การปกครองท้องถิ่นและการจัดการตนเอง
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาผมและแกนนำเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีสภาพลเมืองของจังหวัดต่างๆ
ที่มีการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบของ
“รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
โดยเน้นไปที่การปกครองท้องถิ่นและการจัดการตนเองเป็นหลักและเพิ่มเติมในส่วนอื่นไปด้วย
การที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเน้นไปยังการปกครองท้องถิ่นและการจัดการตนเองเพราะเป็นประเด็นที่เครือข่ายฯได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี
2552 จนมีเครือข่ายถึง 48 จังหวัด และมีความก้าวหน้าจนมีการเสนอร่าง
พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ด้วยการรวบรวมรายชื่อจากประชาชนกว่า12,000
คนเสนอต่อรัฐสภาไปแล้ว แต่น่าเสียดายที่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ไปเสียก่อน
ซึ่งก็ต้องรอว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะว่าอย่างไร
ผลจากการนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้มีการยกร่าง
พรบ. ว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเองฯขึ้นมาเพื่อมุ่งหมายให้ใช้เป็นกฎหมายกลางโดยที่จังหวัดต่างๆที่มีความพร้อมจะได้ไม่ต้องระดมรายชื่อกันจังหวัดใครจังหวัดมันเพื่อเสนอต่อรัฐสภาอีกให้ยุ่งยาก
ผลจากการระดมความเห็นนี้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์แต่อย่างใด
เพราะจะต้องมีการรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นร่างสุดท้ายภายในเดือนมกราคม 59
คู่ขนานไปกับร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มกราคม
2559 แล้วนำออกรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันพอดีที่จะได้นำหลักการสำคัญจากร่าง
‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ นี้ไปพิจารณาบรรจุเพิ่มเติม
ผลจากการระดมความเห็นจากสภาพลเมืองฯในเบื้องต้นนี้พอที่จะสรุปได้คร่าวๆ
ว่า
1)
การปกครองท้องถิ่นและการจัดการตนเอง
1.1
ภายใต้บังคับมาตราที่ว่าด้วยการเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้
รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการจัดการตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น
(ไม่ใช้การปกครองตนเองเพราะค่อนข้างจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกของฝ่ายความมั่นคง แม้ว่าคำๆนี้จะมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี
50 ก็ตาม)
1.2
ท้องถิ่นหรือจังหวัดใดมีลักษณะที่จะจัดการตนเองได้
ย่อมมีสิทธิ์ได้รับการจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่
1.3
การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องทำเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ
แต่ต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม
โดยต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าท้องถิ่นจะกระทำการใดไม่ได้ เช่น การทหาร
การต่างประเทศ การเงินการคลังระดับชาติ การศาล เป็นต้น
นอกเหนือจากนั้นให้ท้องถิ่นสามารถกระทำได้
ตามแบบการปกครองท้องถิ่นของนานาอารยประเทศทั้งหลาย
ทั้งนี้ การกำกับดูแลจะกระทบถึงสาระสำคัญแห่งหลักการจัดการตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น
หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้ เพราะปัจจุบันนี้มีปัญหามากในการปฏิบัติงาน
เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
ฉีดยากันยุงหรือจัดเรืออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ฯลฯ ก็ถูกตีความโดย
สตง.ว่าทำไม่ได้ เป็นต้น
1.4
ให้มีการจัดตั้งสภาพลเมืองที่มีฐานะเท่าเทียมกับผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น
โดยมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญๆ คือ กำหนดวิสัยทัศน์
เปิดเวทีประชาพิจารณ์โครงการที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่นและสามารถเปิดเวทีไต่สวนสาธารณะกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตแล้วนำคดีขึ้นสู่ศาลในฐานะผู้เสียหายอีกด้วย
โดยองค์ประกอบของสภาพลเมืองจะแบ่งเป็นสองระดับ
หากเป็นสภาพลเมืองของท้องถิ่นที่มีการจัดรูปแบบของการจัดการตนเองเต็มพื้นที่จังหวัด
ให้มีที่มาจากสภาพลเมืองในเขตปกครองท้องที่ระดับล่างสามเขตพื้นที่ในสัดส่วนเท่ากันไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า
จากองค์กรสาธารณประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า
ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า
มาจากผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ และที่เหลือมาจากผู้สมัครมาจากการขึ้นทะเบียนองค์กรและเลือกกันเอง
โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาพลเมืองมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียววาระละสี่ปีและก่อนเข้าสู่ตำแหน่งให้มีการประกาศรายชื่อเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบและคัดค้าน
ส่วนหลักเกณฑ์หรือวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาพลเมืองของท้องถิ่นระดับล่างหรือสภาพลเมืองในจังหวัดที่ยังไม่ได้จัดรูปแบบจังหวัดจัดการตนเองให้เป็นไปตามข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติของท้องถิ่นนั้นๆกำหนด
เพราะแต่ละท้องถิ่นย่อมมีสภาพแวดล้อมและบริบทที่แตกต่างกันไป
และคนท้องถิ่นย่อมรู้ข้อมูลและปัญหาของท้องถิ่นดีที่สุด
2)
อำนาจของประชาชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2.1
สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าทั้งหมดได้รับรองไว้จะต้องมีอยู่คงเดิม
2.2
ให้นำบทบัญญัติที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไปมาบรรจุไว้อีกในส่วนที่ว่าด้วยการเยียวยากรณีที่มีการละเมิดสิทธิ
การรับการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึงเพื่อการพัฒนาตนเองที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
ความถนัด และศักยภาพของบุคคล การคุ้มครองจากรัฐกรณีได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข
2.3
ให้มีกฎหมายและกลไกพิเศษในการดูแลบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย
2.4
ให้มีการบัญญัติว่ากรณีที่รัฐไทยลงนามในสนธิสัญญาหรือข้อผูกพันในด้านสิทธิมนุษยชนกับองค์การระหว่างประเทศ
อาทิ องค์การสหประชาชาติหรืออาเซียน เป็นต้น ให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันโดยอัตโนมัติ
ดังเช่นที่หลายๆประเทศในโลกนี้ได้ปฏิบัติแล้ว
จากที่กล่าวมาข้างต้นหลายท่านที่อ่านแล้วอาจคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้
“เขา” ไม่ยอมหรอก (ผมก็ไม่รู้ว่า ‘เขา’
ไหนเหมือนกัน) แต่อย่าลืมว่าข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นการระดมความเห็นกันอย่างจริงจังและใช้ระยะเวลาดำเนินการพอสมควร
มิใช่การเปิดประชุมเพียงครึ่งวันหรือค่อนวัน
มีคนพูดอยู่ไม่กี่คนแล้วก็เหมาเอาว่าเป็นการเปิดรับฟังความเห็นแล้ว
รัฐธรรมนูญใดที่ไม่ได้มาจากการเห็นพ้องต้องกันของประชาชนย่อมยากที่จะผ่านการลงประชามติได้
การรับฟังแล้วไม่ได้ยินกับการรับฟังแล้วได้ยิน (บ้าง)
ผลที่ตามมาย่อมต่างกันใช่ไหมครับ
------------
หมายเหตุ
เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่
23 ธันวาคม 2558