหัวทุกวันไม่เป็นธรรม
ฟังเหมือนน่าเห็นใจ เพราะท่านคิดว่าตัวเองเสียสละเข้ามาแบกรับปัญหาทุกอย่าง ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังคิดระยะยาววางยุทธศาสตร์ 20 ปี วางรากฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ค่านิยม ทั้งพูดทั้งแต่งเพลงอบรมสั่งสอนประชาชน ก็ยังไม่ค่อยจะมีคนฟัง ท่านเรียกร้องทุกคนไม่ให้ขัดแย้งกัน ให้เชื่อฟังท่าน ให้กำลังใจท่าน โดยท่านยังถามในรายการคืนความสุขว่า รัฐบาลอุตส่าห์ทำงานขนาดนี้แล้ว ประชาชนทำอะไรให้ประเทศชาติบ้าง
แต่คนจำนวนไม่น้อยก็พูดสวนแบบที่ท่านคงฉุนกึกว่า “ใครใช้ให้เข้ามา” ทหารเป็นใคร อาศัยอะไรจึงถือปืนเข้ามายึดประเทศ “ปฏิรูป” กำหนดโครงสร้างวางอนาคตประเทศตามทัศนะของตน ให้ประชาชนต้องเดินตามไปชั่วลูกชั่วหลาน
พูดอย่างนี้ไม่ได้ปฏิเสธ “ความหวังดี” แต่ถามจริง ทหารเป็นเจ้าของประเทศแต่ผู้เดียวหรือ ทหารรักชาติบ้านเมืองมีคุณธรรมดีงามมีสมองล้ำเลิศกว่าชาวบ้านทั้งหมดหรือ ถึงได้คิดว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นเป็น “ผู้เสียสละ” ผู้หวังดี ที่ประชาชนต้องเชื่อฟังเดินตามไม่ต้องเห็นต่าง แล้วจะมีความสุข ประชาชนมีหน้าที่ทำมาหากิน ช็อปปิ้งลดภาษี ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ รอรัฐบาลทหารปฏิรูปประเทศเสร็จก่อน เดี๋ยวท่านอนุญาตให้เลือกตั้งค่อยมาเลือกตั้งกันอย่างพับเพียบเรียบร้อย
คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์สะท้อน “อุดมคติของสถาบันกองทัพ” รัฐประหารครั้งนี้ไม่ใช่แค่เข้ามารักษาความสงบชั่วคราว เพื่อให้สังคมหาทางออกร่วมกันเพื่อกลับสู่การเลือกตั้ง แต่รัฐประหารครั้งนี้ต้องการใช้ช่วงเวลาที่มีอำนาจอยู่ กำหนดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา ฯลฯ ให้เป็นไปตามอุดมการณ์อนุรักษนิยมของกองทัพ อย่างรอบด้านมั่นคงถึงรากซึ่งเราได้เห็นบ้างแล้วในปีครึ่งที่ผ่านมา และจะเข้มข้นขึ้นตลอดเวลาที่เหลืออยู่
ยิ่งนานวันยิ่งชัดเจนว่า “อุดมคติของสถาบันกองทัพ” ถอยออกจากอำนาจไม่ได้ แม้ตัวบุคคลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ไม่สืบทอดอำนาจ แต่สถาบันกองทัพต้องมีอำนาจเหนือการเมืองอีกยาวนาน เพื่อไม่ให้ใครมาทำลายอุดมการณ์อนุรักษนิยมที่ฝังโครงสร้างไว้
ในด้านหนึ่ง ก็ทำให้กองทัพมั่นคงเป็นเอกภาพ เพราะรัฐประหารครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคลแต่เป็นอุดมคติ รวมทั้งผลประโยชน์ของสถาบันกองทัพ (งบประมาณ ตำแหน่ง อำนาจ อภิสิทธิ์ ไม่ถูกตรวจสอบ)
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สร้างความขัดแย้งกับสังคมสมัยใหม่ ซึ่งพัฒนาไปไกลกว่าโลกของกองทัพ ตั้งแต่ทัศนะต่อความมั่นคง เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ไปจนค่านิยม วิถีชีวิต สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความถูกผิดดีงาม ฯลฯ ซึ่งทหารถูกปลูกฝังให้คิดอย่างเดียวกัน คิดเหมือนบรรพชนยุคกึ่งพุทธกาล
ความขัดแย้งครั้งนี้จึงหาทางลงได้ยาก จบได้ยาก ยืดเยื้อยาวนานมาก กระทบประเทศทุกด้าน เฉพาะหน้าสะท้อนออกในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องวางฐานอำนาจกองทัพและเครือข่ายอนุรักษนิยมให้อยู่เหนืออำนาจเลือกตั้งแทบไม่ต่างกับอยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งทำให้มีปัญหาว่าจะผ่านประชามติหรือไม่ ผ่านไม่ผ่านจะทำอย่างไร และผ่านหรือไม่ผ่านก็ขัดแย้งรุนแรงขึ้นอยู่ดี